×
SCB Omnibus Fund 2024

‘หุ้นไทย’ โอกาสมาหรือยัง? ส่องความเห็น 2 เซียน VI

18.05.2022
  • LOADING...
หุ้นไทย

ดร.นิเวศน์ และนิ้วโป้ง นักลงทุนสไตล์ VI แถวหน้าของเมืองไทย ประเมินตลาดหุ้นทั่วโลกกำลังมุ่งสู่ขาลง เนื่องจากนโยบายการเงินกลับทิศ หลัง Fed และธนาคารกลางประเทศสำคัญ แห่ขึ้นดอกเบี้ยและถอนสภาพคล่องออกจากระบบ พร้อมแนะ มองหาโอกาสท่ามกลางวิกฤต เพื่อปั้นผลตอบแทนระยะยาว ส่วนหุ้นไทยยังซึมอีกยาว รอธีมเปิดเมืองชุบชีวิต

 

รายการ WEALTH IN DEPTH เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้ร่วมพูดคุยกับ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร และ นิ้วโป้ง-อธิป กีรติพิชญ์ นักลงทุนหุ้นคุณค่า ในหัวข้อ ‘2022 ปีมหาชง พังทุกสินทรัพย์ ฟัง ‘ดร.นิเวศน์-นิ้วโป้ง’ ลงทุนอย่างไร’ 

 

นโยบายการเงินกลับทิศ ทำตลาดหุ้นผกผัน

ดร.นิเวศน์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกที่ดิ่งลงในทุกตลาด โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงไปมากกว่า 25% สาเหตุหลักๆ มาจากการเปลี่ยนทิศครั้งใหญ่ของนโยบายการเงิน โดยตลอด 10 ปีที่ผ่านมาหลังวิกฤตซับไพรม์ ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่อัดฉีดเงิน หรือทำ QE มาตลอด ส่งผลให้ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ทำจุดสูงสุดในปี 2019 

 

ขณะที่ภาพรวมในปี 2022-2023 นั้นเป็นภาพที่ตรงกันข้ามกับช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กล่าวคืออัตราดอกเบี้ยเข้าสู่วงจรขาขึ้น และ Fed กำลังดึงเงินออกจากระบบ หรือทำ QT นั่นเอง 

 

“ปัจจัยอื่นๆ เป็นตัวประกอบทั้งหมด จุดที่สภาพคล่องล้นระบบเกินไปทำให้เกิดเงินเฟ้อ การอัดฉีดเงินมายาวนาน อัตราดอกเบี้ยทรงตัวในระดับต่ำมานานจนเกิดเงินเฟ้อที่รุนแรงมากในรอบหลาย 10 ปี ทำให้ Fed ต้องมารีบจำกัดความเสี่ยงเงินเฟ้อให้หมดไป เป็นที่มาของการเปลี่ยนทิศนโยบายการเงิน สินทรัพย์ทั้งหมดจึงได้รับผลกระทบไปด้วย”  ดร.นิเวศน์ กล่าว 

 

ดร.นิเวศน์ กล่าวเพิ่มว่า การเปลี่ยนทิศทางของนโยบายการเงินครั้งนี้ไม่ใช่แค่ชั่วคราว ดังนั้นหลังจากนี้ต่อไป การปรับตัวเพิ่มขึ้นของตลาดหุ้นทั่วโลกจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก รวมไปถึงสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ เช่น คริปโตเคอร์เรนซี อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถประเมินได้ว่าจุดต่ำสุดได้ผ่านพ้นไปหรือยัง 

 

นอกจากนี้หากเทียบสถานการณ์ตอนนี้กับยุคฟองสบู่ดอทคอมมองว่า มีความคล้ายคลึงกันบางอย่าง แต่ก็มีบางอย่างที่แตกต่างกัน โดยยุคฟองสบู่ดอทคอมแม้จะเป็นจุดสูงสุดของหุ้นเทคโนโลยีก่อนเกิดฟองสบู่แตก แต่ในช่วงนั้น หุ้นเทคส่วนมากเป็นบริษัทขนาดเล็ก เมื่อเกิดฟองสบู่แตกจึงเกิดความเสียหายเชิงธุรกิจสูง ขณะที่ปัจจุบันนี้หุ้นกลุ่มเทคส่วนใหญ่เป็นเทคขนาดยักษ์ มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ แม้จะเกิดฟองสบู่แตกก็เชื่อว่าในด้านการทำธุรกิจยังดำเนินต่อไปได้ เพียงแต่มูลค่าหุ้นลดลงเท่านั้น จึงมองว่าหากเกิดฟองสบู่แตกในหุ้นเทคช่วงนี้และราคาปรับลดลงมาสู่ระดับที่น่าสนใจ ก็เป็นโอกาสเข้าลงทุน 

 

ด้าน อธิป กีรติพิชญ์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นในปีนี้เรียกได้ว่าเป็นปีชงมหาชง ตลาดถูกท่วมด้วยความเสี่ยง เช่น ความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย นโยบายปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed และการทำ QT ซึ่งล้วนเป็นความเสี่ยงและปัจจัยลบที่กดดันตลาดอย่างรุนแรง 

 

อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถประเมินได้ว่าการปรับตัวขาลงนั้นสิ้นสุดแล้วหรือยัง เนื่องจากสาเหตุของวงจรขาลงรอบนี้คือการกำหนดนโยบายของ Fed ซึ่งเชื่อว่าตลาดหุ้นทั่วโลกจะอึมครึมต่อจนถึงครึ่งปีหลัง หรือจนกว่าจะเห็นว่าเงินเฟ้อเริ่มปรับลดลง 

 

พิษ ‘Sell in May’ ถล่มหุ้นไทย

อธิปกล่าวว่า สำหรับตลาดหุ้นไทยในปีนี้ปรับลดลงไปเกือบ 5% แม้จะไม่มากเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นหลัก ซึ่งเป็นเพราะในช่วงปี 2563 ที่ตลาดหุ้นทั่วโลกฟื้นนั้น หุ้นไทยไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมาก โดยยังคงเคลื่อนไหวบริเวณ 1,600 จุดเช่นเดิม 

 

ทั้งนี้ การปรับลดลงในเดือนพฤษภาคมปีนี้ ต่างจากการปรับฐานของดัชนีในช่วงที่ผ่านมา โดยในเดือนพฤษภาคมปีนี้ประเทศไทยกำลังได้รับปัจจัยบวกคือเปิดประเทศและเงินบาทอ่อน โดยการเปิดประเทศหลังจากที่ประชากรในประเทศได้รับวัคซีนทั่วถึงเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยสามารถก้าวข้ามโควิดไปได้ และทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจและปริมาณการเดินทางก็ปรับเพิ่มขึ้น แต่ปัจจัยลบก็จากต่างประเทศในเรื่องการกลับทิศทางของนโยบายการเงินของ Fed ก็ทำให้ข่าวดีในประเทศไม่สามารถผลักดันดัชนีได้ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวยังมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทย คิดว่ายังสามารถเข้าลงทุนได้แต่ต้อง Selective 

 

ขณะที่ ดร.นิเวศน์ มองหุ้นไทยปีนี้เป็นปีของ Recovery Play โดยปัจจัยบวกจะมาจากปัจจัยในประเทศ เช่น การเปิดประเทศที่จะฟื้นการท่องเที่ยวและบริการ และกำลังซื้อภายในประเทศที่น่าจะทยอยฟื้นตัว โดยสังเกตได้ว่าปริมาณการเดินทางภายในประเทศและการบริโภคภายในประเทศเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา 

 

“เท่าที่สังเกต หุ้นไทยขนาดใหญ่ไม่ค่อยปรับตัวลดลงมากนัก แต่หากเผชิญกับปัจจัยภายนอกก็มีความเสี่ยงเช่นกัน ตอนนี้ที่กำลังรอคือการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง การปฏิรูปต่างๆ ซึ่งหากเกิดขึ้นก็จะเกิดการ Recovery และจะทำให้หุ้นไทยมีมูลค่ามากกว่าหุ้นต่างชาติได้” ดร.นิเวศน์ กล่าว 

 

Re-Opening และ Recovery คือโอกาส 

อธิปกล่าวว่า ในตลาดหุ้นไทยนั้นมีข้อดีคือมีหุ้นที่ผูกขาดเยอะ ทำให้สามารถลงทุนและคาดหวังในผลตอบแทนระยะยาวได้ โดยเฉพาะหุ้นในธีม Recovery ที่จะกลับมามีความสำคัญมากๆ ทั้งนี้ หากย้อนดูราคาหุ้นในเดือนพฤษภาคมปีนี้มีเยอะมากที่ราคายังต่ำกว่าช่วงโควิด (มีนาคม 2563) โดยกลุ่มที่น่าสนใจคือกลุ่มขนส่ง กลุ่ม Re-Opening กลุ่มส่งออก กอง Reit และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund)  

 

โดยในการเข้าลงทุนในกลุ่มธุรกิจดังกล่าวน่าจะใช้เวลาเทียบเท่างบการเงิน 12-18 เดือน และต้องพิจารณาหุ้นที่ผลประกอบการฟื้นตัว รวมทั้งมีความเสี่ยงขาลง (Downside Risk) จำกัด ซึ่งจะสามารถคาดหวังผลตอบแทนได้ราว 20% 

 

ทยอยเพิ่มสัดส่วนต่างประเทศกระจายความเสี่ยง

อธิปกล่าวว่า ปัจจุบันมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นต่างประเทศรวมกับสินทรัพย์อื่นที่ไม่ใช่หุ้นไม่เกิน 20% ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับพอร์ตลงทุนปีที่แล้ว โดยสาเหตุมาจากราคาสินทรัพย์ปรับตัวลดลง ส่งผลให้มูลค่าการลงทุนลดลงไปด้วย ทั้งนี้ เหตุการณ์นี้ทำให้เห็นตัวเองชัดเจนขึ้นว่ายังมีความเข้าใจตลาดต่างประเทศและสินทรัพย์อื่นๆ ไม่มาก และไม่สามารถคาดเดาได้ 

 

“ตอนนี้ตลาดหุ้นเกือบทั้งหมดลดราคาลงมา ในระยะเวลา 3 ปีจากนี้ หากจะเติมเงินหรือเพิ่มพอร์ตยังเชื่อและมั่นใจหุ้นไทยเป็นอันดับหนึ่ง ถัดมาคือหุ้นใน Nasdaq เพราะตอนนี้ P/E ปรับลดลงมาเยอะมาก และหากหุ้นไทยไปถึงจุดที่ไปสู่จุดที่ไม่น่าจะโตได้แล้ว ก็อาจมีการขายหุ้นไทยแล้วไปเติมพอร์ตต่างประเทศ แต่จะไม่แตะพอร์ตหุ้นไทยที่เป็นพอร์ตหุ้นปันผล เพราะเป็นพอร์ตที่ให้ Passive Income” อธิปกล่าว 

 

ขณะที่ ดร.นิเวศน์ กล่าวว่า พอร์ตลงทุนในต่างประเทศปัจจุบันอยู่ที่ 25% ซึ่งเป็นการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามเพียงประเทศเดียว เนื่องจากมั่นใจในการปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ โดยเวียดนามเปรียบเทียบได้กับประเทศไทยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ทั้งในเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจและโครงสร้างประชากร จึงมองว่าเวียดนามเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาที่เป็นดาวรุ่งในภูมิภาคนี้ 

 

“โดยปกติเศรษฐกิจจะพัฒนาได้ 40 ปี เท่ากับว่าตลาดจะโตได้ 40 ปี เช่นกัน ตอนนี้เวียดนามพัฒนามาแล้ว 22 ปี เหลืออีก 18 ปีที่ยังโตต่อได้ หลายๆ ธุรกิจในเวียดนามกำลังแข่งขันกัน ซึ่งยังไม่มีผู้ชนะ เราจึงยังไม่เห็น Superstock เกิดขึ้นในตลาดเวียดนาม แต่ก็เป็นสิ่งที่คาดหวังได้ว่าอีกไม่นานก็จะเกิดขึ้น ส่วนตัวแล้วชอบลงทุนในสิ่งที่แน่นอน มั่นคง และเชื่อถือได้ ซึ่งสำหรับตลาดหุ้นเวียดนามนั้นหากมีโอกาสก็อาจจะเพิ่มสัดส่วนลงทุนนิดหน่อย” ดร.นิเวศน์ กล่าว 

 

มอง วอร์เรน บัฟเฟตต์ ยังเก๋าเกม 

เมื่อเร็วๆ นี้ นักลงทุนทั่วโลกได้ตื่นเต้นกับ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่กลับมาซื้อหุ้นครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปี โดยเพียงไตรมาสแรกของปีได้ทุ่มซื้อหุ้นกว่า 4.1 หมื่นล้านดอลลาร์ ทั้งที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ย่ำแย่มากๆ และมองไปข้างหน้า 6 เดือน สถานการณ์ก็ยังฝุ่นตลบอยู่ 

 

ดร.นิเวศน์ กล่าวถึงการเข้าซื้อหุ้นของบัฟเฟตต์ในครั้งนี้ว่า วิธีการลงทุนของบัฟเฟตต์ยังคงน่าสนใจและน่าติดตามสำหรับนักลงทุนหุ้นคุณค่า (VI) แต่รอบนี้มองว่าบัฟเฟตต์ซื้อเร็วไปหน่อย แต่เชื่อว่าเป็นการเข้าลงทุนระยะยาวอยู่แล้ว 

 

“บัฟเฟตต์คงเห็นแล้วว่านาทีที่เข้าไปลงทุนน่าจะเป็นจุดที่มองว่าเหมาะสมแล้ว และหุ้นที่บัฟเฟตต์เข้าลงทุนก็ไม่ใช่หุ้นที่ปรับลดลงมากนัก คิดว่าจากนี้จะได้เห็นบัฟเฟตต์เข้าซื้อหุ้นมากขึ้น เพราะตลาดปรับลงมาเยอะมาก” ดร.นิเวศน์ กล่าว 

 

เช่นเดียวกับอธิปที่มองว่า บัฟเฟตต์มองหาหุ้นที่ Undervalue และแนวคิดของบัฟเฟตต์น่าจะเป็นแนวคิดที่เชื่อมั่นว่าผลประกอบการคือเจ้าภาพของราคาหุ้น ทั้งนี้ มองว่าเงินสดที่นำไปซื้อหุ้นรอบนี้อาจเป็นแค่ทัพหน้า และน่าจะมีการเข้าไปลงทุนมากกว่านี้ก็ได้ 

 

“สิ่งสำคัญของการเป็นนักลงทุนหุ้นคุณค่า ถ้าหุ้น Undervalue Downside จำกัด นักลงทุนคุณค่าจะไม่ปล่อยโอกาสไปโดยที่ไม่ทำอะไรเลย และหากเราได้ข่าวว่าบัฟเฟตต์ซื้อหุ้นเพิ่มอีก ก็เป็นการคอนเฟิร์มว่าบัฟเฟตต์ไม่ปล่อยโอกาสให้หลุดลอยไป” อธิปกล่าว  

 

ท้ายที่สุด ดร.นิเวศน์ ฝากถึงนักลงทุนไทยว่า จากเหตุการณ์หุ้นเทกระจาดครั้งนี้ ถ้าเจ็บตัวก็มองเป็นบทเรียน และคิดหาวิธีลงทุนใหม่ เพื่อไม่ให้ผลลัพธ์หรือพอร์ตลงทุนออกมาเป็นแบบเดิม 

 

ขณะที่อธิปกล่าวว่า ในชีวิตลงทุนที่ติดลบมากๆ สิ่งที่ทำคือหยุดลงทุนไปก่อน เพราะหากเราพยายามแก้ปัญหาในจังหวะที่จิตใจไม่พร้อม เงินสดไม่พร้อม สิ่งที่เกิดขึ้นคือผลกระทบรุนแรงกว่าเดิม ตลาดหุ้นยังไม่ไปไหน เมื่อเรามีความพร้อมและมั่นคงมากขึ้น แข็งแรงขึ้น ก็ค่อยกลับเข้ามาลงทุนใหม่ 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising