×

จับตาการประลองกำลังของบรรดา ‘เจ้าสัวไทย’ ที่ชิงไหวชิงพริบในสมรภูมิ ‘ร้านสะดวกซื้อ’ ที่มีมูลค่ากว่า 4.28 แสนล้านบาท

05.10.2023
  • LOADING...
เจ้าสัวไทย

ธุรกิจร้านสะดวกซื้อของไทยกำลังกลายเป็นพื้นที่สมรภูมิให้เหล่ามหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดของประเทศมาชิงไหวชิงพริบกัน จากแนวโน้มที่ผู้บริโภคซื้อสินค้าน้อยลงแต่ช้อปปิ้งบ่อยขึ้น ทำให้บรรดาเจ้าสัวเหล่านี้มองเห็นอนาคตที่เต็มไปด้วยโอกาส

 

รายงานของ Bloomberg ระบุถึง เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี บุคคลที่ร่ำรวยที่สุดของประเทศไทยจากมูลค่าทรัพย์สิน 1.15 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 4.2 แสนล้านบาท ได้วางแผนที่จะเปลี่ยนร้านค้าแบบดั้งเดิมอย่าง ‘โชห่วย’ กว่า 30,000 แห่งให้เป็นร้านสะดวกซื้อภายใต้โมเดล ‘ร้านโดนใจ’ ภายในปี 2570

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

โมเดลร้านดังกล่าวมี บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ เป็นหัวเรือหลักที่จะให้บริการด้านโลจิสติกส์ การตลาด และข้อมูล รวมถึงการจัดหาสินค้าจากบริษัทในเครืออย่าง Big C Retail และ Thai Beverage ด้วย

 

อย่างไรก็ตาม เจ้าสัวเจริญไม่ได้เป็นคนเดียวที่มองเห็นโอกาสในเค้กก้อนนี้ เพราะ คีรี กาญจนพาสน์ ยักษ์ใหญ่ด้านระบบขนส่งมวลชน และเจ้าสัวห้างสรรพสินค้าระดับโลกอย่างตระกูลจิราธิวัฒน์ ก็อยากมีส่วนแบ่งไม่ต่างกัน

 

ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะปัจจุบันภูมิทัศน์ร้านสะดวกซื้อในไทยถูกครอบงำโดยบริษัท ซีพี ออลล์ ซึ่งดำเนินกิจการร้าน 7-Eleven มากกว่า 14,000 แห่ง ร้านค้าเหล่านี้คิดเป็นเกือบ 75% ของร้านสะดวกซื้อทั้งหมดในไทยเลยทีเดียว

 

Bloomberg ชี้ว่า ไม่ใช่พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปเท่านั้นที่บรรดาเจ้าสัวไทยมองเห็น แต่ยังมาจากแผนของ เศรษฐา ทวีสิน ที่จะอัดฉีดเงินกว่า 5.6 แสนล้านบาทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ถดถอย รวมถึงการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็หนุนความฝันอันสดใสด้วย

 

การที่ร้านสะดวกซื้อที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาจากกระจายตัวอยู่ทั่วทุกมุมถนนในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่อื่นๆ โดยให้บริการร้านค้าแบบครบวงจรสำหรับทุกสิ่งตั้งแต่อาหารพร้อมรับประทานไปจนถึงสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันและการชำระค่าไฟฟ้า

 

Euromonitor International ประเมินว่า ตลาดร้านสะดวกซื้อจะขยายตัว 5.4% ในปีนี้เป็น 4.28 แสนล้านบาท หลังจากที่เพิ่มขึ้น 18% ในปี 2565 ซึ่งได้แรงหนุนจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด การเติบโตต่อปีอาจอยู่ที่ 5.5% จนถึงปี 2568 สิ่งที่น่าสนใจคือรายได้กว่า 2 ใน 3 ของร้านสะดวกซื้อมาจากอาหารและเครื่องดื่ม

 

“เรามีทัศนคติในแง่ดีมากเกี่ยวกับอุตสาหกรรมค้าปลีก เนื่องจากรัฐบาลใหม่ได้ดำเนินการเชิงรุกด้วยการใช้จ่ายจำนวนมากเพื่อกระตุ้นการบริโภคและเศรษฐกิจ ผู้เล่นรายใหม่จำนวนมากพยายามแย่งส่วนแบ่งตลาดนี้ที่มีศักยภาพมหาศาลก่อนที่จะสายเกินไป” วโรฤทธิ์ จีระชน จากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ กล่าว

 

สำหรับเจ้าสัวเจริญแม้จะสามารถขยายร้านโดนใจประมาณ 1,400 แห่งในช่วงสามเดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน รวมเป็นสาขาทั้งหมดประมาณ 2,600 แห่ง แต่การนำ Big C Retail เข้า IPO เพื่อระดมทุน 1 พันดอลลาร์ถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด โดยอ้างถึงภาพรวมตลาดทุนที่ยังไม่เอื้อ

 

ขณะเดียวกัน ครอบครัวจิราธิวัฒน์ซึ่งสร้างรายได้มหาศาลจากห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ศูนย์การค้า และโรงแรม จำนวน 1.38 หมื่นล้านดอลลาร์ กำลังปรับปรุงกลยุทธ์ร้านสะดวกซื้อใหม่หลังการระบาดใหญ่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ

 

ก่อนหน้านี้ เซ็นทรัลได้รับสิทธิ์แฟรนไชส์ในร้าน FamilyMart ของญี่ปุ่น แต่พบว่าจำนวนร้านค้าเหล่านั้นลดลงเหลือประมาณ 400 แห่งในเดือนมีนาคม จาก 900 แห่งในปี 2563 ทำให้ล่าสุดมีการประกาศยกเลิกการใช้ชื่อ FamilyMart ทั้งหมด และเปลี่ยนไปใช้ Tops Daily เพื่อช่วยในการสร้างแบรนด์

 

ขณะที่ คีรี กาญจนพาสน์ เจ้าพ่อด้านระบบขนส่งมวลชนได้เปิดตัวร้านสะดวกซื้อ Turtle บริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส รวมถึงติดตั้งตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติใกล้ทางออกสถานีอีกด้วย

 

แม้บรรดาเจ้าสัวจะพยายามใช้หมากรบที่แตกต่างตั้งแต่การใช้ประโยชน์จากระบบรางยกระดับไปจนถึงการเปลี่ยนโฉมเครือร้านค้า แต่ความเป็นจริงยังต้องเจอคู่แข่งรายใหญ่อย่างซีพี ออลล์ ซึ่งได้ทุ่มงบกว่า 1.3 หมื่นล้านบาทในปี 2566 เพื่อเปิดร้าน 7-Eleven อีกอย่างน้อย 700 แห่งด้วยกัน

 

แน่นอนว่าการแข่งขันไม่มีสิ้นสุด มีเพียงผู้ที่มีความยืดหยุ่นมากที่สุดเท่านั้นที่จะเติบโต ซึ่ง จริยา ถ้ำตรงกิจกุล หัวหน้าแผนกพื้นที่ค้าปลีก ซีบีอาร์อี ประเทศไทย ระบุว่า “ร้านสะดวกซื้อจะต้องพิจารณาทบทวนและกำหนดกลยุทธ์ใหม่เพื่อการแข่งขันและการขยายธุรกิจ”

 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising