×

ส.อ.ท. ห่วง ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท วันที่ 1 ตุลาคมนี้ สัญญาณอันตราย ธุรกิจเสี่ยงปิดกิจการเพิ่ม ยอดขายรถยนต์วูบ ปัญหาสินค้าจีนยังทะลักเข้าไทย พิษน้ำท่วมซ้ำเติม

18.09.2024
  • LOADING...
ส.อ.ท.

กำลังซื้อในประเทศยังคงหดตัว ต้นทุนการผลิตพุ่ง สินค้าราคาถูกจากจีนยังถล่มไทย และน้ำท่วมซ้ำเติม ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคมร่วงแตะ 87.7 ‘เกรียงไกร’ ประธาน ส.อ.ท. ห่วง หากวันที่ 1 ตุลาคมนี้ รัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 400 บาทจริง อาจทำให้ผู้ประกอบการบางกลุ่มอุตสาหกรรมเลิกกิจการเพิ่ม วอนขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นรายจังหวัดตามความเหมาะสม

 

วันนี้ (18 กันยายน) เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 87.7 ปรับตัวลดลงจาก 89.3 ในเดือนกรกฎาคม

 

โดยมีปัจจัยด้านลบจากอุปสงค์ในประเทศชะลอตัวลง โดยเฉพาะสินค้าประเภทรถยนต์ สะท้อนจากยอดขายรถยนต์ในประเทศ 7 เดือน (เดือนมกราคม-กรกฎาคม) อยู่ที่ 354,421 คัน หดตัวร้อยละ 23.71 โดยเฉพาะรถกระบะและรถบรรทุก เนื่องจากความเข้มงวดในการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน ขณะที่กำลังซื้อยังเปราะบางจากความกังวลเรื่องปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90.8% ต่อ GDP กดดันการบริโภคในประเทศในไตรมาส 2 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


 

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยังเผชิญปัญหาต้นทุนการผลิตสูง ทั้งค่าไฟฟ้า ราคาวัตถุดิบ รวมต้นทุนทางการเงิน การทุ่มตลาดของสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ ทำให้สินค้าไทยไม่สามารถแข่งขันได้ เนื่องจากมีต้นทุนที่สูงกว่า ส่งผลให้ยอดขายสินค้าลดลง

 

เกรียงไกรระบุอีกว่า ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางสร้างความเสียหายให้แก่ภาคเกษตรและอุตสาหกรรมอย่างมาก รวมถึงส่งผลให้ภาคก่อสร้างชะลอตัวลง ในด้านการส่งออกอัตราค่าระวางเรือ (Freight) ยังอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเส้นทางสหรัฐฯ และยุโรป จากการเร่งส่งออกของจีนและสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่รุนแรงขึ้น 

 

ห่วงค่าเงิน รัฐบาลปรับขึ้นค่าแรง บางธุรกิจเสี่ยงปิดกิจการเพิ่ม

 

ขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วจากระดับ 36.46 บาทต่อดอลลาร์ในเดือนกรกฎาคม 2567 เป็น 34.92 บาทต่อดอลลาร์ในเดือนสิงหาคม 2567 ส่งผลให้สินค้าไทยแพงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง และส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง

 

“แม้เดือนสิงหาคมยังมีปัจจัยบวกจากสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายลง ทำให้นักลงทุนและผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นมากขึ้น และมีความคาดหวังเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่” 

 

ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงภาคการท่องเที่ยว สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8 เดือน (เดือนมกราคม-สิงหาคม) มีจำนวน 23,567,850 คน ขยายตัว 31%YoY สร้างรายได้เข้าประเทศมูลค่า 1,107,985 ล้านบาท

 

อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าต้องจับตา เพราะประเมินว่ายังปรับตัวลดลงต่อเนื่อง อยู่ที่ระดับ 93.9 ปัจจัยหลักคือ ผู้ประกอบการยังกังวลจากรัฐบาลเตรียมปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะ SMEs และอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ปัญหาหนี้เสียที่มีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังยืดเยื้อและรุนแรงขึ้น

 

“ส.อ.ท. ยังเชื่อมั่นในระบบกลไกตามกฎหมายที่ถูกต้องและเป็นที่ยอมรับของไตรภาคี ซึ่งภาครัฐควรพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้เหมาะสม แต่ยอมรับว่ามีความกังวล หากปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศจริงอาจทำให้ผู้ประกอบการบางกลุ่มอุตสาหกรรมเลิกกิจการ จึงไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะใช้มาตรการนี้” เกรียงไกรกล่าว


เกรียงไกรกล่าวอีกว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่จะเริ่มแจกกลุ่มเปราะบางปลายเดือนกันยายนนี้ว่า “ถือว่าเป็นทิศทางที่ดีและเห็นด้วย” แต่อยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการโดยเร็วที่สุด ควบคู่ไปกับมาตรการอื่นๆ เสริม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งคาดการณ์ว่าโครงการนี้จะช่วยกระตุ้น GDP ได้ 0.35%

 

5 ข้อเสนอ ส.อ.ท. ถึงภาครัฐ

  1. เร่งประกาศและสร้างความชัดเจนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2567  
  2. ปรับลดวงเงินประกันการใช้ไฟฟ้าเพื่อเสริมสภาพคล่องในภาคอุตสาหกรรม และชะลอการเรียกเก็บเงินประกันการใช้ไฟฟ้าเพิ่ม รวมถึงทบทวนลดเพดานวงเงินการใช้ไฟฟ้าให้เหมาะสม
  3. ปรับปรุง พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542 เพื่อบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (CVD) มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (SG) และมาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยง (AC) 
  4. ออกมาตรการเยียวยาภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เช่น ยกเว้นภาษีนิติบุคคล ขยายเวลาการยื่นภาษี ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร รวมทั้งการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำและระบบการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยในระยะยาว
  5. ขอให้ภาครัฐยึดมติคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัดในการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ โดยคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจและปัจจัยที่ส่งผลกระทบในปัจจุบัน
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising