×

คาดองค์กรในไทยจะขึ้นเงินเดือนเฉลี่ย 5% ในปี 2567 นายจ้างจ่อเพิ่มค่าตอบแทนเพื่อดึงดูดคนในสายงานเทคขั้นสูงและวิทยาศาสตร์สุขภาพ

14.11.2023
  • LOADING...
เงินเดือน

เมอร์เซอร์ (ประเทศไทย) ได้เปิดเผยผลการสำรวจค่าตอบแทนประจำปี (Total Remuneration Survey: TRS) ของปี 2566 โดยพนักงานในประเทศไทยสามารถคาดหวังการปรับเงินเดือนที่สูงขึ้นในปี 2567 ซึ่งคาดว่าค่ามัธยฐานของการขึ้นเงินเดือนประจำปี (Median Merit Salary Increments) ของปี 2567 จะเพิ่มขึ้นเป็น 5% จาก 4.8% ในปี 2566

 

กระนั้นตัวเลขของไทยกลับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในภูมิภาคเอเชียที่ 5.2% ซึ่งสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของค่าตอบแทนที่แตกต่างกันระหว่างเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วกับเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนาอยู่

 

โดยตามรายงานประจำปี 2567 พบว่า กลุ่มประเทศที่มีค่ามัธยฐานของการขึ้นเงินเดือนโดยรวม (Median Salary Increments) ที่สูงที่สุดในภูมิภาค ได้แก่ อินเดีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ที่ 9.3%, 7.0% และ 6.5% ตามลำดับ 

 

ในขณะที่ญี่ปุ่น ไต้หวัน และฮ่องกง มีการรายงานค่ามัธยฐานของการขึ้นเงินเดือนโดยรวมที่ต่ำที่สุดในภูมิภาคที่ 2.6%, 3.8% และ 3.9% ตามลำดับ โดยผลสำรวจของประเทศอื่นๆ ที่รวมอยู่ในการสำรวจมีดังนี้ ฟิลิปปินส์ที่ 5.7% จีนที่ 5.2% มาเลเซียที่ 5.1% เกาหลีใต้ที่ 4.4% และสิงคโปร์ที่ 4.2% 

 

จากผลสำรวจคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะมีการเพิ่มขึ้นของการขึ้นเงินเดือนประจำปี (Merit Salary Increment) โดยอุตสาหกรรมวิทยาศาสตร์สุขภาพ เทคโนโลยีขั้นสูง และยานยนต์ จะเป็นกลุ่มที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของการขึ้นเงินเดือนประจำปีสูงที่สุดในปี 2567 ที่ 5%

 

สาเหตุของการเพิ่มขึ้นที่สูงกว่าอุตสาหกรรมอื่นของ 3 อุตสาหกรรมข้างต้นนั้น มีหลายปัจจัยสนับสนุน เช่น การขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์นั้น เป็นผลจากการขยายตัวของนวัตกรรมใหม่อย่างรถยนต์ไฟฟ้าที่มากขึ้นในตลาด และส่งผลให้การแข่งขันขยับตัวสูงขึ้น ทำให้มีความต้องการที่มากขึ้นในการจ้างงานบุคลากรที่มีศักยภาพสูง (Talent) 

 

นอกจาก 3 อุตสาหกรรมข้างต้น อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ก็ได้รับการคาดการณ์ว่าจะมีการเพิ่มขึ้นของการขึ้นเงินเดือนประจำปีสูงกว่าปี 2566 อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมประกันชีวิตเป็นเพียงอุตสาหกรรมเดียวที่ได้รับการคาดการณ์ว่า การขึ้นเงินเดือนประจำปีจะปรับตัวลงจาก 4.2% ในปี 2566 เป็น 4% ในปี 2567

 

สำหรับการจ่ายโบนัสประจำปี อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง วิทยาศาสตร์การแพทย์ และสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับการทำผลงานของพนักงาน ซึ่งได้สะท้อนออกมาในการสำรวจ โดยผลสำรวจชี้ให้เห็นถึงความต่างของยอดการจ่ายที่สูงที่สุดระหว่างการจ่ายโบนัสประจำปีสำหรับพนักงานที่ทำผลงานได้ตามเป้าหมายและพนักงานที่ทำผลงานได้โดดเด่นที่ 68%, 61% และ 52% ตามลำดับ 

 

ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา อัตราการลาออกจากงานแบบสมัครใจในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเติบโตเป็น 10% ในปี 2566 

 

จักรชัย บุญยะวัตร ประธานบริษัท เมอร์เซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เสริมว่า “เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในประเทศไทย บริษัทต่างๆ ได้เล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ และกำลังลงทุนเพื่อขยายกิจการ ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้มีความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดแรงงาน โดยเฉพาะการแย่งตัวกันของบุคลากรที่มีศักยภาพสูง นอกจากนี้สังคมที่กำลังดำเนินไปในทิศทางของสังคมผู้สูงอายุได้ทำให้เกิดการขาดแคลนผู้นำในองค์กรต่างๆ ดังนั้นบริษัทต่างๆ ได้เห็นความจำเป็นที่จะต้องเริ่มต้นดำเนินกลยุทธ์ในการจัดจ้างบุคลากรที่มีศักยภาพสูงเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้”

 

กระนั้นถึงแม้จะมีสัญญาณที่บ่งชี้ถึงการผ่อนคลายในตลาดแรงงาน อัตราการว่างงานในประเทศไทยยังคงอยู่ที่ 1.2% ในครึ่งแรกของปี 2566 ซึ่งถือเป็นหนึ่งในอัตราการว่างงานที่ต่ำที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลก

 

สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าพนักงานในประเทศไทยยังคงมองหาโอกาสในการทำงานที่จะช่วยให้เติบโตอย่างประสบความสำเร็จในอนาคต และมีโอกาสที่ดีกว่าในเรื่องของค่าตอบแทน 

 

ดังนั้นความสามารถในการนำเสนอแพ็กเกจค่าตอบแทนที่คิดออกมาอย่างถี่ถ้วนจะเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับนายจ้างและผู้นำด้านทรัพยากรบุคคลในการดูแลและดึงดูดบุคลากรที่มีศักยภาพสูง โดยเฉพาะในสายงานที่ต้องการทักษะเฉพาะตัว เช่น เทคโนโลยีขั้นสูงและวิทยาศาสตร์สุขภาพ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising