×

ไทย-จีน ฟรีวีซ่า ประโยชน์และความท้าทาย

04.01.2024
  • LOADING...
ไทย-จีน ฟรีวีซ่า

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย เผยถึงข่าวดีว่า ทางการไทยและจีนบรรลุข้อตกลงที่จะผลักดัน ‘ฟรีวีซ่าถาวร’ ให้แก่กัน โดยผู้นำไทยเผยว่า จะเริ่มใช้แนวทางดังกล่าวในวันที่ 1 มีนาคม 2024 หลังระยะเวลาที่ไทยประกาศให้ ‘ฟรีวีซ่าชั่วคราว’ แก่นักท่องเที่ยวจีนตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกันยายน 2023 จะสิ้นสุดลงในวันที่ 29 กุมภาพันธ์นี้

 

โดยนายกฯ ไทยได้เน้นย้ำว่า แนวทางนี้จะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในไทย และช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศในแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ขณะที่หวังเหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ก็ระบุว่า การที่จีนและไทยจะเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างประชาชนผ่านการดำเนินนโยบายฟรีวีซ่านั้นสอดคล้องกับผลประโยชน์พื้นฐานของประชาชนทั้งสองประเทศ

 

ภาพรวมการท่องเที่ยวไทย 2023

 

ในปี 2023 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาประเทศไทยกว่า 28 ล้านคน และสร้างรายได้ให้กับประเทศราว 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.2 ล้านล้านบาท) โดยในแง่ภาพรวมจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไทยในปีที่ผ่านมาถือว่าเกินเป้าเล็กน้อย ขณะที่ในส่วนเฉพาะของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนนั้นถือว่ายังไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ราว 4 ล้านคน โดยตัวเลขชาวจีนที่เดินทางมาไทยในปี 2023 อยู่ที่ราว 3.5 ล้านคน ซึ่งมากสุดเป็นอันดับที่ 2 รองจากนักท่องเที่ยวมาเลเซียที่เดินทางมาไทยกว่า 4.5 ล้านคน

 

ในช่วงสัปดาห์แรกหลังจากที่ทางการไทยให้ฟรีวีซ่าชั่วคราวแก่นักท่องเที่ยวจีน ซึ่งตรงกับช่วงวันหยุดยาวเนื่องในวันชาติจีน เฉพาะในช่วง 2 วันแรกมีชาวจีนเดินทางเข้าไทยมากถึง 22,000 คน แต่อาจมีการชะลอตัวลงเล็กน้อยในช่วงหลังเกิดเหตุกราดยิงใจกลางกรุงเทพฯ และมีนักท่องเที่ยวจีนเสียชีวิต

 

โดยตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนในปี 2023 ถือว่าน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทยช่วงก่อนโควิดในปี 2019 ซึ่งเคยพุ่งสูงเกือบ 11 ล้านคน ขณะที่ในปี 2022 มีคนจีนเดินทางมาไทยเพียงราว 270,000 คน

 

สาเหตุสำคัญบางประการที่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยลดน้อยลงในช่วงที่ผ่านมาอาจมาจากสภาพเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว จำนวนไฟลต์บินราคาประหยัดในยุคหลังโควิดที่ลดน้อยลง ประกอบกับเหตุผลด้านความปลอดภัย หลังจากเกิดกรณีกราดยิงและมีข่าวลือนักท่องเที่ยวถูกลักพาตัวไปค้าแรงงานในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาและกัมพูชา

 

โดยในปี 2024 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตั้งเป้าหมายให้มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยกว่า 8 ล้านคน 

 

ก่อนหน้านี้ไทยให้ฟรีวีซ่าจีน แล้วทำไมจีนไม่ให้ฟรีวีซ่าไทย

 

ภายหลังจากที่ทางการไทยอนุมัติฟรีวีซ่าชั่วคราวให้กับชาวจีนตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2023 หลังจากนั้นไม่นานทางการจีนได้พิจารณาอนุมัติให้ฟรีวีซ่าชั่วคราวแก่ 6 ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สเปน และมาเลเซีย โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2023 – 30 พฤศจิกายน 2024 ซึ่งไร้เงาประเทศไทย เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น 

 

THE STANDARD สอบถามความคิดเห็น ภากร กัทชลี อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเจ้าของเพจ ‘อ้ายจง’ ถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับฟรีวีซ่าระหว่างไทยและจีน โดยภากรอธิบายข้อสังเกตข้างต้นว่า “นายกฯ ไทยได้ชี้แจงว่า หน่วยงานของทั้งสองประเทศกำลังพูดคุยหารือกันในประเด็นฟรีวีซ่าถาวรอยู่ในขณะนั้น จึงทำให้ไม่มีไทยในกลุ่มประเทศที่ได้รับการอนุมัติฟรีวีซ่าชั่วคราวจากทางการจีนเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา” ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของภากรที่ระบุว่า “มีความเป็นไปได้ที่ขณะนั้นทางการจีนอาจกำลังอยู่ในช่วงติดตามสถานการณ์ในไทยว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป 

 

“สมมติว่าถ้าเรากำลังจะมีข้อตกลงอะไรบางอย่างกับเพื่อน แต่เพิ่งเกิดประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในบ้านเพื่อน เราก็อาจต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าไปแล้วจะเกิดประเด็นอะไรไหม ไปแล้วจะปลอดภัยดีหรือเปล่า

 

“นอกจากนี้ เหตุผลด้านเศรษฐกิจก็เป็นปัจจัยที่สำคัญ โดยมาเลเซียถือเป็นคู่ค้ารายสำคัญของจีน ขณะที่ไทยเองก็เป็นคู่ค้าที่สำคัญเช่นเดียวกัน ประเทศในอาเซียนสำคัญหมดสำหรับประเทศจีนในขณะนี้ แต่ถ้าเราดูในแง่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยก็ต้องยอมรับว่ามาเลเซียก็ค่อนข้างน่าสนใจ 

 

“แล้วทำไมจีนถึงให้ฟรีวีซ่าชั่วคราวแก่ประเทศยุโรปถึง 5 ประเทศ ก็อาจเป็นเพราะว่าจีนพยายามที่จะเปิดประเทศและผลักดันการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้มีประเด็นพิพาทกับสหรัฐอเมริกา เผชิญมาตรการกีดกันทางการค้า และมีกระแสข่าวว่าสหภาพยุโรป (EU) อาจตั้งกำแพงภาษีสินค้าจีน โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า (EV)

 

“ปี 2023 เราจึงได้เห็นว่าทางการจีนเดินทางและพูดคุยกับยุโรปมากขึ้น ขณะที่ผู้นำยุโรปเองก็เดินทางเยือนจีนอยู่บ่อยครั้ง จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมจีนถึงให้ฟรีวีซ่ายุโรปถึง 5 ประเทศ เพราะเป็นเรื่องของการเปิดพื้นที่ทางการค้าและโอกาสทางธุรกิจ”

 

ภากรยังระบุอีกว่า “จริงๆ แล้วในอาเซียนไม่ใช่แค่มาเลเซียที่เพิ่งได้ฟรีวีซ่าจากทางการจีน แต่บรูไนกับสิงคโปร์มีฟรีวีซ่ากับจีนตั้งแต่ช่วงก่อนโควิดแล้ว แต่พอมาเจอวิกฤตโควิดก็เลยมีการหยุดชะงักไป โดยล่าสุดทั้งบรูไนและสิงคโปร์ก็กลับมาได้รับสถานะฟรีวีซ่าจากจีน พร้อมทั้งขยายระยะเวลาจาก 15 วัน เป็น 30 วัน

 

“อีกทั้งทางการจีนเองก็เพิ่งประกาศยืดหยุ่นเรื่องวีซ่าสหรัฐฯ เข้าจีน โดยยกเว้นให้พลเมืองอเมริกันไม่ต้องยื่นเอกสารการจองตั๋วเครื่องบิน เอกสารจองตั๋วที่พัก รวมถึงจดหมายเชิญเพื่อประกอบการขอวีซ่าเข้าประเทศ แม้ทั้งสองประเทศดูจะมีข้อพิพาทกันมาโดยตลอดก็ตาม จุดนี้สะท้อนแนวคิดของจีนที่ต้องการผลักดัน ‘ประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกัน’

 

“การที่จีนพยายามเปิดกว้างกับประเทศอื่นๆ มิติหนึ่งเป็นการคานอำนาจกับสหรัฐฯ ด้วย โดยเฉพาะในอาเซียน ขณะที่อีกมิติหนึ่งจีนเองก็พยายามเดินหน้าร่วมกันกับสหรัฐฯ เพราะมหาอำนาจทั้งสองประเทศต่างทราบดีว่าถ้าสถานการณ์ตึงเครียดและรุนแรงยิ่งขึ้นกว่านี้ ไม่มีใครได้ประโยชน์ เราจึงได้เห็นว่าจีนเองก็เปิดกว้างในการอนุมัติให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าจีนได้มากยิ่งขึ้น แม้แต่พลเมืองของสหรัฐฯ เองก็ตาม”

  

ฟรีวีซ่าถาวรไทย-จีน ประโยชน์และความท้าทาย

 

ภากรกล่าวว่า “ขณะนี้เรายังไม่ได้เห็นรายละเอียดที่เป็นทางการทั้งหมดจากทั้งสองฝ่าย ซึ่งอาจมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดหรือกรอบเวลาในอนาคตก็เป็นได้ อาจต้องรอติดตามข้อมูลที่เป็นทางการอีกครั้ง โดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนได้ออกมายืนยันแล้วว่า คณะทำงานของทั้งสองประเทศกำลังสื่อสารกันอย่างใกล้ชิดในขณะนี้ โดยจีนยังใช้คำว่ามีการทำงานร่วมกันอยู่ ขณะที่ทางการไทยระบุแล้วว่า ฟรีวีซ่าถาวรที่ให้กับจีนจะเริ่มขึ้นวันที่ 1 มีนาคม 2024

 

“แต่ถ้าถามว่า ถ้าฟรีวีซ่าถาวรเกิดขึ้นจริงจะก่อให้เกิดอะไร ในมิติเชิงบวกแน่นอนว่าจะเป็นผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศ โดยจีนต้องการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวภายในประเทศ กระตุ้นให้คนเดินทางท่องเที่ยวในจีนมากยิ่งขึ้น เพราะนับตั้งแต่จีนเปิดประเทศหลังโควิด การท่องเที่ยวในประเทศจีนเติบโตสูงมากโดยท่องเที่ยวจีนด้วยกันเอง สิ่งที่เขาต้องการต่อไปคือการทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาท่องเที่ยวประเทศจีนด้วย เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและภาคเศรษฐกิจภายในจีน

 

“ขณะที่มุมของไทย ไทยก็จะได้ประโยชน์โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว เพราะรายได้ที่สำคัญของไทยอิงอยู่กับนักท่องเที่ยวจีนมานานมากแล้ว ซึ่งเราก็หวังจะให้กลับมาเหมือนในช่วงก่อนโควิด ซึ่งตัวเลข 8 ล้านที่ตั้งเป้าไว้ในปีนี้ถือเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทยช่วงก่อนที่โควิดจะแพร่ระบาด ถ้ายิ่งมีคำว่า ‘ฟรีวีซ่าถาวร’ อาจยิ่งเอื้อให้เกิดการเดินทางไปมาระหว่างทั้งสองประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก อุปสรรคเรื่องการเดินทางก็จะลดลงตามไปด้วย และมีไฟลต์บินตรงระหว่างไทยและจีนมากขึ้น

 

“ถ้าฟรีวีซ่าถาวรเกิดขึ้นทั้งสองฝ่าย แปลว่ารัฐบาลจีนมั่นใจและให้ความสำคัญกับประเทศไทยอย่างมาก จุดนี้จะช่วยทำให้คนในประเทศของเขาซึ่งมีความชาตินิยมก็จะยิ่งมีความมั่นใจเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ฟรีวีซ่าไม่ใช่แค่เอื้อประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว แต่ยังก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจ” 

 

ภากรเชื่อว่า “ในมิติที่จีนจะเข้ามาทำธุรกิจในไทยก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในส่วนนี้จะนำไปสู่ ‘ข้อกังวล’ ที่ทางการไทยเผชิญมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาในไทยและทำสิ่งผิดกฎหมาย เช่น กรณีทุนจีนสีเทาต่างๆ รวมถึงทัวร์ศูนย์เหรียญ หรือ Closed Loop Tourism ซึ่งเป็นการทัวร์แบบปิดที่รายได้ทั้งหมดไปเกิดขึ้นที่ฝั่งจีน ทางการไทยมีมาตรการมารองรับประเด็นนี้แล้วหรือยัง ที่ผ่านมาทางการไทยแสดงความมั่นใจในมิติเสริมสร้างความปลอดภัยมาโดยตลอด แต่ในมิติของการรักษาผลประโยชน์ของไทย ทางการไทยมีการบังคับใช้กฎหมายหรือมาตรการต่างๆ มาแก้ไขปัญหาจุดนี้ที่อาจเกิดขึ้นแล้วหรือยัง

 

“ในขณะที่จีนมีการปรับปรุงกฎหมายการลงทุนจากต่างประเทศในจีนหลายต่อหลายครั้ง แต่ถึงแม้ว่าจะมีการปรับกฎหมายที่เอื้อต่อการลงทุนเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้ต่างชาติคลายความกังวล โดยเฉพาะในมิติของทรัพย์สินทางปัญญาและมีการปรับสภาพแวดล้อมให้ลงทุนได้ง่ายขึ้น แต่ในขณะเดียวกันทางการจีนก็มีการกำหนดกรอบชัดเจนเกี่ยวกับการรักษาผลประโยชน์ในประเทศเขา ซึ่งตรงนี้บ้านเรามีหรือยัง ขณะที่เรื่องของการทำอาชีพด้วยวีซ่าผิดประเภทก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ผมเชื่อว่าจุดนี้จะเป็นอีกจุดที่ท้าทายถ้าฟรีวีซ่าถาวรเกิดขึ้น”

 

นอกจากความท้าทายของทางการไทยที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ความท้าทายในระดับประชาชนก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน โดยภากรระบุทิ้งท้ายว่า “ต้องยอมรับว่าคนไทยจำนวนหนึ่งอาจมีอคติหรือมุมมองที่ไม่ดีต่อนักท่องเที่ยวจีน ทางออกอาจไม่ใช่การบังคับให้เขาต้องเข้าใจ แต่ต้องมีการสื่อสาร และยิ่งถ้ามีกฎระเบียบชัดเจนและทำให้นักท่องเที่ยวจีนเข้าใจว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ไม่ใช่เอื้อไปทุกเรื่อง ผมเชื่อว่ามันก็จะค่อยๆ กลายเป็นมุมมองที่ดีขึ้น

 

“อีกทั้งทางการไทยอาจส่งเสริมการผลักดันผู้ประกอบการไทยให้เรียนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับจีนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของโอกาสต่างๆ และช่วยส่งเสริมการลดอุปสรรคในด้านการค้าการลงทุน เพราะบางทีผู้ประกอบการไทยไม่รู้กฎหมายจีน หรือไม่รู้ภาษาจีน หรือพึ่งพาแต่ฝ่ายจีนอย่างเดียว เราลองเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้เข้าใจตรงจุดนี้ด้วยไหม ก็จะยิ่งเป็นผลดีต่อไทยอย่างมาก”

 

แฟ้มภาพ: Kritsaroot Udkwae / Shutterstock

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising