×

เงินบาทพลิกแข็งค่า หลังตลาดมอง ธปท. ใช้ ‘ยาเบา’ คุมค่าบาท

โดย THE STANDARD TEAM
20.11.2020
  • LOADING...
เงินบาทพลิกแข็งค่า หลังตลาดมอง ธปท. ใช้ ‘ยาเบา’ คุมค่าบาท

เงินบาทเริ่มกลับมาแข็งค่าอีกครั้ง หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงมาตรการเพิ่มเติมเพื่อดูแลค่าเงิน โดยตลาดเงินมองว่า มาตรการที่ ธปท. ออกมาถือเป็นมาตรการ ‘เบา’ ไม่ได้มีผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทมากนัก ส่งผลให้นักลงทุนที่เทขายเงินบาทในช่วงก่อนหน้าเริ่มซื้อกลับ ทำให้ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าอีกครั้ง

 

โดยการเคลื่อนไหวของเงินบาทล่าสุดอยู่ที่ระดับ 30.30 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากวานนี้ (19 พฤศจิกายน) ที่เคลื่อนไหวในระดับ 30.40 บาทต่อดอลลาร์​ ส่วนช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่ามากที่สุดของวันนี้อยู่ที่ระดับ 30.25 บาทต่อดอลลาร์

 

ส่วนการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติในวันนี้พบว่า ขายสุทธิในตลาดตราสารหนี้ 1,286 ล้านบาท แต่เข้าซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทย 2,386 ล้านบาท

 

สงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายทีม Investment and Markets Research สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า มาตรการที่​ ธปท. ประกาศออกมานับเป็นมาตรการที่ไม่ได้มีความรุนแรงมากนัก เช่น มาตรการที่ขอให้นักลงทุนต่างชาติลงทะเบียนเพื่อแสดงตัวตนในการซื้อขายตราสารหนี้ โดยมาตรการลักษณะนี้เป็นเพียงการเพิ่มความยุ่งยากให้กับนักลงทุนที่สนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเท่านั้น 

 

เขาบอกว่า ในต่างประเทศเองก็มีมาตรการในลักษณะนี้ แต่ส่วนใหญ่ให้ลงทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิพิเศษส่วนลดทางภาษีจากการลงทุน เช่น ในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ปกติแล้วผู้ลงทุนในตลาดพันธบัตรของเขาจะถูกทางการเรียกเก็บภาษีราว 10-15% ของดอกเบี้ยที่ได้รับ แต่เขาก็จะให้สิทธิลดหย่อนได้ในกรณีที่ถูกเรียกเก็บซ้ำซ้อน เพียงแต่ต้องไปลงทะเบียน ซึ่งวิธีการของ ธปท. ก็จะคล้ายกับในประเทศเหล่านี้ 

 

“ในต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ถ้าไปลงทะเบียนก็จะได้สิทธิพิเศษได้รับการลดหย่อนไม่ต้องถูกเก็บภาษีจากดอกเบี้ยที่ได้รับ ของเราก็ใช้วิธีเดียวกันนี้คือ ให้มาลงทะเบียน แต่ไม่ใช่เพื่อได้ส่วนลดทางภาษี เป็นการลงทะเบียนเพื่อที่เราจะได้มอนิเตอร์การลงทุนของเขา หากเห็นว่ามาลงทุนในลักษณะเก็งกำไรค่าเงิน ทางการเราก็คงส่งสัญญาณเตือนไป แต่โดยรวมยังถือเป็นมาตรการที่ไม่แรงนัก”

 

ส่วนมาตรการที่อนุญาตให้คนไทยฝากเงินตราต่างประเทศได้เสรี หรือปรับกฎเกณฑ์และกระบวนการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยเพิ่มวงเงินให้กับนักลงทุนรายย่อยออกไปลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้นนั้นเชื่อว่า ปริมาณเงินที่ไหลออกคงไม่ได้มาก โดยรวมจึงคิดว่าไม่น่าจะมีผลต่อการเคลื่อนไหวของเงินบาทมากนัก 

 

จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ (SCBS CIO) กล่าวว่า มาตรการที่ออกมาในรอบนี้ไม่ได้แตกต่างจากของเดิมมากนัก สะท้อนให้เห็นว่า ธปท. มีข้อจำกัดในการดูแลค่าเงินบาทเช่นกัน ขณะเดียวกันยังเป็นการสะท้อนว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการเปิดตลาดเสรี ไม่ได้ปิดกั้นการลงทุนจากต่างประเทศ เพียงแต่การเข้ามาต้องไม่มีลักษณะเก็งกำไรค่าเงิน

 

“ปัญหาในขณะนี้สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยยังไม่ออกไปลงทุนในต่างประเทศมากนัก ทำให้การรีไซเคิลเงินออกนอกประเทศยังทำได้ไม่ดีนัก ทำให้แบงก์ชาติต้องพยายามเพิ่มแรงจูงใจให้คนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น”

 

ส่วนเรื่องที่ขอให้นักลงทุนต่างชาติมาลงทะเบียนเพื่อแสดงตัวตนในการซื้อขายตราสารหนี้นั้น ข้อนี้ชัดเจนว่า ธปท. ไม่อยากเห็นการเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้เพื่อหวังเก็งกำไรค่าเงินบาท อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามดูว่ามาตรการเหล่านี้จะใช้ได้ผลมากน้อยแค่ไหน

 

สำหรับมาตรการที่ ธปท. ออกมาในวันนี้แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 

 

  1. เปิดให้คนไทยฝากเงินตราต่างประเทศได้เสรี และโอนเงินระหว่างบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD) ของคนไทยได้เสรี ซึ่งช่วยให้ผู้ส่งออกบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศและบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้คล่องตัวมากขึ้น สามารถทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยลดต้นทุนการโอนเงินและชำระเงิน ตลอดจนทำให้คนไทยสามารถกระจายความเสี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์สกุลเงินตราต่างประเทศได้สะดวกขึ้น เช่น การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ และการซื้อขายทองคำเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

 

  1. ปรับกฎเกณฑ์และกระบวนการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ทั้งในมิติของวงเงินและผลิตภัณฑ์ที่ลงทุนได้ เพื่อเพิ่มทางเลือกการลงทุนให้กับคนไทย และสนับสนุนให้มีการกระจายความเสี่ยงการลงทุนได้มากขึ้น

 

โดยเพิ่มวงเงินลงทุนให้นักลงทุนรายย่อยลงทุนโดยตรงได้เป็น 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จากเดิม 2 แสนดอลลาร์สหรัฐต่อปี และไม่จำกัดวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่ลงทุนผ่านตัวกลางในประเทศ เช่น บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน

 

ขณะเดียวกันไม่จำกัดวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศสำหรับนักลงทุนภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ด้วย รวมทั้งเปิดให้มีการนำหลักทรัพย์ต่างประเทศมาซื้อขายในไทยได้โดยไม่จำกัดวงเงิน เช่น กองทุนรวมดัชนี (ETF) ที่อ้างอิงหลักทรัพย์ต่างประเทศได้

 

  1. การลงทะเบียนแสดงตัวตนเพื่อซื้อขายตราสารหนี้ ผู้ลงทุนในตราสารหนี้ไทยต้องลงทะเบียนแสดงตัวตนก่อนการซื้อขายให้ ธปท. ระบุตัวตนและติดตามพฤติกรรมของนักลงทุนได้อย่างใกล้ชิด เป็นการยกระดับการติดตามข้อมูล และเอื้อให้ ธปท.​ สามารถดำเนินนโยบายได้อย่างตรงจุดและทันการณ์ ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับการดำเนินการของหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เป็นต้น

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising