×

เจาะงบบริษัทเทคโนโลยีไตรมาส 3 ‘รายได้โฆษณา’ และบริการยังโตอู้ฟู่ สวนกระแสโควิด-19

02.11.2020
  • LOADING...
รายได้โฆษณา

HIGHLIGHTS

6 mins read
  • ในช่วงไตรมาส 3 นี้ ยักษ์ใหญ่บริษัทเทคโนโลยีทั้ง 5 แห่ง ทั้ง Amazon, Apple, Alphabet, Facebook และ Microsoft ล้วนแล้วแต่มีผลประกอบการเติบโตในทางที่ดี โดยคาดว่าได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากโควิด-19
  • แต่ถึงแม้รายได้และกำไรสุทธิของบริษัทเหล่านี้จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้สันทัดกรณีก็เชื่อว่า ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ 2020 จะเข้ามาเป็นตัวกำหนดอนาคตของเหล่า Big Tech Company ในประเทศได้เป็นอย่างดี

ช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว บริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งในสหรัฐฯ เพิ่งประกาศผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงไตรมาสที่ 3 ประจำปี 2020 ออกมา (กรกฎาคม-กันยายน) โดยพบภาพรวมที่น่าสนใจว่า บริษัทหลายแห่งมีตัวเลขผลประกอบการออกมาเป็นที่น่าพึงพอใจอย่างมาก สอดคล้องกับช่วงกลางปีที่หลายๆ ประเทศเริ่มมาตรการคลายล็อกบางส่วน (ช่วงไตรมาส 4 ประเทศในยุโรปหลายแห่งเริ่มล็อกดาวน์อีกครั้ง)

 

โดยเฉพาะ ‘แพลตฟอร์มดิจิทัล’ จำนวนมากที่มีรายได้จากค่าโฆษณาเติบโตขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม ‘บริการ (Services)’ ก็นับรวมเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่เห็นได้ชัดว่า บริษัทหลายแห่งเริ่มเบนเข็มมาทางนี้กันมากขึ้น และก็เริ่มรับรู้ทิศทางการเติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญ

 

THE STANDARD สรุปรวมผลการดำเนินงานของบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ ในช่วงไตรมาส 3 ที่เพิ่งปิดฉากลงไป พร้อมประเมินสถานการณ์ภาพรวมของยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในขณะนี้ว่ากำลังจะเปลี่ยนหรือขับเคลื่อนไปอย่างไร

 

 

Big 5 Tech Titans สหรัฐฯ รายได้ยังหวือหวา กำไรโตเด่นจากธุรกิจบริการและโฆษณา

เริ่มต้นที่ Apple (AAPL) ผลประกอบการของบริษัทในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา (ไตรมาส 4 ตามปีงบการเงินบริษัท) มีรายได้รวมอยู่ที่ 64,698 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2.01 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 1% ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 12,673 ล้านดอลลาร์ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว 7.4%

 

ทั้งนี้ เมื่อจำแนกสัดส่วนผลประกอบการของบริษัทในไตรมาสนี้ออกมาจะพบว่า รายได้หลักของ Apple ในสัดส่วน 77.5% หรือ 50,149 ล้านดอลลาร์ มาจากธุรกิจการจำหน่ายสินค้า (Products) ส่วนอีก 22.5% หรือ 14,549 ล้านดอลลาร์ มาจากสินค้าในกลุ่มบริการ (Services)

 

ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับ Apple คือพวกเขาสามารถทำรายได้จากการจำหน่ายสินค้าในกลุ่ม Mac ได้ที่ 9,032 ล้านดอลลาร์ (+29.2%) และบริการที่ 14,549 ล้านดอลลาร์ (+16.3%) ในช่วงไตรมาส 3 นี้ ซึ่งถือเป็นรายได้ที่สูงเป็นประวัติการณ์ของทั้งสองผลิตภัณฑ์ดังกล่าวประจำพอร์ตโฟลิโอบริษัท

 

โดยในช่วงไตรมาสที่ 4 ที่จะถึงนี้ เราน่าจะเริ่มได้เห็นการเติบโตของรายได้จากยอดการจำหน่ายสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ทาง Apple เพิ่งเปิดตัวและวางขาย iPhone 12, Apple Watch Series 6 และ SE ไปจนถึง iPad Air ใหม่ หรือ iPad เจนที่ 8 พอดี

 

จุดที่น่ากังวลคือ ‘ประเทศจีน’ ยังเป็นเพียงตลาดเดียวที่ Apple มียอดขาย ‘ตกลง’ ในสัดส่วนราว 28.6% จากเดิมที่เคยจำหน่ายสินค้าได้ที่ 11,134 ล้านดอลลาร์ ลดลงมาอยู่ที่ 7,946 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ตลาดของ Apple ในประเทศอื่นๆ ล้วนแล้วแต่มียอดขายเพิ่มขึ้นเฉลี่ยทุกตลาดในสัดส่วน 8% ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความบาดหมางสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ 

 

ขยับมาดูที่ Amazon (AMZN) กันบ้าง ในช่วงไตรมาส 3 นี้ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่เบอร์หนึ่งของโลกมีรายรับรวมที่ 96,145 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้า 37% มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 6,331 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2018 ที่ 196%

 

สาเหตุประการสำคัญที่ทำให้รายได้และกำไรของ Amazon ในช่วงไตรมาสนี้เติบโตอย่างโดดเด่น มาจากทุกๆ หมวดธุรกิจของบริษัทสามารถทำผลงานได้อย่างน่าประทับใจเป็นอย่างมาก เช่น

 

  • ยอดขายสโตร์ออนไลน์ 48,350 ล้านดอลลาร์ (+38%)
  • ค่าธรรมเนียมและค่าบริการอื่นๆ ที่มาจาก Third Party 20,436 ล้านดอลลาร์ (+55%)
  • รายได้จาก AWS (คลาวด์) 11,601 ล้านดอลลาร์ (+29%)
  • รายได้จากบริการ Subscription ของบริษัท 6,572 ล้านดอลลาร์ (+33%)
  • รายได้อื่นๆ 5,398 ล้านดอลลาร์ (+51%)

 

ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า ในช่วง 6 ไตรมาสล่าสุดของบริษัท ธุรกิจคลาวด์ AWS และบริการในกลุ่ม Subscription เป็นเพียงสองหมวดธุรกิจของ Amazon เท่านั้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในทุกๆ ไตรมาส 

 

 

ส่วนถ้านับเฉพาะไตรมาสนี้ ยอดขายจากสโตร์ออฟไลน์ของ Amazon เป็นเพียงหมวดธุรกิจเดียวของบริษัทที่มีรายได้ลดลงจากปีที่แล้ว 10% ลงมาอยู่ที่ 3,788 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเริ่มปรับลดมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1 จากผลกระทบของโควิด-19

 

ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 4 ของบริษัท Amazon คาดการณ์ว่าพวกเขาน่าจะมีรายรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 28-38% หรือประมาณ 112,000-121,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนกำไรจากการดำเนินการน่าจะอยู่ที่ระหว่าง 1,000-4,500 ล้านดอลลาร์

 

ด้าน Alphabet (GOOGL) บริษัทแม่ของ Google มีรายได้รวมในช่วงไตรมาส 3 นี้ที่ 46,173 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 14% ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 11,247 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 59%

 

เมื่อจำแนกรายละเอียดข้อมูลจากผลประกอบการบริษัทจะพบว่า รายได้โฆษณาจากแพลตฟอร์ม YouTube นั้นอยู่ที่ประมาณ 5,037 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 32.4% เช่นเดียวกับธุรกิจคลาวด์ของ Google มีรายรับที่เติบโตสูงที่สุดจากปีที่แล้วเมื่อเทียบกับทุกๆ หมวดธุรกิจที่ 44.7% โดยมีรายรับรวมทั้งสิ้น 3,444 ล้านดอลลาร์

 

จากข้อมูลผลประกอบการทั้งหมดทั้งมวลของ Alphabet นี้ยังสามารถสะท้อนให้เห็นถึง ‘ความคึกคัก’ ของการที่แบรนด์ต่างๆ ทุ่มงบอัดฉีดการทำตลาดบนแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างสุดกำลังในช่วงที่โควิด-19 ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคหันเหมาจับจ่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้ชัดเจน

 

ฟากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยอดนิยมอย่าง ‘Facebook (FB)’ ในไตรมาส 3 นี้พวกเขามีรายได้รวมทั้งสิ้น 21,470 ล้านดอลลาร์ เติบโตขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว 22% และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 7,846 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 28.8%

 

โดยรายได้หลักส่วนใหญ่ในสัดส่วน 98.8% หรือประมาณ​ 21,221 ล้านดอลลาร์ ยังคงมาจากช่องทางการขายโฆษณา ส่วนรายได้จากธุรกิจอื่นๆ อยู่ที่ 249 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.2% ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วราว 7%

 

จำนวนผู้ใช้งาน Facebook ในปัจจุบัน (MAUs) อยู่ที่ 2.74 พันล้านราย เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 12% โดยในสหรัฐฯ และแคนาดา เป็นเพียงแค่ตลาดเดียวของ Facebook ที่มียอดผู้ใช้งานลดลงที่ 1 ล้านราย ขณะที่ตลาดเอเชียแปซิฟิกมีผู้ใช้งานเพิ่มสูงสุดเมื่อเทียบกับทุกๆ ตลาดที่ 24 ล้านราย 

 

เมื่อคำนวณค่าเฉลี่ยรายได้ต่อผู้ใช้งานหนึ่งราย (APRU) ในไตรมาสนี้ของ Facebook จะพบว่า ผู้ใช้งานหนึ่งคนสามารถทำรายได้เฉลี่ยให้กับ Facebook ที่​ 7.89 ดอลลาร์ หรือราว 246 บาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 8.7% ซึ่งผู้ใช้ในสหรัฐฯ และแคนาดา สามารถทำรายได้ให้กับ Facebook สูงที่สุดในบรรดาทุกตลาดกว่า 39.63 ดอลลาร์ หรือประมาณ 1,235 บาท

 

โดยช่วงไตรมาส 4 ที่จะถึงนี้ Facebook คาดการณ์ว่ารายรับจากธุรกิจโฆษณาจะเติบโตมากกว่าในช่วงไตรมาส 3 (เมื่อเทียบระหว่างปีนี้กับปีที่แล้ว) เนื่องจากการที่แบรนด์และผู้ประกอบการน่าจะมีความต้องการยิงโฆษณาในช่วงเทศกาลหยุดยาวต่างๆ มากเป็นพิเศษ รวมไปถึงยอดสั่งซื้อล่วงหน้าของผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์อย่าง Oculus Quest 2 ที่ได้รับผลตอบรับคึกคัก

 

 

ปิดท้ายด้วย Microsoft (MSFT) ที่มีรายรับรวมในช่วงไตรมาส 3 นี้ที่ 37,154 ล้านดอลลาร์ เติบโตจากปี 2019 ที่ 12% โดยมีกำไรสุทธิที่ 13,983 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 30%

 

ซึ่งธุรกิจคลาวด์ของ Microsoft (Intelligent Cloud) สามารถทำเงินให้กับบริษัทได้สูงกว่า 13,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 35% ของรายได้รวมทั้งหมด เติบโตขึ้นจากปีที่แล้ว 20% ซึ่งเหตุผลสำคัญมาจากการที่บริการ Microsoft Azure มีอัตราการเติบโตอย่างโดดเด่นสูงกว่า 48% 

 

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างช่วงไตรมาส 3 ของปี 2019 และ 2020 จะพบว่า รายได้จากผลิตภัณฑ์ในกลุ่มบริการของ Microsoft มีการ ‘ปรับตัวขึ้น’ อย่างมีนัยสำคัญ จากเดิมที่คิดเป็นสัดส่วน 52.3% ขยับขึ้นมาเป็น 57.5% ในปีนี้

 

นอกเหนือจากนี้รายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม Surface ก็เติบโตอย่างโดดเด่นจากปีที่แล้วเช่นกันที่ 37% โดยคาดว่าน่าจะเป็นผลจากมาตรการ Work from Home ที่ทำให้พนักงานสนใจซื้อผลิตภัณฑ์ในกลุ่มไฮบริดแท็บเล็ต-แล็ปท็อป เป็นอุปกรณ์ในการทำงานที่บ้านกันมากขึ้น

 

สำหรับในช่วงไตรมาส 4 ที่จะถึงนี้ Microsoft ยังมีลุ้นทำรายได้เติบโตขึ้นจากปีที่แล้วได้อีก หลังจากจ่อวางจำหน่ายเครื่องเกมคอนโซลเจนใหม่ ‘Xbox Series X’ และ ‘Xbox Series S’ ในวันที่ 10 พฤศจิกายนนี้ (คู่แข่งอย่าง Sony จะวางจำหน่าย PS5 ในวันที่ 12 พฤศจิกายน เฉพาะบางประเทศ และ 19 พฤศจิกายน ในทุกประเทศทั่วโลก)

 

 

ผลประกอบการที่สวยหรูของเหล่าบิ๊กเทคโนโลยีกำลังบอกอะไรเรา ถ้า ‘ไบเดน’ ชนะเลือกตั้ง อะไรจะเกิดขึ้น?

ถ้ามองจากภาพรวมผลประกอบการของเหล่าบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ทั้ง 5 แห่งที่เราหยิบยกขึ้นมา ก็จะพบจุดร่วมที่ใกล้เคียงกัน นั่นคือการที่รายได้ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มบริการของพวกเขาเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเป็นอย่างมาก ตัวอย่างคือ Microsoft ที่ปัจจุบันมีรายได้จากสินค้าในกลุ่มบริการคิดเป็นสัดส่วน 57.5% ของบริษัทแล้ว

 

ฝั่ง Apple ก็ไม่น้อยหน้า เพราะสามารถทำรายได้จากบริการไปได้ที่ 14,549 ล้านดอลลาร์ สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ของบริษัท โดยเติบโตจากปีที่แล้วถึง 16.3%

 

หรือแม้แต่ Amazon ที่มีรายได้จากการให้บริการในรูปแบบ Subscription Services (Prime, Audiobook, Digital video, Digital music และ e-book) โตขึ้นจากปีก่อนราว 33%

 

ในมุมหนึ่งเราอาจจะมองได้ว่า การระบาดของโควิด-19 ที่มีส่วนให้บรรดาผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ ต้องทรานส์ฟอร์ม ผู้ใช้งานทั่วไปอย่างเราต้องปรับพฤติกรรมการใช้งานแพลตฟอร์มดิจิทัลเสียใหม่ มีผลสำคัญเป็นอย่างมากที่ทำให้รายได้ภาคธุรกิจในกลุ่มบริการของบริษัทเหล่านี้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และโดดเด่นเป็นพิเศษในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมา

 

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าพวกเขาจะนิ่งนอนใจได้ เพราะถึงแม้รายได้และผลประกอบการบริษัทจะเติบโตอย่างสวยหรูท่ามกลางความท้าทายของสภาวะเศรษฐกิจโลกและการระบาดของโควิด-19 แต่ประเด็นที่บริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้จะต้องไม่ลืมคือ การถูก ‘เพ่งเล็ง’ จากหน่วยงานรัฐบาลและสภาคองเกรสในการควบคุมนโยบายการให้บริการในประเด็นต่างๆ ทั้งการผูกขาดตลาด ตลอดจนการดูแลข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้งาน หรือความบกพร่องในการควบคุมเนื้อหาเฟกนิวส์บนแพลตฟอร์ม เป็นต้น

 

ดูได้จากการที่ซีอีโอของเหล่าบริษัทเทคโนโลยีทั้งหลายถูกเรียกตัวขึ้นให้การในประเด็นต่างๆ ต่อสภาคองเกรสอยู่ต่อเนื่องหลายต่อหลายครั้ง จนภาพที่ใบหน้าของซีอีโอปรากฏอยู่บนจอวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในรัฐสภานั้นแทบจะกลายเป็นภาพปกติที่พบเห็นจนชินตาไปแล้ว

 

โจนาธาน พอนเซียโน นักเขียนจากเว็บไซต์ Forbes ได้สะท้อนความเห็นที่น่าสนใจมากๆ ว่า ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ 2020 ที่ใกล้จะได้บทสรุปในอีกไม่กี่วันต่อจากนี้จะเปรียบเสมือนตัวชี้วัดอนาคตข้างหน้าของเหล่าบริษัทเทคโนโลยีทั้งหลายในสหรัฐฯ ได้เป็นอย่างดี

 

เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า โจ ไบเดน แคนดิเดตผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต มีความตั้งใจและเป้าประสงค์ที่ชัดเจนที่พยายามจะควบคุมบริษัทเทคโนโลยีให้อยู่ในระบบระเบียบอย่างเข้มงวด หลีกเลี่ยงการเปิดทางให้พวกเขาเหล่านั้นดำเนินธุรกิจในตลาดด้วยการผูกขาด เอาเปรียบบริษัทที่มีขนาดเล็กกว่า หรือแม้แต่การออกกฎระเบียบที่บังคับในประเด็นการนำข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้งานไปใช้ประโยชน์ต่อเพื่อการโฆษณา ซึ่งแตกต่างจากสิ่งที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ดำเนินในการบริหารประเทศตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

 

ถึงอย่างนั้นก็ตาม นี่เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนหนึ่งของนักวิเคราะห์เท่านั้น ซึ่งเราคงต้องตามติดผลกระทบจากการเลือกตั้ง (รวมถึงนโยบายบริหารประเทศของไบเดน หากเขาคว้าตำแหน่งประธานาธิบดีมาครองได้สำเร็จ) ที่อาจจะมีต่อการดำเนินงานของบริษัทเทคโนโลยีในอนาคตข้างหน้ากันแบบยาวๆ 

 

รวมถึงต้องจับตาดูให้ดีว่า การที่หลายๆ ประเทศในยุโรปเริ่มใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ จะมีผลต่อการดำเนินงานของบริษัทในช่วงไตรมาส 4 ที่จะถึงนี้มากน้อยเพียงใด

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising