×

‘เต่าบิน ถอดรหัสเทคโนโลยีหุ่นยนต์ชงกาแฟที่เข้าถึงทุกคน’ ความสำเร็จที่เริ่มต้นจากความล้มเหลว [ADVERTORIAL]

โดย THE STANDARD TEAM
22.07.2022
  • LOADING...
เต่าบิน

เรารู้…และคุณก็รู้ว่า Vending Machine หรือเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ เป็นสิ่งที่คุ้นตาและคุ้นมือกันมานานแล้ว จะแปลกใหม่หน่อยก็คงเป็นสินค้าที่อยู่ภายในเครื่อง แต่สำหรับเทคโนโลยีของตัวเครื่องกลับยังไม่มีเรื่องตื่นเต้นให้เห็นเท่าไร โดยเฉพาะในเมืองไทย

 

จนกระทั่ง ‘เต่าบิน’ (TAO BIN) A Robotic Barista ที่สามารถเสิร์ฟเครื่องดื่มชงสดได้กว่า 170 เมนู ตลอด 24 ชั่วโมง ปรากฏตัวครั้งแรกที่ตึก Forth พหลโยธิน กลายเป็นกระแสบนโลกโซเชียลแทบจะทันที ภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี เต่าบินกระจายตัวไปตามคอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน และจุดต่างๆ ที่มีทราฟฟิกสูงกว่า 2,000 ตู้  

 

เต่าบิน

 

ตอง-วทันยา อมตานนท์ Business Development Executive และ Chief Product Officer ผู้อยู่เบื้องหลังการคิดค้นเต่าบินตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงวันนี้ บอกว่าความสำเร็จของเต่าบินไม่ได้เกิดจากการสร้างโมเดลธุรกิจที่ถูกต้อง แต่เกิดจาก ‘ข้อจำกัดของเทคโนโลยีหนึ่งจนนำไปสู่การใช้เทคโนโลยีนำทางธุรกิจ’ 

 

บทเรียน แนวคิด และวิธีการลองผิดลองถูกนับครั้งไม่ถ้วนจนค้นพบเทคโนโลยีของเต่าบินคืออะไร เราจะพาคุณไปอ่านเคส ‘เต่าบิน ถอดรหัสเทคโนโลยีหุ่นยนต์ชงกาแฟที่เข้าถึงทุกคน’ กลั่นเฉพาะสาระสำคัญมาจากพอดแคสต์ THE SME HANDBOOK by UOB Season 4 รวม Know-How การนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจ SMEs

 

‘Robotic Vending Machine’ เทคโนโลยีหุ่นยนต์บาริสต้าที่เกิดขึ้นมาจากความล้มเหลว
ตู้เต่าบินไม่ได้เกิดขึ้นจากภาพโมเดลธุรกิจสวยงามที่มีการวางกลยุทธ์ชัดเจน แต่เกิดจากความล้มเหลวตั้งแต่การทำธุรกิจตู้กดเครื่องดื่มประเภทน้ำกระป๋อง ที่ให้กำไรน้อย คืนทุนช้า และเสียเวลาไปกับการเติมของ ก่อนจะหันมานำเข้าตู้กดกาแฟแบบชงอัตโนมัติจากต่างประเทศ เพื่อจะพบความล้มเหลวอีกครั้ง ทั้งปัญหาตู้เสียบ่อยจนไม่คุ้มค่าซ่อม สินค้าไม่ตอบโจทย์ตลาด วทันยาบอกว่า ความทรมานจากปัญหาในช่วงนั้นคือจุดพลิกผันจนทำให้เกิดนวัตกรรม Robotic Vending Machine ของตู้เต่าบินในวันนี้

 

เต่าบิน

 

เฟรมเวิร์กสำคัญที่ได้จาก ‘ความล้มเหลว’  

บทเรียนจากความล้มเหลวที่ค้นพบคือ ธุรกิจ Vending Machine ไปต่อได้ เพราะจุดอ่อนไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยี Automation แต่เป็นเรื่อง ‘ประสิทธิภาพ’ และ ‘ความหลากหลายของเมนู’ สิ่งที่จะมาแก้โจทย์นี้ได้คือการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วย 

 

“สิ่งสำคัญคือ ต้องมองหาให้เจอว่าอะไรคือ Pain Point สำหรับเรา สิ่งแรกที่อยากแก้ไขคือ อยากได้เมนูที่หลากหลายกว่านี้และรสชาติดีกว่านี้ กลายเป็นที่มาของการทดลองทำเครื่องที่สามารถชงสดได้ในตู้ จุดต่อมาคือ แล้วจะทำอย่างไรจึงจะขายเครื่องดื่มคุณภาพดีในราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้” 

 

ด้วยพื้นฐานของบริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น เชี่ยวชาญด้านการผลิตสินค้าประเภท Vending Machine เป็นทุนเดิม ทำให้เต่าบินมีทีมงานที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีมาร่วมลงแรงกันลองผิดลองถูก มีการแบ่งทีมทำงานชัดเจน เช่น ทีมโมดูลน้ำแข็ง ทีมโมดูลโซดา ทำให้งานเดินได้เร็วขึ้น 

 

แล้วการมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสำคัญต่อการพัฒนาเทคโนโลยีหรือไม่นั้น วทันยาเล่าว่า แม้ทีมงานจะมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี แต่ก็ไม่ได้เชี่ยวชาญทุกเรื่อง เริ่มแรกบางคนไม่ได้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนั้นๆ แต่เพราะเปิดใจที่จะเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ และทดลองจนกลายเป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

  

“การสร้างเมนูใหม่กลายเป็นความสนุกของทีม เราต้องการให้ทุกคนในทีมได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ส่งถึงลูกค้าจริงๆ ไม่ใช่แค่การผลิตเครื่องจักรทั่วๆ ไป” วทันยากล่าว 

 

เต่าบิน

 

แนวคิดสร้างเทคโนโลยีที่ใช้ ‘ง่าย’ ทุกวัย 

ตู้เต่าบินยังเป็นตัวอย่างความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมล้ำสมัยแต่เข้าถึงได้สำหรับทุกคน ไม่ว่าใครก็ใช้งานได้ง่ายๆ วทันยาบอกว่า หัวใจสำคัญคือ เริ่มทุกอย่างด้วยคำถาม ‘ลูกค้าต้องการอะไร?’ 

 

“ตู้เต่าบินคือตู้สำหรับสั่งน้ำ ต้องทำให้แอ็กชันของลูกค้าน้อยที่สุด อะไรคือสิ่งที่อยากจะให้เขาทำ ก็แสดงให้เห็นผ่านหน้าจอให้ชัดที่สุด อะไรที่ไม่จำเป็นแต่เป็นออปชัน ก็ขนาดตัวเล็กหน่อยได้ ไกด์ผู้ใช้งานด้วย Focus Point เป็นเทคนิคของการดีไซน์ UX/UI คือพยายามทำให้ผู้ใช้งานคิดน้อยที่สุด” 

 

ส่วนประเด็นที่หลายธุรกิจอาจลังเลไม่กล้าลงทุนกับเทคโนโลยี เพราะอาจไม่คุ้มกับการลงทุน วทันยาอยากให้เปรียบเทียบความคุ้มค่าในหลายมิติ พร้อมยกเคสเต่าบิน ส่วนที่ประหยัดค่าใช้จ่ายคือค่าเช่าพื้นที่เปิดหน้าร้านและพนักงาน การนำเทคโนโลยีมาใช้สำหรับโมเดลเต่าบินจึงกลายเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ากว่า

 

เมื่อเทคโนโลยีเข้าถึงง่าย จะทำอย่างไรให้ธุรกิจยังเป็นผู้นำ

“เราไม่ได้อยู่ในยุคของปลาใหญ่กินปลาเล็กอีกต่อไป แต่เป็นปลาเร็วกินปลาช้า ดังนั้น SMEs ต้องให้ความสำคัญกับการคิดต่าง เปลี่ยนบทบาทตัวเองจากผู้ตามเป็นผู้นำ และลงมือทำทันที อย่าลืมว่าอะไรที่คนอื่นเขาทำได้ง่ายๆ เดี๋ยวก็มีคนทำตาม ดังนั้นถ้ารู้ตัวว่าอะไรที่เราทำได้และเป็นสิ่งที่ถนัด นั่นคือข้อได้เปรียบ แม้จะไม่ได้มีเงินทุนเท่ากับเจ้าใหญ่ๆ”

 

เต่าบิน

 

คำแนะนำสำหรับ SMEs ในการนำเทคโนโลยีที่มีมาปรับใช้ให้ธุรกิจเติบโตต่อได้อย่างยั่งยืน 

  • คิดให้ต่าง สังเกตดูว่าธุรกิจเราต่างจากคนอื่นหรือเปล่า จุดแข็งของเราคืออะไร 
  • ลงมือทำทันที เพื่อค้นพบข้อผิดพลาดให้เร็ว 
  • นำบทเรียนมาเป็นเข็มทิศ เพื่อพัฒนาต่อให้ถูกทาง  

 

“อย่าลืมเรื่องของ Data สำคัญมาก เพราะมันสามารถนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจ และสร้างข้อได้เปรียบให้กับธุรกิจ อย่างตู้เต่าบินสิ่งที่เราเน้นเป็นพิเศษจะเป็น Data ที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพของเครื่องและคุณภาพของเครื่องดื่ม เพื่อนำไปพัฒนาเครื่องและพัฒนาโปรดักต์ใหม่ๆ” 

 

วทันยายกตัวอย่างการเก็บ Data ของตู้เต่าบินในช่วงแรกๆ คือ การดูว่าแต่ละยูนิตที่เราใช้ในการทำเครื่องดื่ม 1 แก้ว ตรงไหนใช้เวลานานที่สุด จากเดิมกดโกโก้เย็นใช้เวลา 2 นาทีครึ่ง ปัจจุบันเหลือเพียง 1 นาทีนิดๆ ซึ่งกว่าจะได้มาซึ่งผลลัพธ์นี้ต้องผ่านการปรับแก้ไม่น้อยเลยทีเดียว หรือแม้แต่เรื่องการจัดการวัตถุดิบบางชนิด Data จะทำให้เห็นว่าวัตถุดิบไหนไม่ได้รับความนิยม 

 

“ตู้เต่าบินมีรายละเอียดของเทคโนโลยีเยอะมากๆ ไม่ใช่ว่าเอาวัตถุดิบอะไรมาใส่ก็ได้ แต่จะต้องมีการละลายที่เหมาะสม ไม่ดูดความชื้น มีอายุการใช้งานที่พอดี และยังต้องมีระบบที่คอยควบคุมด้วยว่าควรจะเอาวัตถุดิบชนิดใดไปใส่แค่ไหน เมื่อไร เพื่อไม่ให้วัตถุดิบค้างอยู่ในตู้นานเกินไป ซึ่งตอนนี้เราเริ่มลองนำเทคโนโลยี Machine Learning มาใช้ เพื่อที่จะเอาข้อมูลทุกอย่างมาวิเคราะห์ต่อ ทั้งในเรื่องปริมาณวัตถุดิบ และความนิยมของลูกค้า”  

 

เต่าบิน

 

เส้นทางการบินต่อของ ‘เต่าบิน’

ในประเทศไทยเต่าบินปักหมุดเอาไว้ทั่วประเทศ 20,000 ตู้ ภายใน 3-4 ปี แต่เป้าที่ไกลกว่านั้นคือการบินไปเติบโตในต่างแดน 

 

“ตอนนี้ทีมกำลังพยายามมากๆ ที่จะนำเทคโนโลยีที่ผลิตและคิดค้นโดยคนไทยไปสู่ตลาดโลกให้ได้ โดยจะเริ่มจากประเทศเพื่อนบ้านก่อน แล้วค่อยขยายไปที่อื่นต่อ” วทันยากล่าว 

 

จุดเด่นที่น่าจะทำให้การบินไปต่างแดนประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว คงเป็นเรื่องความแตกต่างจากผู้ผลิต Vending Machine รายอื่นๆ ที่ผลิตเพื่อจำหน่าย แต่เต่าบินผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสร้างเป็นธุรกิจจริงๆ จนได้ความเชื่อมั่นจากบริษัททั้งไทยและเทศ ทำให้ตอนนี้มีหลายบริษัทที่อยากจะร่วมเป็นพาร์ตเนอร์กับเต่าบิน 

 

คำแนะนำทิ้งท้ายสำหรับ SMEs ที่มองเต่าบินเป็นต้นแบบธุรกิจ

“ต้องตรวจสอบตัวเองก่อนว่ามีสิ่งใดที่เราซ่อมแซมหรือปรับปรุงแล้วได้ผลคืนมาสูงที่สุด ถ้าเลือกใช้เทคโนโลยีซ่อมแซมจุดที่เสียหายสูงจริงๆ จะได้ผลตอบรับกลับคืนมาเร็วขึ้น จากนั้นมองหาความเป็นไปได้หลังจากซ่อมแซม จะเริ่มทำรีเสิร์ชหรือลองมองหาตลาดก่อนก็ได้ อย่าลืมว่าต้องคิดใหม่ทำใหม่เสมอ เพื่อให้เราต่างออกไปจากตลาด เมื่อผ่านจุดนี้ได้แล้วต้องรีบลงมือทำและทดลองให้เร็วที่สุด เพื่อจะได้ฟีดแบ็กและข้อมูลมาใช้ตัดสินใจเพื่อก้าวเดินต่อไป 

 

“วันนี้เต่าบินยังเป็นเด็กน้อย แม้โมเดล Robotic Vending Machine จะประสบความสำเร็จ แต่ก็ยังไม่ใช่โมเดลที่สมบูรณ์ที่สุด เพราะเทคโนโลยีจะต้องพัฒนาต่อไปไม่หยุด การจะเติบโตไปเรื่อยๆ อย่างมีคุณภาพ ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และปรับเปลี่ยนตัวเองให้ทันกับสถานการณ์โลกและสภาพแวดล้อมของสังคมอยู่เสมอ ธุรกิจอื่นๆ ก็เช่นกัน สิ่งสำคัญที่สุดคือการมองรอบตัวและปรับตัวให้ทัน” วทันยากล่าว 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising