×

‘บางจาก’ สยายปีกสู่พลังงานต้นน้ำ เล็งลงทุนธุรกิจสำรวจและขุดเจาะน้ำมันในยุโรปเหนือเพิ่ม รับมือวิกฤตพลังงานขาดแคลน

14.09.2022
  • LOADING...
บางจาก

บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น หรือ BCP เดินหน้าขยายการลงทุนสู่ธุรกิจพลังงานต้นน้ำ หลังจากลงทุนผ่าน OKEA ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพด้าน Green Energy ในนอร์เวย์ เมื่อ 4 ปีที่แล้ว และประสบความสำเร็จอย่างมาก พร้อมยืนเป้าหมายผลักดันสัดส่วน EBITDA จาก Green Energy เป็น 50% ภายในปี 2030 จากปัจจุบันอยู่ที่ 30%

 

ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น หรือ BCP กล่าวว่า กลุ่มบริษัทบางจากประสบความสำเร็จในการขยายธุรกิจสู่ต้นน้ำจากการลงทุนในแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่นอร์เวย์ โดย BCP ได้เข้าลงทุนในบริษัท OKEA  ASA ด้วยการเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 45.7% เมื่อปี 2018

 

โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 OKEA มีรายได้จากการขายน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติรวม 10,239 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 148% จาก 4,133 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และมี EBITDA เพิ่มขึ้นเป็น 7,833 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 288% จาก EBITDA ครึ่งแรกของปี 2021

 

ปัจจัยหลักมาจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุปทานที่ตึงตัวจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ และความต้องการใช้พลังงานทั่วโลกสูงขึ้น หลังจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดในหลายประเทศ

 

ขณะเดียวกัน OKEA ยังอยู่ระหว่างการเจรจาเข้าลงทุนและซื้อกิจการในธุรกิจสำรวจและขุดเจาะในนอร์เวย์และประเทศแถบยุโรปเหนือ หลังจากที่ช่วงต้นปีแรก OKEA สามารถบรรลุการเจรจาเข้าซื้อกิจการ (M&A) ไปแล้ว 2 ดีล จากทั้งหมดที่ได้มีการเจรจาไป 6-7 ดีล โดยคาดการณ์ว่าจากนี้ไปจนถึงปีหน้าจะสามารถปิดดีลได้อีก 2 ดีล ส่วนเม็ดเงินลงทุนเข้าซื้อกิจการนั้นขึ้นอยู่กับการเจรจา โดย OKEA มีความพร้อมด้านกระแสเงินสดสำหรับลงทุน

 

ปัจจุบัน OKEA มีแหล่งปิโตรเลียมในประเทศนอร์เวย์รวมทั้งสิ้น 4 แหล่ง ได้แก่ แหล่ง Draugen ที่ถือหุ้นในสัดส่วน 44.56% แหล่ง Gjoa (12%) แหล่ง Yme (15%) และแหล่ง Ivar Aasen (2.77%) โดยมีปริมาณการผลิตปิโตรเลียมทั้งหมดในส่วนของ OKEA รวมประมาณ 20,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน

 

ทั้งนี้ OKEA เริ่มจากการเข้าเป็น Operator ในแหล่ง Draugen จาก Shell และมีการพัฒนาแหล่งผลิตใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณการผลิตปิโตรเลียมของ OKEA จะปรับตัวเป็นกว่า 25,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันในปลายปีนี้ และปี 2023 จะเพิ่มเป็น 30,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จากนั้นจะเพิ่มเป็น 40,000-60,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ภายใน 4-5 ปี

 

นอกจากนี้ OKEA ยังสามารถปรับปรุงกระบวนการผลิตของแหล่ง Draugen ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทำให้สามารถยืดระยะเวลาในการผลิตออกไปจากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะผลิตได้ถึงปี 2027 เป็นปี 2035 และยังได้รับการชมเชยจากกระทรวงปิโตรเลียมของนอร์เวย์อีกด้วย

 

ชู ‘สำรวจและผลิตปิโตรเลียม’ กลยุทธ์หลัก

 

ชัยวัฒน์กล่าวว่า ความมั่นคงทางพลังงานมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อกลยุทธ์ในระยะยาวของกลุ่มบางจาก ซึ่งธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมนับว่ามีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจตามกลยุทธ์ดังกล่าว OKEA ถือเป็นแฟลกชิปในการบรรลุภารกิจนี้ และถือเป็นหนึ่งในเสาหลักของกลุ่มบางจาก มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ราคาเชื้อเพลิงสูงขึ้นทั่วโลกในช่วงปีที่ผ่านมา

 

และจากการประชุมบอร์ด OKEA ล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการประเมินว่าแนวโน้มวิกฤตด้านพลังงานหลังจากสงครามรัสเซียและยูเครนมีโอกาสที่จะลากยาวไป 3 ปี

 

“ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนทำให้ระดับราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อธุรกิจ OKEA อย่างมาก โดยเมื่อทียบราคาก๊าซธรรมชาติช่วงที่บางจากเพิ่งลงทุนใน OKAE กับปัจจุบัน พบว่าราคาปรับขึ้นจาก 40 เป็น 350 ดอลลาร์ โดยเมื่อเกิดวิกฤตรัสเซียและยูเครนขึ้น เราได้ผลักดันการส่งออกก๊าซธรรมชาติไปยังอังกฤษอย่างเต็มที่ เพราะตลาดมีความต้องการสำรองก๊าซธรรมชาติ เพื่อรองรับเข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนธุรกิจน้ำมัน แม้ราคาน้ำมันดิบจะมีความผันผวน แต่ธุรกิจน้ำมันของ OKEA มีกำไรตลอด เพราะต้นทุนราคาปากหลุมต่ำมาก เพียง 15-20 ดอลลาร์” ชัยวัฒน์กล่าว

 

สำหรับการจะเข้าไปลงทุนในแหล่งใหม่นั้น บางจากจะให้ความสำคัญกับ 3 ข้อพิจารณาหลัก คือ

  1. ปริมาณน้ำมันสำรองต้องเหลืออีกราว 7-10 ปี
  2. ต้องมีต้นทุนปากหลุมไม่เกิน 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และ
  3. จะต้องมีพันธมิตรเข้าไปร่วมลงทุนด้วย

 

ส่วนภาพรวมธุรกิจบางจาก ภายในปี 2030 จะมี EBITDA จากธุรกิจ Green Energy เพิ่มเป็น 50% จากปัจจุบันอยู่ที่ 30% ส่วนในช่วง 5 ปีจากนี้ บริษัทยังคงสัดส่วน EBITDA จากธุรกิจต้นน้ำด้านทรัพยากรธรรมชาติ 30-40% ธุรกิจโรงกลั่น 20-30% ธุรกิจไฟฟ้า 20-30% และธุรกิจใหม่ด้านชีวภาพอีก 10%

 

ชัยวัฒน์กล่าวเพิ่มว่า ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจะเป็นแหล่งพลังงานหลักของโลกไปอีกหลายทศวรรษ โจทย์หลักจึงอยู่ที่ว่าเราจะอยู่กับพลังงานฟอสซิลอย่างไรเพื่อโลกยั่งยืน ดังนั้นบางจากจึงให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลระหว่างความท้าทายด้านพลังงาน 3 ประการ คือ

  1. ความมั่นคงด้านพลังงาน (Energy Security)
  2. การเข้าถึงพลังงาน (Energy Affordability)
  3. ความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability)

 

โดยบางจากจะยึดเอาโมเดลธุรกิจ ประสบการณ์ และทักษะการดำเนินธุรกิจจากการลงทุนที่ประเทศนอร์เวย์ในครั้งนี้เป็นต้นแบบในการขยายการลงทุนด้านธุรกิจสำรวจและผลิตทรัพยากรธรรมชาติต่อไป เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงให้กับธุรกิจของกลุ่มบางจากตั้งแต่ต้นทาง

 

ทั้งนี้ ประเทศนอร์เวย์เป็นประเทศที่มียอดการใช้รถไฟฟ้าสูงสุดในโลกเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร โดยพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดที่ใช้ในประเทศมาจากแหล่งพลังงานสะอาด ในขณะที่พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลผลิตเพื่อส่งออก โดยนอร์เวย์ได้รับการยอมรับว่ามีความพร้อมรองรับเป้าหมาย Net Zero เป็นอันดับต้นๆ ของโลก

 

นอร์เวย์มีแผนจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50-55% ภายในปี 2030 และเป็นสังคมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณต่ำภายในปี 2050 ปัจจุบันมีการกำหนดภาษีคาร์บอนซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่จะช่วยลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ที่กว่า 80 ยูโรต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์ และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นถึงกว่า 200 ยูโรต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในปี 2030 ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจพลังงานของนอร์เวย์พยายามรักษามาตรฐานการผลิตให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising