×

มหากาพย์บอลลูนล้ำน่านฟ้าสหรัฐฯ จีนมีปฏิกิริยาอย่างไร จะลามเป็นสงครามใหญ่หรือไม่

15.02.2023
  • LOADING...
บอลลูนสอดแนม

ดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนส่อเค้าตึงเครียดอีกระลอก ภายหลังจากที่สหรัฐฯ พบวัตถุลอยฟ้าปริศนารุกล้ำน่านฟ้าและเขตอธิปไตยของตนเองเมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ ก่อนที่จะมีรายงานจากฝั่งกองทัพสหรัฐฯ ว่าบอลลูนดังกล่าวอาจเป็นบอลลูนสอดแนมของจีน 

 

เป็นเหตุให้ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่มีกำหนดการเดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการในช่วงเวลานั้น พับแผนดังกล่าวออกไปอย่างไม่มีกำหนด และนำไปสู่การตัดสินใจยิงบอลลูนตกลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติกในท้ายที่สุด  

 

ตลอดระยะเวลาราว 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับปฏิกิริยาของจีนต่อมหากาพย์บอลลูนและวัตถุลอยฟ้าอื่นๆ ที่ทั่วโลกกำลังจับจ้องอยู่ในขณะนี้

 

เงียบ ก่อนจะออกมายอมรับ

 

นับตั้งแต่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เผยรายละเอียดเกี่ยวกับการตรวจพบบอลลูนอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และมีการอ้างว่าบอลลูนดังกล่าวเป็นของจีนนั้น ทางฟากฝั่งของรัฐบาลจีนไม่ได้ตอบโต้หรือชี้แจงประเด็นดังกล่าวในทันที แต่เลือกที่จะเงียบ ก่อนที่จะออกมายอมรับในภายหลังว่าวัตถุลอยฟ้าดังกล่าวเป็นของจีนจริง แต่จีนระบุว่าบอลลูนนี้เป็นบอลลูนพลเรือนที่ใช้ในงานวิจัยด้านอุตุนิยมวิทยา ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับด้านการทหารหรือความมั่นคงแต่อย่างใด 

 

โดยรัฐบาลจีนได้เน้นย้ำว่าการที่บอลลูนลูกดังกล่าวออกนอกเส้นทางและเคลื่อนเข้าสู่น่านฟ้าของสหรัฐฯ นั้นเป็นอุบัติเหตุ เป็นเหตุสุดวิสัย เนื่องจากปัจจัยด้านสภาพอากาศที่แปรปรวน 

 

ก่อนที่กองทัพสหรัฐฯ จะตัดสินใจยิงทำลายบอลลูนดังกล่าวทันทีที่เคลื่อนออกสู่มหาสมุทรแอตแลนติก นอกชายฝั่งรัฐเซาท์แคโรไลนา เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้จีนประท้วงและแสดงความไม่พอใจอย่างมากต่อสิ่งที่เกิดขึ้น โดยเหมาหนิง โฆษกหญิงประจำกระทรวงการต่างประเทศจีน ชี้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นปฏิกิริยาตอบโต้ที่เกินจริง เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้และขาดความรับผิดชอบ 

 

ต่อมาไม่นานมีการตรวจพบบอลลูนจีนอีกลูกเหนือน่านฟ้าแถบลาตินอเมริกา โดยทางการจีนก็ออกมายอมรับว่ามีเรือเหาะลำหนึ่งของจีนเคลื่อนตัวออกนอกเส้นทางเข้าไปยังน่านฟ้าของลาตินอเมริกาและแคริบเบียนอย่างไม่ได้ตั้งใจ พร้อมทั้งระบุว่าเรือเหาะลำดังกล่าวมีความคล่องตัวที่จำกัด เนื่องจากปัจจัยทางด้านสภาพอากาศ 

 

ทางการจีนยังเน้นย้ำว่า จีนเป็นประเทศที่มีความรับผิดชอบและปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัดเสมอมา มีการแจ้งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้รับทราบและจัดการกับประเด็นต่างๆ อย่างถูกต้องเหมาะสม โดยไม่เป็นภัยคุกคามต่อประเทศใด

 

เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางการโคลอมเบีย หนึ่งในประเทศที่วัตถุลอยฟ้าของจีนเคลื่อนผ่าน ได้เปิดเผยว่าตรวจพบวัตถุลอยฟ้าดังกล่าวที่ระดับความสูง 55,000 ฟุต ตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก่อนจะเฝ้าติดตามจนเรือเหาะลำดังกล่าวเคลื่อนผ่านพ้นน่านฟ้าออกไป โดยไม่ได้มีสัญญาณบ่งชี้ถึงการเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของโคลอมเบียแต่อย่างใด

 

คาดเดา และพิจารณาถึงความเป็นไปได้ 

 

บนโลกอินเทอร์เน็ตของจีนมีการคาดเดาถึงความเป็นไปได้ในมิติต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะการพยายามค้นหาคำตอบว่าใครเป็นผู้ปล่อยบอลลูนดังกล่าวกันแน่ ผู้คนจำนวนไม่น้อยต่างอ้างถึงบทความจีนที่พูดถึงบริษัทท้องถิ่นแห่งหนึ่งอย่าง ChemChina Zhuzhou Rubber Research and Design Institute ที่ตั้งอยู่ในเมืองจูโจว มณฑลหูหนานของจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตบอลลูนลอยฟ้าเจ้าสำคัญของจีน และส่งออกบอลลูนไปยังกว่า 40 ประเทศในประชาคมโลก

 

แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานหรือข้อมูลที่บ่งชี้ว่าบริษัทผลิตบอลลูนแห่งนี้จะมีความเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับบอลลูนจีนที่รุกล้ำเข้าไปในน่านฟ้าสหรัฐฯ และถูกยิงตกแต่อย่างใด

 

ความสับสนยิ่งเพิ่มมากยิ่งขึ้น หลังจากที่สำนักข่าวท้องถิ่นแห่งหนึ่งของจีนได้รายงานข่าวเกี่ยวกับการตรวจพบวัตถุลอยฟ้าปริศนาลอยอยู่บริเวณนอกชายฝั่งด้านตะวันออกของมณฑลชานตงเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา พร้อมเผยว่าเจ้าหน้าที่ทางการจีนได้ประกาศเตือนชาวประมงในบริเวณนั้นว่าทางการจีนกำลังจะยิงทำลายวัตถุดังกล่าว  

 

แต่บรรดาผู้คนในโลกออนไลน์จำนวนไม่น้อยต่างตั้งข้อสังเกตว่ากระแสข่าวดังกล่าวไม่ได้รับการรายงานในสื่อกระแสหลักหรือช่องทางสื่อสารของทางการจีนแต่อย่างใด สื่อของรัฐและหน่วยงานรัฐบาลยังคงนิ่งเฉยต่อประเด็นนี้ พร้อมกับตั้งคำถามว่า ข่าวการตรวจพบวัตถุลอยฟ้านี้เป็นความจริงหรือไม่ ถ้าหากจริง เหตุใดถึงยังไม่ประกาศในช่องทางที่เป็นทางการมากกว่านี้

 

พลิกเรื่อง เปลี่ยนแปลงบทบาท

 

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (13 กุมภาพันธ์) รัฐบาลจีนเผยข้อมูลใหม่ โดยอ้างว่าในปี 2022 บอลลูนของสหรัฐฯ รุกล้ำน่านฟ้าของจีนอย่างน้อย 10 ครั้ง นับเป็นการโต้กลับและพยายามเปลี่ยนแปลงบทบาทจากผู้กระทำมาเป็นผู้ถูกกระทำด้วยเช่นกัน

 

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนระบุว่า สิ่งแรกที่สหรัฐฯ ควรทำคือ เริ่มทบทวนการกระทำของตนเอง แทนที่จะใส่ร้ายป้ายสีและกล่าวหาจีน ขณะที่ทำเนียบขาวสหรัฐฯ ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว พร้อมยืนยันว่าไม่ได้มีการส่งบอลลูนไปสอดแนมจีนแต่อย่างใด

 

นอกจากนี้ สื่อทางการจีนยังเปลี่ยนจุดสนใจไปมุ่งเน้นการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับเหตุรถไฟตกรางในรัฐโอไฮโอของสหรัฐฯ เมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาแทน โดยอ้างว่าทางการสหรัฐฯ พยายามควบคุมสารพิษที่รั่วไหลออกมาจากรถไฟขบวนดังกล่าว เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของสารเคมี 

 

ชาวจีนในโลกออนไลน์จำนวนไม่น้อยต่างกำลังให้ความสนใจกับประเด็นดังกล่าวนี้อย่างมาก พร้อมกับแสดงความกังวลว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้อาจนำไปสู่วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมโลก และไม่พอใจที่สื่อตะวันตก โดยเฉพาะในสหรัฐฯ แทบจะไม่นำเสนอข่าวดังกล่าวเลย กลับมุ่งเน้นแต่ที่จะนำเสนอข่าวเกี่ยวกับประเด็นบอลลูนจีนเป็นหลัก

 

โดย รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ให้สัมภาษณ์ในรายการ THE STANDARD NOW เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า กรณีบอลลูนจีนที่เกิดขึ้นนี้ นอกจากชุดคำอธิบายที่เกี่ยวข้องกับการจารกรรมข้อมูล การแสดงพลังของผู้นำ รวมถึงแรงขับจากการเมืองภายในชาติมหาอำนาจแล้ว หนึ่งในสาเหตุสำคัญคือ เกิดจากบรรยากาศของความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยเกิดรอยร้าวครั้งใหญ่ในช่วงที่แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นเบอร์ 3 ของประเทศขณะนั้น เดินทางเยือนไต้หวันอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 2-3 สิงหาคม 2022 ทำให้ทางการจีนไม่พอใจอย่างมาก และนำไปสู่การซ้อมรบรอบเกาะไต้หวันในท้ายที่สุด

 

เหตุการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นก่อนการประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งนับว่ามีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากจะมีการลงมติรับรองให้ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนต่อไปอีกวาระ ดังนั้นในช่วงระยะเวลาก่อนหน้าที่การประชุมสมัชชาใหญ่นี้จะเปิดฉากขึ้น สีจิ้นผิงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการที่จะต้องแสดงความแข็งแกร่งและน่าเกรงขามให้กับประชาชนภายในประเทศ รวมถึงประชาคมโลกได้รับรู้ 

 

ถึงแม้ว่าการพบกันของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนและประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 เมื่อช่วงปลายปี 2022 จะดูเหมือนมีส่วนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าแข่งขันด้านเทคโนโลยีกับจีนอย่างต่อเนื่อง โดยสั่งห้ามส่งออกชิปและเซมิคอนดักเตอร์ไปยังจีน รวมถึงโน้มน้าวให้ญี่ปุ่นและเนเธอร์แลนด์ดำเนินมาตรการที่สอดคล้องกับสหรัฐฯ ด้วย 

 

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังโจมตีประเด็นที่มีบริษัทเอกชนของจีนส่งมอบความช่วยเหลือทางด้านการทหารให้แก่รัสเซีย เพื่อนำไปใช้ในการทำสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างยูเครน ก่อนที่จะเกิดกรณีบอลลูนจีนรุกล้ำน่านฟ้าของสหรัฐฯ ในที่สุด ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศของความไม่ไว้ใจกัน ไม่เชื่อใจกัน 

 

หลายฝ่ายอาจมองว่าเมื่อเรื่องบอลลูนซาลง บลิงเคนก็อาจเดินทางไปเยือนจีนในอนาคต แต่ รศ.ดร.สมชาย มองว่า การเตรียมเดินทางเยือนไต้หวันอย่างเป็นทางการของเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ คนปัจจุบัน ที่ก้าวขึ้นมารับช่วงต่อจากเพโลซีนั้น อาจยิ่งทำให้บรรยากาศของความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างสหรัฐฯ และจีน ร้อนระอุและรุนแรงยิ่งขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.สมชาย คาดการณ์ว่า กรณีบอลลูนจีนในครั้งนี้ รวมถึงการเดินทางเยือนไต้หวันของผู้แทนระดับสูงสหรัฐฯ ในอนาคต จะไม่นำไปสู่การทำสงครามครั้งใหญ่ระหว่างสองประเทศมหาอำนาจ เนื่องจากทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ด้วยกันทั้งคู่ และหากคิดเชิงตรรกะ (Logical Thinking) แล้ว การเดินทางเยือนกันอาจไม่ได้รุนแรงจนถึงขั้นต้องทำสงครามใหญ่ และถ้าหากมีวัตถุลอยฟ้าเคลื่อนตัวลงมาต่ำกว่า 60,000 ฟุต ซึ่งถือว่าอยู่ในน่านฟ้าและเขตอำนาจอธิปไตยของรัฐนั้นๆ ในมิติของกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐนั้นๆ มีสิทธิอันชอบธรรมที่จะยิงวัตถุลอยฟ้าดังกล่าวได้ ถ้ามีเหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นกับจีน จีนเองก็มีสิทธิ์ยิงวัตถุดังกล่าวได้เช่นกัน เป็นการกระทำที่สามารถอธิบายให้เข้าใจได้ และไม่น่าจะนำไปสู่การทำสงครามใหญ่ระหว่างกัน

 

ภาพ: Dado Ruvic / Illustration / File Photo via Reuters

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising