×

‘ทัวร์อวกาศเชิงพาณิชย์’ สมรภูมิใหม่มหาเศรษฐีระดับโลก ประสบการณ์สุดพิเศษที่ซื้อได้ด้วย ‘เงิน’

13.07.2021
  • LOADING...
ทัวร์อวกาศเชิงพาณิชย์

HIGHLIGHTS

8 mins. read
  • 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นอีกหนึ่งวันที่สำคัญและน่าจดจำของมวลมนุษยชาติ โดยเฉพาะ ‘อุตสาหกรรมเทคโนโลยีอวกาศ’ เมื่อ เซอร์ ริชาร์ด แบรนสัน ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ‘Virgin Galactic’ ประสบความสำเร็จในการร่วมทดสอบขึ้นบินไปยังเส้นระดับขอบอวกาศ (Edge of Space) 
  • แบรนสันตัดหน้า เจฟฟ์ เบโซส์ ที่เพิ่งโบกมือลาตำแหน่งซีอีโอ Amazon ไปหมาดๆ และเตรียมจะเดินทางไปทัวร์อวกาศเชิงพาณิชย์กับน้องชายของเขา และผู้ร่วมเดินทางที่ชนะการประมูลซื้อตั๋วเที่ยวบิน Blue Origin ในอีก 9 วัน 
  • หากเที่ยวบินทดสอบของ Blue Origin ประสบความสำเร็จ ราบรื่น ไร้อุปสรรคปัญหาใดๆ เชื่อเหลือเกินว่าเราก็น่าจะเริ่มเห็นสัญญาณและท่าทีของการที่บริษัทในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอวกาศ ทัวร์อวกาศเชิงพาณิชย์เริ่มเดินเครื่องพัฒนาบริการเที่ยวบินอย่างจริงมากขึ้นต่อจากนี้

นอกเหนือจากนัดชิงยูโร 2020 ที่ลงเอยด้วยผลชนะของอิตาลี วันอาทิตย์ที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา ยังเป็นอีกหนึ่งวันที่สำคัญและน่าจดจำของมวลมนุษยชาติ โดยเฉพาะ ‘อุตสาหกรรมเทคโนโลยีอวกาศ’ เมื่อ เซอร์ ริชาร์ด แบรนสัน ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ‘Virgin Galactic’ ประสบความสำเร็จในการร่วมทดสอบขึ้นบินไปยังเส้นระดับขอบอวกาศ (Edge of Space) ก่อนจะลงจอดลงบนพื้นดินได้อย่างปลอดภัย

 

(ไล่จากซ้ายไปขวา) โคลิน เบนเนธ, เบธ โมเซส, สิริษา บันดลา และริชาร์ด แบรนสัน

 

การทดสอบเริ่มต้นขึ้นในช่วงเช้าวันอาทิตย์ที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่นในรัฐนิวเม็กซิโก โดยถือเป็นการทดสอบขึ้นบินของ Virgin Galactic ครั้งที่ 22 และนับเป็นครั้งที่ 4 ที่ทำการทดสอบบินไปยังอวกาศ โดยที่ ริชาร์ด แบรนสัน พร้อมผู้ร่วมเดินทางอีก 5 ราย ได้แก่ นักบิน 2 ราย และผู้โดยสาร 3 ราย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นบุคลากรระดับสูงของบริษัทแทบทั้งสิ้น เช่น โคลิน เบนเนธ หัวหน้าวิศวกรปฏิบัติการการบิน, เบธ โมเซส หัวหน้าผู้ฝึกสอนนักบินอวกาศ และ สิริษา บันดลา รองประธานฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์และฝ่ายปฏิบัติการวิจัย ได้ร่วมปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้

 

ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ยานอวกาศในรูปลักษณ์เครื่องบิน VSS Unity ของ Virgin Galactic บรรทุกผู้โดยสารมากกว่า 6 ชีวิตขึ้นไปปฏิบัติภารกิจ เช่นเดียวกันกับเป็นการเปิดประสบการณ์สุดพิเศษของตัวนักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จมาไม่หวาดไม่หวั่นในวัย 70 ปีอีกด้วย

 

เริ่มต้นในช่วงเวลาประมาณ 08.30 น. เมื่อยานแม่ ‘VMS Eve (Virgin MotherShip)’ ที่มีรูปทรงคล้ายเครื่องบินถูกปล่อยออกจากฐานทัพก่อนจะพุ่งทะยานบินขึ้นสู่ท้องฟ้าที่ระดับความสูง 40,000 ฟีต หรือราว 12.2 กิโลเมตรจากพื้นดิน จนในที่สุดยานอวกาศ VSS Unity หรือ SpaceShipTwo ก็ถูกปล่อยออกจากยานแม่ และบินพุ่งไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ จนแตะระดับขอบอวกาศที่ 53.5 ไมล์ หรือความสูง 86.1 กิโลเมตรจากพื้นดิน

 

ในระหว่างนั้น แบรนสันและผู้โดยสาร นักบินที่ร่วมปฏิบัติภารกิจทุกคนได้เข้าสู่ภาวะไร้น้ำหนัก ไร้แรงโน้มถ่วงอยู่ชั่วครู่ (ไม่ต่ำกว่า 5 นาที) ก่อนจะค่อยๆ ลงจอดบนพื้นดินได้อย่างไร้อุปสรรค

 

ที่พิเศษและชวนติดตามก็คือ การปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้ถูกออกอากาศสดผ่านทาง YouTube ด้วย (www.youtube.com/watch?v=RTpWYWIfP7Y) โดยที่ตัว ริชาร์ด แบรนสัน ยังได้พูดถึงประสบการณ์ที่ตัวเขาได้รับว่า นับเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ล้ำค่าที่สุดเลยก็ว่าได้ พร้อมกล่าวในระหว่างที่เขาเฝ้ามองโลกจากยาน VSS Unity ได้สำเร็จว่า

 

“ถึงเด็กๆ ทุกคนที่อยู่บนโลกมนุษย์ ครึ่งหนึ่งผมก็เคยเป็นเด็กที่มีฝัน เคยแหงนหน้ามองดูดวงดาวบนท้องฟ้า ตอนนี้ผมเป็นผู้ใหญ่ที่อยู่บนยานอวกาศพร้อมๆ กับผู้ใหญ่ที่วิเศษเหล่านี้ (ผู้ร่วมเดินทางกับเขา) ก้มมองลงไปยังโลกใบกลมๆ ที่แสนสวยงามนี้ ถึงเด็กๆ รุ่นใหม่ทุกคนที่มีฝัน ลองจินตนาการดูสิว่าถ้าเราทำสิ่งนี้ได้ พวกคุณจะทำอะไรได้อีกตั้งมากมาย”

 

 

 

นอกจากนี้ เมื่อกลับคืนสู่โลกแล้ว เขายังได้กล่าวระหว่างแถลงข่าวอีกว่า “ผมฝันถึงช่วงเวลานี้มาตั้งแต่ยังเด็ก แต่ด้วยความสัตย์จริง ไม่มีอะไรที่จะให้คุณเตรียมพร้อมในการรับชมโลกทั้งใบจากอวกาศได้หรอกนะ ทั้งหมด ทุกสิ่งล้วนแล้วแต่มหัศจรรย์มากๆ” 

 

ทำไมการปฏิบัติภารกิจของแบรนสันในครั้งนี้ถึงสำคัญยิ่งนัก สิ่งที่สะท้อนได้ดีจากการร่วมเดินทางไปขอบอวกาศของนักธุรกิจผู้นี้คืออะไรกันแน่ 

 

แล้วการที่แบรนสันตัดหน้า เจฟฟ์ เบโซส์ ที่เพิ่งโบกมือลาตำแหน่งซีอีโอ Amazon ไปหมาดๆ และเตรียมจะเดินทางไปทัวร์อวกาศเชิงพาณิชย์กับน้องชายของเขา และผู้ร่วมเดินทางที่ชนะการประมูลซื้อตั๋วของเที่ยวบินบริษัท Blue Origin ในอีก 9 วัน (20 กรกฎาคมนี้) กำลังบอกอะไรกับเรา?

 

ใบเบิกทางสู่ ‘ธุรกิจทัวร์อวกาศเชิงพาณิชย์’ ตั๋วเดินทางสุดแพงที่ใครๆ ต่างก็ถวิลหา

เป็นที่ทราบกันดีว่า Commercial Space Tourism หรือทัวร์อวกาศเชิงพาณิชย์นั้นเป็นที่หมายปองของคนจำนวนมาก เนื่องจากอวกาศและการเดินทางขึ้นไปสำรวจบนนั้นถือเป็นความใฝ่ฝันในช่วงวัยเด็กของใครหลายคน และก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถฟันฝ่าทุกขั้นตอนเพื่อเดินทางขึ้นไปยังบนอวกาศได้สำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณไม่มีกำลังด้านทุนทรัพย์มากพอ

 

ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าจุดเริ่มต้นแนวคิดและฝันอันยิ่งใหญ่ของการเดินทางไปยังอวกาศเริ่มเป็นรูปเป็นร่างและถูกส่งต่อกันมาตั้งแต่เมื่อไร แต่เว็บไซต์ Spacetourismguide ได้ให้ความเห็นไว้ว่า น่าจะเริ่มต้นในช่วงยุค 1970 พร้อมนิยามว่าเป็นยุค ‘The Birth of Space Tourism’ หรือจุดกำเนิดทัวร์อวกาศ

 

เจมส์ เฟลทเชอร์ อดีตผู้บริหาร NASA 
และ ริชาร์ด นิกสัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ในปี 1972

 

อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ริชาร์ด นิกสัน ได้ออกมาประกาศในช่วงเดือนมกราคมปี 1972 หลังลงนามในร่างกฎหมายอนุมัติเงินทุน 5.5 ล้านดอลลาร์เพื่อพัฒนาเครื่องบินอวกาศ (Space Shuttle) ด้วยแนวคิดของการพัฒนายานพาหนะที่จะเบิกทางระบบขนส่งไปยังอวกาศรูปแบบใหม่ ทรานส์ฟอร์มภูมิทัศน์และขอบเขตของอวกาศ ไปจนถึงการช่วยให้มนุษย์เข้าถึงการเดินทางไปยังอวกาศได้ง่ายขึ้น

 

“วันนี้ ผมตัดสินใจแล้วว่าสหรัฐอเมริกาควรจะดำเนินการพัฒนาการออกแบบระบบขนส่งทางอวกาศรูปแบบใหม่ทั้งหมดทันที เพื่อช่วยให้ทรานส์ฟอร์มขอบเขตพรมแดนอวกาศเข้าถึงง่ายขึ้นสำหรับมวลมนุษยชาติในช่วงยุค 80 และ 90 เป็นต้นไป

 

“ระบบนี้จะเน้นไปที่ยานอวกาศที่สามารถเดินทางจากโลกไปยังวงโคจรอวกาศและกลับลงไปสู่โลกได้ครั้งแล้วครั้งเล่า มันจะปฏิวัติการเดินทางไปยังอวกาศใหม่หมดโดยทำให้มันกลายเป็นกิจวัตร (เรื่องสามัญที่ทำกันได้ในทุกๆ วัน)”

 

แม้แนวคิดการทัวร์อวกาศของนิกสันจะไม่ประสบความสำเร็จในอีก 10 ปีต่อมา เนื่องจากข้อจำกัดหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้น แต่การที่อดีตประธานาธิบดีเล็งเห็นถึงลู่ทางการเดินทางไปยังอวกาศด้วยยานพาหนะที่สามารถนำมา ‘ใช้ซ้ำได้’ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการเดินทางให้ถูกลง ก็กลายเป็นหนึ่งในแนวคิดสำคัญที่ทำให้บริษัทเอกชน นักธุรกิจจำนวนมากเริ่มเกิดประกายไอเดียที่จะทำให้แนวคิดดังกล่าวจับต้องได้จริงมากยิ่งขึ้น

 

วันเวลาหมุนผ่านไป เทคโนโลยีวิวัฒนาการตัวเองอย่างต่อเนื่องและรุดหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ เราเริ่มเห็นความชัดเจนจากการที่บริษัทเอกชนจำนวนมากได้ตบเท้าเข้าอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอวกาศ โดยเฉพาะในช่วงปี 2000 ที่เกิดบริษัทอย่าง Blue Origin (2000) โดย เจฟฟ์ เบโซส์, SpaceX (2002) โดย อีลอน มัสก์ ตามมาด้วย Virgin Galactic (2004) โดย ริชาร์ด แบรนสัน ขึ้นมา นอกจากนี้ยังมีบริษัทอื่นๆ ที่เข้าสู่ธุรกิจเทคโนโลยีอวกาศในช่วงเวลาคาบเกี่ยวไล่เลี่ยกันอีกด้วย

 

เริ่มต้นที่ Blue Origin ในปี 2000 หรือเมื่อ 21 ปีที่แล้วตอนที่เบโซส์ได้ตั้งบริษัทแห่งนี้ขึ้นมา ความตั้งใจและวิสัยทัศน์ของเขาคือการมองไปยังโลกอนาคตที่เชื่อว่า มนุษย์จำนวนหลายล้านคนจะอาศัยใช้ชีวิตและทำงานบนอวกาศเพื่อสร้างประโยชน์กลับคืนสู่โลก และยังเชื่ออีกด้วยว่า มวลมนุษยชาติจำเป็นจะต้องขยาย สำรวจเพื่อค้นหาแหล่งพลังงานและทรัพยากรวัตถุดิบใหม่ๆ ไปจนถึงย้ายอุตสาหกรรมต่างๆ ขึ้นไปยังอวกาศ

 

เรียกง่ายๆ ว่ามองอวกาศเป็นอนาคตของมนุษย์นั่นเอง 

 

แต่การจะพามนุษย์เดินทางไปอวกาศได้ย่อมมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูง เรื่องนี้ใครๆ ก็รู้กันทั้งนั้น เบโซส์และ Blue Origin จึงตั้งใจพัฒนาโซลูชันดังกล่าวด้วยแนวคิด ‘Launch Land Repeat’ หรือปล่อยจรวด ลงจอด และทำซ้ำใหม่ โดยที่ยานพาหนะที่บริษัทของพวกเขาออกแบบขึ้นมานั้นจะต้องนำกลับมาใช้ใหม่ได้เพื่อช่วยลดต้นทุนในการปฏิบัติภารกิจ หรือการพามนุษย์โลกขึ้นไปยังอวกาศแต่ละครั้ง

 

ในที่สุด Blue Origin ก็พัฒนาจรวด New Shepard และ New Glenn ออกมาได้สำเร็จภายใต้คอนเซปต์ดังกล่าว โดยเป็นจรวดที่ถูกออกแบบมาให้ปล่อยและลงจอดในแนวตั้ง ทั้งยังสามารถนำส่วนแรกของตัวจรวดกลับมาใช้ซ้ำใหม่ได้เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย (ปรับแต่งเพิ่มเล็กน้อยหลังใช้งานไปแล้ว) มาพร้อมกับเครื่องยนต์เชื้อเพลิงเหลวที่สามารถควบคุมได้เพื่อช่วยให้การบังคับลงจอดบนแพลตฟอร์มมีความแม่นยำ ซึ่งจะช่วยให้คนจำนวนมากเข้าถึงได้ในอนาคตนั่นเอง

 

 

ข้ามมาที่ฝั่ง SpaceX กันบ้าง พะยี่ห้อ อีลอน มัสก์ แน่นอนว่าบริษัทเทคโนโลยีอวกาศแห่งนี้ย่อมไม่ธรรมดา โดยความตั้งใจของ SpaceX ก็ไม่ต่างกันนั้นคือทำให้นิยาม ‘Multiplanetary’ หรือการใช้ชีวิต การสำรวจดาวเคราะห์หลายดวงเกิดขึ้นจริงกับมนุษย์ได้สำเร็จ 

 

วิธีการทำงานของจรวดที่ SpaceX พัฒนาขึ้นซึ่งสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้อีกครั้ง

https://www.spacex.com/static/images/infographics/F9_AUTONOMOUS_DRONESHIP_DESKTOP.jpg 

https://www.spacex.com/static/images/infographics/F9_AUTONOMOUS_DRONESHIP_DESKTOP.jpg

 

วิธีการที่ SpaceX ใช้ก็ไม่ต่างกัน นั่นคือการพัฒนายานอวกาศพาหนะของตัวเองอย่าง Falcon 9, Falcon Heavy หรือ Dragon ให้สามารถเดินทางไปยังอวกาศได้อย่างปลอดภัย แล้วสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้อีกครั้งเพื่อลดต้นทุนการเดินทาง ซึ่ง SpaceX เชื่อว่านวัตกรรมที่พวกเขาพัฒนาขึ้นจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้กว่าหลายร้อยเท่าตัว

 

 

 

ด้าน Virgin Galactic Holdings และ ริชาร์ด แบรนสัน ก็เชื่อมั่นในแนวคิดการเดินทางไปยังอวกาศเช่นกัน (มนุษย์ทั่วไปก็ต้องเดินทางไปได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักบินอวกาศเท่านั้น) ภายใต้การผนึกบริษัทด้านอวกาศและทัวร์อวกาศเข้าด้วยกันเพื่อพัฒนาเที่ยวบินส่วนตัวสำหรับบุคคลทั่วไปและนักวิจัย เพื่อส่งต่อประสบการณ์สุดล้ำค่า ซึ่งจะจุดประกายไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่ดีงามให้กับโลก

 

คอนเซปต์ก็ไม่ต่างกัน นั่นคือยานอวกาศอย่าง VSS ที่พัฒนาขึ้นจะต้องสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้งเพื่อลดต้นทุนการเดินทาง ปฏิบัตภารกิจให้ถูกลง

 

และแม้จะผ่านความล้มเหลวในการปฏิบัติภารกิจมาแค่ไหน แต่แบรนสันและ Virgin Galactic Holdings ก็ดูจะยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนายานอวกาศและปฏิบัติภารกิจให้สำเร็จให้ได้ (การทดสอบปฏิบัติภารกิจในปี 2014 ได้คร่าชีวิตนักบิน 1 นาย ส่วนอีกรายบาดเจ็บ) จนนำไปสู่ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาที่มีแบรนสันเป็นผู้ประกาศศักดาบริษัทของเขาให้โลกรู้ด้วยตัวเอง

 

แต่ใช่ว่าใครก็สามารถเอื้อมมือไปคว้าโอกาสสุดพิเศษนี้ได้ หากแต่ทัวร์อวกาศเชิงพาณิชย์ถูกออกแบบมาเพื่อคนที่มีกำลังและทุนทรัพย์เป็นหลักเท่านั้น เนื่องจากการพัฒนายานอวกาศและการปล่อยจรวดออกจากฐานแต่ละครั้งย่อมแรกมาด้วยต้นทุนที่สูงมหาศาล (ทั้ง 3 บริษัทใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10-20 ปีในการพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองให้ล้ำหน้า ปลอดภัย และน่าเชื่อถือมากพอ)

 

อย่างกรณีของ Virgin Galactic นั้น ก่อนหน้านี้ก็ได้เปิดขายตั๋วทัวร์อวกาศไปมากกว่า 600 ใบแล้วแบบเอ็กซ์คลูซีฟ สนนราคาอยู่ที่ประมาณ 200,000-250,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อหนึ่งที่นั่ง หรือราวใบละประมาณ 6.5-8.17 ล้านบาทเลยทีเดียว ซึ่งคาดว่าราคาตั๋วของพวกเขาจะปรับสูงขึ้นกว่านี้แน่นอนตอนที่เปิดขายแบบปกติ โดยปัจจุบันพวกเขากวาดรายรับมาได้แล้วทั้งสิ้นจากการเปิดขายตั๋วที่ราวๆ 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ทั้งนี้ Virgin Galactic ตั้งเป้าจะเริ่มให้บริการทัวร์อวกาศเชิงพาณิชย์ในช่วงต้นปี 2022 โดยคาดว่าจะสามารถให้บริการได้มากถึง 400 เที่ยวบินต่อปีเลยทีเดียว (ล่าสุด The Wall Street Journal ออกมาเปิดเผยเช่นกันว่า อีลอน มัสก์ เองก็เป็นหนึ่งในลูกค้าคนพิเศษ 600 รายที่ซื้อตั๋วของ Virgin Galactic ไป)

 

 

 

ขณะที่ Blue Origin ยังไม่ได้ประกาศวันที่จะเปิดให้บริการทัวร์อวกาศเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการออกมา แต่ตั๋วการเดินทางไปทัวร์อวกาศในเที่ยวบินแรกร่วมกับ เจฟฟ์ เบโซส์ และน้องชายของเขา มาร์ก เบโซส์ ในวันที่ 20 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ก็ถูกปิดการประมูลขายได้สูงถึงกว่า 28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 915 ล้านบาทเลยทีเดียว

 

เรียกได้ว่าเป็นมูลค่าเงินที่สูงเทียบเท่าสัดส่วน 1 ใน 3 ของรายได้จากการที่ Virgin Galactic ขายตั๋วล่วงหน้าของตัวเองไปมากกว่า 600 ใบ ขณะที่ Blue Origin  เป็นการจำหน่ายตั๋วแบบใบเดียว (ใช้เวลาสัมผัสประสบการณ์สุดพิเศษเพียง 11 นาทีเท่านั้น)

 

ด้าน SpaceX แม้จะดูสันโดษ แต่ก็ค่อนข้างทำตลาดต่างจากรายอื่นๆ โดยเน้นเดินทางไปยังเป้าหมายที่อยู่ห่างไกลมากกว่า (Orbital Space Tourism) เช่น กรณีของ ยูซากุ มาเอซาวา มหาเศรษฐีชาวญี่ปุ่นและผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มสินค้าแฟชั่นออนไลน์ Zozotown ที่ได้รับคัดเลือกให้เดินทางไปอวกาศเชิงพาณิชย์ สำรวจดวงจันทร์ร่วมกับ SpaceX ผ่านยาน Starship พร้อมผู้ร่วมเดินทางที่เขาจะได้เลือกเองรวมอีกกว่า 8 คน ภายในปี 2023 

 

หรือทริปในปี 2022 ที่ทำร่วมกับ Axiom ในการพาพลเมือง คนธรรมดาทั่วไป เหมาลำขึ้นไปใช้ชีวิตอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติเป็นระยะเวลา 8 วัน สนนค่าตั๋วที่ประมาณ 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1,800 ล้านบาท (ราคาตั๋วทัวร์อวกาศทั่วๆ ไปนั้น SpaceX ยังไม่เคยออกมาให้ข้อมูลอย่างเป็นทางการ)

 

 

แบรนสันออกไปแตะขอบฟ้า ชมวิวโลกจากอวกาศสำคัญอย่างไร?

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การที่แบรนสันและ Virgin Galactic เลือกตัดหน้าเบโซส์ และ Blue Origin ในการปฏิบัติภารกิจที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลกเช่นนี้กลายเป็นเกมเชนเจอร์และจุดเปลี่ยนสำคัญสุดของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอวกาศและเที่ยวบินเชิงพาณิชย์

 

ประการแรกสุดเลย: คือ ต่อให้เบโซส์ น้องชายของเขา และเจ้าบุญทุ่มที่อัดฉีดเงินเกือบพันล้านบาทจะประสบความสำเร็จในการปฏิบัติภารกิจในวันที่ 20 กรกฎาคมนี้แค่ไหน แต่ ‘ภาพ’ ของแบรนสัน การนำเสนอขั้นตอนระหว่างการปฏิบัติภารกิจของเขาและผู้ร่วมเดินทาง วรรคทองที่เปล่งออกมา ก็ได้ถูกฝังลึกและฉายวนซ้ำในหัวผู้คนทั่วโลกไปก่อนนานแล้ว

 

นั่นจึงทำให้ในเชิงแบรนดิ้ง Virgin Galactic และ ริชาร์ด แบรนสัน ดูจะเป็นผู้ให้บริการทัวร์อวกาศเชิงพาณิชย์ที่สามารถตีโจทย์การได้รับความสนใจจากผู้บริโภค ควบคู่กับการแย่งชิงแอร์ไทม์ ความสนใจจากคู่แข่งอย่าง Blue Origin ไปแบบกระจุยกระจาย พร้อมสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นแบรนด์ผู้พัฒนาทัวร์เส้นขอบอวกาศเชิงพาณิชย์ได้สำเร็จเป็นรายแรกของโลก (CNN นิยามให้ว่าเป็น ‘World’s First Commercial Spaceline’)

 

ทั้งนี้ ระดับความสูงที่ Blue Origin จะขึ้นไปแตะนั้นจะอยู่ที่ 62 ไมล์หรือ 100 กิโลเมตรจากพื้นดิน หรืออยู่ในระดับเส้นคาร์เเมน (Kármán Line) ที่ทางสหพันธ์การบินนานาชาติ (สวิตเซอร์แลนด์) ได้บัญญัติให้เป็นเส้นแบ่งโลกและอวกาศที่แท้จริง (ของ Virgin Galactic อยู่ที่ 53.5 ไมล์ หรือความสูง 86.1 กิโลเมตรจากพื้นดิน และถูกบุคลากรจาก Blue Origin วิพากษ์ว่าไม่ใช่ระดับความสูงที่ถูกต้อง ถ้าจะเรียกว่าไปแตะอวกาศ)

 

อินโฟกราฟิกเปรียบเทียบระหว่าง Blue Origin และ Virgin Galactic
ที่ฝ่ายแรกเป็นผู้ทำขึ้นมาเพื่อบลัฟฟ์ฝ่ายหลังก่อนปฏิบัติภารกิจจริงเพียง 2 วัน

 

ประการถัดมา: ความสำเร็จในครั้งนี้ของแบรนสัน และ Virgin Galactic ยังเป็นการเปิดประตูของโอกาสที่อุตสาหกรรมทัวร์อวกาศเชิงพาณิชย์จะเริ่มเทกออฟอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในประเภท Suborbital Space Tourism ซึ่งเป็นการเดินทางไปอวกาศในระยะใกล้ในระดับความสูงต่ำกว่าวงโคจร ไม่ได้อยู่ห่างจากโลกมากนัก และใช้ระดับความเร็วในการเดินทางที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับ Orbital Space Tourism

 

และหากเที่ยวบินทดสอบของ Blue Origin ร่วมกับสองพี่น้องเบโซส์และผู้โชคดีประสบความสำเร็จ ราบรื่น ไร้อุปสรรคปัญหาใดๆ เชื่อเหลือเกินว่าเราก็น่าจะเริ่มเห็นสัญญาณและท่าทีของการที่บริษัทในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอวกาศ ทัวร์อวกาศเชิงพาณิชย์เริ่มเดินเครื่องพัฒนาบริการเที่ยวบินอย่างจริงมากขึ้นต่อจากนี้

 

มีการประเมินกันว่าในอนาคตอันใกล้นี้ อุตสาหกรรมทัวร์อวกาศเชิงพาณิชย์จะขยายตัวเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยธนาคาร UBS ประเมินไว้ว่า อุตสาหกรรมทัวร์อวกาศเชิงพาณิชย์ (รวมทั้ง Suborbital and Orbital) น่าจะมีมูลค่ามากกว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2030 หรืออีก 9 ปีต่อจากนี้

 

 

ด้าน Northern Sky Research บริษัทวิจัยข้อมูลและให้คำปรึกษาในอุตสาหกรรมอวกาศเชื่อว่า ตลาดของการเดินทางทัวร์อวกาศ Suborbital จะมีมูลค่ารวมที่ราว 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีรายได้รวมทั้งตลาดที่ 10,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2028

 

ขณะที่ตลาดการเดินทางทัวร์อวกาศ Orbital น่าจะมีมูลค่ารวมทั้งตลาดที่ 610 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีรายได้รวมกว่า 3,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2028 เช่นกัน

 

ดูเหมือนว่าขุมทรัพย์แห่งโลกอนาคตอาจจะไม่ได้จำกัดอยู่ที่โลกดิจิทัล ตลาดคริปโตเคอร์เรนซีเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมถึง ‘อวกาศ’ ที่อยู่ไกลห่างจากเราออกไปอีกหลายร้อยกิโลเมตรด้วยซ้ำ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising