×

สูตรลับลิขิตฝัน ส่งออก Soft Power ไท้ยไทย ทำไมยังย่ำอยู่ที่เดิม?

21.03.2022
  • LOADING...
ผัดไทย สูตรลับลิขิตฝัน ส่งออก Soft Power ไท้ยไทย ทำไมยังย่ำอยู่ที่เดิม?

HIGHLIGHTS

2 mins. read
  • เหตุผลหลักที่ละครเรื่องนี้ได้คัดเลือกให้ไปฉายโชว์ที่ฟิลิปปินส์จากคำบอกเล่าของ อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม คือเนื้อหาของละครส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของไทย และยังสอดแทรกเมนูยอดนิยมของชาวต่างชาติอย่าง ‘ผัดไทย’ เข้าไปในเรื่อง ซึ่งในจุดนี้ก็ไม่มีอะไรต้องเถียง 
  • แต่สิ่งที่บกพร่องและทางกระทรวงอาจจะหลงลืมไป นั่นคือความสนุกและกลวิธีสอดแทรกวัฒนธรรมไทยเข้าไปอย่างเนียนๆ แบบที่มันควรจะเป็น 
  • หากทางกระทรวงวัฒนธรรมได้ลอง คิด วิเคราะห์ แยกแยะ ความสำเร็จของหนังหรือละครที่ไปประสบความสำเร็จในต่างประเทศ ก็จะพบว่าไม่ได้มีเรื่องไหนที่เล่าเรื่องวัฒนธรรมไทยอย่างตรงไปตรงมาเลย แต่เนื้อหาพูดถึงเรื่องรัก โลภ โกรธ หรืออย่างซีรีส์วายก็พูดถึงประเด็นสากล คือเรื่องความรักและความหลากหลาย ทำให้คนทั้งโลกสัมผัสได้ แล้วค่อยๆ อยากจะเรียนรู้ภาษา ศิลปะ วัฒนธรรมของบ้านเรา 

ยอมรับตามตรงว่าผู้เขียนไม่เคยได้ยินชื่อละครเรื่อง ผัดไทย สูตรลับลิขิตฝัน มาก่อนเลย จนกระทั่งเมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา ได้ยินข่าวว่ากระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะส่งละครเรื่องนี้ไปฉายโชว์ในงาน The Montanosa Film Festival (MFF) ที่ฟิลิปปินส์ เพื่อร่วมขับเคลื่อน Soft Power ด้านวัฒนธรรมอาหารไทยสู่เวทีระดับโลกผ่านสื่อบันเทิงก็เลยรีบไปค้นหามาดูเพราะคิดว่านี่คืออีกก้าวที่จะผลักดัน Soft Power ไทยหลังจากเมื่อปลายปีที่แล้ว คำคำนี้เป็นที่พูดถึงในฐานะหมุดหมายใหม่ที่จะนำรายได้เข้าประเทศ แต่สิ่งที่พบก็คือรัฐบาลไทยอาจจะยังเข้าใจความหมายการส่งออก Soft Power ในรูปแบบเดิมๆ ซึ่งมันก็ไม่เคยได้ผลตลอดหลายปีที่ผ่านมา 

 

บทความเกี่ยวข้อง:

 

ผัดไทย สูตรลับลิขิตฝัน ว่าด้วยเรื่องราวของเส้นจันท์ (พลอย-พลอยไพลิน ตั้งประภาพร) หญิงสาววัย 26 ปีที่ใฝ่ฝันจะได้เป็นเชฟมืออาชีพ เธอจึงเข้าร่วมในการแข่งขันรายการ The Final Chef โดยหวังจะเอาเมนูผัดไทยไปชนะใจกรรมการ โดยพื้นฐานของครอบครัวเธอก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาเพราะเมนูจานนี้ ติดอยู่ที่ผู้เป็นแม่มีปมในใจจนเลิกขายผัดไทยมากว่า 20 ปี และไม่พอใจที่จะให้เส้นจันท์รื้อฟื้นความหลังเรื่องผัดไทยขึ้นมาอีกครั้ง เธอจึงเริ่มค้นหาสูตรผัดไทยที่แท้จริง ซึ่งพาเธอย้อนเวลากลับไปสู่รากเหง้าของเมนูอาหารไทยที่โด่งดังไปทั่วโลก

 

           

 

เหตุผลหลักที่ละครเรื่องนี้ได้คัดเลือกให้ไปฉายโชว์ที่ฟิลิปปินส์จากคำบอกเล่าของ อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม คือเนื้อหาของละครส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของไทย และยังสอดแทรกเมนูยอดนิยมของชาวต่างชาติอย่าง ‘ผัดไทย’ เข้าไปในเรื่อง ซึ่งในจุดนี้ก็ไม่มีอะไรต้องเถียง แต่สิ่งที่บกพร่องและทางกระทรวงอาจจะหลงลืมไป นั่นคือความสนุกและกลวิธีสอดแทรกวัฒนธรรมไทยเข้าไปอย่างเนียนๆ แบบที่มันควรจะเป็น 

 

ผัดไทย สูตรลับลิขิตฝัน เรียกว่าเป็นงานขายตรงอาหารไทย เพียงแค่ 2 นาทีในซีนแรก ที่มีคำว่าไทยอยู่ในนั้นถึง 3 คำ พร้อมกับย้ำประเด็นเรื่องรากเหง้าจิตวิญญานของอาหาร และเมื่อดูตลอดทั้งเรื่องก็พบว่ามีคำว่าผัดไทยอยู่ในนั้นราวๆ 30 ครั้งในระยะเวลาราว 1 ชั่วโมง เรียกได้ว่านี่ไม่ใช่การชักจูงโน้มน้าว แต่เข้าขั้นยัดเยียดให้เห็นดีเห็นงามกับเมนูจานนี้ ทั้งที่ไม่มีอะไรเชื่อมโยงถึงใจคนต่างชาติต่างภาษาเลย

 

ในส่วนของบทก็พบข้อบกพร่องหลายจุด เช่น ปมขัดแย้ง (Conflict) ของแม่ต่อผัดไทยที่ค่อนข้างจะจำเจ (Cliche) และแอบสงสัยว่าผู้หญิงที่สามีตายเพราะผัดไทย แต่ทำไมยังตั้งชื่อลูกว่าเส้นจันท์ไปอีก หรือตัวเส้นจันท์เองเป็นนักเรียนโรงเรียนสอนทำอาหาร แต่ไม่รู้ประวัติของผัดไทยเลยก็ออกจะแปลกไปสักหน่อย อย่างน้อยถ้าไม่ชอบอ่านหนังสือก็น่าจะเคยไปกินเย็นตาโฟร้านมัลลิการ์ ซึ่งที่นั่นมีประวัติศาสตร์ก๋วยเตี๋ยวอยู่ทั่วทั้งร้าน 

 

 

ส่วนในประเด็นของการล่าฝันที่เป็นประเด็นสากลของคนทั้งโลกกลับเบาบาง เพราะเนื้อหาเอาแต่ไปย้ำประเด็นประวัติของผัดไทย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ก็ขายได้ยากในระดับสากล

 

ความจริงแล้ว ผัดไทย สูตรลับลิขิตฝัน ก็ไม่ถึงกับแย่ แต่ก็ไม่ดีพอขนาดที่จะเป็นโชว์เคสของงานบันเทิงไทย ขณะเดียวกันในแง่วัฒนธรรมอาหาร นอกจากการให้ข้อมูลที่เกือบจะเหมือนอ่านในตำราแล้ว ก็ไม่ได้ทำให้อยากวิ่งออกไปกินผัดไทย หรือซาบซึ้งใจไปกับประวัติศาสตร์ของมัน ซึ่งถ้าหากวัตถุประสงค์ของการนำไปฉายโชว์เพื่อผลักดัน Soft Power ในแง่อาหาร (Food) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) ละครเรื่องนี้ยังไปไม่ถึงฝั่งฝันเลยสักทาง 

 

ถ้าหากทางกระทรวงวัฒนธรรมได้ลองคิด วิเคราะห์ แยกแยะ ความสำเร็จของหนังหรือละครที่ไปประสบความสำเร็จในต่างประเทศ ก็จะพบว่าไม่ได้มีเรื่องไหนที่เล่าเรื่องวัฒนธรรมไทยอย่างตรงไปตรงมาเลย แต่เนื้อหาพูดถึงเรื่องรัก โลภ โกรธ หรืออย่างซีรีส์วายก็พูดถึงประเด็นสากล คือเรื่องความรักและความหลากหลาย ทำให้คนทั้งโลกสัมผัสได้ แล้วค่อยๆ อยากจะเรียนรู้ภาษา ศิลปะ วัฒนธรรมของบ้านเรา ดังนั้นการที่อยากจะขายวัฒนธรรมก็ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ในการสอดแทรกไม่ใช่ตีหัวเข้าบ้านให้เขาเห็นดีเห็นงามกับวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของเราแบบที่เราเรียนรู้เรื่องการละเล่นพื้นบ้านของเกาหลีทั้งๆ ที่ก็ไม่ได้คาดหวังจากการดู Squid Game 

 

เรารู้เรื่องวัฒนธรรมอาหารจากแดจังกึมเพราะติดเรื่องราวดราม่าของเนื้อเรื่อง หรือเราอยากลองดื่มมักกอลลี เพราะตัวละครในซีรีส์พูดถึงบ่อยๆ โดยที่ไม่ได้สื่อสารถึงวิธีการหมักสาโทเกาหลีชนิดนี้ในซีรีส์เรื่องไหนเลยด้วยซ้ำ เอาเข้าจริงคอนเทนต์จากเกาหลีใต้ก็ไม่พูดถึงแต่แง่งามของประเทศตัวเอง แต่ยังพูดถึงปัญหาสารพัดที่ต้องแก้ และมันดันโดนใจคนดูเสียด้วย 

 

 

ว่าแต่คอนเทนต์ไทยถ้าพูดเรื่องแบบนั้นจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐหรือเปล่า? การเลือกผัดไทยสูตรลับลิขิตฝันไปฉายในต่างประเทศครั้งนี้ ทำให้เห็นแนวโน้มว่าภาครัฐจะให้การสนับสนุนเฉพาะคอนเทนต์แนวขายตรงและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีงาม ซึ่งผลลัพธ์ก็คงไม่ต่างจากหลายปีที่ผ่านมา คือได้ผลงานที่ไร้มิติ ขาดสีสัน สิ้นเปลืองงบประมาณไปเปล่าๆ ทั้งที่มีผู้ผลิตหลายเจ้าที่มีความคิดสร้างสรรค์ ติดก็แต่ไม่ได้ขายความดีงามของประเทศไทยออกไปโต้งๆ แบบนี้ ตรงจุดนี้ก็อยากทำให้ภาครัฐลองปรับทัศนคติ ออกจากกรอบเดิมๆ และทำความเข้าใจการขายวัฒนธรรมในยุคปัจจุบันเสียใหม่ว่า ควรเล่าเรื่องอย่างไรให้สนุก มีมิติ โดยที่ยังได้ภาพลักษณ์ดีๆ กลับมาที่ประเทศไทย ซึ่งเชื่อว่าผู้ผลิตหลายเจ้าพร้อมแล้ว เพียงแต่ว่ารัฐพร้อมจะเปิดใจแล้วหรือยัง?  

 

ผัดไทย สูตรลับลิขิตฝัน ดูย้อนหลังได้ที่แอปพลิเคชัน VIPA และ 

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising