×

กูรูเตือน ‘สิงคโปร์-ไทย’ เสี่ยงเจ็บหนัก หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย

06.09.2022
  • LOADING...
สิงคโปร์-ไทย

สถานีโทรทัศน์ CNBC รายงานว่า บรรดานักเศรษฐศาสตร์ออกโรงเตือนว่าหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียมีสิทธิ์ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงหากสหรัฐฯ เดินหน้าเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสิทธิ์ได้รับผลกระทบหนักกว่าประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศสิงคโปร์และไทย ที่มีแนวโน้มจะโดนหางเลขแรงกว่าและเร็วกว่าชาติอื่นๆ

 

Chua Hak Bin นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ Maybank กล่าวว่า สิงคโปร์ ‘เปราะบาง’ ต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ มากกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เพราะสิงคโปร์พึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นชาติแรกในอาเซียนที่จะได้รับผลกระทบหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอยจริง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ทั้งนี้ รายได้หลักของสิงคโปร์มาจากการพึ่งพาบริการทางการค้า ซึ่งรวมถึงกิจกรรมการลำเลียงขนส่งและบริการท่าเรือ ทำให้ที่ผ่านมาการเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์สัมพันธ์กับวัฏจักรเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งหมายความว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ดี สิงคโปร์โตดี เศรษฐกิจสหรัฐฯ แย่ สิงคโปร์ก็โตแย่

 

จากข้อมูลของ World Bank พบว่า อัตราส่วนการค้าต่อ GDP ของสิงคโปร์สำหรับปี 2021 อยู่ที่ 338% ซึ่งอัตราส่วนการค้าต่อ GDP เป็นตัวบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจเปิดกว้างต่อการค้าระหว่างประเทศอย่างไร

 

Chua กล่าวว่า ความสัมพันธ์และการพึ่งพาอุปสงค์ภายนอกของสิงคโปร์นั้นสูงมาก ดังนั้น หากสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอย ‘การพึ่งพาอาศัยกัน’ ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสิงคโปร์ที่เน้นการส่งออกเป็นหลัก

 

ด้าน Irvin Seah นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจาก DBS Group Research เสริมว่า เศรษฐกิจสิงคโปร์มีความเชื่อมโยงกับส่วนอื่นๆ ของโลกอย่างมาก ดังนั้น ‘คลื่นกระแทก’ ในประเทศใดๆ จะส่งผลกระทบต่อสิงคโปร์อย่างแน่นอน

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะได้รับผลกระทบหนัก แต่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจของสิงคโปร์จะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยตามสหรัฐฯ กระนั้น ผู้เชี่ยวชาญอีกส่วนหนึ่งก็เตือนว่าไม่ควรประมาท เพราะหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอยนาน บวกกับเศรษฐกิจจีนชะลอตัว สิงคโปร์ย่อมไม่อาจเลี่ยงภาวะถดถอยได้

 

นอกจากนี้ ปัจจัยที่ทำให้สิงคโปร์เสี่ยงหนักกว่าประเทศอื่นๆ เพราะรายได้หลักอีกส่วนมาจากการส่งออก ซึ่งข้อมูลจากคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจเผยว่า การส่งออกเครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ เริ่มปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

 

โดยผลผลิตในภาคเซมิคอนดักเตอร์ลดลง 4.1% ในขณะที่โมดูลและส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ หดตัว 19.7% เนื่องจากคำสั่งซื้อส่งออกที่ลดลงจากประเทศจีนและเกาหลีใต้

 

ยิ่งไปกว่านั้น ยังไม่รวมถึงการท่องเที่ยวของสิงคโปร์ที่นักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ก็คือจีน ซึ่งการที่จีนยังคงปิดประเทศ ไม่อนุญาตให้คนจีนเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ ทำให้การท่องเที่ยวของสิงคโปร์ฟื้นตัวได้ช้า ดังนั้น หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอยในช่วงเวลานี้ สิงคโปร์ก็แทบจะไม่เหลือเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

 

ขณะที่ Selena Ling หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ OCBC Bank เห็นด้วยกับการวิเคราะห์ดังกล่าว โดยเบื้องต้นเจ้าตัวมองว่าเศรษฐกิจเอเชียที่เปิดกว้างและต้องพึ่งพาการค้า เช่น สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ตลอดจนประเทศไทย มีสิทธิ์ได้รับผลกระทบแรงกว่าประเทศอื่นๆ

 

ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์หลายรายกล่าวต่อสถานีโทรทัศน์ CNBC ว่า ประเทศไทยถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ต้องจับตามองในฐานะประเทศที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบเป็นชาติแรกๆ หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย

 

เหตุผลเพราะไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างมากสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวคิดเป็นประมาณ 11% ของ GDP ของประเทศไทย ในปี 2019 ก่อนเกิดโรคระบาด ประเทศต้อนรับผู้เยี่ยมชมเกือบ 40 ล้านคนในปีดังกล่าว และสร้างรายได้มากกว่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์

 

ในปี 2021 ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเพียง 428,000 คน และเศรษฐกิจเติบโตเพียง 1.5% ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่เติบโตช้าสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

โมเดลการเติบโตดังกล่าวในสายตาของนักเศรษฐศาสตร์ รวมถึง Chua เห็นว่าประเทศไทยอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยต่อจากสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม หากจีนสามารถเปิดประเทศในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอยได้ เศรษฐกิจไทยก็น่าจะกลับมาโตได้อีกครั้ง

 

หลายฝ่ายมองว่าตราบใดที่นักท่องเที่ยวจีนไม่กลับมา ประเทศไทยจะต้องดิ้นรนต่อไป ทั้งการเผชิญกับการเติบโตอ่อนแอ อัตราเงินเฟ้อสูง จนกดดันค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลง โดยค่าเงินบาทในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ลดลงแล้วประมาณ 20% เมื่อเทียบกับเมื่อ 3 ปีก่อนเกิดโควิดระบาด

 

นอกจากนี้ ปัจจัยที่เสี่ยงทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบรุนแรงจากภาวะถดถอยของสหรัฐฯ ก็คือเงินเฟ้อ โดยตัวเลขเงินเฟ้อไทยล่าสุดในเดือนมิถุนายนทำสถิติสูงสุดในรอบ 14 ปี ที่ 7.66% ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียวเท่านั้นนับตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา

 

Chua กล่าวว่า “อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในประเทศไทยสูงมาก แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและอัตราเงินเฟ้อหลักไม่สูงเท่า ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงไม่รู้สึกว่าการกระชับนโยบายการเงินเชิงรุกเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องทำ

 

ขณะเดียวกัน ในมุมมองของ Chua เห็นว่า อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบน้อยลงจากภาวะถดถอยของสหรัฐฯ ที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากความแข็งแกร่งของ ‘เศรษฐกิจภายในประเทศ’

 

ทั้งนี้ ข้อมูลของ World Bank ระบุว่า การเติบโตของ GDP ในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์นั้นสูงกว่า เมื่อเทียบกับสิงคโปร์และไทยในช่วงวิกฤตการเงินโลกในปี 2008-2009

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising