×

สวรรค์อาเขต การแสดงเดี่ยวโดยนักแสดงสาวเจ้าของรางวัลนักแสดงยอดเยี่ยม

08.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ผลงานแสดงเดี่ยวของ อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์ ศิลปินศิลปะการแสดงหญิงที่ทำงานเกี่ยวกับประเด็นเชิงสังคมที่ลงลึก เธอเคยได้รับการเสนอชื่อเป็น 1 ใน 100 ผู้เข้าชิงจากทั่วโลก ให้ได้รับรางวัลเสรีภาพการแสดงออก จากองค์กร Index on Censorship
  • ‘ความไม่มั่นคง’ คือคอนเซปต์หลักที่ถูกนำมาใช้ในการออกแบบการแสดงชุดสวรรค์อาเขต ผ่านองค์ประกอบทางการแสดงต่างๆ ตั้งคำถามมากมายต่อผู้ชม

เพียงแค่ก้าวเท้าเข้าไปในพื้นที่จัดแสดงของ Democrazy Theatre Studio (เดโมเครซี่ เธียเตอร์ สตูดิโอ) ผู้ชมก็รู้สึกได้ถึงความไม่มั่นคงในทันที ด้วยวัสดุประกอบฉากซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงที่จงใจวางไว้เป็นพื้นผิวทั่วโรงละคร ประกอบกับความมืดที่ทำให้ผู้ชมต้องคลำทางไปหาที่ทางของตน เพื่อที่จะอยู่ใน ‘สวรรค์อาเขต’ หรือการแสดงชุดนี้ ที่มีชื่อหมายถึง ดินแดนอันเป็นดั่งสวรรค์ แต่กว่าที่ผู้ชมจะหาที่ทางให้ตัวเองรู้สึกว่าโอเคในสวรรค์แห่งนี้ได้ ก็ใช้เวลาอยู่นานพอสมควร และแน่นอนที่ไม่ว่าการเลือกจะอยู่ตรงจุดไหนของสวรรค์อาเขต ก็ล้วนย่อมมีความหมายต่อการแสดงชุดนี้ทั้งนั้น

 

ตามมาด้วยความมืดที่เงียบงันและแสนจะอึดอัด ที่มีแสงสว่างวาบมาเป็นระยะ ซึ่งแทนที่จะทำให้มองเห็นอะไรได้ชัดเจนขึ้นกลับเป็นการแสบและหลอนหลอกสายตา การแสดงดำเนินอย่างนี้ไปอีกสักครู่ เหมือนกับภาวะบางอย่างที่โลกข้างนอกก็เป็นอยู่ ซึ่งยังไม่มีใครรู้ว่ามันจะเป็นอย่างนี้ไปอีกนานสักเท่าไร และแล้วการแสดงก็เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการด้วยการปรากฏตัวของนักแสดงสาวผู้สมมติบทบาทตัวเองเป็นดอกไม้บางอย่างที่อยู่ในบึง และผู้ชมก็ถึงบางอ้อว่าสวรรค์อาเขตแห่งนี้ก็คือบึงของดอกไม้น้ำชนิดนี้นั่นเอง

 

 

นั่นเป็นฉากเปิดของการแสดงร่วมสมัยชุด สวรรค์อาเขต ซึ่งเพิ่งจัดแสดงรอบปฐมฤกษ์ไปเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2561 การแสดงชุดนี้เป็นผลงานแสดงเดี่ยวของ อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์ แห่งกลุ่มละครบีฟลอร์ ซึ่งหากจะกล่าวถึงศิลปินศิลปะการแสดงหญิงที่ทำงานเกี่ยวกับประเด็นเชิงสังคมที่ค่อนข้างลงลึกแล้วล่ะก็ ชื่อของ อรอนงค์ นั้นโดดเด่นออกมาทันที ด้วยเธอเป็นเจ้าของผลงานเรื่อง บางละเมิด ซึ่งเคยจัดแสดงไปเมื่อปี 2558 และได้รับการรีสเตจ (re-stage) อีกครั้งในเวลาต่อมา การแสดงชุดดังกล่าวได้รับแรงบันดาลใจจากการเสียชีวิตของ ‘อากง’ ผู้ต้องกฎหมายอาญามาตรา 112

 

ในการจัดแสดงวาระแรกของบางละเมิด บรรยากาศทางการเมืองค่อนข้างตึงเครียด เพราะประเทศไทยเพิ่งผ่านพ้นรัฐประหารไปได้ไม่นาน เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้ถูกจำกัดในหลายแวดวง ไม่เว้นแม้แต่วงการละครเวที ซึ่งบางละเมิดเป็นหนึ่งในการแสดงชุดแรกๆ ที่ได้รับการสอดส่องจากรัฐ โดยได้ส่งตัวแทนเจ้าหน้าที่มาเฝ้าระวังเพื่อดูว่ามีความ ‘เหมาะสม’ หรือไม่ เช่นเดียวกับละครเวที และการแสดงอีกหลายชุดที่ได้รับการสอดส่องในลักษณะเดียวกันในเวลาต่อมา

 

แต่กระนั้นการแสดงชุดดังกล่าวก็ได้รับการอนุญาตให้แสดงต่อจนจบ ส่งผลให้อรอนงค์ เคยได้รับการเสนอชื่อเป็น 1 ใน 100 ผู้เข้าชิงจากทั่วโลก ที่อาจได้รับรางวัล เสรีภาพการแสดงออกจากองค์กร Index on Censorship ในปีนั้น นอกจากนี้ผลงานเรื่อง บางละเมิด ยังได้รับเลือกให้ได้รับรางวัลบทละครยอดเยี่ยม (Best Original Script of a Play/Performance) จากชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดงแห่งประเทศไทย (International Association of Theatre Critics (Thailand)) อีกด้วย

 

มาถึงการแสดงชุด สวรรค์อาเขต ในครั้งนี้ ซึ่งสถานการณ์ความตึงเครียดของการจำกัดเสรีภาพการแสดงออก และความคิดเห็นดูจะคลายลงบ้าง อรอนงค์ หรือ ‘กอล์ฟ’ ที่ผู้ชมแฟนละครเวทีร่วมสมัยต่างรู้จักกันดี ยังคงทำงานในประเด็นเชิงสังคมโดยตั้งคำถามเกี่ยวกับดินแดนที่เรียกว่าเป็นดั่งสวรรค์อาเขตแห่งนี้ ว่าภายใต้ความสงบเรียบร้อย ภายใต้บึงของดอกไม้งามนั้นมีอะไรเร้นอยู่บ้าง

มาคราวนี้กอล์ฟสนใจประเด็นเรื่องของ ‘ความไม่มั่นคง’ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เรารู้สึกมากๆ เกี่ยวกับสภาวะของสังคมที่เกิดขึ้น ซึ่งเวลาที่ภาวะแบบนี้เกิดขึ้นคนเรามักจะส่งแรงสะท้อนไปหาคนอื่นๆ ด้วยวิธีการต่างๆ โดยจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ซึ่งบางทีเราก็รู้สึกว่าวิธีการแบบนั้นมันไม่มีวุฒิภาวะหรือเปล่า

 

“งานชิ้นนี้ต่อเนื่องมาจากฟี้ดแบ็กของบางละเมิด ซึ่งตอนนั้นเราพูดถึงผลพวงของประเด็นเรื่องกฎหมายมาตรา 112 แต่มาคราวนี้กอล์ฟสนใจประเด็นเรื่องของ ‘ความไม่มั่นคง’ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เรารู้สึกมากๆ เกี่ยวกับสภาวะของสังคมที่เกิดขึ้น ซึ่งเวลาที่ภาวะแบบนี้เกิดขึ้นคนเรามักจะส่งแรงสะท้อนไปหาคนอื่นๆ ด้วยวิธีการต่างๆ โดยจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ซึ่งบางทีเราก็รู้สึกว่าวิธีการแบบนั้นมันไม่มีวุฒิภาวะหรือเปล่า และในสภาวะการณ์แบบนี้มันจะแตกต่างจากบางละเมิดที่พูดถึงผลกระทบของคนที่ถูกกระทำอันเกิดจากผู้มีอำนาจ แต่ภาวะที่เป็นอยู่ในสวรรค์อาเขตนี่มันจะเป็นใครก็ได้ที่ได้รับผลกระทบตรงนี้”

 

‘ความไม่มั่นคง’ ที่อรอนงค์กล่าวถึง คือคอนเซปต์หลักที่ถูกนำมาใช้ในการออกแบบการแสดง ผ่านองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งจะมอบประสบการณ์ให้ผู้ชมได้สัมผัสถึงความไม่มั่นคงในสวรรค์อาเขต

 

 

“สำหรับกอล์ฟ การทำงานครั้งนี้ถือเป็นความแปลกใหม่สำหรับตัวเอง เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นการแสดงเดี่ยวเหมือนเดิม แต่ในแง่ของกระบวนการนั้นเราทำงานร่วมกับ Dramaturg (ผู้เชี่ยวชาญการละคร) 2 คน ซึ่งก็คือพี่จา (จารุนันท์ พันธชาติ – ศิลปินรางวัลศิลปาธรสาขาการแสดง ปี 2557) ที่ดูแลในเรื่องของบท และตั๋ม (ธนพล วิรุฬหกุล ผู้กำกับ และ Choreographer) ซึ่งมาช่วยดูแลในเรื่องการเคลื่อนไหวร่างกาย ว่าทำอย่างไรจึงจะตอบโจทย์สิ่งที่เราต้องการจะสื่อสารในการแสดงชุดนี้มากที่สุด”

 

นอกจากนี้เธอยังได้ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ มาช่วยดูแลในเรื่องของการออกแบบฉาก ซึ่งสำหรับผู้ชมแล้ว เพียงแค่ก้าวเท้าเข้าไปในพื้นที่จัดแสดง ก็จะรู้สึกถึงความไม่มั่นคงทันที หลังจากที่ดอกไม้น้ำสาวในบึงได้ออกมาสนทนากับผู้ชม ถึงสวรรค์อาเขตแห่งนี้ ถึงเรื่องราวสารพัด เช่น ความอยู่ยาก งานบุญ การโผล่พ้นน้ำ ฯลฯ และชักชวนให้ผู้ชมได้มีปฏิสัมพันธ์กับการแสดง ซึ่งการมีปฏิสัมพันธ์ของผู้ชมกับฉาก เช่น การเอาตัวเองไปวางยังจุดใดจุดหนึ่งในฉาก ในขณะที่ผู้ชมบางคนสามารถอยู่กับพื้นที่ได้อย่างสบาย โดยหาที่ทางของตนเองได้ไม่ลำบาก ไม่ต้องปรับตัวมากนัก แต่หลายคนอาจจะประสบปัญหากับการอยู่ในพื้นที่ จนทำให้เราอดนึกสงสัยไปว่าในพื้นที่แห่งนี้นั้นเป็นสวรรค์อาเขตสำหรับทุกคนจริงๆ หรือเปล่า และถ้าไม่ มันเป็นสวรรค์สำหรับใครบ้าง เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ทั้งปฏิสัมพันธ์ที่ผู้ชมแต่ละคนมีต่อการแสดงย่อมกลายเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงไปด้วยในทันที

 

จนในที่สุดการแสดงก็ดำเนินมาถึงจุดที่เปิดเผยว่าใต้บึงน้ำสวรรค์อาเขตที่ดูจะสวยงามแห่งนี้นั้นมีรากฐานของฉาก ซึ่งทำมาจากยางในและยางนอกของรถยนต์ จำนวนกว่าร้อยเส้นจนเต็มพื้นที่ของการแสดง การเลือกวัสดุเช่นนี้มาใช้ นอกจากจะทำให้ผู้ชมได้เซนส์ของความไม่มั่นคงแล้ว เมื่อมันถูกเปิดเผยยิ่งให้อีกเซนส์หนึ่ง นั่นคือสิ่งที่ถูกปกปิดไว้นั้นไม่ได้ดูสวยงามเหมือนกับพื้นผิวที่ถูกปกปิดไว้ของมันเลย

 

 

“นี่มันดอกไม้อะไรกันแน่” คือประโยคหนึ่งซึ่งเป็นคีย์หลัก ที่ถูกนำมาตั้งคำถามต่อผู้ชม แม้ภายในการแสดงจะไม่ได้มีการระบุว่าดอกไม้น้ำในสวรรค์อาเขตนั้น เป็นดอกไม้ชนิดใดกันแน่ แต่ผู้ชมก็สามารถเดาได้ไม่ยากว่ามันมีนัยหมายถึง ‘ดอกบัว’ อันเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา และอุปมาที่สื่อนัยถึงบุคคล 4 เหล่า 4 จำพวก ก็ทำให้นึกตั้งคำถามว่าในบึงน้ำสวรรค์อาเขตที่ผู้ชมอยู่นี้ และในโลกข้างนอก เราเป็นบัวเหล่าไหนกันแน่ เป็นบัวที่พ้นน้ำแล้วหรือยัง? ซึ่งสำหรับเราแล้ว คิดว่านี่เป็นคำถามที่สำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่งที่การแสดงชุดนี้มอบไว้ให้กับผู้ชม เพราะในสวรรค์อาเขตข้างนอกโรงละครนั้นเต็มไปด้วยบัวทั้ง 4 เหล่า และโดยธรรมชาติของปัจเจกนั้นก็มักจะคิดว่าตนเป็นบัวที่อยู่เหนือบัวเหล่าอื่น แต่การที่บัวแต่ละดอกจะเอาตัวเองให้รอดพ้นจากโคลนตม แล้วทรงตัวขึ้นเป็นบัวพ้นน้ำที่รอดจากการเป็นอาหารของสัตว์น้ำได้อย่างแท้จริง ก็ดูจะเป็นเรื่องที่เหนื่อยและก็ยากเต็มทีในสวรรค์อาเขตแห่งนี้

 

 

“ใครที่ดูงานเราต่อเนื่องมาจากเรื่องที่แล้ว อาจจะคิดว่าหน้าหนังของเรามันดูสื่อสารในประเด็นที่รุนแรง แต่เราพูดในเรื่องที่ใกล้ตัวมากๆ ซึ่งคนดูที่มีความคิดความสนใจในเรื่องความเป็นไปในสังคมน่าจะสนุกไปกับมัน แต่สำหรับคนที่อยากจะมาดูเพื่อความสนุก การแสดงชุดนี้ก็ยังมีเซนส์เรื่องความบันเทิง ไม่ได้เคร่งขรึมเพียงอย่างเดียว และสิ่งหนึ่งที่เป็นจุดยืนของกอล์ฟคือเราพยายามจะรักษาน้ำเสียงที่จะไม่บังคับให้ใครต้องฟังเรา ต้องเชื่อ หรือต้องเห็นด้วยไปกับทุกอย่างที่เราบอกให้เขาฟัง”

 

การที่นักแสดงซึ่งเป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ เพียงคนเดียวต้องทำงานกับทั้งประเด็น และต่อสู้กับฉาก (ยางในและยางนอกร้อยกว่าเส้น) ที่ดูจะใหญ่กว่าตัวของเธอเองขนาดนี้ด้วยน้ำเสียงอันเป็นมิตรและเปิดกว้าง จึงเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม น่าปรบมือให้กับอรอนงค์ และทีมงาน สวรรค์อาเขต ไม่น้อย

 

Photo: ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์, วรัญญู อินทรกำแหง

FYI
  • สวรรค์อาเขต จัดแสดงเป็นภาษาไทยและมีซับไตเติลภาษาอังกฤษ ทั้งหมด 12 รอบ ระหว่างวันที่ 8-20 มกราคม 2018 (งดแสดงวันอังคารที่ 16) เวลา 20.00 น. ณ เดโมเครซี่ เธียเตอร์ สตูดิโอ ซอยสะพานคู่ MRT exit 1
  • บัตรหน้างานราคา 550 บาท บัตรราคาโอน (ล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชม.) 500 บาท บัตรนักเรียนหรือนักศึกษา 480 บาท
  • ข้อมูลเพิ่มเติม และสำรองบัตรได้ทาง www.facebook.com/events/190489491494436 หรือ โทร. 09 4 494 5104
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising