×

UNDP เผยสถิติคดีฟ้องปิดปากโดยภาคธุรกิจ ประเด็นทรัพยากรธรรมชาติเกินครึ่ง คุกคามจนเสียชีวิตราว 1 ใน 3

โดย THE STANDARD TEAM
13.02.2024
  • LOADING...

ในช่วงที่ผ่านมา นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในไทยลุกขึ้นมาเรียกร้องและปกป้องสิทธิในหลายประเด็นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนักปกป้องสิทธิมนุษยชนนั้นคือบุคคลทั่วไปที่ประกอบอาชีพอะไรก็ได้ แต่กำลังเผชิญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนบางประการที่กระทบต่อการดำเนินชีวิต สุขภาพ และสภาพแวดล้อมของบุคคลนั้นหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง และเลือกที่จะปกป้องสิทธิของตนเองและชุมชน โดยอาจจะดำเนินการเป็นปัจเจกหรือรวมตัวกันเป็นกลุ่มคนก็ได้ แต่ความก้าวหน้าของการลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิในไทยก็ตามมาด้วย ‘ราคาต้นทุนสูงลิ่ว’ ที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนต้องจ่าย

 

‘วันป้องกันความรุนแรงจากแนวคิดสุดโต่งสากล’ ซึ่งตรงกับวันที่ 12 กุมภาพันธ์ของทุกปี โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เปิดเผยรายงาน 2 ฉบับเกี่ยวกับการดำเนินคดีฟ้องปิดปากโดยภาคธุรกิจและบทบาทของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ชี้ให้เห็นว่า เสรีภาพการแสดงออกของกลุ่มนักเคลื่อนไหวดังกล่าวในไทย ‘ยังถูกคุกคาม’ การส่งเสริมหลักสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมจึงเป็นอีกแนวทางในการป้องกันความรุนแรง

 

นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ลุกขึ้นมาเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจถูกคุกคามหลายรูปแบบ ถึงขั้นเสียชีวิต 30%

 

โดย ‘ผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจ’ เป็นหนึ่งในประเด็นที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนลุกขึ้นมาปกป้องมากที่สุด ซึ่งทำให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนตกเป็นเป้าของการถูกโจมตีของภาคธุรกิจในหลากหลายรูปแบบ

 

ข้อมูลเชิงสถิติจากรายงานการศึกษา เรื่อง การคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดย UNDP พบว่า ระหว่างปี 2001-2021 นักปกป้องสิทธิมนุษยชนตกเป็นเป้าจนถึงขั้นเสียชีวิตถึงร้อยละ 30 ในขณะที่การคุกคามรูปแบบอื่นๆ มีตั้งแต่ทำร้ายร่างกาย ถูกติดตาม และถูกจับกุม จนถึงสูญหาย

 

มีคดีฟ้องปิดปากประชาชน 109 คดีใน 25 ปีที่ผ่านมา โดย ‘ธุรกิจเหมืองแร่’ ริเริ่มดำเนินคดีมากที่สุด 

 

นอกเหนือจากการคุกคามในรูปแบบที่กล่าวมาแล้วนั้น การใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อละเมิดนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในรูปแบบของการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน หรือ ‘การฟ้องปิดปาก’ ถูกพบเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ในไทย โดยการฟ้องคดีปิดปากโดยภาคธุรกิจเป็นได้ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อบั่นทอนพลังงานและทรัพยากรของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในการลุกขึ้นมาเรียกร้องปกป้องสิทธิ จนทำให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเผชิญกับอุปสรรคในการแสดงออกทางความคิดเห็น และขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

 

รายงานการศึกษาเรื่องกฎหมายและมาตรการป้องกันการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณะในบริบทธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน พบว่า ในช่วง 25 ปี หรือระหว่างปี 1997 จนถึงเดือนมิถุนายน 2022 มีคดีที่เข้าข่ายลักษณะเป็นคดีฟ้องปิดปากโดยภาคธุรกิจและรัฐวิสาหกิจรวมจำนวนทั้งสิ้น 109 คดี โดยในไทยมีทั้งคดีแพ่งและอาญา ซึ่งคดีอาญามีบทลงโทษที่รุนแรงมากกว่า เป็นคดีอาญาร้อยละ 74 คดีแพ่งร้อยละ 26  โดยพบว่า บริษัทที่ประกอบกิจการเหมืองแร่เป็นผู้ริเริ่มดำเนินคดีมากที่สุด ร้อยละ 34 รองลงมาคือภาคธุรกิจในกิจการอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ร้อยละ 21.1 และภาคธุรกิจในกิจการพลังงาน ร้อยละ 13.8 สอดคล้องกับอีกสถิติที่ชี้ว่า ในประเด็นคดีฟ้องปิดปากทั้งหมด เป็นประเด็นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเกินครึ่ง หรือ 53%

 

กลุ่มเป้าหมายที่มักมีความเสี่ยงสูงต่อการถูกฟ้องคดีปิดปาก มักเป็นกลุ่มผู้นำชุมชนหรือนักกิจกรรมที่ออกมาขับเคลื่อนประเด็นสิ่งแวดล้อมผ่านการเผยแพร่ข้อมูล / การแสดงออกทางออนไลน์ ร้อยละ 28 รองลงมาคือการชุมนุม / สมาคม ร้อยละ 21, การให้สัมภาษณ์สื่อ ร้อยละ 15, การทำหน้าที่สื่อ ร้อยละ 10 และการยื่นเรื่องร้องเรียนต่อหน่วยงาน ร้อยละ 9 

 

ผลกระทบที่ตกกับผู้ที่ถูกคดีฟ้องปิดปากและเสรีภาพการแสดงออกของคนไทย

 

นักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ระหว่างการทำรายงานการศึกษา เรื่อง การคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดย UNDP ว่า “ต้องไปศาลประมาณเดือนละครั้ง เกิดค่าใช้จ่ายและเสียเวลา เพราะใช้เวลาในศาลเกือบปี”

 

คดีฟ้องปิดปากส่งผลกระทบต่อทั้งการงานและจิตใจของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เนื่องจากส่วนใหญ่ยังต้องประกอบอาชีพและเรียนหนังสือ ผลกระทบของการฟ้องคดีปิดปากสร้างภาระทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และจิตใจ ให้แก่ผู้ถูกฟ้อง และยิ่งคดีที่ต้องใช้ระยะเวลาพิจารณาที่ยาวนานและเป็นคดีอาญาที่มีโทษจำคุก ก็ยิ่งสร้างภาระ ความกดดัน ตลอดจนความกลัว ให้เกิดขึ้นต่อผู้ถูกฟ้องและกลุ่มบุคคลที่จะออกมาใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อปกป้องสิทธิของตนเอง ชุมชน และประโยชน์สาธารณะอื่นๆ ในอนาคต

 

การคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจึงถูกระบุให้เป็น 1 ใน 4 ประเด็นสำคัญของแผนปฏิบัติการแห่งชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนฉบับแรก และฉบับที่ 2 ของประเทศไทย (The National Action Plan on Business and Human Rights: NAP) โดยมีการนำเสนอมาตรการต่างๆ เช่น การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การเข้าถึงกระบวนการร้องเรียนและการเยียวยาของผู้ได้รับผลกระทบ 

 

อย่างไรก็ตาม ระดับความเข้าใจและการยอมรับต่อบทบาทของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ไม่สอดคล้องกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับท้องถิ่นยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ ดังนั้นบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม เช่น ผู้พิพากษา พนักงานอัยการ และทนายความ จึงมีบทบาทสำคัญต่อการคุ้มครองและการเข้าถึงการเยียวยาของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงการเข้าใจและยอมรับการเคลื่อนไหวในลักษณะนี้ของสังคม เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยต่อเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน

 

นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกล่าวไว้ระหว่างการจัดทำรายงานฉบับนี้ว่า “หน่วยงานรัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน คุณจะต้องมองเห็นพวกเราที่เป็นประชาชนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่เป็นพวกที่ขัดขวางการพัฒนา”

 

ภาพ: Denayunebgt / Shutterstock

อ้างอิง: UNDP ประเทศไทย

FYI
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising