×

รีวิวผลตอบแทนสินทรัพย์ลงทุนปี 2022 ‘Bitcoin’ ดิ่งหนักสุด ‘สินค้าโภคภัณฑ์’ คือผู้ชนะ

29.12.2022
  • LOADING...

การลงทุนตลอดทั้งปี 2022 เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งปีที่บรรยากาศการลงทุนผันผวนอย่างหนัก ด้วยปัจจัยแวดล้อมมากมายที่เข้ามากระทบ ทั้งในส่วนของการแพร่ระบาดของโควิดที่ยังสร้างความกังวลต่อเนื่อง สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ผลักให้ราคาน้ำมันแพงขึ้น นำไปสู่เงินเฟ้อที่พุ่งสูงสุดในรอบทศวรรษ ขณะที่ธนาคารกลางของหลายประเทศทั่วโลกต่างปรับทิศทางนโยบายการเงิน มุ่งหน้าขึ้นดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ

 

สินทรัพย์ลงทุนหลักอย่างหุ้นและตราสารหนี้ให้ผลตอบแทนที่น่าผิดหวัง สวนทางกับสินค้าโภคภัณฑ์ที่กลายเป็นดาวเด่นในปีนี้ ส่วน Bitcoin คือสินทรัพย์ที่ถูกเทขายมากที่สุด จนทำให้มูลค่าหายไปถึง 65%


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


ในช่วงเวลาที่กำลังจะผ่านพ้นปี 2022 เข้าสู่ปี 2023 THE STANDARD WEALTH อยากพาทุกคนไปไล่เลียงดู 5 ธีมการลงทุนหลัก ซึ่งสะท้อนภาพรวมผลตอบแทนของแต่ละสินทรัพย์ลงทุนที่สำคัญ พร้อมมองถึงแนวโน้มการลงทุนในปีหน้า

 

 


 

‘หุ้น-บอนด์’ กอดคอร่วง

ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยของตลาดหุ้นทั่วโลกในปี 2022 ปรับตัวลดลงประมาณ 20% อิงจากดัชนี MSCI All Country โดยกลุ่มที่ลดลงมากที่สุดคือตลาด Frontier Market ลดลงเกือบ 30% รองลงมาคือหุ้นในกลุ่ม Emerging Market ที่ลดลง 22% ขณะที่หุ้นกลุ่ม Developed Market ลดลงประมาณ 17%

 

ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ผลตอบแทนของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2008 โดยจุดเริ่มต้นของตลาดหุ้นขาลงในปีนี้มาจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ตามมาด้วยแรงกดดันจากเงินเฟ้อทั่วโลกที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งนำไปสู่การขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางสำคัญทั่วโลก และท้ายที่สุดทำให้ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับภาวะถดถอย (Recession) อาจเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐฯ

 

อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นในบางประเทศยังสามารถยืนอยู่ในแดนบวกได้ เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย ในกรณีของหุ้นอินเดียนั้นถือได้ว่า Outperform หุ้นโลกเป็นปีที่สามติดต่อกัน พร้อมกับพุ่งขึ้นมาซื้อขายใกล้กับระดับสถิติสูงสุด

 

นับแต่ปี 2003-2004 ต่างชาตินำเงินเข้ามาลงทุนในอินเดียเพิ่มขึ้นถึง 20 เท่า บริษัทขนาดใหญ่หลายแห่ง เช่น Samsung และ Apple ต่างเข้ามาตั้งฐานการผลิตในอินเดีย นอกจากนี้อินเดียยังเป็นหนึ่งในประเทศที่ดูเหมือนจะรอดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้า

 

ส่วนอินโดนีเซียเป็นประเทศที่ได้ประโยชน์โดยตรงจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูงขึ้นมาก เช่น ถ่านหิน แร่ธรรมชาติ เป็นต้น

 

ขณะที่ตราสารหนี้ หรือ ‘บอนด์’ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมักจะเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกเมื่อตลาดหุ้นเป็นขาลง แต่อย่างไรก็ตาม ตราสารหนี้กลายเป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์ที่ถูกเทขายออกมาอย่างหนักในปีนี้ โดยราคาลดลงไปราว 15% ย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 1990 ขณะที่ Bloomberg Global Aggregate Index ซึ่งเป็นดัชนีที่ติดตามบอนด์ทั่วโลก มีอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจาก 1.3% มาเป็น 4% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2008

 

Antonio Cavarero หัวหน้าฝ่ายลงทุนของ Generali Insurance Asset Management กล่าวว่า ปีนี้บอนด์ไม่ใช่ทางรอดจากการที่สินทรัพย์เสี่ยงร่วงลงมา บอนด์กลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา แต่หลังจากที่ตลาดเริ่มปรับตัวและเงินเฟ้อเริ่มชะลอลง บอนด์จะกลับมาเป็นตัวเลือกเพื่อป้องกันความเสี่ยงอีกครั้ง

 

ด้าน Sam Benstead ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยที่กำลังพุ่งขึ้นในปีนี้ทำให้ภาพของบอนด์ในฐานะการลงทุนที่ปลอดภัยไม่เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว พันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้ซึ่งให้ผลตอบแทนที่แน่นอนผ่านดอกเบี้ย แต่ในปีนี้บอนด์ถูกเทขายจนกดให้ราคาหน่วยต่ำลง

 

“เมื่อดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น หมายความว่านักลงทุนสามารถที่จะได้รับผลตอบแทนสูงขึ้นได้จากบอนด์ที่ออกใหม่ ทำให้พวกเขาเทขายบอนด์ที่ถืออยู่ ซึ่งมีสาเหตุสำคัญจากนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว”

 

วิกฤตพลังงานดันราคาน้ำมัน

น้ำมันเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่ปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นในปีนี้ โดยเฉพาะครึ่งปีแรกที่ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นไปถึงประมาณ 140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก่อนจะลดลงมาอยู่ที่ราว 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นกว่า 8% จากปีก่อน

 

ปัจจัยหนุนต่อราคาน้ำมันมาจาก 2 ประเด็นหลัก คือ การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหลังจากการแพร่ระบาดของโควิดผ่อนคลายลง อีกประเด็นที่สำคัญคือสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนหนุนให้ราคาน้ำมันดีดตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับราคาก๊าซธรรมชาติที่พุ่งขึ้นหลายเท่าตัว

 

แต่หลังจากที่ความเสี่ยงเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้เกิดความกังวลว่าอุปสงค์ต่อน้ำมันจะลดลง กดดันให้ราคาน้ำมันปรับตัวลงต่อเนื่องจนทำจุดต่ำสุดในรอบปีนี้ที่ประมาณ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

 

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันอาจจะกลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากความต้องการที่อาจจะเพิ่มขึ้นถึง 3 ล้านบาร์เรลต่อวันในปีหน้า เทียบกับปีนี้ที่ความต้องการไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย และเราก็จะเห็นความต้องการใช้พลังงานมากขึ้นอย่างมากจากจีนในอนาคตอันใกล้ ขณะเดียวกันรัฐบาลจีนมีแผนว่าจะเพิ่มสต๊อกน้ำมันหากราคาลดลงมาอยู่ที่ระดับ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

 

‘ดอลลาร์’ คือราชา

ก่อนหน้านี้ Ray Dalio ผู้ก่อตั้ง Bridgewater Associates เคยมองว่าเงินสดเป็น ‘ขยะ’ ก่อนที่เขาจะเปลี่ยนมุมมองในภายหลังว่าเงินสดไม่ใช่ขยะอีกต่อไป

 

เหตุผลที่ทำให้ Ray เปลี่ยนความคิด เกิดจากการที่อัตราดอกเบี้ยขยับขึ้นมาอยู่ในระดับสูง ในระหว่างที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) กำลังลดขนาดงบดุลลง โดยเขามีมุมมองเป็นกลางต่อเงินสด ไม่ได้มองว่ามันเป็นสินทรัพย์ที่ดีหรือแย่ในขณะนี้

 

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการถือครองเงินดอลลาร์ในปีนี้ อาจเป็นหนึ่งในทางเลือกลงทุนที่ดีที่สุด สะท้อนจาก Dollar Index ที่เพิ่มขึ้นเกือบ 9% จากปลายปี 2021

 

ปัจจัยหนุนค่าเงินดอลลาร์ในปีนี้คงหนีไม่พ้นการที่ Fed ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง จากเพียง 0.25% เมื่อปลายปี 2021 มาเป็น 4.5% ในขณะนี้ ส่งผลให้กระแสเงินลงทุนทั่วโลกไหลเข้าไปยังสหรัฐฯ

 

นอกจากนี้ Eric Donovan หัวหน้าฝ่ายอัตราแลกเปลี่ยนของ StoneX มองว่า “ปัจจัยหลักที่ทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าอย่างมากคือการที่มันถูกมองว่าเป็น Safe Haven ซึ่งมักจะแข็งแกร่งในช่วงที่ตลาดถูกปกคลุมด้วยความกลัว”

 

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินดอลลาร์เริ่มอ่อนตัวลงมาในช่วงปลายปี หลังจากที่แข็งค่าขึ้นเกือบ 20% ในช่วงก่อนหน้านี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการคาดการณ์ว่า Fed อาจจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยในไม่ช้า แต่ Donovan มองว่าเงินดอลลาร์ยังมีแนวโน้มแข็งแกร่งต่อไปเมื่อเทียบกับเงินยูโร จากแรงกดดันของสงครามในยูเครน

 

สินค้าโภคภัณฑ์คือผู้ชนะ

ในปีนี้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่า 20% สะท้อนจากดัชนี CRB Commodities Index ที่เพิ่มขึ้น 22.3% โดยดัชนีดังกล่าวติดตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ 19 ชนิด แบ่งเป็น สินค้าเกษตร 41% พลังงาน 39% โลหะอุตสาหกรรม 13% และโลหะมีค่า 7%

 

ปัจจัยสำคัญที่ดันให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ พุ่งขึ้นสูง คือการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ โดยสินค้าโภคภัณฑ์ส่วนใหญ่มักจะถูกซื้อขายกันด้วยเงินดอลลาร์ ประกอบกับแรงหนุนจากต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้น

 

โดยราคาสินค้าที่ปรับตัวขึ้นโดดเด่นในปีนี้คือก๊าซธรรมชาติ เช่นเดียวกับราคาสินค้าเกษตรอย่างข้าวโพด สินค้าปศุสัตว์ ถั่วเหลือง ข้าวสาลี เป็นต้น ขณะที่แร่นิกเกิลก็เป็นอีกหนึ่งสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้นถึง 40% ด้วยอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

 

ทั้งนี้ Goldman Sachs ประเมินแนวโน้มของการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ว่า จากมุมมองด้านปัจจัยพื้นฐาน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ส่วนมากจะยังคงอยู่ในระดับสูง แม้ว่าเราจะเห็นราคาของสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ อ่อนตัวลงในขณะนี้ แต่โดยธรรมชาติของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในช่วงขาขึ้นรอบใหญ่ (Supercycle) มักจะไม่ปรับขึ้นรวดเดียว แต่ระหว่างทางจะมีการปรับฐานของราคาสลับมาให้เห็นบ้าง

 

ในระยะยาว ปัญหาอุปทานยังต้องอาศัยเวลาหลายปีกว่าที่จะแก้ไขได้ และด้วยต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น ทำให้การลงทุนใหม่เพื่อผลิตสินค้าออกมายังทำได้จำกัด และจะช่วยให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อาจกลับมาเพิ่มขึ้นได้อีกครั้ง

 

ฤดูหนาวของโลก ‘คริปโต’

Bitcoin เหรียญที่ใหญ่ที่สุดในโลกคริปโตดิ่งลงจากเกือบ 48,000 ดอลลาร์ มาอยู่ที่ราว 16,000-17,000 ดอลลาร์ หรือลดลงไป 65% ถือเป็นสินทรัพย์ลงทุนหลักที่ให้ผลตอบแทนย่ำแย่ที่สุดในปีนี้ สะท้อนภาพฤดูหนาวของโลกคริปโตได้เป็นอย่างดี

 

ในปี 2022 มีเหตุการณ์ที่แพลตฟอร์มคริปโตจำนวนมากขาดความโปร่งใส เป็นเหตุให้แพลตฟอร์มถึงขั้นล้มละลายลงไป เช่น Terraform Labs, FTX เป็นต้น ปัญหาที่เกิดขึ้นลุกลามกระจายออกไปทั่วทั้งอุตสาหกรรม ซึ่งแม้แต่ Zipmex ศูนย์ซื้อขายแลกเปลี่ยนในไทยก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักตามไปด้วยเช่นกัน สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้นักลงทุนจำนวนมากได้รับความเสียหาย และขาดความเชื่อมั่นต่อคริปโตอย่างมาก

 

ขณะที่สินทรัพย์ดิจิทัลอื่นอย่าง NFTs ที่เคยเป็นกระแสอย่างมาก จากข้อมูลของ Dune Analytics พบว่า ณ สิ้นเดือนกันยายน มูลค่าตลาดรวม NFTs เหลือเพียง 466 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท คิดเป็นการปรับตัวลงมากกว่า 97% นับตั้งแต่ต้นปี ในขณะที่ DappRadar เผยว่า มูลค่าตลาดของ NFTs บนมาร์เก็ตเพลสเบอร์หนึ่งด้าน NFTs อย่าง OpenSea มีมูลค่าหายไปกว่า 99%

 

ขณะที่ Changpeng Zhao หรือ CZ ซีอีโอของ Binance กลายเป็นมหาเศรษฐีที่สัดส่วนความมั่งคั่งหายไปมากที่สุดในปีนี้ โดยลดลงไปถึง 86.8%

 

มองแนวโน้มการลงทุนปี 2023

ในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ สถาบันการเงินและบริษัทด้านการลงทุนทั่วโลกมักจะจัดทำรายงานแนวโน้มการลงทุนในปีถัดไป เช่นเดียวกับปีนี้ที่แต่ละบริษัทต่างออกมาให้มุมมองการลงทุนในปีหน้า

 

BlackRock บริษัทบริหารการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก มองการลงทุนปีหน้าเป็น 3 ธีมหลัก ได้แก่

 

  1. Pricing the Damage โดยมองว่าการปรับฐานของสินทรัพย์เสี่ยงใกล้จะถึงจุดที่สะท้อนการหดตัวของเศรษฐกิจไปแล้ว แต่ตอนนี้เรายังไม่ได้ไปถึงจุดนั้น
  2. Rethinking Bonds โดยยังคงให้น้ำหนักการลงทุนน้อยกว่าตลาดสำหรับพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว และ
  3. Living with Inflation มองว่าเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป พร้อมแนะนำลงทุนในบอนด์ที่อิงกับเงินเฟ้อ (Global Inflation-Linked Bonds) ขณะเดียวกันยังคงมุมมองเชิงลบต่อหุ้นในยุโรปและสหรัฐฯ และมองเป็นกลางสำหรับหุ้นในเอเชียและตลาดเกิดใหม่

 

ด้าน Morgan Stanley ระบุว่า เงินดอลลาร์จะผ่านจุดพีคไปแล้วในปีนี้ และจะเริ่มอ่อนค่าลงตลอดปี 2023 ขณะที่ตลาดหุ้นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่และญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะให้ผลตอบแทนสูงกว่า 10% ในปีหน้า ส่วนตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะปิดปี 2023 ที่ราว 3,900 จุด พร้อมกับความผันผวนตลอดทั้งปี สำหรับสินค้าโภคภัณฑ์อย่างน้ำมันน่าจะโดดเด่นกว่าทองคำและทองแดง โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะปิดปี 2023 ที่ 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี จะอยู่ที่ 3.5%

 

ส่วน JPMorgan มองว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะเติบโตเฉลี่ย 1.6% ในปีหน้า ท่ามกลางการใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัว ในขณะที่แรงกดดันจากโควิดในจีน และวิกฤตพลังงานในยุโรปจะยังไม่หมดไป ทั้งนี้ เศรษฐกิจโลกอาจจะยังไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอยในทันที เนื่องจากเงินเฟ้อที่ลดลงอย่างรวดเร็ว แต่สำหรับภาวะถดถอยในสหรัฐฯ มีแนวโน้มว่าจะยังเกิดขึ้นภายในสิ้นปี 2024 โดยดัชนี S&P500 มีแนวโน้มจะลดลงไปทดสอบจุดต่ำสุดเดิมบริเวณ 3,500 จุด ก่อนจะดีดกลับมาอยู่ในระดับ 4,200 จุด โดยตลาดหุ้นจะเผชิญทั้งข่าวดีและข่าวร้ายพร้อมกันในปีหน้า ข่าวดีคือธนาคารแต่ละแห่งมีแนวโน้มจะหยุดขึ้นดอกเบี้ย พร้อมส่งสัญญาณการลดดอกเบี้ยในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ข่าวร้ายคือ เมื่อการขึ้นดอกเบี้ยจบลง หมายความว่าเศรษฐกิจจะเริ่มชะลอตัว ตัวเลขการว่างงานเพิ่มขึ้น ตามมาด้วยความเสี่ยงต่อสินทรัพย์เสี่ยงในระยะสั้น

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising