×

สรุปการล่มสลายของ FTX ที่อาจจุดชนวนวิกฤตในตลาดคริปโต

13.11.2022
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • การล่มสลายของ FTX แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโตรายใหญ่ของโลก กำลังสร้างความกังวลว่าอาจเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดวิกฤตที่ลุกลามเป็นโดมิโนในแวดวงสินทรัพย์ดิจิทัล
  • FTX มีเจ้าหนี้อยู่มากกว่า 1 แสนราย และมีหนี้สินอยู่ราว 1-5 หมื่นล้านดอลลาร์ นักลงทุนสถาบัน เช่น Sequoia Capital และ SoftBank ได้บันทึกมูลค่าการลงทุนทางบัญชีใน FTX เป็นศูนย์แล้ว
  • ทำเนียบขาวและหน่วยงานกำกับของสหรัฐอเมริกาสั่งจับตาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับ FTX พร้อมส่งสัญญาณว่าอุตสาหกรรมคริปโตจำเป็นต้องถูกกำกับอย่างเข้มงวดขึ้น
  • แซม แบงก์แมน-ฟรายด์ อดีตซีอีโอ FTX กำลังเผชิญกับแรงกดดันทางกฎหมาย โดยถูกไต่สวนโดยตำรวจบาฮามาส และอยู่ระหว่างถูก ก.ล.ต. สหรัฐฯ ตรวจสอบเพื่อเอาผิด

ตลาดคริปโตเคอร์เรนซียังคงเผชิญกับวิกฤตความเชื่อมั่นและการล้มลงของโปรเจกต์และผู้ให้บริการอย่างต่อเนื่อง หลังจากเหตุการณ์ล่มสลายของ Terra, LUNA และ UST ล่าสุดก็เป็นคิวของ FTX กระดานเทรดคริปโตเบอร์ 2 ของโลก ที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องจนต้องยื่นขอล้มละลายไปเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา 

 

การพังทลายของ FTX ถือเป็นข่าวใหญ่ เพราะหลายฝ่ายกังวลว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจะจุดชนวนให้เกิดเป็นวิกฤตที่ลุกลามเป็นโดมิโนในแวดวงคริปโตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


เหตุการณ์เป็นมาอย่างไร?

จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้เริ่มจากข่าวลือที่แพร่สะพัดทาง Twitter ว่า FTX กำลังประสบปัญหาบางอย่าง ซึ่งเรื่องดังกล่าวเริ่มมีมูลขึ้นเมื่อ ฉางเผิง จ้าว หรือ CZ เจ้าของ Binance แพลตฟอร์มเทรดคริปโตอันดับ 1 ได้ทวีตข้อความระบุว่า เขาจะขาย FTT ซึ่งเป็นเหรียญของ Exchange FTX ทั้งหมด เนื่องจากตรวจพบพฤติกรรมบางอย่างของ Alameda Research ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ FTX ที่อาจจะส่งผลเสียต่อตัว Binance เอง 

 

ภายหลังเว็บไซต์ข่าว CoinDesk ได้ออกมาเปิดเผยว่า สินทรัพย์ภายใต้การดูแลของ Alameda Research กว่า 80% นั้นเป็น FTT โดย แซม แบงก์แมน-ฟรายด์ หรือ SBF ผู้ก่อตั้ง FTX และ Alameda Research ได้นำ FTT หรือเหรียญที่ออกโดยตัวเองไปค้ำประกัน เพื่อกู้เงินจาก FTX ออกมาใช้ เปรียบเสมือนการนำอัฐยายไปซื้อขนมยาย

 

เมื่อเรื่องแดงขึ้นนักลงทุนจึงแห่กันเทขาย FTT จนราคาร่วงลงเกือบ 10 เท่าอย่างรวดเร็ว พร้อมกับมีการถอนเงินออกจากแพลตฟอร์มมากถึง 6 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งทาง SBF เองได้พยายามแก้ไขปัญหาด้วยการขอความช่วยเหลือจากนักลงทุนรายอื่นเพิ่ม หนึ่งในนั้นคือ CZ อย่างไรก็ตาม ดีลดังกล่าวก็ล่มลงหลังจากผลการเข้าตรวจสอบกิจการหรือ Due Diligence ออกมาย่ำแย่

 

ยื่นขอล้มละลาย

หลังจากหมดทางยื้อ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา FTX พร้อมบริษัทในเครืออีกราว 130 แห่ง ซึ่งรวมถึง Alameda Research และ FTX.US ได้ตัดสินใจยื่นขอล้มละลายต่อศาลเดลาแวร์ในสหรัฐฯ ขณะที่ SBF ก็ได้ประกาศลงจากตำแหน่งซีอีโอ 

 

ในเอกสารยื่นขอล้มละลายจำนวน 23 หน้าของ FTX ระบุว่า ปัจจุบันบริษัทมีเจ้าหนี้อยู่มากกว่า 1 แสนราย มีสินทรัพย์อยู่ระหว่าง 1-5 หมื่นล้านดอลลาร์ และมีหนี้สินอยู่ราว 1-5 หมื่นล้านดอลลาร์เช่นกัน

 

การล่มสลายของ FTX ส่งผลให้ความมั่งคั่งของ Bankman-Fried ลดลงจาก 1.52 หมื่นล้านดอลลาร์ เหลือเพียง 991.5 ล้านดอลลาร์ หรือลดลงราว 94% ภายในเวลาอันรวดเร็ว

 

แน่นอนว่าไม่เฉพาะ SBF ที่ต้องสูญเสียความมั่งคั่งไปอย่างมหาศาล แต่บรรดานักลงทุนทั้งรายย่อยและสถาบันที่ลงทุนในแพลตฟอร์มของเขาต่างก็เจ็บตัวมากน้อยไปตามๆ กัน 

 

ในปีที่ผ่านมา FTX เคยมีฐานลูกค้าสูงถึงกว่า 5 ล้านราย และมีธุรกรรมการซื้อขายบนแพลตฟอร์มสูงกว่า 7 แสนล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ FTX ยังสามารถระดมทุนจากนักลงทุนสถาบันและกองทุนชื่อดัง เช่น Temasek Holdings, Sequoia Capital, Paradigm, SoftBank, Iconiq Capital และ BlackRock ได้เป็นจำนวนรวมกันหลายร้อยล้านดอลลาร์ 

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ Sequoia Capital และ SoftBank ได้ออกมายอมรับว่า พวกเขาได้ตัดใจบันทึกมูลค่าการลงทุนทางบัญชีใน FTX เป็นศูนย์แล้ว 

 

หวั่นเกิดโดมิโนลุกลาม

JPMorgan สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของโลกออกมาคาดการณ์ว่า ตลาดคริปโตจะต้องเผชิญกับความปั่นป่วนในด้านราคาจากวิกฤตการณ์การล่มสลายของ FTX โดยราคา Bitcoin มีแนวโน้มจะร่วงแตะระดับ 13,000 ดอลลาร์ 

 

FTX ถือเป็นหนึ่งใน Exchange ที่มีนักลงทุนจากทั่วโลกใส่เงินลงทุนเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทำให้ตลาดเริ่มจับตาว่าจะเกิดปรากฏการณ์ล้มกันเป็นโดมิโน เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับ Three Arrows Capital และ Celsius ในกรณีของ Terra หรือไม่ เนื่องจาก FTX เป็นแพลตฟอร์มใหญ่ที่มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนกว่าในกรณีอื่นๆ

 

BlockFi, Genesis และ Wintermute เป็นรายชื่อที่กำลังถูกจับจ้องว่าจะได้รับผลกระทบจากการล้มของ FTX มากที่สุด ซึ่งล่าสุด BlockFi ได้ประกาศผ่าน Twitter ว่าบริษัทจะต้องหยุดการถอนเงินของผู้ใช้บริการ และได้ขอให้ผู้ใช้บริการหยุดการฝากเงินบนกระเป๋าเงินหรือบัญชีเงินฝาก เนื่องจากบริษัทไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติจากการขาดความชัดเจนเกี่ยวกับสถานะของ FTX 

 

เตรียมล้อมคอกคริปโต

แม้จะยื่นขอล้มละลายไปแล้ว แต่ความตื่นเต้นจากกรณีของ FTX ดูเหมือนจะยังไม่จบ เพราะในช่วงบ่ายของวันที่ 12 พฤศจิกายน FTX ได้ออกมายืนยันผ่านบัญชี FTX Official บน Telegram ว่าทางแพลตฟอร์มของตัวเองถูกแฮ็ก โดยตรวจพบการโอนเงินกว่า 477 ล้านดอลลาร์ออกจากแพลตฟอร์มโดยไม่ทราบที่มาที่ไป 

 

บัญชี FTX Official ใน Telegram ได้ออกมาอธิบายเพิ่มเติมหลังยืนยันการโดนแฮ็กว่า ณ ขณะนี้ FTX เป็นมัลแวร์แล้ว และให้ผู้ใช้งาน ‘ลบ’ แอปพลิเคชันโดยทันที พร้อมเตือนว่าอย่าเข้าไปในหน้าเว็บไซต์ของ FTX เพราะอาจติดโทรจัน (Trojans) เข้าเครื่องได้

 

ข้อมูลบนเครือข่ายยังพบว่า เหรียญ ETH, SOL และ BNB จำนวนมากได้มีการโอนออกจากวอลเล็ตของ FTX ไปยัง DEX (Decentralized Exchange) อย่าง 1inch ซึ่งสอดคล้องกับช่วงก่อนหน้าที่ผู้ใช้งานจำนวนมากของ FTX พบเงินในวอลเล็ตของตนเองเหลือ ‘0’

 

เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น จอห์น เรย์ ซีอีโอคนใหม่ของ FTX ได้สั่งยกเลิกฟังก์ชันการซื้อขายและถอนเงินบนแพลตฟอร์ม รวมถึงย้ายสินทรัพย์ดิจิทัลไปเก็บไว้ใน Cold Wallet จนกว่าการตรวจสอบธุรกรรมที่ผิดปกติจะเสร็จสิ้น

 

ความปั่นป่วนที่ลุกลามขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ทำเนียบขาวได้ออกมาระบุว่า กำลังจับตาดูการล่มสลายของ FTX พร้อมส่งสัญญาณว่าอุตสาหกรรมคริปโตจำเป็นต้องถูกกำกับอย่างเข้มงวดขึ้น

 

โดย Bloomberg ระบุว่า ทำเนียบขาวและหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ของสหรัฐอเมริกากำลังจับตาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับ FTX โดยมองว่าการขาดการกำกับดูแลที่เหมาะสมในอุตสาหกรรมคริปโต ทำให้ชาวอเมริกันมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบในเชิงลบ

 

แหล่งข่าวในทำเนียบขาวระบุว่า การยื่นขอล้มละลายของ Alameda Research และบริษัทที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึง FTX.com และ FTX.US เป็นการตอกย้ำข้อกังวลของทำเนียบขาวและหน่วยงานภาครัฐ 

 

ขณะเดียวกัน Bloomberg ยังรายงานด้วยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้าของสหรัฐฯ กำลังดำเนินการตรวจสอบว่า FTX ได้จัดการกับเงินของลูกค้าในทางที่ผิดหรือไม่

 

SBF ถูกไต่สวน

ล่าสุด Bloomberg รายงานข่าวในวันนี้ (13 พฤศจิกายน) ว่า SBF ซึ่งมีสถานะเป็นอดีตซีอีโอของ FTX ได้ถูกตำรวจและหน่วยงานกำกับของบาฮามาสไต่สวน 

 

อย่างไรก็ดี ในบาฮามาสการถูกเจ้าหน้าที่เรียกมาไต่สวนไม่ได้หมายความว่าบุคคลนั้นจะถูกจับกุมหรือดำเนินคดี ขณะที่ SBF ก็ยังปฏิเสธที่จะให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวกับสื่อ

 

ปัจจุบัน SBF กำลังเผชิญกับแรงกดดันทางกฎหมาย โดยเขาอยู่ระหว่างถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ตรวจสอบว่าได้กระทำการฝ่าฝืนระเบียบของทางการจากการล่มสลายของ FTX หรือไม่ 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising