×

“มีการบริโภคที่ไหน จะต้องเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่นั่น” เปิดใจกรมสรรพากร เข้าใจกฎหมาย E-Business อย่างถูกต้อง

20.07.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

2 MINS READ
  • ครม. เห็นชอบหลักการกฎหมาย E-Business เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแพลตฟอร์มที่ทำธุรกิจในไทย คาดแล้วเสร็จ พ.ย. นี้
  • กรมสรรพากรยอมรับเก็บภาษียักษ์ใหญ่ไอทีไม่ง่าย ภาษีรายได้ยังไม่ชัดเจน ตอนนี้ขอเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มก่อน ซื้อสติกเกอร์-สมัครดูหนัง-Boost Post เข้าข่ายด้วย

หลังจากที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรว่าด้วยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์หรือกฎหมาย E-Business ในวันอังคารที่ 17 ก.ค. ที่ผ่านมา และเรื่องดังกล่าวถูกนำเสนออย่างหวือหวา ทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนบางประการต่อสาธารณชน

 

กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง จึงติดต่อสำนักข่าว THE STANDARD เพื่อให้ช่วยทำความเข้าใจกฎหมายดังกล่าวให้ชัดเจนขึ้น ผ่านบทความนี้

 

ไม่ใช่ที่แรก ประเทศอื่นเรียกเก็บ VAT เหมือนกัน ไต้หวัน-แอฟริกาใต้สำเร็จที่สุด

 

“มีการบริโภคที่ไหน จะต้องเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่นั่น”

 

แพตริเซีย มงคลวนิช รองอธิบดีกรมสรรพากรในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ชี้แจงผ่านสำนักข่าว THE STANDARD ประเด็นการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากผู้ให้บริการด้านอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลในประเทศไทย โดยเน้นย้ำว่า กรมสรรพากรรับทราบและดำเนินการมาโดยตลอดเรื่องการเรียกเก็บภาษีจากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ระดับโลกที่ขยายธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมายังมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ และวิธีการที่บริษัทเหล่านี้ทำคือการจดทะเบียนบริษัทในพื้นที่ที่ไม่ต้องเสียภาษี และมีรูปแบบโครงสร้างองค์กรสลับซับซ้อน

 

แม้ประเทศไทยจะมีประมวลรัษฎากรอยู่แล้ว แต่ก็ต้องพิจารณาเรื่องอนุสัญญาภาษีซ้อนเพื่อป้องกันการเก็บภาษีซ้ำซ้อน ซึ่งทั่วโลกต่างยึดเป็นหลักปฏิบัติ ขณะนี้หน่วยงานด้านสรรพากรทุกประเทศต่างก็ศึกษาและหาทางออกในเรื่องดังกล่าวเพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษี

 

ขณะที่แนวคิดการจัดเก็บภาษีเงินได้จากบริษัทไอทีขนาดใหญ่ทั้งหลายยังไม่ชัดเจน แนวทางที่ทำได้ในตอนนี้คือการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งสามารถทำได้ และมีกว่า 50 ประเทศที่ทำแล้ว ประเทศแรกที่ขยับก่อนคือนอร์เวย์ และล่าสุดออสเตรเลียก็เพิ่งประกาศเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ให้บริการดิจิทัลเหล่านี้ ส่วนประเทศที่ถือว่าประสบความสำเร็จกับการใช้กฎหมายดังกล่าวคือ ไต้หวันและแอฟริกาใต้

 

ไม่มีสภาพบังคับกับต่างชาติ ซื้อสติกเกอร์ สมัครดูหนัง Boost Post ต้องเสียภาษี

 

เพื่อทำความเข้าใจต่อกฎหมาย E-Business นั้น สำนักข่าว THE STANDARD ขอสรุป ดังนี้

 

  1. หากกฎหมายบังคับใช้แล้ว ขอให้ผู้ให้บริการดิจิทัลที่เป็นผู้ให้บริการหรือเจ้าของแพลตฟอร์มต้องมาลงทะเบียนในระบบของกรมสรรพากร ซึ่งมีข้อเสนอเพิ่มเติมคือ บริษัทในประเทศไทยที่ซื้อสินค้าและบริการจากบริษัทที่ไม่ได้ลงทะเบียน ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในรายการนั้นๆ จะไม่สามารถทำเรื่องขอคืนภาษี (ภาษีซื้อ) ในรายการนั้นๆ ได้ ซึ่งบังคับใช้กับบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทย

 

  1. กฎหมายฉบับนี้ไม่มีสภาพบังคับกับบริษัทที่จดทะเบียนในต่างประเทศหรือบริษัทต่างชาติ (Cross Border Service Provider) ไม่บังคับทั้งการลงทะเบียน ไม่บังคับทั้งการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ทางกรมสรรพากรเชื่อว่าบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ ต่างจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ต่างประเทศทั้งสิ้น ต้องดำเนินการเรื่องธรรมาภิบาล (Corporate Governance) อยู่แล้ว เชื่อว่าจะเป็นแรงกดดันด้านจริยธรรมในการทำธุรกิจ (Business Ethics) และหวังว่าจะยอมปฏิบัติตามกฎหมายของแต่ละประเทศ

 

ขณะที่ผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ตามปกติอยู่แล้ว

 

  1. กรอบการพิจารณาผู้ให้บริการดิจิทัลของกรมสรรพากร จะเป็น ‘รายใหญ่’ ซึ่งมีผู้ที่ใช้สินค้าและบริการจำนวนมาก หรือมีแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ของตนเอง มีส่วนแบ่งการตลาดดิจิทัลสูง ซึ่งมี 80-100 รายเท่านั้น ซึ่งครองรายได้ส่วนใหญ่ของทั้งโลกดิจิทัล

 

  1. ตัวอย่างของบริการที่อยู่ในหลักการของกฎหมายฉบับนี้คือ การดาวน์โหลดสินค้าดิจิทัล เช่น สติกเกอร์ หรือคอนเทนต์ดิจิทัลอื่นๆ จากผู้ให้บริการ เป็นต้น

 

การสมัครสมาชิก (Subscription) โดยตรงเองกับผู้ให้บริการในต่างประเทศ เช่น สมาชิกดูหนัง ซีรีส์ หรือคอนเทนต์อื่นๆ เป็นต้น ครอบคลุมทุกเงื่อนไขการสมัครทั้งรายเดือนหรือรายปี ซึ่งกรณีที่ใช้บริการจากแบรนด์เดียวกันผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือหรือผู้ให้บริการของไทย ซึ่งเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่แล้ว ลักษณะนี้จะไม่ถูกนับซ้ำ เพราะถือว่าเสียภาษีแล้ว

 

การจ่ายเงินเพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์ในช่องทางดิจิทัลทุกรูปแบบ รวมถึงการ Boost Post ด้วย ครอบคลุมทุกกิจกรรมที่เป็นการโฆษณาให้ผู้บริโภคคนไทยได้เห็นและรับรู้

 

  1. ขณะนี้ (20 ก.ค.) กฎหมายฉบับนี้ยังไม่บังคับใช้ เพราะเพิ่งผ่านความเห็นที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะมีมติ ครม. ส่งต่อไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา หากไม่แก้ไขอะไรเพิ่มเติม ก็จะเข้าสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อผ่านในกระบวนการ สนช. แล้วจึงจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาและบังคับใช้ใน 180 วันนับจากที่ประกาศ ทางกรมสรรพากรคาดว่าน่าจะแล้วเสร็จทั้งกระบวนการภายในเดือน พ.ย. 2561 นี้

 

โฆษกกรมสรรพากรให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ขณะนี้องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ต่างก็เร่งหาแนวทางในการเรียกเก็บภาษีกับทางบริษัทไอทีขนาดใหญ่เหล่านี้ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการทำธุรกิจและปกป้องผลประโยชน์ของแต่ละประเทศ อีกแนวทางที่น่าสนใจขณะนี้คือการเรียกเก็บภาษีดิจิทัลที่ทางสหภาพยุโรปหรือ EU กำลังเร่งผลักดัน หากเป็นรูปเป็นร่างแล้วและมีประโยชน์ต่อการดำเนินการ กรมสรรพากรก็จะนำมาปรับใช้ด้วย

 

เรื่องการเรียกเก็บภาษีจากยักษ์ใหญ่โลกดิจิทัลนั้น เป็นหนึ่งในประเด็นที่กรมสรรพากรและรัฐบาลไทยรวมถึงรัฐบาลทั่วโลกถูกวิจารณ์มาโดยตลอด ตัวบทกฎหมายเป็นสิ่งที่สะท้อนความจริงจังในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัตินั้นอาจจะไม่ง่ายนัก เนื่องจากบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ก็ทำตามกรอบที่กฎหมายปัจจุบันบังคับใช้อยู่ แต่ใช้ความได้เปรียบด้านการปรับตัวและความรวดเร็วในการตัดสินใจทางธุรกิจเพื่อประโยชน์สูงสุดขององค์กร ขณะที่หน่วยงานรัฐนั้นเคลื่อนที่ช้ากว่ามากด้วยข้อจำกัดเชิงโครงสร้างและปัจจัยอีกมากมาย นี่จึงเป็นอีกความพยายามหนึ่งของภาครัฐที่จะวิ่งตามโลกธุรกิจให้เท่าทัน

 

ขาสั้นกว่า ก็ต้องซอยเท้าช่วย

วิ่งช้ากว่า ก็ต้องพึ่งเครื่องมือดีๆ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising