×

ผลสำรวจล่าสุดชี้ การคลอดในวัยรุ่น-การใช้ความรุนแรงต่อเด็กลดลง ขณะที่พัฒนาการและการศึกษายังน่าเป็นห่วง

โดย THE STANDARD TEAM
11.07.2023
  • LOADING...
UNICEF

ผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยล่าสุด ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับองค์การยูนิเซฟ (UNICEF) แสดงให้เห็นความก้าวหน้าของเด็กและสตรีหลายด้าน เช่น อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่เพิ่มขึ้น อัตราการคลอดในวัยรุ่น และการลงโทษเด็กด้วยวิธีรุนแรงที่บ้านลดลง ฯลฯ แต่ในขณะเดียวกันก็ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มที่น่ากังวลด้านพัฒนาการของเด็กปฐมวัย การศึกษา ภาวะโภชนาการของเด็ก และการแต่งงานก่อนวัยอันควร

 

การสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย หรือ MICS (Multiple Indicators Cluster Survey) ถือเป็นการสำรวจระดับประเทศที่ครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างประชากรเด็กและสตรีที่ใหญ่ที่สุด โดยจัดทำขึ้นทุก 3 ปี และมีการเก็บข้อมูลที่เกี่ยวกับเด็กและสตรีในด้านต่างๆ กว่า 130 ตัวชี้วัด เช่น สุขภาพ พัฒนาการ การศึกษา และการคุ้มครองเด็ก การสำรวจ MICS ครั้งล่าสุดนี้เก็บข้อมูลจาก 34,000 ครัวเรือนทั่วประเทศระหว่างเดือนมิถุนายน-ตุลาคม 2565 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยเริ่มผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

 

ดร.ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า “การสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2565 นับเป็นการจัดทำครั้งที่ 5 ของประเทศไทย ผลสำรวจสะท้อนให้เห็นความเป็นอยู่ของเด็กและสตรีในมิติต่างๆ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้กำหนดนโยบายและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ในการออกแบบนโยบายหรือมาตรการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและสตรีในประเทศไทย 

 

“นอกจากนี้การสำรวจนี้นับเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญอีกแหล่งที่ช่วยในการติดตามความก้าวหน้าของการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)”

 

ผลสำรวจพบว่า อัตราการคลอดในวัยรุ่นของประเทศไทยลดลงจาก 23 คน ต่อ 1,000 คนในปี 2562 เหลือ 18 คน ต่อ 1,000 คนในปี 2565 ขณะที่อัตราของเด็กอายุ 1-14 ปีที่เคยถูกลงโทษด้วยวิธีรุนแรงที่บ้านก็ลดลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 75 ในปี 2558 เหลือร้อยละ 58 และร้อยละ 54 ในปี 2562 และ 2565 ตามลำดับ นอกจากนี้ผลสำรวจในปี 2565 ยังพบว่า ผู้ชายและผู้หญิงจำนวนมากขึ้นมีทัศนคติไม่ยอมรับความรุนแรงในครอบครัว

 

ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศไทย โดยในปี 2565 มีทารกอายุไม่เกิน 6 เดือน ร้อยละ 29 ที่ได้กินนมแม่ล้วนในช่วง 6 เดือนแรก เมื่อเทียบกับเพียงร้อยละ 14 ในปี 2562 นอกจากนี้ยังพบว่า มีแม่จำนวนมากขึ้นที่ให้นมลูกอย่างต่อเนื่องจนถึง 1 ปี และ 2 ปี

 

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจครั้งนี้ก็สะท้อนแนวโน้มที่น่ากังวลด้านการศึกษาและพัฒนาการของเด็กเมื่อเทียบกับผลสำรวจครั้งก่อน ซึ่งจัดทำก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยพบว่า อัตราการเข้าเรียนหลักสูตรปฐมวัยของเด็กอายุ 3-4 ปีลดลงจากร้อยละ 86 ในปี 2562 เหลือเพียงร้อยละ 75 ในปี 2565 นอกจากนี้อัตราการเข้าเรียนสุทธิของเด็กอายุ 5 ปี (เมื่อเริ่มปีการศึกษา) ลดลงจากร้อยละ 99 เหลือเพียงร้อยละ 88 และอัตราของเด็กปฐมวัยที่มีความพร้อมในการเข้าโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย สมอง สังคม อารมณ์ และภาษา ก็ลดลงจากร้อยละ 99 เหลือเพียงร้อยละ 94 เช่นกัน

 

ผลสำรวจครั้งนี้ยังชี้ให้เห็นว่า อัตราของเด็กวัยประถมศึกษาที่ไม่ได้เข้าเรียนเพิ่มขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1 ในปี 2562 เป็นร้อยละ 4 ในปี 2565 นอกจากนี้อัตราการไม่ได้เข้าเรียนในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเพิ่มจากร้อยละ 3 ในปี 2562 เป็นร้อยละ 5 ในปี 2565 ในขณะที่อัตราการไม่ได้เข้าเรียนยังคงสูงสุดในกลุ่มเด็กวัยชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 15 ในปี 2565

 

นอกจากนี้ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นแนวโน้มที่น่ากังวลด้านการใช้เวลาของเด็กในการเล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเพิ่มขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และอาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการของเด็ก ผลสำรวจในปี 2565 พบว่า ร้อยละ 62 ของเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีเล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ในจำนวนนี้เด็กร้อยละ 13 ใช้เวลาเล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เฉลี่ย 3 ชั่วโมงต่อวันหรือนานกว่านั้นเมื่อเทียบกับร้อยละ 8 ในปี 2562

 

ในขณะที่การเข้าถึงและการใช้เวลาเล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของเด็กเพิ่มขึ้น ผลสำรวจกลับชี้ว่า มีเด็กจำนวนน้อยลงที่ใช้เวลาอ่านหนังสือที่บ้าน และมีเด็กถึง 6 ใน 10 คนที่มีหนังสือสำหรับเด็กอยู่ที่บ้านไม่ถึง 3 เล่ม

 

ในขณะเดียวกันก็พบว่า มีพ่อ-แม่และผู้ปกครองจำนวนน้อยลงที่ทำกิจกรรมเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็ก โดยในปี 2565 มีพ่อเพียงร้อยละ 31 เท่านั้นที่ทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้กับลูกที่บ้านเมื่อเทียบกับร้อยละ 34 ในปี 2562

 

ผลสำรวจครั้งนี้ยังชี้ให้เห็นว่า ทักษะพื้นฐานด้านการอ่านและการคิดเลขของเด็กๆ ก็มีแนวโน้มแย่ลงในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยในปี 2565 มีเด็กในวัยเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 และ 3 น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 47) ที่มีทักษะด้านการอ่านขั้นพื้นฐาน ซึ่งลดลงจากร้อยละ 52 ในปี 2562 และมีเพียงร้อยละ 40 เท่านั้นที่มีทักษะพื้นฐานด้านการคำนวณเมื่อเทียบกับร้อยละ 47 ในปี 2562

 

คิมคยองซอน ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “แม้ว่าช่วงวิกฤตที่สุดของโควิด-19 ได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่การแพร่ระบาดยังคงส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และพัฒนาการของเด็กๆ ข้อมูลจากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย ปี 2565 ยืนยันถึงผลกระทบที่รุนแรงและต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการศึกษา วิกฤตดังกล่าวได้ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กและทำให้เด็กจำนวนมากต้องเลิกเรียนกลางคัน ดังนั้นประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลงทุนกับการศึกษา ระบบสาธารณสุข และระบบคุ้มครองทางสังคมที่มีประสิทธิภาพ เพื่อปิดช่องว่างและทำให้มั่นใจได้ว่า เด็กทุกคนจะใช้ชีวิตได้อย่างเต็มศักยภาพและช่วยประเทศให้บรรลุเป้าหมายที่รุ่งเรืองและยั่งยืนสำหรับทุกคน”

 

ผลสำรวจด้านอื่นๆ ที่สำคัญในปี 2565 ได้แก่

 

ภาวะโภชนาการของเด็กแสดงถึงแนวโน้มน่าเป็นห่วง โดยภาวะทุพโภชนาการจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านสมอง สุขภาพ และความเป็นอยู่ของเด็กในระยะยาว ผลสำรวจพบว่า อัตราของเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีที่มีภาวะอ้วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 9 ในปี 2562 เป็นร้อยละ 11 ในปี 2565 นอกจากนี้ยังพบว่า ในปี 2565 อัตราเด็กที่มีภาวะเตี้ยแคระแกร็น, มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ และมีภาวะผอมแห้งยังคงอยู่ในระดับเดียวกับปี 2562 คืออยู่ที่ร้อยละ 13 ร้อยละ 7 และร้อยละ 7 ตามลำดับ

 

การสมรสก่อนวัยอันควรยังเป็นประเด็นที่น่ากังวลของประเทศไทย โดยในปี 2565 ผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 20-24 ปีจำนวน 1 ใน 6 คน (ร้อยละ 17) สมรสก่อนอายุ 18 ปี และเกือบร้อยละ 6 สมรสก่อนอายุ 15 ปี (ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3 ในปี 2562)

 

เด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อ-แม่ เด็กนับล้านคนในประเทศไทยเติบโตขึ้นโดยไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อ-แม่ เนื่องจากพ่อ-แม่มักย้ายถิ่นเพื่อหางานทำ ผลสำรวจพบว่า เด็กอายุไม่เกิน 17 ปี ร้อยละ 25 หรือประมาณ 3 ล้านคนไม่ได้อยู่กับพ่อและแม่ โดยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 71) อาศัยอยู่กับปู่ ย่า ตา ยาย

 

ความเหลื่อมล้ำยังคงเป็นปัญหาสำคัญ โดยผลสำรวจปี 2565 แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่น่ากังวลในเด็กแต่ละกลุ่มขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่เด็กอาศัยอยู่ ฐานะทางเศรษฐกิจของครัวเรือน ระดับการศึกษาของแม่ และชาติพันธุ์ นอกจากนี้ผลสำรวจ MICS ครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นถึงข้อมูลด้านต่างๆ อีกด้วย เช่น สุขภาพของเด็ก การได้รับภูมิคุ้มกัน การอบรมเลี้ยงดูเด็ก และการเข้าถึงสวัสดิการทางสังคม เป็นต้น

 

ดาวน์โหลดรายงานผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย 2565 ฉบับสมบูรณ์และฉบับสรุป ได้ที่: bit.ly/3JzBHW9

 

ภาพ: องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย

อ้างอิง: องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising