×

5 เทรนด์การทำงาน ยุคปริญญาไร้ความหมาย

โดย THE STANDARD TEAM
12.03.2024
  • LOADING...
เทรนด์การทำงาน

คนทำงานจำนวนมาก…ไม่อยากกลับเข้าออฟฟิศเต็มเวลา

คนทำงานไม่น้อย…กำลังคิดถึงการเบรกจากการทำงาน

คนทำงานส่วนใหญ่…ไม่อยากเป็นหัวหน้าเพราะทั้งเหนื่อยทั้งเครียด 

 

Harvard Business Review สรุปโลกการทำงานในปี 2024 ไว้ว่าเป็นยุคสมัยที่ กำแพงแห่งวุฒิการศึกษากำลังถูกทำลาย ปริญญามีความหมายน้อยกว่าทักษะความสามารถ อะไรบ้างที่คนทำงานและองค์กรต้องเตรียมพร้อมเพื่อที่จะปรับตัวให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง The Secret Sauce สรุป 5 เทรนด์ที่คุณต้องรู้มาฝาก 

 


 

5 เทรนด์การทำงาน ยุคปริญญาไร้ความหมาย 

 

🟡สวัสดิการต้องออกแบบใหม่ เน้นแก้ไข Pain Point อย่างแท้จริง 

 

พนักงานจำนวนมากเคยได้สัมผัสกับประสบการณ์การทำงานแบบไฮบริดหรือ Work from Home แต่เมื่อถึงเวลาที่ออฟฟิศเรียกพวกเขากลับมา กว่า 67% รู้สึกว่าการเดินทางไปออฟฟิศต้องใช้ความพยายามมากกว่าช่วงก่อนเกิดโรคระบาด ทั้งจากปัญหารถติดและฝุ่นควันพิษ 

 

องค์กรที่ต้องการจะดึงดูดหรือรักษาพนักงานที่มีพรสวรรค์ จึงต้องพยายามดีไซน์แนวทางการทำงานแบบไฮบริดที่เหมาะสม และยังต้องมองถึงแนวทางในการช่วยพนักงานแก้ปัญหาหรือแบ่งเบาเรื่องค่าใช้จ่ายในการทำงาน  

 

ตัวอย่างของสวัสดิการที่เกิดขึ้นแล้วในองค์กรระดับโลก  

 

  • องค์กรที่ต้องการให้พนักงานเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศ ออกนโยบายเพื่อช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายหรือช่วยจัดหาที่อยู่อาศัยใกล้ออฟฟิศ 

 

  • ชาวอเมริกันกว่า 43 ล้านคนกำลังแบกภาระหนี้สินกู้ยืมทางการศึกษา ส่งผลให้ในปี 2020 Google ประกาศนโยบายสนับสนุนหนี้สินกู้ยืมเพื่อการศึกษาให้กับพนักงานประจำ สูงสุด 2,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี 

 

🟡 ทักษะในการจัดการความขัดแย้ง คืออาวุธที่ทุกองค์กรต้องมี

 

สถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ การประท้วงของแรงงาน รวมถึงวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้กระทบด้านเศรษฐกิจในภาพใหญ่เท่านั้น แต่ยังส่งผลให้ความขัดแย้งระหว่างพนักงานทวีความรุนแรงมากขึ้นด้วย 

 

พนักงานในตำแหน่งผู้จัดการถึง 57% รู้สึกว่าหน้าที่สำคัญของพวกเขาคือการรับผิดชอบในการจัดการปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในทีม ทักษะในการจัดการกับความขัดแย้ง (Conflict Management) จึงกลายเป็นทักษะสำคัญอย่างยิ่งในตอนนี้

 

องค์กรที่ยังเลือกหันหลังให้กับประเด็นที่ละเอียดอ่อนในที่ทำงาน อาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงของการเริ่มต้นพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ช้ากว่าคู่แข่ง ซึ่งสร้างความเสียเปรียบในอนาคต 

 

🟡 Gen AI กำลังตกอยู่ในช่วงเวลาของความคาดหวังที่เกินจริง 

 

และกำลังจะเข้าใกล้ ‘หุบเหวแห่งความผิดหวัง’ มากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทคโนโลยีไม่อาจตอบสนองได้เพียงพอต่อความคาดหวังที่มากเกินไป 

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า Gen AI ไร้ประโยชน์ สิ่งสำคัญคือองค์กรจำเป็นต้องปรับความคาดหวังและบริหารความเสี่ยงในการลงทุนด้านเทคโนโลยีอย่างจริงจัง 

 

SCBX หนึ่งในองค์กรไทยที่ประกาศเป้าหมายสู่การเป็น AI-First Organization กล่าวไว้ว่า ‘AI-First is People First’ สิ่งที่เหนือกว่าเทคโนโลยีคือคน ถึงแม้ว่า AI จะเข้ามาแย่งงานมนุษย์ แต่ AI จะสร้างสรรค์งานใหม่ให้โลกนี้ด้วย 

 

การนำ AI มาใช้ในองค์กรที่จะไม่เป็น ‘การลงทุนที่สูญเปล่า’ ต้องตั้งต้นจากโจทย์ทางธุรกิจและตอบให้ได้ว่าเราทำไปเพื่ออะไร 

 

🟡 กำแพงแห่งวุฒิการศึกษากำลังถูกทำลาย ปริญญากำลังใกล้หมดความหมาย 

 

วุฒิการศึกษาเคยเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ของการสมัครงาน แต่ในปัจจุบันหลายองค์กรเริ่มมองข้ามกระดาษใบนี้ แล้วหันมามองที่ ‘ทักษะการทำงาน’ มากกว่า 

 

ส่งผลให้โอกาสทางวิชาชีพเปิดกว้างขึ้น โดยเฉพาะกับผู้ที่มีความสามารถแต่ไม่มีวุฒิปริญญา อีกทั้งยังช่วยให้บริษัทสามารถมองหาพนักงานจากกลุ่มที่กว้างขึ้น โดยเฉพาะคนที่มีทักษะความสามารถแต่ไร้วุฒิปริญญา อย่างเช่นทหารผ่านศึก หรือคนกลุ่มน้อย

 

ยุคที่ทักษะสำคัญกว่าปริญญา ยังทำให้หลายๆ องค์กรริเริ่มพัฒนาบุคลากรในรูปแบบใหม่ๆ อย่างเช่น การทำ In-House University หรือเปิด Business School เป็นของตัวเอง รวมถึงการขยายโครงการฝึกหัดงานเพื่อเป็นช่องทางพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะเฉพาะตรงตามความต้องการ 

 

🟡 ค่านิยมที่ว่า ‘ชีวิตคือการไต่เต้าขึ้นสู่จุดสูงสุดแล้วเกษียณอายุ’ กำลังเลือนหาย 

 

  • 19% ของพนักงานชาวอเมริกันอายุ 65 ปีขึ้นไป ยังคงทำงานแทนที่จะเกษียณ 
  • 35% ของพนักงานประจำกำลังวางแผนเพื่อพักเบรกจากการทำงาน 

 

FlexJobs เว็บไซต์หางานออนไลน์ ยังสำรวจพบว่า 45% ของผู้ตอบแบบสอบถามเลือกที่จะรับค่าตอบแทนน้อยลงเพื่อสมดุลชีวิตที่มากขึ้น 

 

เมื่อค่านิยมในการทำงานเปลี่ยนไป องค์กรจึงต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารคนให้ตอบรับกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเกิดขึ้นแล้วผ่านวิธีการต่างๆ เช่น 

 

  • การชวนพนักงานเกษียณให้กลับมาทำงานแบบเต็มชั่วโมงหรือเป็นที่ปรึกษา
  • การเปิดโอกาสให้พนักงานที่มีความสามารถหรือทักษะตอบโจทย์ต่อการเติบโตขององค์กรสามารถขึ้นแท่น CEO ได้ตั้งแต่วัย 20s 
  • การออกแบบงานให้เอื้อต่อการโยกย้ายตำแหน่ง หรือยกเลิกข้อจำกัดเรื่องอายุในการฝึกงานเพื่อให้ทุกคนสามารถเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ได้ 

 

สิ่งเหล่านี้คือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้ว เทรนด์เหล่านี้คือสิ่งที่จะกำหนดการทำงานต่อไปในอนาคต คำถามสำคัญที่องค์กรของเราต้องถามก่อนจะเริ่มปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ ตลอดจนแนวทางการบริหารให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้คือ 

 

  1. เทรนด์การทำงานไหนที่จะส่งผลกระทบต่อองค์กรของเรามากที่สุด? 
  2. เทรนด์การทำงานไหนที่จะทำให้เราเสียเปรียบถ้าไม่เริ่มลงมือทำ?
  3. กิจกรรมหรือแนวปฏิบัติไหนที่องค์กรของเราต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้?
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X