×

Real Yield ปัจจัยในการประเมินมูลค่าของแพลตฟอร์ม DeFi ที่จะเปลี่ยนระบบการเงินบนโลกบล็อกเชนให้มีความยั่งยืน

28.11.2022
  • LOADING...

การลงทุนในโลกอุตสาหกรรมการเงินอย่าง DeFi ยังเป็นเรื่องที่ใหม่ และยังจะฝ่าฟันอุปสรรคอีกหลายขั้นตอนกว่าจะกลายเป็นกระแสหลักของการลงทุนอย่างตลาดหุ้น หรือ Forex แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า DeFi อาจจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญให้ทั่วโลกสามารถเข้าถึงระบบการเงินได้ง่ายขึ้นโดยไม่จำกัดปัจจัยด้านเชื้อชาติและที่อยู่ ขอแค่มีอินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟน ก็สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้ทุกที่บนโลก (ถ้านอกโลกมีอินเทอร์เน็ตก็ใช้บริการได้เช่นกัน) แต่ด้วยความที่เป็นเรื่องใหม่ ทำให้มีทั้งฝั่งคนที่ตั้งใจพยายามสร้างผลิตภัณฑ์อย่างจริงจังเพื่อหวังเปลี่ยนโลก และฝั่งที่ยอมเป็นตัวร้าย ทำผลิตภัณฑ์จากการโฆษณาชวนเชื่อและเชิดเงินหนี

 

ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ในโลกจริงเราก็พบเจอได้อยู่จนถึงทุกวันนี้ โดยพฤติกรรมเชิดเงินเหล่านี้ก็สร้างความเสียหายตั้งแต่ระดับเล็กจิ๋ว ไปจนถึงส่งผลกระทบเป็นวงกว้างอย่างเหตุการณ์วิกฤตที่เพิ่งจะเกิดขึ้นกับ FTX ทำให้นักลงทุนมากมายต่างเริ่มลดการพึ่งพาตัวกลางน้อยลง และเริ่มหันไปสนใจ DeFi กันเพิ่มมากขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่า DeFi เจ้าไหนไว้ใจได้ และผลตอบแทนที่เอามาจ่ายไม่ได้เกิดจากการต่อเงินเป็นระบบ Ponzi Scheme แบบที่เกิดกับ GameFi ซึ่งความน่าสนใจของการลงทุนบนโลก DeFi ก็คือข้อมูลหลายอย่างเป็น Public Data มันทำให้เราสามารถประเมินความเสี่ยงและวางแผนการเงินได้หลากหลายมากกว่าโลกของ Traditional อีกทั้งยังทำให้นักลงทุนรายเล็กและรายใหญ่มีข้อมูลที่ใกล้เคียงกัน สามารถเข้าถึงได้อย่างไม่ถูกปิดกั้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ทำให้นักลงทุนและนักวิเคราะห์หลายคนเริ่มสนใจแนวคิดความยั่งยืนบนโลก DeFi เพิ่มมากขึ้น

 

หนึ่งในปัจจัยที่ใช้ดูว่า DeFi แพลตฟอร์มนั้นมีแนวโน้มที่ดีพอจะสร้างความยั่งยืนในอนาคตได้หรือไม่ จะดูจากปัจจัยที่เรียกว่า ‘Real Yield’

 

Real Yield คืออะไร สำคัญอย่างไร?

 

Real Yield หรืออัตราผลตอบแทนที่แท้จริง ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นมาบนโลกของบล็อกเชน แต่เป็นหนึ่งในคำที่อยู่บนโลกการเงินเดิมอยู่แล้วและนำมาประยุกต์เพื่อใช้ในการประเมินมูลค่า เพียงแต่มีนิยามที่ต่างออกไปเล็กน้อย โดย Real Yield บนโลก DeFi จะหมายถึงผลตอบแทนที่เกิดจากการแบ่งจ่ายรายได้ที่เกิดขึ้นจริงจากที่แพลตฟอร์มหรือโปรโตคอลทำได้ โดยไม่นับรวมจากการปล่อยโทเคนให้คนซื้อขายในตลาดเพิ่มตามอัตราการเฟ้อของเหรียญ แต่เกิดจากการออกแบบระบบหารายได้มาอย่างชัดเจนตั้งแต่แรกเหมือนธุรกิจทั่วไป ไม่ว่ารายได้นั้นจะมาจากการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้บริการแพลตฟอร์ม (Fees), ค่านายหน้าจากการซื้อขาย (Commission) เป็นต้น ซึ่งอาจจะมองว่าคล้ายกับการปันผลที่ได้จากการถือหุ้นก็ไม่ผิดนัก

 

เหตุผลที่ Real Yield กลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการลงทุนของโลก DeFi สาเหตุหลักมาจากการล่มสลายของโปรเจกต์ที่ดูดีมีอนาคตหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น Terra หรือเทรนด์อย่าง DeFi 2.0 เองก็ตาม ซึ่งก็มาจากเหตุผลด้านการลงทุนในช่วงแรกที่เราต่างอยากได้ผลตอบแทนที่โอ่อ่าและอลังการ ไม่ว่าจะเป็น 100% หรือแม้แต่ 10,000% ก็ยังมีให้เห็นในช่วงนั้น และด้วยผลตอบแทนที่ล่อตา ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ได้คิดต่อว่าแท้จริงแล้วผลตอบแทนที่สูงแบบนี้ แพลตฟอร์มจะเอาอะไรมาจ่ายเรากันแน่ ซึ่งมันชัดเจนมากว่าเป็นการเอาเงินคนใหม่จ่ายให้คนเก่าและวนลูปไม่รู้จบ ปัญหาการวนลูปนี้จะอยู่นานขึ้นถ้าอรรถประโยชน์หรือการใช้งานในแพลตฟอร์มสามารถโตตามผลตอบแทนนั้นได้ทัน

 

แต่แน่นอนว่าหลายที่ไม่สามารถทำได้และล้มหายตายจาก ทั้งล้มเพราะโปรโตคอลไปไม่รอดจริงๆ และล้มเพราะกะจะ Rug ตั้งแต่แรก ก็มีอยู่ให้เห็นเรื่อยๆ แต่ในเฟสถัดไป ผู้ใช้จะเริ่มฉลาดขึ้น หลงกลอุบายกับแพลตฟอร์มเหล่านี้น้อยลงเรื่อยๆ และจะแสวงหาความยั่งยืนในที่สุด ซึ่งหนึ่งในความยั่งยืนที่ว่าก็คือแพลตฟอร์มต้องมีรายได้จากโมเดลที่โปรโตคอลออกแบบได้อย่างสม่ำเสมอ และหล่อเลี้ยงแพลตฟอร์มนั้นให้อยู่รอดได้ในทุกสภาพกาล รวมถึงผลตอบแทนที่จ่ายให้กับผู้ใช้ต้องไม่ใช่การเบิร์นเงินลงทุนของทีมพัฒนาเอง แต่จ่ายให้ผู้ใช้ตามรายได้ที่เกิดขึ้นจากแพลตฟอร์มจริงตามข้อมูล On-Chain

 

แม้ Real Yield จะกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่คนเริ่มนิยม และใช้ในการประเมินมูลค่าแพลตฟอร์มแพร่หลายขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะสามารถใช้ปัจจัยเดียวกันนี้ประเมินและตีความคุณภาพของแพลตฟอร์มได้เลย ต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆ อีกหลายมิติประกอบกัน จึงจะสามารถพิจารณาได้อย่างรัดกุม ตัวผู้เขียนเองก็ได้แต่หวังว่าในอนาคต อุตสาหกรรม DeFi จะสามารถเติบโตจนเป็นอีกหนึ่ง Asset Class ได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่เพียงสร้างและรอ Rug เราอย่างเดียวเหมือนทุกวันนี้ แต่การลงทุนบนโลก DeFi ยังคงมีความเสี่ยงที่สูงมากถ้าเทียบกับการลงทุนในที่อื่นๆ เพราะฉะนั้นอย่าลืมประเมินและจำกัดความเสี่ยงให้อยู่ในจุดที่เราสามารถควบคุมได้อยู่เสมอ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising