×

เร่งผลักดัน ‘อีอีซี’ ดึงดูดนักลงทุน แต่ข้ามหัวประชาชน เพิ่มความเหลื่อมล้ำ?

22.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • อีอีซี เป็นโครงการต่อยอดจากอีสเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งเต็มไปด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อม
  • ภาคประชาชนและนักวิชาการเห็นว่าการทำโครงการขนาดใหญ่ควรดึงประชาชนไปมีส่วนร่วม ขณะที่คณะกรรมการอีอีซีไม่มีตัวแทนภาคประชาชนเลย
  • รัฐบาลใช้ ม.44 เร่งรัดให้ศึกษา EIA ในโครงการอีอีซีให้เสร็จภายใน 1 ปีท่ามกลางความวิตกว่าจะซ้ำรอยเดิม

     ‘โชติช่วงชัชวาล’ เป็นคำที่ใช้อธิบายความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจอันเป็นผลจากการพัฒนา ‘อีสเทิร์นซีบอร์ด’ หรือโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกในยุครัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เมื่อปี 2525 เพิ่มเสน่ห์ดึงดูดนักลงทุนจนเปลี่ยนประเทศไทยให้เติบโตบนพื้นฐานอุตสาหกรรมหนัก เปลี่ยนพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา จากพื้นที่เกษตรกรรมและประมงสู่พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบ แต่ภายใต้ความโชติช่วงของนักลงทุนได้ซ่อนปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนในพื้นที่ ผ่านมามากกว่า 30 ปี ปัญหานี้ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

 

 

     ข้อมูลจากเอกสารผลดี-ผลเสียของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด กรมควบคุมมลพิษ ระบุว่าช่วงตั้งนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด 5 ปีแรก ชาวระยองเป็นโรคภาวะแทรกซ้อนในการตั้งครรภ์  120 ราย และอีก 10 ปีต่อมา ชาวระยองป่วยเพิ่มเป็น 231 ราย

     ข้อมูลระบุอีกว่า ช่วง 5 ปีแรกของการตั้งนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด มีชาวระยองป่วยเป็นโรคมะเร็ง 218 ราย และอีก 10 ปีต่อมา ชาวระยองป่วยเพิ่มขึ้น 275 ราย

     นอกจากนี้ในพื้นที่ระยองยังเกิดปัญหาฝนกรด คือการที่น้ำฝนเป็นพิษ ไม่สามารถใช้ดื่มกินได้

     ขณะที่ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2560 ของเครือข่ายระหว่างประเทศเพื่อกำจัดสารพิษตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม หรือไอเพน (International POPs Elimination Network: IPEN) ระบุว่า ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ในพื้นที่มาบตาพุดเกือบทุกคน หรือกว่า 97% มีสารปรอทสูงเกิน 0.58 PPM ซึ่งสามารถทำให้ระบบประสาทของทารกในครรภ์เป็นอันตรายได้ และที่แย่ไปกว่านั้นคือผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ในพื้นที่มาบตาพุดกว่า 68% มีสารปรอทเกิน 1 PPM ซึ่งอาจทำลายสมอง ทำให้สติปัญญาต่ำลง และเป็นอันตรายต่อไตและหัวใจ

     ข้อมูลเหล่านี้เป็นประจักษ์พยานชัดเจนถึงความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ดตลอด 35 ปีที่ผ่านมา และเมื่อรัฐบาล คสช. พยายามสานต่อโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ผุดโครงการอีอีซี หรือโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หวังเพิ่มเสน่ห์ดึงดูดการลงทุนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป คนในพื้นที่ ภาคประชาชน และคนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมจึงจ้องมองและพยายามส่งเสียงถามด้วยความวิตกอย่างยิ่ง

 

คนท้องที่ต้องการทางเลือกที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่อุตสาหกรรม

     กัญจน์ ทัตติยกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายลุ่มแม่น้ำบางปะกง กล่าวในวงเสวนา ‘เศรษฐกิจ 4.0 กินได้หรือแค่นโยบายปากเปล่า’ พูดถึงความวิตกกังวลต่อโครงการอีอีซีด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมว่า อาจต้องย้อนไปดูผลกระทบของ โครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ความเหลื่อมล้ำก็มากที่สุดเช่นกัน

     นอกจากนี้อีสเทิร์นซีบอร์ดยังเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของพื้นที่ จากเดิมที่ภาคตะวันออกมีทั้งภาคบริการ ภาคเกษตร และอุตสาหกรรม แต่ภายหลังเปลี่ยนเป็นอุตสาหกรรม 80% ซึ่งตัวแทนภาคประชาชนมองว่ามันไม่ส่งผลดีต่อชุมชน

     เมื่อทรัพยากรในพื้นที่ถูกแบ่งไปใช้ในอุตสาหกรรมมาก จึงเกิดปัญหาเรื่องแย่งชิงทรัพยากร โดยเฉพาะน้ำ ซึ่งภาคอุตสาหกรรมไม่เคยขาด แต่ชาวบ้านต้องแย่งชิงกัน ส่วนสุขภาพของคนมาบตาพุดและจังหวัดปราจีนบุรี คนในพื้นที่มีค่าความปนเปื้อนสารเคมีสูงมาก

     กัญจน์กล่าวต่อว่า ฐานที่มั่นของคนภาคตะวันออกคือเรื่องอาหารการกิน คนภาคตะวันออกยังมีทางเลือกอย่างอื่นให้ทำ ไม่ใช่แค่อุตสาหกรรม ขณะที่ 10 เป้าหมายอุตสาหกรรมไม่ใช่จุดแข็งของคนภาคตะวันออกเลย

     ส่วนข้อมูลที่ว่าเมื่อมีโรงงานใหญ่ๆ มาตั้งในพื้นที่ก็จะเกิดการจ้างงานมากขึ้น แต่ในภาพความเป็นจริง อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงมักไม่ค่อยสร้างงาน หรือสร้างงานก็ไม่เท่าภาคเกษตรและภาคบริการ ซึ่งในสายตาภาคชุมชนมองว่า เศรษฐกิจในอนาคตของพวกเขาไม่ใช่การใช้หุ่นยนต์หรืออะไร แต่คือการสร้างอาชีพให้คนท้องถิ่น ให้คนตะวันออกเก่งเพาะปลูก เก่งแปรรูป เก่งประมง มีกลุ่มชุมชนทำไม้ประดับส่งออก

 

 

ถอดบทเรียนความล้มเหลวเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน

     ดร. เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ถอดบทเรียนความล้มเหลวนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาล คสช. ว่า ปี 2557 ช่วงแรกที่รัฐบาล คสช. ประกาศนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ชูเป็นหัวใจหลักนำเศรษฐกิจ แต่ผลคือไม่สำเร็จ เพราะรัฐไม่ฟังเสียงชาวบ้านว่าคนท้องถิ่นต้องการอะไร แต่ใช้วิธีกำหนดนโยบายจากส่วนกลาง สุดท้ายเกิดการประท้วงจากชุมชน และนักลงทุนไม่สนใจ

     ปีต่อมา 2558 ชูนโยบายสนับสนุนคลัสเตอร์ หรือกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งช่วงหลังก็เงียบๆ ไป

    แต่โครงการอีอีซีมีสัญญาณเริ่มจุดติดขึ้นมา และรัฐบาลจะใช้อีอีซีเป็นเครื่องมือหลักในการผลักดันนโยบายไทยแลนด์ 4.0

    ดร. เสาวรัจมองว่า หากมองในภาพรวม อีอีซี เป็นโครงการที่ดี เพราะไทยไม่ดึงดูดการลงทุนมานานแล้ว

    แต่คำถามคือเราเรียนรู้อะไรจากโครงการอีเทิร์นซีบอร์ดบ้าง ซึ่งที่ผ่านมารัฐไม่เคยจริงจังกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ขณะที่หัวใจสำคัญของโครงการขนาดใหญ่คือการดึงประชาชนเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องและทำให้เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจท้องถิ่น หรือตั้งกองทุนมาพัฒนาเยียวยาคนในท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบ

    ดร. เสาวรัจกล่าวด้วยว่า ตอนนี้ ‘อีอีซี’ อยู่ในช่วงมาร์เก็ตติ้ง ก็ต้องนำเสนอสิ่งดีๆ มาก่อน แต่ยังไม่ทราบข้อมูลที่แท้จริงว่าตกลงน้ำพอหรือไม่พอ

    ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลในการเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงที่ประชาชนควรจะรู้ ขณะที่ในภาคปฏิบัติ ข้อมูลเอกสารราชการมีตราประทับ ‘ลับ’ เยอะมาก ทั้งที่การเปิดเผยข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะกับการทำโครงการขนาดใหญ่

 

 

ม.44 ดัน ‘อีอีซี’ ส่งเสริมนักลงทุน แต่ชาวบ้านต้องเสียสละ

    ข้อมูลจากหนังสือรวม 10 สถานการณ์สิ่งแวดล้อมในรอบปี 2560 ของชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม โดย ปรัชญ์ รุจิวนารมย์ ระบุว่า ชาวประมงอ่าวบางละมุงได้รับผลกระทบจากการสร้างท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังตั้งแต่ปี 2534 แต่ชาวประมงยังคงยืนหยัดรักษาวิถีชีวิตจนสามารถทำการประมงได้อย่างปกติสุข แต่แล้วเค้าลางของการพัฒนาที่ชาวประมงอ่าวแหลมฉบังจะต้องเสียสละกำลังขยับเข้ามาหาพวกเขาอีกครั้ง

    แผนการต่อขยายท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง ระยะ 3 เป็นโครงการพัฒนาเพื่อรองรับอีอีซี โดยการขยายท่าเรือดังกล่าว ภาครัฐได้เวนคืนที่ดินกว่า 6,000 ไร่ ซึ่งเดิมเคยเป็นชุมชนชาวประมง ถ้าบ้านไหนมีโฉนดก็สามารถเรียกเงินเวนคืนได้ แต่ชาวบ้านส่วนน้อยเท่านั้นที่จะมีโฉนด เพราะสมัยก่อนใช้ใบจองให้รู้ว่าใครเป็นเจ้าของพื้นที่เท่านั้น ปัจจุบันหลายครอบครัวยังไม่ได้รับเงินเวนคืนในราคาที่เป็นธรรม

    รังสรรค์ สมบูรณ์ ชาวประมงพื้นบ้านอ่าวบางละมุงสะท้อนว่า “กังวลกับการมาของอีอีซี เพราะในคณะกรรมการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจฯ ไม่มีพื้นที่ให้ภาคประชาชนเข้าร่วม แม้กระทั่งการพิจารณา EIA ก็ยังเร่งรัดเป็นพิเศษ ที่ดินตรงไหนเขาจะเอา เขาก็วงไปโดยไม่เห็นหัวชาวบ้าน เขาให้สิทธิ์คนต่างชาติจนไม่เห็นหัวคนไทย รัฐบาลไม่รู้หรือว่าคนไทยจะอดตายกันอยู่แล้ว”

    นอกจากชะตากรรมของชาวบ้านที่ต้องพลัดพรากจากถิ่นฐานแล้ว ชะตากรรมของท้องทะเลและสัตว์น้ำก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน เมื่อท่าเรือน้ำลึกได้สร้างล้ำลงไปในน่านน้ำ ซึ่งมันได้เปลี่ยนระบบนิเวศทั้งหมด ทำให้พื้นทรายที่สัตว์น้ำเคยอยู่กลายเป็นตะกอนตม หอยเสียบเปลือกบาง หอยกระโดด หอยกระปุก สัตว์น้ำพวกนี้หายไปจากอ่าวบางละมุงตลอดกาล

 

 

ดัน พ.ร.บ. อีอีซีเข้าสภาฯ ไร้ตัวแทนประชาชนร่วม

    อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า วันที่ 28 กันยายนนี้ รัฐบาลจะเสนอร่าง พ.ร.บ. เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หลังเพิ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีไปเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา หวังจะบังคับใช้ได้ช่วงปลายปีนี้เพื่อเสริมความเชื่อมั่นจากนักลงทุน ขณะที่โครงสร้างของคณะกรรมการอีอีซีมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ ตัวแทนธนาคาร และภาคอุตสาหกรรม ไม่มีที่ว่างให้ตัวแทนจากภาคประชาชนแม้แต่ที่เดียว

    อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่ไม่มีกฎหมายฉบับนี้ นายกรัฐมนตรีได้ใช้อำนาจมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปลดล็อกข้อติดขัดทางกฎหมาย และเร่งรัดโครงการให้เดินหน้าอย่างรวดเร็ว

    ในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม คสช. ได้ออกคำสั่งฉบับที่ 28/2560 โดยมีใจความสำคัญคือ ให้การพิจารณารายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการอีอีซีแล้วเสร็จภายใน 1 ปี

    การเร่งรัดเพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุนต่างชาติเป็นประเด็นที่ภาคประชาชนกังวลอย่างยิ่ง

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ในฐานะผู้ติดตามผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมในโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดเห็นว่า แม้รัฐบาลจะบอกว่าโครงการอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงในอีอีซีจะปลอดมลพิษ แต่ในทางปฏิบัติ ทุกอุตสาหกรรมมีมลพิษเกิดขึ้นไม่มากก็น้อยทั้งสิ้น

    เพ็ญโฉมเห็นว่า ก่อนรัฐจะริเริ่มโครงการขนาดใหญ่อย่างอีอีซี รัฐควรจัดให้มีการประเมินสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Enviroment Assessment: SEA) เพื่อพิจารณาทางเลือกในการพัฒนา โดยอ้างอิงฐานทรัพยากรและความต้องการของประชาชนในพื้นที่

    คงไม่มีใครปฏิเสธว่าอีอีซีจะช่วยเสริมเสน่ห์ให้ไทยน่าลงทุนมากขึ้น หลังหยุดนิ่งและหวังพึ่งแรงงานราคาถูกเป็นหลัก แต่การพัฒนาโดยไม่สนใจความเป็นไปของคนในพื้นที่ก็เท่ากับว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังจะเติบโตบนความทุกข์ยากของประชาชน ไม่ใช่เติบโตบนพื้นฐานของเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างเดียวแบบที่รัฐว่าไว้

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising