×

ถอดรหัสการต่อต้านด้วยการพ่นสีที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

11.08.2021
  • LOADING...
อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • สิ่งที่ควรเข้าใจและมองต่อความสกปรกเลอะเทอะของอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิที่เกิดจากการพ่นสีนี้คือความหมายและสารที่ต้องการสื่อออกมา และไม่ใช่ความหมายทางตรงตามตัวอักษร Fuxx หากเป็นความคิดและอุดมการณ์ของผู้ประท้วง ที่ไม่ใช่แค่เมื่อไม่กี่วันมาแล้วเท่านั้น แต่มันเกิดขึ้นมาร่วม 10 ปีมาแล้ว ก็คือการต่อสู้กับอำนาจของอำมาตย์หรือทหารที่ควบคุมประเทศนี้อยู่
  • อนุสาวรีย์ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเตือนให้คนรำลึกถึงเหตุการณ์หรือบุคคลสำคัญในอดีต ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนผ่านกระบวนการคัดเลือกโดยชนชั้นนำทางการเมือง ฉะนั้นอนุสาวรีย์จึงไม่ใช่แค่สิ่งที่รำลึกและเตือนความทรงจำเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวพันกับอำนาจทางการเมืองของชนชั้นนำที่สถาปนามันขึ้นมา และย่อมถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อความหมายทางการเมืองทั้งแบบเปิดเผยและแฝงนัย 
  • อนุสาวรีย์ในไทยมีข้อแตกต่างไปจากตะวันตกตามที่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ตั้งข้อสังเกตว่า อนุสาวรีย์บ้านเราผนวกความเชื่อและความเชื่อศักดิ์สิทธิ์เข้าไปด้วย พราะเรามีพื้นฐานเรื่องการนับถือรูปเคารพ ฉะนั้นเมื่อสร้างเป็นอนุสาวรีย์ก็ทำให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ไปด้วย พอใครไปทำอะไรกับอนุสาวรีย์ก็มักถูกต่อว่าว่าไปลบหลู่ (ภาษาของราชการคือ ไม่เคารพสถานที่หรือทำให้เสื่อมค่า เพื่อเอาผิดทางกฎหมาย)

มองกันได้หลายแบบ ในมุมของนักอนุรักษ์ก็คงไม่พอใจที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิถูกพ่นสี อ้างเรื่องการทำให้โบราณสถานเสื่อมค่า เลอะเทอะบ้าง ในสายตาของฝั่งตรงข้ามผู้ประท้วงก็ไม่ต้องพูดถึง ด่ากันไปเรียบร้อย แต่ในความคิดของผู้ประท้วงแล้ว การพ่นสีนี้ก็คือส่วนหนึ่งของกระบวนการประท้วงแน่นอน เพียงแต่เราจะอ่านมันออกมาอย่างไร และการพ่นสีนี้เป็นปรากฏการณ์ทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในไทยเท่านั้น 

 

 

เฟเดริโก เบลเลนตานี และ มาริโอ ปานิโก นักวิชาการด้านภูมิศาสตร์และผังเมือง อธิบายว่า อนุสาวรีย์ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเตือนให้คนรำลึกถึงเหตุการณ์หรือบุคคลสำคัญในอดีต แต่คำถามคือ ทั้งเหตุการณ์และบุคคลสำคัญที่ว่านั้นส่วนใหญ่ล้วนผ่านกระบวนการคัดเลือกโดยชนชั้นนำทางการเมือง (Political Elites) แทบทั้งสิ้น เมื่อเป็นเช่นนั้น อนุสาวรีย์จึงไม่ใช่แค่สิ่งที่รำลึกและเตือนความทรงจำเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวพันกับอำนาจทางการเมืองของชนชั้นนำที่สถาปนามันขึ้นมา และย่อมถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อความหมายทางการเมือง ทั้งแบบเปิดเผยและแฝงนัย (Bellentani and Panico 2016)

 

ดังนั้นอนุสาวรีย์ของไทยก็ไม่ต่างจากอีกหลายแห่งทั่วโลกคือ มันกำเนิดขึ้นมาด้วยการยึดโยงกับอำนาจของกลุ่มชนชั้นนำทางการเมือง เมื่อเป็นเช่นนั้นส่วนใหญ่อนุสาวรีย์ในไทยจึงเป็นรูปของกษัตริย์หรือเกี่ยวกับทหาร (สงคราม) เพราะทั้งสองอย่างนี้คืออำนาจที่ควบคุมประเทศนี้  

 

อย่างไรก็ดี เบลเลนตานีและปานิโกได้ให้ความเห็นด้วยว่า ไม่ว่าอนุสาวรีย์นั้นจะถูกสร้างโดยใคร เพื่อใคร หลังจากมันถูกสร้างขึ้นมาแล้วก็ได้กลายเป็นสมบัติสาธารณะของคนในสังคมโดยอัตโนมัติ เมื่อเป็นเช่นนั้นมันย่อมถูกตีความหมายใหม่ได้ในทิศทางอื่นโดยผู้ชม/ประชาชน โดยไม่จำเป็นต้องมีความหมายเดียวกันกับตอนที่ผู้ออกแบบและผู้มีอำนาจสั่งสร้างมันขึ้นมาในช่วงเวลานั้น ทั้งนี้ เพราะอนุสาวรีย์นั้นมีหน้าที่ต่อปัจจุบันและอนาคต ไม่ใช่เพื่ออดีตเท่านั้น (Bellentani and Panico 2016) 

 

ในที่นี้ขอเพิ่มเติมเกี่ยวกับอนุสาวรีย์ในไทยที่มีข้อแตกต่างไปจากตะวันตกอยู่เรื่องหนึ่งคือมันได้ผนวกเข้ากับความเชื่อท้องถิ่นด้วย นิธิ เอียวศรีวงศ์ ตั้งข้อสังเกตว่า อนุสาวรีย์บ้านเราผนวกความเชื่อและความเชื่อศักดิ์สิทธิ์เข้าไปด้วย เพราะเรามีพื้นฐานเรื่องการนับถือรูปเคารพ ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูป สถูปเจดีย์ หรือตุ๊กตาแทนผีบรรพบุรุษ ฉะนั้นเมื่อสร้างเป็นอนุสาวรีย์ก็ทำให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ไปด้วย ด้วยพื้นฐานความคิดแบบนี้ พอใครไปทำอะไรกับอนุสาวรีย์ก็มักถูกต่อว่าว่าไปลบหลู่ (ภาษาของราชการคือ ไม่เคารพสถานที่หรือทำให้เสื่อมค่า เพื่อเอาผิดทางกฎหมาย)  

 

เมื่อเรานำแนวคิดของเบลเลนตานีและปานิโกที่ตั้งอยู่บนแนวคิดสหสัมพันธ์ระหว่างอนุสาวรีย์-ผู้ประท้วง กับบริบท ณ ช่วงเวลานั้น มาวิเคราะห์แล้วจะเห็นได้ว่า อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไม่ได้มีความหมายตามที่ได้ถูกสร้างขึ้นมาอย่างน้อยตั้งแต่ พ.ศ. 2552 ที่กลุ่มคนเสื้อแดงที่ใช้พื้นที่แห่งนี้ประท้วงกลุ่มอำมาตย์ ซึ่งอ้างถึงกลุ่มทหารและชนชั้นนำ ซึ่งนี่คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ความหมายของอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเปลี่ยนแปลงไป ไม่ได้มีความหมายเหมือนตอนสร้างเมื่อ พ.ศ. 2484 อีกต่อไป  

 

ตามข้อมูลที่หลายคนทราบ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิถูกสร้างขึ้นเพื่อเทิดทูนวีรกรรมของทหารและตำรวจที่เสียชีวิตไปในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เมื่อเป็นเช่นนั้น อนุสาวรีย์แห่งนี้จึงเป็นตัวแทนของทหารหรืออำนาจรัฐที่ควบคุมรัฐอยู่นั่นเอง 

 

ในวันที่ผมเห็นคนที่ไปพ่นสีทำให้อนุสาวรีย์แห่งนี้เลอะ หรือใช้คำหยาบ Fuxx นั้น จึงไม่ค่อยแปลกใจเท่าไร เพราะการพ่นสีคือการต่อสู้กันในทางตรงที่ประชาชนที่ไม่มีอาวุธนั้นสามารถต่อสู้ได้ สีที่พ่นก็ไม่แตกต่างจากปากกาที่ต้องใช้เพื่อสื่อสารกับผู้มีอำนาจ และเป็นการประทับอำนาจของประชาชนเหนือทหารแบบหนึ่ง ซึ่งมันก็ได้ผลดีทีเดียวเห็นได้จากรีแอ็กชันของเพจทหารเพจหนึ่งที่ออกมาตอบโต้และประณามว่า การกระทำดังกล่าวว่าไม่สำนึกถึงบุญคุณของทหารและตำรวจที่ร่วมกันปกป้องผืนแผ่นดินไทย ถือเป็นการตอบโต้ที่ซื่อตรงมากทีเดียว เพราะอย่างที่กล่าวไป ความหมายของอนุสาวรีย์นี้ได้ถูกเปลี่ยนไปแล้วในมือของประชาชน และยังถูกใช้งานบ่อยมากกว่างานของกองทัพเสียอีก

 

ในโลกใบนี้ เวลากลุ่มผู้ประท้วงเขาประท้วงกัน แทบไม่มีใครที่ไปยืนนิ่งๆ ป่าวประกาศตะโกนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เพราะมันไม่ค่อยได้ผล ยิ่งถ้ารัฐบาลที่ไม่ให้ความสำคัญกับประชาชนมากพอแล้วแทบจะไม่สะทกสะท้าน เพราะฉะนั้นจึงต้องมีกิจกรรมบางอย่างที่กระทำกับอนุสาวรีย์หรือพื้นที่ของการประท้วง เพราะอนุสาวรีย์นั้นเป็นสัญลักษณ์แทนอำนาจของชนชั้นนำและชาติ 

 

ขอยกตัวอย่างมาบางส่วน ใน พ.ศ. 2532 กลุ่มนักศึกษาในจีนได้ประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย จึงได้ทำรูปจำลองของเทพีสันติภาพของสหรัฐอเมริกามาเดินขบวน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยและเสรีภาพ อีกทั้งยังได้ปาไข่ที่ภายในบรรจุสีไปยังภาพของ เหมาเจ๋อตุง ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน พร้อมทั้งคิดวลีขึ้นใหม่คือ ‘Love Live the People’ เพื่อท้าทายกับวลีสำคัญของประธานเหมาคือ ‘Eternal Glory to the People’s Heroes’ ที่ถูกจารึกไว้ยังอนุสาวรีย์วีรบุรุษของประชาชน (人民英雄纪念碑) (Hung 1991) สุดท้ายผู้ประท้วงที่ปาสีใส่ทั้งสามคนถูกจับ ตอนหลังถูกปล่อยตัว และต้องหนีไปอยู่อเมริกา 

 

ภาพของประธานเหมาที่เปื้อนจากกลุ่มผู้ประท้วง (ที่มาของภาพ: RFA Radio Free Asia 2019) 

 

อีกกรณี เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2016 ชาวมาซิโดเนียรวมกลุ่มกันประท้วงคัดค้านรัฐบาล เพราะยินยอมเปลี่ยนชื่อประเทศใหม่ตามข้อตกลงกับประเทศกรีซ จากชื่อปัจจุบันคือมาซิโดเนีย เป็นมาซิโดเนียเหนือ (North Macedonia) เนื่องจากชื่อของประเทศนี้ไปตรงกับจังหวัดมาซิโดเนียของกรีซ ซึ่งบ่งบอกเป็นนัยว่ากรีซเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนมาซิโดเนีย และเป็นหนึ่งในเหตุที่ทำให้กรีซได้ขัดขวางมาซิโดเนียเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปและองค์การนาโตมาโดยตลอด ปัญหาเชิงชาตินิยมนี้กินระยะเวลายาวนานมาก ทำให้ทั้งสองประเทศมีบาดแผลลึกๆ ระหว่างกัน

 

แต่เรื่องนี้สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนชาวมาซิโดเนียนับพัน เพราะถือว่าประเทศของตนเองนั้นถือกำเนิดขึ้นมาจากอาณาจักรมาซิโดเนียของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช อีกทั้งทำไมการตัดสินใจครั้งนี้จึงเกิดขึ้นจากนักการเมืองเพียงกลุ่มเดียว ด้วยความไม่พอใจดังกล่าวทำให้ประชาชนประท้วงในเชิงสัญลักษณ์ด้วยการเอาสีพ่นและปาใส่ยังอนุสาวรีย์ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์และประตูชัยแห่งเมืองสกอเปีย (Skopje) ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ สีที่ใช้พ่นใช้ปานี้มีหลากหลายสี เพื่อสื่อถึงการรวมกลุ่มกันของประชาชนจากหลากหลายเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ และต่างวัยที่สร้างประเทศนี้ขึ้นมา จึงเรียกการประท้วงครั้งนี้ว่า ‘Colourful Revolution’ เพื่อเรียกร้องสำนึกของนักการเมืองต่อเอกราชของชาติ 

 

อนุสาวรีย์ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ถูกปาสีใส่จนเลอะเทอะ (ที่มาของภาพ: prishtinainsight.com/united-colors-macedonian-revolution-mag/

 

ประตูชัยแห่งเมืองสกอเปียที่ถูกกลุ่มผู้ประท้วงพ่นสีและปาสีใส่ (ที่มาของภาพ: prishtinainsight.com/united-colors-macedonian-revolution-mag/

 

อีกแห่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ อนุสาวรีย์กองทัพสหภาพโซเวียต ที่ตั้งอยู่ที่เมืองโซเฟีย เมืองหลวงของประเทศบัลแกเรีย ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1954 เพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่กองทัพสหภาพโซเวียตได้ช่วยเหลือบัลแกเรียในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่แล้วเมื่อบัลแกเลียได้เปลี่ยนระบอบการเมืองเป็นประชาธิปไตย ประชาชนจึงเกิดการตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของอนุสาวรีย์แห่งนี้ที่เป็นสัญลักษณ์ของการเข้ามามีอำนาจของกองทัพประเทศอื่นในประเทศตัวเอง 

 

ใน ค.ศ. 2011 ศิลปินนิรนามได้พ่นสีประติมากรรมนี้ด้วยการที่ให้รูปของทหารโซเวียตเปลี่ยนเป็นซูเปอร์แมน กัปตันอเมริกา และอื่นๆ เพื่อเป็นสัญลักษณ์การต่อต้านสหภาพโซเวียตเดิมหรือรัสเซีย ต่อมาอนุสาวรีย์แห่งนี้ยังถูกพ่นสีอีกหลายครั้งโดยศิลปินนิรนาม ถึงแม้ว่าการกระทำแบบนี้จะถูกเรียกว่า ‘Vandalism’ แปลว่า การทำลายทรัพย์สิน แต่ก็ถูกตีความใหม่ว่าเป็นกระบวนการหนึ่งในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐ  

 

อนุสาวรีย์ทหารโซเวียตที่บัลแกเรียถูกพ่นสีเป็นภาพของซูเปอร์ฮีโร่อเมริกา (ที่มาของภาพ: https://www.amusingplanet.com/2015/02/the-painted-monument-to-soviet-army-in.html

 

ดังนั้นสิ่งที่ควรเข้าใจและมองต่อความสกปรกเลอะเทอะของอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิที่เกิดจากการพ่นสีนี้คือความหมายและสารที่ต้องการสื่อออกมา และไม่ใช่ความหมายทางตรงตามตัวอักษร Fuxx หากเป็นความคิดและอุดมการณ์ของผู้ประท้วงที่ไม่ใช่แค่เมื่อไม่กี่วันมาแล้วเท่านั้น แต่มันเกิดขึ้นมาร่วม 10 ปีมาแล้ว ก็คือการต่อสู้กับอำนาจของอำมาตย์หรือทหารที่ควบคุมประเทศนี้อยู่ ผมมักมีชื่อเล่นๆ กับอนุสาวรีย์นี้ว่า ‘อนุสาวรีย์ต่อสู้อำมาตย์’ ซึ่งทุกวันนี้ได้ถูกใช้และทำหน้าที่ในมิติใหม่ ไม่ใช่วงเวียน (บ้านเราชอบจริงๆ ตั้งอนุสาวรีย์กลางถนน) หรือปีหนึ่งถูกใช้เพื่อรำลึกถึงทหารที่ต่อสู้ให้ประเทศเป็นเอกราชเพียงแค่ 1 วัน ใน 1 ปีเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในบางแง่มุมผู้ประท้วงก็อาจต้องคิดว่าย่อมต้องมีคนไม่เห็นด้วย และอย่างที่กล่าวไปว่า อนุสาวรีย์ของไทยนั้นแตกต่างไปจากตะวันตก เพราะสัมพันธ์กับความเชื่อดั้งเดิมเป็นเรื่องเซนสิทีฟที่ต้องระมัดระวัง

 

และหากเป็นห่วงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิด้วยความจริงใจแล้ว ความจริงมีเรื่องที่ใหญ่กว่านั้นคือ ควรตั้งคำถามและเดือดร้อนกับอนุสาวรีย์บางแห่งในไทยที่ถูกทำให้หายไปในช่วง 3-4 ปีมานี้ เช่น อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ (อนุสาวรีย์ปราบกบฏ (บวรเดช)) หรือหมุดคณะราษฎร ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะแสดงถึงความจงใจของการทำลายความทรงจำและอดีตของชาติโดยใครบางคน หากไม่ตั้งคำถามและยินดี ก็แสดงว่าท่านกำลังเลือกอดีต โดยไม่คำนึงถึงอนาคตครับ 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising