×

3 สิ่งที่ แจ็ค หม่า บอก ศุภลักษณ์ อัมพุช จนเป็น Winning Formula ของ เดอะมอลล์ กรุ๊ป

23.11.2020
  • LOADING...

ศุภลักษณ์ อัมพุช แชร์บทเรียนธุรกิจแห่งอนาคตจากแจ็ค หม่า กับความตั้งใจปั้นเมืองไทยให้เป็นฮับเอนเตอร์เทนเมนต์ และกลยุทธ์บริหารคนด้วยความรักในบทบาท 2 แม่ ทั้งแม่ทัพและแม่ที่ดูแลพนักงานเหมือนครอบครัว ในรายการ The Secret Sauce 

 


 

บทสนทนา 1 ชั่วโมงกับแจ็ค หม่า

ศุภลักษณ์เล่าว่าเธอได้มีโอกาสสนทนากับแจ็ค หม่า เป็นเวลา 1 ชั่วโมง และได้รับคำแนะนำจากมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของโลกเกี่ยวกับ 3 คำต่อไปนี้ 

 

Globalization คือการมองหาพันธมิตรในระดับสากล

 

Digitalization การเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคงหนีไม่พ้น วัน Shopping Day ที่ผ่านมา ซึ่ง Alibaba ขายสินค้าออนไลน์ได้มากกว่าปีที่แล้วถึง 15% และจะมั่นคงยิ่งขึ้นหากมีการส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กได้มีโอกาสเติบโต ด้วยการสร้าง Marketplace เป็นตัวกลางระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อ และจำเป็นต้องมีการสร้างทราฟฟิกของผู้ซื้อด้วย 

 

Tourism อุตสาหกรรมหลักของประเทศไทยอย่างการท่องเที่ยว ที่หยุดชะงักไปหลายเดือนเพราะวิกฤตโควิด-19 จำเป็นต้องกลับมาเดินหน้าอีกครั้ง เพราะกำลังซื้อส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ “ภาคเอกชนพร้อมแล้ว รัฐบาลต้องกล้า ต้องเปิดโอกาส Empowerment ทำอย่างไรให้เปิดประเทศให้ได้” ศุภลักษณ์กล่าวว่า หากปล่อยไปจนถึงปีหน้าจะยิ่งเลวร้ายลงเรื่อยๆ หากยังไม่มีมาตรการที่เป็นรูปธรรม สิ่งที่ทำได้เลยก็คือการนำจุดแข็งของเรามารวมกัน นั่นคือ Health and Wellness และ Thainess Service ที่มีมูลค่ามหาศาล ซึ่งทุกฝ่ายพร้อมแล้ว มีเพียงความกล้าที่จะออกนอกกรอบของรัฐบาลเท่านั้น ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้จริง

 

อุตสาหกรรมบันเทิงกับการท่องเที่ยว

ศุภลักษณ์เติบโตมาในครอบครัวที่คุณพ่อทำธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ก่อนจะมาทำธุรกิจค้าปลีก เธอยกตัวอย่างบรรยากาศการท่องเที่ยวในประเทศไทยที่เต็มไปด้วยความสนุกสนานและฉากที่ตื่นตาตื่นใจ จนกลายเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น The Beach (2000), The Hangover Part II (2011), James Bond: The Man with the Golden Gun (1974) แต่เรามีข้อจำกัดค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับกรีซ บาหลี เวียดนาม ซึ่งมีการส่งเสริมการลงทุนด้านนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะมีกำไรขั้นต้นสูงถึงราว 30-40% 

 

ในขณะที่ประเทศไทยมีบุคลากรมากความสามารถ มีต้นทุนที่แตกต่าง แต่รัฐบาลจำกัดทุน จำกัดด้านกฎหมาย ไปจนถึงจำกัดระยะเวลาเปิดให้บริการที่ไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมนักท่องเที่ยว ทำให้ทั้งอุตสาหกรรมบันเทิงและอีกหลายอุตสาหกรรมไม่อาจเติบโตไปสู่การแข่งขันกับนานาชาติได้ 

 

เธอแบ่งนักท่องเที่ยวในประเทศไทยออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ

1) Sea Sun Sand เป็นนักท่องเที่ยวสายธรรมชาติ เน้นมาอาบแดด ใช้เวลาส่วนใหญ่ที่เมืองริมทะเล

2) Cultural เป็นนักท่องเที่ยวสายประหยัด ชอบวัดวาอาราม เรียนรู้วัฒนธรรมชุมชน

3) Entertainment เป็นนักท่องเที่ยวสายเปย์ สายปาร์ตี้ แต่งตัวเยอะ ใช้เงินเยอะ เปิดแชมเปญฉลอง ทิปหนัก โดยกลุ่มที่ 3 นี้เป็นกลุ่มที่การท่องเที่ยวในประเทศไทยยังสามารถพัฒนาไปต่อได้อีกมาก เพื่อรองรับความต้องการของพวกเขา

 

โน้มน้าวใจยักษ์ใหญ่ใน 30 นาที

AEG เป็นบริษัทที่จัดคอนเสิร์ต เทศกาลดนตรี เทศกาลกีฬาระดับโลก กว่า 50,000 ครั้งต่อปี แม้จะซวนเซไปบ้างจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 แต่ยักษ์ใหญ่นี้ก็ปรับเปลี่ยนตัวเองได้อย่างรวดเร็ว ศุภลักษณ์จึงเข้าไปพูดคุยกับ Vice Chairman ของ AEG ภายในเวลาครึ่งชั่วโมงก็โน้มน้าวให้เกิดการลงทุนธุรกิจบันเทิงในประเทศไทยได้เป็นผลสำเร็จ กลายมาเป็น World-Class Arena อย่าง EM LIVE และ BANGKOK ARENA ที่จะเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ถูกวางหน้าที่ให้เป็นแม่เหล็กดึงดูดการแสดงระดับโลกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างเต็มรูปแบบ 

 

“เราใช้ความเป็นคนไทย คือ Sincerity เขามองออกว่าเราจริงใจ เพราะเขาเห็นเราทำมาตั้งแต่ เอ็มโพเรียม พารากอน เราต้องการทำให้เมืองไทยเป็น Entertainment Hub in Southeast Asia เพราะในแง่วัฒนธรรมเราเปิดรับศิลปินได้ทุกรูปแบบ เทศกาลดนตรีต่างๆ ก่อให้เกิด Value Chain อีกไม่รู้จบ” 

 

แม้ความหวังข้างหน้าจะเรืองรองและเต็มไปด้วยความท้าทาย แต่ ณ วินาทีนี้ที่ไวรัสโคโรนายังไม่จากไป ศุภลักษณ์เล่าว่า การเฝ้ารอคอยก็เป็นส่วนหนึ่งของการมุ่งไปข้างหน้าเช่นเดียวกัน “ภายในสิ้นปีนี้ต้องมาดูว่า GDP จะตกไปเท่าไร รัฐบาลจะแก้อย่างไร ปัญหาของรัฐบาลทำอย่างไร ทุกคนรอดู เราไม่ได้รีบ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราอยู่เฉยๆ เราก็ใช้เวลาทุกอย่าง ออกแบบแผนเตรียมความพร้อมไว้เสมอ”

 

บริหารคนด้วยความรัก 

บัญญัติ 10 ประการในการบริหารคนด้วยความรักของศุภลักษณ์ มีดังนี้ 

To Love

To Give

To Care

To Share

To Respect

To be Honest

To be Sincere

To be Fair

To Forgive 

To Forget 

 

“เริ่มจากความรัก เราคือรักพ่อมาก เพราะแม่เสียตั้งแต่เล็กๆ พ่อทำงานเช้า กลางวัน เย็น เราตั้งใจ เรามุ่งมั่นเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อให้พ่อภูมิใจ ฉันเสียสละชีวิตของฉันให้เดอะมอลล์ ก็เพราะฉันรักพ่อ เราเริ่มจากครอบครัว เรามีคนที่ทำงานกับเรา เราก็ดูแลเขาเหมือนครอบครัว เราใช้ใจบริหารเขา แสดงความรักกับเขา พลังของความรักมันยิ่งใหญ่จริงๆ”

 

แม้กระทั่งคู่ค้า เดอะมอลล์ก็ใช้ความรักและเปิดโอกาสให้หลายแบรนด์ได้ตั้งต้นความฝัน ไม่ว่าจะเป็น Flynow, AIIZ, แมงป่อง, Greyhound ฯลฯ “มันไม่ได้มาจากความรักอย่างเดียวนะ มาจากการที่เราอยากจะเปิดโอกาสให้เขา” 

 

การแสดงความรักก็สำคัญไม่แพ้ความรักที่มอบให้กัน ทุกวันวาเลนไทน์ในแต่ละปี ศุภลักษณ์จะส่งลูกโป่งและของขวัญพร้อมลายเซ็นให้พนักงานบางส่วน ซึ่งพนักงานจำนวนมากก็จะส่งจดหมาย ส่งดอกไม้แทนความปรารถนาดีกลับคืนมาให้เช่นกัน “พอเราให้ความรักเขา เขาเกิดพลัง พลังที่อยากจะทำงานที่ดีมากขึ้น พลังตรงนี้มันมหาศาล”  

 

ทุกคนเป็นเจ้าของเดอะมอลล์

“ทุกคนต้องมี Sense of Ownership มันก็จะมีความรักเกิดขึ้น ถ้าเราพูดดีกับเขา เขาก็ทำ พูดไม่ดีกับเขา เขาก็ทำเท่าที่จะได้เงินเดือน เราบอกเลยว่า You have own The Mall, Everybody need to own The Mall even. ถ้าเปิดประตูมาเขาต้องคิดว่าเขาเป็นเจ้าของบ้านหลังนี้ เขาก็จะเปิดประตูต้อนรับแขก” ศุภลักษณ์กล่าวว่าความรู้สึกดังกล่าวนั้นตามมาด้วยความเป็นผู้นำ ซึ่งในความคิดเห็นของเธอ หมายถึงความเสียสละ โดยทุกปีเดอะมอลล์จะมี Town Hall ที่เน้นย้ำเรื่องความเป็นผู้นำ ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดสำหรับการใช้ชีวิตของทุกคน 

 

เมื่อถามถึงการแบ่งแยกความรักกับการทำงาน ศุภลักษณ์ให้คำตอบว่า “ดูแลกันและกันด้วยความรักแบบครอบครัว แต่ไม่ลืมความเป็นมืออาชีพในการทำงาน”

 

ส่งต่อปัจจุบันสู่อนาคต

ในเมื่อเป้าหมายคือการเป็นองค์กรระดับสากล การปรับวัฒนธรรมองค์กรให้สอดคล้องกับเป้าหมายจึงเป็นความท้าทายที่สำคัญ ไม่เพียงแต่ความแตกต่างทางวัฒนธรรมไทยกับสากล แต่ยังรวมถึงวัฒนธรรมการทำงานของคนต่างเจเนอเรชันอีกด้วย 

 

“การสร้าง Culture ก็ยังทำอยู่นะ ไม่ใช่ง่ายแต่ยังพยายามทำอยู่ เพราะเราไม่ Give up เรายังคงใช้ความรักความจริงจัง You win the heart before you win the war เราต้องชนะใจพนักงานของเราก่อน ตอนอายุ 20 กว่าปี เราเปิดเดอะมอลล์ บางกะปิ, เดอะมอลล์ บางแค พร้อมกัน ในวันเดียวกัน ตอนที่จะเปิดสยามพารากอนในวันที่ 9 ธันวาคม 2548 พลังจากไหนไม่รู้มันทำให้เสร็จได้ คิดว่าเป็นเพราะพลังบวก พลังสร้างสรรค์ทุกอย่างที่เข้ามารวมกัน” 

 

ส่วนเรื่องการเข้าตลาดหลักทรัพย์สำหรับเดอะมอลล์นั้น ไม่ได้เป็นคำตอบเดียวสำหรับการขยับขยายธุรกิจ “เรามองว่าทำอย่างไรให้ธุรกิจเราอยู่ได้ มั่นคง Sustainable Growth และคนของเรามีความสุข คุณภาพชีวิตต้องมี ไม่ใช่ทำงานเพื่อเงินทั้งหมด การมีบารมีที่ทำให้คนรัก การมีอำนาจจะทำให้คนกลัว เราเลือกการมีคนรัก ดีกว่ามีแต่คนกลัว” ศุภลักษณ์ย้ำว่า วิธีคิดสำคัญที่สุด การส่งต่อความคิด ส่งต่อวิธีการทำงานให้คนรุ่นต่อไปนั้นต้องใช้แรงกายแรงใจเช่นกัน เพื่อปลูกฝัง ผู้นำที่ดี คัดเลือก ขัดเกลาผู้ที่จะมารับช่วงต่อซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อให้พวกเขาสามารถทำงานได้อย่างที่คาดหวังไว้ แต่ก็ไม่ลืมที่จะเผื่อใจว่ามนุษย์เราไม่มีใครได้ทุกอย่างที่คาดหวังไว้ทั้งหมด

 

กำลังใจพร้อมไปต่อ

“ถ้าคนหมดกำลังใจก็ไม่มีอะไรทำ กำลังใจคือคุณก็ต้องมีความเชื่อ หรือความศรัทธาว่าฉันจะต้องไปให้ได้ วันหนึ่งล้มลงไป แต่ไม่ได้หมายความว่าจะลุกขึ้นมาใหม่ไม่ได้ อยากให้ทุกคนมีกำลังใจ ให้ทุกคนมีพลังที่จะต่อสู้ยามหมดหวัง ร้องไห้ไป ยอมรับมันไป แล้วก็ลุกขึ้นมาสู้ใหม่ อย่าหมดกำลังใจ เพราะปีหน้าหนักแน่ แต่ปีต่อไปมันต้องดี” 

ศุภลักษณ์เปรียบเทียบว่าอนาคตอันใกล้ที่เรากำลังจะต้องเผชิญนั้นหนักหน่วงราวกับสงครามโลกครั้งที่ 3 จึงต้องเตรียมพร้อมรับมือด้วยการร่วมแรงร่วมใจกัน เพื่อที่จะผ่านพ้นไปด้วยกันให้ได้

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 


 

Credits

 

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Creative ภัทร จารุอริยานนท์
Sound Editor เดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฏ์
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Channel Admin เอกราช มอเซอร์
Proofreader วรรษมล สิงหโกมล

Webmaster ณฐพร  โรจน์อนุสรณ์
Social Media Admin สุทธกิตติ์​ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, ณัฐชัย ตั้งวงศ์วิวัฒน์  

Archive Officer ชริน จำปาวัน 

Music westonemusic.com

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising