×

เมื่อสหรัฐฯ ตัด GSP เราควรวางยุทธศาสตร์อย่างไรต่อไปในอนาคต

01.11.2019
  • LOADING...

GSP คืออะไร ทำไมไทยถึงถูกตัดสิทธิ และอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

 

เคน นครินทร์ ชวน เป็นหลิว-ชุตินันท์ สงวนประสิทธิ์ Content Creator เศรษฐกิจประจำ THE STANDARD มาพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจ มองอนาคต และบริบทรอบข้าง ในพอดแคสต์ The Secret Sauce: Executive Espresso

 

 

GSP คืออะไร

GSP ย่อมาจาก Generalized System of Preference หรือระบบสิทธิพิเศษทั่วไปทางภาษี เป็นระบบการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรของประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ให้แก่สินค้าจากประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organisatio – WTO) ในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา การให้สิทธิดังกล่าวเป็นการให้สิทธิพิเศษเพิ่มเติมไปจากสิทธิดั้งเดิมที่ประเทศต่างๆ ได้รับจากการเป็นสมาชิก WTO อยู่แล้ว

 

เกิดอะไรขึ้น
วันเสาร์ที่ 28 ตุลาคม 2562 สำนักผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) เผยว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ตัดสินใจระงับให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) กับสินค้านำเข้าจากไทย เนื่องจากไทยยังไม่สามารถแก้ไขปัญหากดขี่แรงงานในภาคอุตสาหกรรมอาหารทะเลได้เพียงพอ โดยการระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรครั้งนี้กระทบต่อสินค้ากว่า 573 รายการ ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของสินค้าไทยที่ได้รับสิทธิพิเศษ 

 

โดยรายการสินค้าไทยที่ถูกระงับสิทธิทางภาษี ได้แก่ อาหารทะเล, ผักผลไม้, เมล็ดพันธุ์, น้ำเชื่อมและน้ำตาล, ซอสถั่วเหลือง, น้ำผักและน้ำผลไม้, อุปกรณ์เครื่องครัว, ประตูหน้าต่าง, ไม้อัด ไม้แปรรูป, ตะกร้าดอกไม้ประดิษฐ์, จานชาม, เครื่องประดับ, เหล็กแผ่น และสเตนเลส คิดเป็นมูลค่า 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งการระงับสิทธิดังกล่าวจะมีผลตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2563

 

ทั้งนี้บริษัทผู้ส่งออกสินค้าบางรายออกมาชี้แจงถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่าการระงับสิทธิ GSP ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทมากนัก เช่น บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) เนื่องจากสินค้าบางรายการของบริษัทไม่ได้รับสิทธิ GSP อยู่แล้ว รวมถึงบริษัทได้มีการส่งออกสินค้าไปยังประเทศอื่นนอกเหนือจากสหรัฐฯ เช่น ส่งออกไปยังประเทศในแถบยุโรปและเอเชีย นอกจากนี้บางบริษัทยังมีฐานการผลิตในสหรัฐฯ อยู่แล้ว จึงทำให้ได้รับผลกระทบไม่มาก เช่น บมจ.อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป (EPG)

 

กระทรวงพาณิชย์เผยว่าการระงับสิทธิ GSP ดังกล่าวทำให้ไทยได้รับผลกระทบจริงประมาณ 1.5-1.8 พันล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ต้องชำระภาษีเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 4.5% โดยสินค้าที่เสียภาษีมากที่สุดคือกลุ่มภาชนะเซรามิกที่อัตรา 26% ขณะที่สินค้าที่เสียภาษีน้อยที่สุดคือเคมีภัณฑ์ที่อัตรา 0.1% 

 

ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ยังเผยว่าจะเร่งเจรจากับสหรัฐฯ เรื่องขอคืนสิทธิ GSP โดยเร็ว และยืนยันว่าจะไม่ตอบโต้ทางการค้า โดยคาดว่าจะเริ่มเจรจาในระหว่างประชุมอาเซียนที่ไทยเป็นเจ้าภาพในเดือนพฤศจิกายนนี้ นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ยังได้แนะนำผู้ประกอบการหาตลาดอื่นเพื่อทดแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง เช่น ตะวันออกกลาง, ยุโรปตะวันออก, สหรัฐฯ และรัสเซีย รวมถึงแนะนำให้ใช้ประโยชน์จากประเทศที่ไทยมีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) เช่น กลุ่มประเทศอาเซียน, จีน, ญี่ปุ่น, อินเดีย, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, ชิลี และเปรู  

 

ทำไมสหรัฐฯ จึงตัดสิทธิ GSP ไทย

ตามรายงานเบื้องต้น สหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP ไทยเนื่องจากไทยไม่จัดให้มีการรับรองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานสากล ทั้งๆ ที่จากนโยบายและแนวปฏิบัติของรัฐบาลไทยได้มีความพยายามปรับปรุงมาตรฐานและให้สิทธิแก่แรงงานเพิ่มเติมมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของแรงงานต่างชาติในภาคอุตสาหกรรมการประมง ซึ่งไทยได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญา C188 ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่เน้นการคุ้มครองสิทธิแรงงานในภาคการประมง อีกทั้งไทยได้ออกกฎหมายภายในประเทศเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานอย่างเร่งด่วนหลายฉบับ

 

การปรับปรุงมาตรฐานและให้สิทธิแก่แรงงานดังกล่าวสอดคล้องกับแนวโน้มของสถานการณ์การค้ามนุษย์ในประเทศไทยที่ดีขึ้น และสะท้อนในผลของ TIP Report ที่สหรัฐฯ เลื่อนให้ไทยมีสถานะขึ้นมาจาก Tier 3 เป็น Tier 2 Watch List และยังสอดคล้องกับการที่สหภาพยุโรปได้ยกเลิกการให้ใบเหลืองเตือนเรื่องการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ในประเทศไทยไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

 

อย่างไรก็ตาม เราต้องไม่ลืมว่าการพิจารณาเรื่องการให้สิทธิพิเศษ GSP นั้นเป็นสิทธิและดุลพินิจของประเทศที่ให้สิทธิเสมอ แม้ว่าทางรัฐบาลไทยอาจพยายามปรับปรุงประเด็นข้อท้วงติงต่างๆ จนสุดความสามารถแล้ว แต่หากทางรัฐบาลสหรัฐฯ พิจารณาว่าการรับรองสิทธิแรงงานในประเทศไทยยังไม่ดีพอ สิ่งที่รัฐบาลไทยจะทำได้ก็มีเพียงแต่การชี้แจงข้อเท็จจริงให้กระจ่างชัดแก่รัฐบาลสหรัฐฯ โดยต้องรายงานแก่สหรัฐฯ อย่างโปร่งใส อธิบายข้อเท็จจริงให้รัฐบาลสหรัฐฯ เห็นเป็นที่ประจักษ์ และทราบถึงที่มาที่ไปในการแก้ไขปรับปรุงการคุ้มครองและรับรองสิทธิแรงงานในประเทศไทย รัฐบาลไทยควรเร่งจัดทำรายงานที่แสดงหลักฐานอันเป็นรูปธรรมอย่างชัดแจ้ง เพื่อจูงใจให้รัฐบาลสหรัฐฯ ทบทวนการตัดสินใจยกเลิกการให้สิทธิ GSP ในครั้งนี้

 

ตัดสิทธิ GSP ไม่เกี่ยวไทยยกเลิกสารเคมีเกษตร 

วันเดียวกันที่ทำเนียบรัฐบาล ไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เปิดเผยหลังเข้าพบ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ว่าหลังมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ เป็นไปในทางที่ดีขึ้น แต่การตัดสิทธิ GSP เป็นการตัดสินใจที่เกิดขึ้นนานแล้ว และไม่เกี่ยวข้องกับการที่ไทยยกเลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตร เพราะมีการพูดคุยกันมากว่าครึ่งปี

 

แม้ไทยจะถูกตัดสิทธิ GSP บางส่วน แต่ไทยยังเป็นประเทศที่ได้รับสิทธิสูงที่สุดในโลก และแม้ว่าจะมีการประกาศตัดสิทธิดังกล่าวก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ และสหรัฐฯ พร้อมที่จะหารือกับไทยในข้อกฎหมายต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องแรงงานว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่ยืนยันว่าหากดูในเรื่องของเม็ดเงินนั้นเสียหายไม่มาก ซึ่งการตัดสิทธิ GSP ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ไทยมีเวลา 6 เดือนที่จะดำเนินการแก้ไข และคาดหวังว่าการประชุมอาเซียนที่ไทยเป็นเจ้าภาพจะดำเนินไปด้วยดี ซึ่งสหรัฐฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย

 

สมคิดเผย ตัดสิทธิ GSP ยังไม่สิ้นสุด มีโอกาสเจรจา เล็งมองไปข้างหน้า ร่วมมือภาพใหญ่

ขณะที่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าการตัดสิทธิ GSP ยังไม่เป็นที่สิ้นสุด ยังมีเวลาเจรจากัน โดยในการประชุม World Pacific Forum ใน ASEAN Summit จะมีที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และนักลงทุนชาวอเมริกันมาร่วมพูดคุยกับประเทศไทยและที่ประชุม EEC 

 

ทั้งนี้การตัดสิทธิ GSP มีมูลค่าไม่มาก สิ่งเหล่านี้น่าจะคุยกันได้ เนื่องจากไทยและสหรัฐฯ เป็นมิตรกันมานาน น่าจะใช้ช่วงเวลาที่ผู้ใหญ่ของสหรัฐฯ มาไทยเพื่อหารือกับนายกรัฐมนตรีได้

 

สมคิดกล่าวด้วยว่าประเด็นหลักในการหารือกับสหรัฐฯ คงไม่ใช่การขอคืนสิทธิ GSP หรือคุยเรื่องที่เป็นชิ้นๆ แต่ควรใช้เวลานี้พูดคุยเรื่องยุทธศาสตร์ความร่วมกันมือกันในอนาคต เช่น ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี- เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) เนื่องจากสหรัฐฯ เองก็สนใจเรื่องลุ่มแม่น้ำโขงเช่นเดียวกับจีนและญี่ปุ่น จึงอยากให้มองไปไกลๆ บนพื้นฐานของมิตรภาพ ส่วนเรื่อง GSP ก็ค่อยๆ เจรจากันไป เป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ และอยู่ที่การสื่อความไปถึงผู้ใหญ่ทางสหรัฐฯ เนื่องจากเราเป็นมิตรที่ดี และผู้ประกอบการไทยเองก็สนใจไปลงทุนที่สหรัฐฯ เช่น กลุ่ม ปตท.

 

นอกจากนี้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศยังเตรียม 7 มาตรการรับมือ โดยเน้นกิจกรรมการหาตลาดทดแทน พร้อมหารือกับภาคเอกชนเพื่อกำหนดตลาดและกิจกรรม ซึ่งในเบื้องต้นมาตรการดังกล่าวประกอบไปด้วย

 

1. เร่งขยายการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ โดยช่วงปลายปีนี้จนถึงก่อนมาตรการมีผลบังคับใช้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะมีกิจกรรมผลักดันให้การนำเข้าขยายตัวมากขึ้น ทั้งนี้คาดการณ์ว่าผู้นำเข้าจะเร่งนำเข้าสินค้าที่จะได้รับผลกระทบมาเตรียมไว้ก่อน ดังนั้นในช่วงนี้อาจมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติได้ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอาหารแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฐานการผลิตในไทย ในขณะเดียวกันได้มีการคืนสิทธิ/ผ่อนผันตามเกณฑ์ GSP รายสินค้าแก่ไทยจำนวน 7 รายการ ได้แก่ ปลาแช่แข็ง, ดอกกล้วยไม้สด, เห็ดทรัฟเฟิล, ผงโกโก้, หนังของสัตว์เลื้อยคลาน, เลนส์แว่นตา และส่วนประกอบของเครื่องแรงดันไฟฟ้า ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะเร่งขยายส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ ให้แก่สินค้าเหล่านี้ไปพร้อมกัน

 

2. เร่งกระจายความเสี่ยงโดยหาตลาดส่งออกให้หลากหลาย และแสวงหาตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่โดนผลกระทบ “กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์เร่งหาตลาดให้แก่สินค้าที่ได้รับผลกระทบและสำรวจความต้องการของตลาด ทำหน้าที่เป็นเซลแมนขายสินค้าของประเทศไทยตามนโยบายของ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยในช่วงนี้ถึงกลางปี 2563 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมีแผนงานเร่งด่วนเพิ่มเติมเพื่อบุกตลาดและกระตุ้นให้เกิดความต้องการสินค้าไทยในประเทศเป้าหมายทั่วโลก เช่น อินเดีย, บาห์เรน, กาตาร์, แอฟริกาใต้, ญี่ปุ่น, จีน, สหราชอาณาจักร, สหภาพยุโรป, ตุรกี, รัสเซีย, CLMV, ศรีลังกา, บังกลาเทศ และอินโดนีเซีย” สมคิดกล่าว

 

3. ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการเกษตร และอาหารแปรรูป โดยใช้โอกาสจากภาวะเงินบาทแข็งค่าไปลงทุนในสหรัฐฯ ในรูปของสำนักงานขายหรือการแสวงหาเทคโนโลยีทันสมัย เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันหรือในประเทศที่สหรัฐฯ มีข้อตกลงการค้าเสรีด้วย เช่น แคนาดา ชิลี และเม็กซิโก เพื่อใช้สิทธิในการส่งสินค้าเข้าสหรัฐฯ

 

4. กระชับความสัมพันธ์กับผู้นำเข้าพันธมิตร และเพิ่มความร่วมมือกับผู้นำเข้าขนาดกลางและ SMEs ในประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่องผ่านกิจกรรมต่างๆ

 

5. สร้างความต้องการสินค้าไทยในตลาดต่างประเทศ เช่น การจัดกิจกรรมส่งเสริมในห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารไทย และกิจกรรมส่งเสริมสินค้าไทยในหลายตลาด

 

6. เน้นการให้ความสำคัญกับการรักษาคุณภาพและมาตรฐานสินค้า พัฒนาสินค้าด้วยนวัตกรรม สอดคล้องกับแนวโน้ม (Trend) ของตลาด อีกทั้งการสร้างความเข้มแข็งให้แบรนด์สินค้าและทรัพย์สินทางปัญญาของสินค้า เพื่อสร้างจุดเด่นและความได้เปรียบของสินค้าไทย

 

7. ผลักดันการค้าผ่าน thaitrade.com ซึ่งเป็นช่องทางการค้าออนไลน์ที่สามารถส่งออกสินค้าไทยคู่ขนานไปกับการค้ารูปแบบเดิม พร้อมกันนี้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ร่วมมือกับแพลตฟอร์มของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ โดยจะเปิด TopThai Flagship Store ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มขายสินค้าของไทยในแพลตฟอร์มต่างประเทศ และในเดือนพฤศจิกายนนี้จะเปิดตัวร่วมกับ Tmall Global ในจีน และจะขยายสู่ประเทศสำคัญอื่นๆ ต่อไป


รวบรวมข้อมูลจาก

 

 

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 


 

Credits

 

The Host นครินทร์ วนกิจไพบลูย์
The Co-host ชุตินันท์ สงวนประสิทธิ์

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Marketing & Coordinator อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

Webmaster รพีพรรณ เกตุสมพงษ์

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising