×

พาณิชย์ เปิด 7 มาตรการรองรับหลังสหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP เน้นหาตลาดทดแทน

โดย THE STANDARD TEAM
29.10.2019
  • LOADING...
สิทธิพิเศษภาษีศุลกากรสินค้า (GSP),

จากกรณีที่สหรัฐอเมริกามีคำสั่งระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) กับสินค้าจากประเทศไทย โดยจะส่งผลต่อมูลค่าการค้าประมาณ 3 หมื่นล้านบาท หรือราว 1 ใน 3 ของสินค้าที่ได้รับสิทธิ GSP ล่าสุด สมเด็จ สุสมบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ รักษาการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงการรับมือในกรณีดังกล่าวว่า มาตรการดังกล่าวจะยังคงไม่กระทบต่อเป้าส่งออกสินค้าไทยที่ส่งไปสหรัฐฯ ในปี 2562 ที่วางไว้ว่าจะขยายตัวร้อยละ 4 เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่มีคำสั่งซื้อไว้ล่วงหน้าและทยอยส่งมอบไปแล้ว ซึ่งยอดส่งออก 9 เดือนแรกคิดเป็นร้อยละ 73-75 ของทั้งปี อย่างไรก็ตามคาดว่าช่วงนี้ผู้นำเข้าจะเร่งนำเข้าสินค้า ก่อนมาตรการมีผลบังคับใช้ 

 

นอกจากนี้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ยังเตรียมมาตรการรับมือ 7 มาตรการ โดยเน้นกิจกรรมการหาตลาดทดแทน พร้อมหารือกับภาคเอกชนเพื่อกำหนดตลาดและกิจกรรม ซึ่งในเบื้องต้นมาตรการดังกล่าวประกอบไปด้วย

 

1. เร่งขยายการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ โดยช่วงปลายปีนี้จนถึงก่อนมาตรการมีผลบังคับใช้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะมีกิจกรรมผลักดันให้การนำเข้าขยายตัวมากขึ้น ทั้งนี้คาดการณ์ว่า ผู้นำเข้าจะเร่งนำเข้าสินค้าที่จะได้รับผลกระทบมาเตรียมไว้ก่อน ดังนั้น ในช่วงนี้อาจมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติได้ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอาหารแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฐานการผลิตในไทย ในขณะเดียวกันได้มีการคืนสิทธิ/ผ่อนผันตามเกณฑ์จีเอสพีรายสินค้าแก่ไทยจำนวน 7 รายการ ได้แก่ ปลาแช่แข็ง, ดอกกล้วยไม้สด, เห็ดทรัฟเฟิล, ผงโกโก้, หนังของสัตว์เลื้อยคลาน, เลนส์แว่นตา และส่วนประกอบของเครื่องแรงดันไฟฟ้า ซึ่งกรมจะเร่งขยายส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ ให้แก่สินค้าเหล่านี้ไปพร้อมกัน 

 

2. เร่งกระจายความเสี่ยงโดยหาตลาดส่งออกให้หลากหลาย และแสวงหาตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่โดนผลกระทบ “กรมได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์เร่งหาตลาดให้แก่สินค้าที่ได้รับผลกระทบ และสำรวจความต้องการของตลาด ทำหน้าที่เป็นเซลล์แมนขายสินค้าของประเทศไทยตามนโยบายของ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยในช่วงนี้ถึงกลางปี 2563 กรมมีแผนงานเร่งด่วนเพิ่มเติมเพื่อบุกตลาดและกระตุ้นให้เกิดความต้องการสินค้าไทยในประเทศเป้าหมายทั่วโลก เช่น อินเดีย, บาห์เรน, กาตาร์, แอฟริกาใต้, ญี่ปุ่น, จีน, สหราชอาณาจักร, สหภาพยุโรป, ตุรกี, รัสเซีย, CLMV, ศรีลังกา, บังกลาเทศ และอินโดนีเซีย เป็นต้น” สมเด็จกล่าว

 

3. ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการเกษตร และอาหารแปรรูป โดยใช้โอกาสจากภาวะเงินบาทแข็งค่าไปลงทุนในสหรัฐฯ ในรูปของสำนักงานขาย หรือการแสวงหาเทคโนโลยีทันสมัย เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน หรือในประเทศที่สหรัฐฯ มีข้อตกลงการค้าเสรีด้วย เช่น แคนาดา ชิลี และเม็กซิโก เพื่อใช้สิทธิในการส่งสินค้าเข้าสหรัฐฯ 

 

4. กระชับความสัมพันธ์กับผู้นำเข้าพันธมิตร และเพิ่มความร่วมมือกับผู้นำเข้าขนาดกลาง และ SMEs ในประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่องผ่านกิจกรรมต่างๆ

 

5. สร้างความต้องการสินค้าไทยในตลาดต่างประเทศ เช่น การจัดกิจกรรมส่งเสริมในห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารไทย และกิจกรรมส่งเสริมสินค้าไทยในหลายตลาด 

 

6. เน้นการให้ความสำคัญกับการรักษาคุณภาพและมาตรฐานสินค้า พัฒนาสินค้าด้วยนวัตกรรม สอดคล้องกับแนวโน้ม (Trend) ของตลาด อีกทั้งการสร้างความเข้มแข็งให้แบรนด์สินค้า และทรัพย์สินทางปัญญาของสินค้า เพื่อสร้างจุดเด่นและความได้เปรียบของสินค้าไทย

 

7. ผลักดันการค้าผ่าน thaitrade.com ซึ่งเป็นช่องทางการค้าออนไลน์ที่สามารถส่งออกสินค้าไทยคู่ขนานไปกับการค้ารูปแบบเดิม พร้อมกันนี้กรมได้ร่วมมือกับแพลตฟอร์มของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ โดยจะเปิด TopThai Flagship Store ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มขายสินค้าของไทยในแพลตฟอร์มต่างประเทศ และในเดือนพฤศจิกายนนี้จะเปิดตัวร่วมกับ Tmall Global ในจีน และจะขยายสู่ประเทศสำคัญอื่นๆ ต่อไป

 

โดยในวันนี้ 29 ตุลาคม พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังได้เรียกประชุมด่วนรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เพื่อหาแนวทางและมาตรการในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับกรณีนี้ โดยยืนยันว่าจะหาวิธีเจรจาพูดคุย และทำให้ดีที่สุด

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising