×

สิทธิ GSP คืออะไร ทำไมไทยถึงถูกตัดสิทธิ รวมเรื่องต้องรู้เกี่ยวกับ GSP และวิธีปรับตัวของผู้ประกอบการไทย

29.10.2019
  • LOADING...
GSP

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • GSP ย่อมาจาก Generalized System of Preference หรือระบบสิทธิพิเศษทั่วไปทางภาษี เป็นระบบการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรของประเทศที่พัฒนาแล้ว การให้สิทธิดังกล่าวเป็นการให้สิทธิพิเศษเพิ่มเติมไปจากสิทธิดั้งเดิมที่ประเทศต่างๆ ได้รับจากการเป็นสมาชิก WTO อยู่แล้ว
  • ในทางการค้าระหว่างประเทศ สิทธิ GSP เป็นสิทธิให้เปล่า ที่ประเทศสมาชิก WTO ได้รับเพิ่มเติมจากสิทธิดั้งเดิมในการเป็นสมาชิก WTO ดังนั้น เมื่อมีสถานะเป็นสิทธิให้เปล่า การกำหนดเงื่อนไขในการได้รับสิทธิพิเศษ GSP นั้น ต้องสุดแท้แต่ประเทศที่ให้สิทธิ และเป็นดุลยพินิจของประเทศที่ให้สิทธิว่าในแต่ละปีจะให้สิทธิได้เท่าใด ในสินค้ารายการใด แก่ประเทศใดบ้าง
  • แม้ว่าทางรัฐบาลไทยอาจได้พยายามปรับปรุงประเด็นข้อท้วงติงต่างๆ จนสุดความสามารถแล้ว แต่หากทางรัฐบาลสหรัฐฯ พิจารณาว่าการรับรองสิทธิแรงงานในประเทศไทยยังไม่ดีพอ สิ่งที่รัฐบาลไทยจะทำได้ก็มีเพียงแต่การชี้แจงข้อเท็จจริงให้กระจ่างชัดแก่รัฐบาลสหรัฐฯ โดยต้องรายงานแก่สหรัฐฯ อย่างโปร่งใส

จากกรณีที่สหรัฐอเมริกามีคำสั่งระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) กับสินค้าจากประเทศไทย โดยจะส่งผลต่อมูลค่าการค้าประมาณ 3 หมื่นล้านบาท หรือราว 1 ใน 3 ของสินค้าที่ได้รับสิทธิ GSP เพื่อความเข้าใจในแบบฉบับกระชับ และรู้เท่าทันต่อสถานการณ์เศรษกิจที่เกิดขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจความหมาย และ ระบบที่เรียกว่า GSP ให้มากขึ้น

 

GSP คืออะไร

GSP ย่อมาจาก Generalized System of Preference หรือระบบสิทธิพิเศษทั่วไปทางภาษี เป็นระบบการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรของประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ให้แก่สินค้าจากประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organisation หรือ WTO) ในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา การให้สิทธิดังกล่าวเป็นการให้สิทธิพิเศษเพิ่มเติมไปจากสิทธิดั้งเดิมที่ประเทศต่างๆ ได้รับจากการเป็นสมาชิก WTO อยู่แล้ว

 

ภายใต้กรอบของ WTO จะมีการกำหนดอัตราภาษี MFN (ย่อมาจาก Most-favoured-nation) หรืออัตราภาษีสำหรับชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง ซึ่งเป็นอัตราภาษีนำเข้าที่ดีที่สุดที่ประเทศสมาชิก WTO จะให้แก่สินค้าที่นำเข้ามาจากประเทศสมาชิกต่างๆ ได้ แต่สำหรับการให้สิทธิ GSP นั้น จะเป็นการให้สิทธิพิเศษทางภาษีนำเข้าเพิ่มเติมแก่ประเทศที่ได้รับสิทธิไปอีก โดยจะมีการกำหนดอัตราภาษีที่ต่ำกว่าอัตรา MFN

 

ระบบ GSP มีที่มาที่ไปอย่างไร และทำไมจึงต้องมีการให้สิทธิ GSP

WTO หรือองค์การการค้าโลกก่อตั้งขึ้นเพื่อการลดการกีดกันทางการค้า และสนับสนุนนโยบายการค้าเสรี อย่างไรก็ตามในช่วงประมาณปี ค.ศ. 1960 มีการตั้งข้อสังเกตว่าหากมุ่งหวังแต่เพียงในการเปิดเสรีทางการค้าโดยไม่ให้โอกาสแก่ประเทศที่กำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาได้ปรับปรุงพัฒนาระบบเศรษฐกิจของตนแล้ว ช่องว่างในการพัฒนาเศรษฐกิจและรายได้จากการค้าระหว่างประเทศในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศที่กำลังพัฒนา หรือด้อยพัฒนาก็จะยิ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆ

 

ตัวอย่างเช่น ในกลุ่มสินค้าเกษตรและประมง ประเทศที่พัฒนาแล้วมักจะมีนโยบายการอุดหนุนในรูปแบบต่างๆ มีการใช้เทคโนโลยีทางการเกษตร และการทำประมงที่มีความก้าวหน้า ทำให้ได้ผลผลิตมาก ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาอาจยังขาดสิ่งเหล่านี้ ทำให้มีต้นทุนการผลิตสูง และต้องขายสินค้าในราคาสูงไปด้วย

 

ในช่วงปี ค.ศ. 1970 ณ ที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังค์ถัด (UNCTAD) กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วได้ร่วมกันเสนอว่าควรมีการอนุญาตให้ใช้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีนำเข้ากับสินค้าจากประเทศที่กำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาได้ ซึ่งในที่นี้รวมถึงสินค้าจากประเทศไทย ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาด้วย ที่ประชุม UNCTAD ได้มีมติเห็นชอบ และอนุญาตให้ประเทศที่พัฒนาแล้วใช้ระบบสิทธิพิเศษ GSP ได้ โดยในเริ่มแรกอนุญาตให้ใช้ไปก่อนเป็นเวลา 10 ปี

 

ต่อมาในที่ประชุมยกร่างข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (Generalized Agreement on Tariffs and Trade) หรือ GATT ในการเจรจารอบโตเกียว (Tokyo Round) ประเทศต่างๆ ได้มีมติเห็นชอบให้ประเทศที่พัฒนาแล้วมีระบบ GSP ต่อเนื่องไปได้ โดยต้องเป็นการให้สิทธิพิเศษทางภาษีเพิ่มเติมแก่สินค้าจากกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาเท่านั้น และจะต้องไม่กระทบสิทธิของประเทศอื่นๆ ที่อยู่นอกระบบ GSP

 

GSP เป็นสิทธิพิเศษที่ไทยได้รับเพิ่มเติมมาจากการเป็นสมาชิก WTO ใช่หรือไม่

ใช่, ในทางการค้าระหว่างประเทศ สิทธิ GSP เป็นสิทธิให้เปล่า ที่ประเทศสมาชิก WTO ได้รับเพิ่มเติมจากสิทธิดั้งเดิมในการเป็นสมาชิก WTO ดังนั้น เมื่อมีสถานะเป็นสิทธิให้เปล่า การกำหนดเงื่อนไขในการได้รับสิทธิพิเศษ GSP นั้น ต้องสุดแท้แต่ประเทศที่ให้สิทธิ และเป็นดุลยพินิจของประเทศที่ให้สิทธิว่าในแต่ละปีจะให้สิทธิได้เท่าใด ในสินค้ารายการใด แก่ประเทศใดบ้าง อีกทั้งยังมีสิทธิในการพิจารณาว่าประเทศที่อยู่ในรายการที่ได้รับสิทธิ GSP ในปีก่อนๆ นั้น ยังคงมีสถานะเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาอยู่หรือไม่

 

ซึ่งโดยปกติแล้วประเทศที่ให้สิทธิ GSP จะติดตามการรายงานรายได้ประชาชาติต่อหัวของประชากรในประเทศที่ได้รับสิทธิอยู่เสมอ และมีการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมในการได้รับสิทธิ GSP ให้สอดคล้องกับนโยบายของประเทศที่ให้สิทธิด้วย เช่น ต้องมีกฎหมายที่รัดกุมในเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การให้สิทธิเสรีภาพในเรื่องต่างๆ การไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน การคุ้มครองแรงงาน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งในแต่ละปีสิทธิพิเศษทางภาษี GSP ในกลุ่มสินค้าที่ประเทศต่างๆ เคยได้รับอาจมากขึ้นหรือน้อยลงกว่าปีก่อนๆ หรืออาจถูกยกเลิกไปก็ได้

 

หากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพ การได้รับสิทธิ GSP นั้น ก็เปรียบเสมือนการได้รับทุนทางการศึกษา ผู้ที่ให้ทุนย่อมมีสิทธิกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ในการให้ทุนการศึกษาได้ เช่น หากปีนี้มีรายได้น้อยลงก็อาจต้องลดจำนวนทุนลงตามที่ตนเห็นว่าเหมาะสม และในการให้ทุนนั้น ผู้ที่ให้ทุนก็สามารถกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ให้ผู้ที่ได้รับทุนต้องปฏิบัติตามได้ เช่น ต้องมีผลการเรียนดี ต้องมีความประพฤติดี และต้องมีการรายงานผลการเรียนและความประพฤติแก่ผู้ที่ให้ทุนเป็นระยะๆ เป็นต้น

 

ทำไมสหรัฐฯ จึงตัดสิทธิ GSP ไทย

ตามรายงานเบื้องต้น สหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP ไทย เนื่องจากไทยไม่จัดให้มีการรับรองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานสากล ทั้งๆ ที่จากนโยบายและแนวปฏิบัติของรัฐบาลไทยได้มีความพยายามปรับปรุงมาตรฐานและให้สิทธิแก่แรงงานเพิ่มเติมมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของแรงงงานต่างชาติในภาคอุตสาหกรรมการประมง ซึ่งไทยได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญา C188 ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่เน้นการคุ้มครองสิทธิแรงงานในภาคการประมง อีกทั้งไทยได้ออกกฎหมายภายประเทศในเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานอย่างเร่งด่วนหลายฉบับ

 

การปรับปรุงมาตรฐานและให้สิทธิแก่แรงงานดังกล่าวสอดคล้องกับแนวโน้มของสถานการณ์การค้ามนุษย์ในประเทศไทยที่ดีขึ้น และสะท้อนในผลของ TIP Report ที่สหรัฐฯ เลื่อนให้ไทยมีสถานะขึ้นมาจาก Tier 3 เป็น Tier 2 Watch List และยังสอดคล้องกับการที่สหภาพยุโรปได้ยกเลิกการให้ใบเหลืองเตือนเรื่องการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ในประเทศไทยไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

 

อย่างไรก็ตาม เราต้องไม่ลืมว่าการพิจารณาเรื่องการให้สิทธิพิเศษ GSP นั้น เป็นสิทธิและดุลยพินิจของประเทศที่ให้สิทธิเสมอ แม้ว่าทางรัฐบาลไทยอาจได้พยายามปรับปรุงประเด็นข้อท้วงติงต่างๆ จนสุดความสามารถแล้ว แต่หากทางรัฐบาลสหรัฐฯ พิจารณาว่าการรับรองสิทธิแรงงานในประเทศไทยยังไม่ดีพอ สิ่งที่รัฐบาลไทยจะทำได้ก็มีเพียงแต่การชี้แจงข้อเท็จจริงให้กระจ่างชัดแก่รัฐบาลสหรัฐฯ โดยต้องรายงานแก่สหรัฐฯ อย่างโปร่งใส อธิบายข้อเท็จจริงให้ทางรัฐบาลสหรัฐฯ เห็นเป็นที่ประจักษ์ และทราบถึงที่มาที่ไปในการแก้ไขปรับปรุงการคุ้มครองและรับรองสิทธิแรงงานในประเทศไทย รัฐบาลไทยควรเร่งจัดทำรายงานที่แสดงหลักฐานอันเป็นรูปธรรมอย่างชัดแจ้ง เพื่อจูงใจให้ทางรัฐบาลสหรัฐฯ ทบทวนการตัดสินใจยกเลิกการให้สิทธิ GSP ในครั้งนี้

 

ผู้ประกอบการควรปรับตัวอย่างไร

การที่ผู้ประกอบการไทยจะก้าวข้ามปัญหากำแพงภาษีนำเข้าในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นจากการถูกยกเลิกสิทธิ GSP นั้น มีอยู่ 2 วิธี

 

1. ต้องทำให้ต้นทุนในการผลิตต่ำลง โดยยังคงคุณภาพของสินค้าไว้ โดยต้องเพิ่มการใช้เทคโนโลยีในการผลิต หรือเลือกผลิตสินค้าที่เหมาะสมกับสภาพภูมิศาสตร์ในบ้านเราเป็นหลัก

 

2. ต้องพัฒนาคุณภาพและอัตลักษณ์ของสินค้าไทย ในปัจจุบันผู้บริโภคในประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมทั้งในสหรัฐฯ ต้องการรับรู้ที่มาที่ไปของสินค้า สินค้าที่ขายดีและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากในตลาดการค้าระหว่างประเทศมักไม่ใช่สินค้าที่ถูกที่สุด

 

แต่เป็นสินค้าที่ผู้บริโภคเชื่อมั่นในแหล่งที่มา ในคุณภาพทั้งด้านกายภาพและวิธีการผลิต และเป็นสินค้าที่มีอัตลักษณ์หรือมีเรื่องราวน่าสนใจ การพัฒนาคุณภาพและอัตลักษณ์ของสินค้าไทยจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่จะทำให้ผู้ประกอบการไทยก้าวข้ามประเด็นราคาสินค้าไทยในตลาดสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นจากการถูกยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษี GSP ได้อย่างยั่งยืน

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising