×

เอกา โกลบอล ยกระดับธุรกิจส่งออกด้วยเทคโนโลยี

03.08.2022
  • LOADING...

ธุรกิจส่งออกจะเติบโตไปพร้อมโลกยุคเทคโนโลยีได้อย่างไร ในวันที่ผู้ประกอบการต่างเร่งหาความรู้และเครื่องมือเข้ามาช่วยให้การจัดการมีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐาน พร้อมเสริมความสามารถในการแข่งขันไปอีกระดับ

 

เฟิร์น ศิรัถยา อิศรภักดี คุยกับ ชัยวัฒน์ นันทิรุจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอกา โกลบอล จำกัด ถึงบทเรียนการนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ส่งออกไปไกลหลายประเทศ จนติดอันดับ Top 5 ของโลก ในรายการ THE SME HANDBOOK by UOB

 

 

ธุรกิจของ เอกา โกลบอล ทำอะไรบ้าง

เอกา โกลบอลเป็นบริษัทผลิตพลาสติกแพ็กเกจจิงสำหรับวงการอาหารและเครื่องดื่ม แต่สินค้าจะค่อนข้างแตกต่างจากที่เห็นในท้องตลาดทั่วไป เราเรียกตัวเองว่าเป็น Longevity Packaging คือแพ็กเกจจิงที่เราผลิตขึ้นมามีความสามารถในการช่วยยืดอายุการจัดเก็บอาหารได้ยาวนานถึง 2 ปีโดยที่ไม่ต้องแช่ตู้เย็น 

 

พูดให้เห็นภาพคือ Longevity Packaging จะมาแทนบรรจุภัณฑ์ประเภทกระป๋องและขวดแก้วที่ถูกใช้ในรูปแบบเดิมมาเป็นร้อยปีแล้ว ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีอยู่ตอนนี้ทำให้โปรดักต์ในปัจจุบันสามารถผลิตออกมาในรูปแบบของพลาสติกได้ แล้วก็มีอายุการจัดเก็บยาวนานเท่ากับกระป๋องเลย นอกจากนี้ยังนำไปเข้าไมโครเวฟได้ด้วย เรียกว่าทั้งสะดวกซื้อ สะดวกใช้ รูปลักษณ์สวยงาม และยังน้ำหนักเบาด้วย

 

แม้บรรจุภัณฑ์อย่างกระป๋องจะอยู่มาร้อยกว่าปีแล้ว แต่รูปลักษณ์ของมันก็ไม่เคยเปลี่ยนไป คือเป็นรูปทรงกระบอก หนัก และอาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของ Food Safety เพราะกระป๋องจะต้องเคลือบแล็กเกอร์ หากในอนาคตเจ้าของแบรนด์ต่างๆ ต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์สินค้าหรือต้องการเพิ่มมูลค่าให้โปรดักต์ เขาก็ต้องหาแพ็กเกจจิงใหม่ๆ ที่สวยกว่าเดิม เบากว่าเดิม และสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ ซึ่งในส่วนนี้ Longevity Packaging ของเราก็เป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ 

 

การเดินทางตั้งแต่วันแรก ก่อนจะกลายมาเป็นผู้ผลิตระดับโลกในวันนี้ 

เอกา โกลบอล ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2003 นับจนถึงวันนี้ก็ 19 ปีแล้ว ถ้าย้อนไปในช่วงที่เริ่มต้นธุรกิจแรกๆ ต้องตอบว่าผลิตภัณฑ์ของเราเป็น Product Innovation จริงๆ เพราะในบ้านเรายังไม่มีใครทำเลย เราเป็นเจ้าแรกและเจ้าเดียวในประเทศไทย ส่วนในต่างประเทศ แม้จะมีผู้ผลิตอยู่บ้าง แต่ก็ยังน้อยรายอยู่ ด้วยความที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ เราเองก็ต้องใช้เวลาพอสมควรในการสร้างความเข้าใจกับตลาด ผู้บริโภค และเจ้าของแบรนด์ เพื่อให้เขาอยากจะเปลี่ยนมาใช้แพ็กเกจจิงของเรา แต่การจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมลูกค้าเพื่อให้ได้รับการยอมรับก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมันเกี่ยวข้องกับเรื่องของอายุในการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ด้วย (Shelf life) 

 

อย่างที่บอกว่า Longevity Packaging ยืดอายุการจัดเก็บได้ 2 ปีโดยไม่ต้องแช่ตู้เย็น เพราะฉะนั้นการที่ลูกค้าจะเปลี่ยนมาใช้แพ็กเกจจิงที่ไม่เคยใช้มาก่อน เขาก็ต้องมีการทดสอบอย่างจริงจังว่ามันกระทบต่อสินค้าที่บรรจุอยู่ข้างในหรือเปล่า ซึ่งก็ใช้เวลา 2 ปีเต็มๆ เช่นกันเพื่อพิสูจน์คุณภาพสินค้า ทำให้ในช่วง 5 ปีแรกเรียกว่าแทบไม่มียอดขายเลย 

 

จนถึงปัจจุบันนี้ เอกา โกลบอล มีฐานการผลิตในหลายประเทศ นอกจากในประเทศไทยแล้วเราก็มีโรงงานอยู่ที่ประเทศจีน 2 แห่ง และปีหน้าจะมีโรงงานที่อินเดียด้วย โดยกำลังการผลิตรวมของเราอยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านชิ้นต่อปี ซึ่งก็ถือว่าตอนนี้เราก็เป็นผู้ผลิตรายต้นๆ ของโลกที่ทำ Longevity Packaging ในลักษณะแบบนี้

 

เมื่อทำไปธุรกิจถึงจุดหนึ่ง ต้นทุนจะเริ่มผันแปรไปตามไซซ์การผลิต การตัดสินใจนำเทคโนโลยีมาใช้อาจจะเป็นคำตอบที่ดีก็ได้

 

โอกาสในอนาคตที่มองเห็น ก่อนจะตัดสินใจลงทุนนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิต 

ผมคิดว่าการเดินทางไปต่างประเทศบ่อยๆ ทำให้เราได้เห็นเทรนด์การเปลี่ยนแปลงของแพ็กเกจจิงโลกเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะในวงการอาหารและเครื่องดื่ม อย่างเวลาไปเดินซูเปอร์มาร์เก็ตในญี่ปุ่น เช่น ข้าวพร้อมรับประทานที่คนญี่ปุ่นฮิตกันมากๆ ซึ่งอยู่ในรูปแบบของพลาสติกแพ็กเกจจิง สามารถเอาไปอุ่นในไมโครเวฟแล้วกินได้เลย เก็บไว้ได้นาน 1 ปี ซึ่งสิ่งนี้มีมาตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อนแล้ว ตรงนี้ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เรามีความมั่นใจว่าถ้าเริ่มต้นพัฒนาเกี่ยวกับเรื่องของอินโนเวชัน ในอนาคตโปรดักต์ตัวนี้ต้องมาแน่ๆ ซึ่งก็ต้องใช้เวลาพอสมควรในการพัฒนาเทคโนโลยีจนสินค้ามีคุณภาพออกมาเป็นที่น่าพอใจมากที่สุด

 

พอโตขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ในปี 2019 เราได้เทกโอเวอร์บริษัท Printpack ที่อเมริกาจนมีไซซ์การผลิตเยอะขึ้น และกลายเป็นผู้เล่นรายต้นๆ ของโลก ซึ่งตรงนี้ทำให้เราต้องปรับกระบวนการผลิตโดยนำเทคโนโลยีมาช่วยมากขึ้น เพราะจากเดิมที่เราเคยผลิตสินค้าจำนวน 500 ล้านใบต่อปี มาตอนนี้กลายเป็น 2,500 ล้านใบต่อปี บริบทมันไม่เหมือนกันแล้ว 

 

ถ้าพูดในแง่ของต้นทุนระหว่างการลงทุนในเทคโนโลยีกับค่าแรงพนักงาน หากลองเทียบกันดีๆ เราจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่ามันคุ้มค่าในระยะยาวมากกว่า เช่น ผลิตสินค้า 500 ล้านชิ้น มีค่าแรงประมาณ 10% ของต้นทุนทั้งหมด แต่ถ้าผลิต 2,500 ล้านชิ้น เราจำเป็นต้องจ้างแรงงานเยอะขึ้นทั้งในไลน์การผลิตและการตรวจสอบคุณภาพ ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้ความสามารถในการแข่งขันของเราลดลง อีกทั้งกำไรก็อาจจะลดลงไปด้วย

 

หรือถ้าแต่เดิมเราใช้วิธีแพ็กสินค้าด้วยมือ แต่เมื่อคำสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้นหลายเท่า ค่าแรงในการจ้างคนแพ็กก็ต้องเยอะขึ้นเพื่อผลิตให้ทันตามเวลาที่กำหนด แต่ถ้ามีเครื่องจักรที่สามารถทำงานได้ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตถ้วย ตรวจสอบคุณภาพ แล้วแพ็กลงกล่องโดยไม่ใช้คนเลย ก็อาจช่วยทำให้ต้นทุนโดยรวมลดลงได้ 

 

แน่นอนว่าการลงทุนเครื่องจักรชิ้นใหญ่นั้นมีมูลค่าสูง แต่ถ้าเรามีคำสั่งซื้อเข้ามาเรื่อยๆ บางทีอาจจะคืนทุนได้ภายใน 5-10 ปี แต่กับค่าแรงมันไม่มีทางลด มีแต่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นต้นทุนในส่วนนี้จะสูงขึ้นแน่นอน ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องคอยสังเกตสเกลของตัวเองว่าพอทำไปถึงจุดหนึ่ง ต้นทุนมันจะเริ่มผันแปรไปตามไซซ์การผลิต การตัดสินใจนำเทคโนโลยีมาใช้จึงอาจจะเป็นคำตอบที่ดีก็ได้

 

การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ เราไม่สามารถดูที่อัตราการทำกำไรเพียงอย่างเดียว แต่คุณภาพสินค้าต้องดีด้วย เพื่อทำให้องค์กรเติบโตได้ในระยะยาว 

 

คำแนะนำสำหรับ SMEs ที่กำลังให้ความสนใจในการนำเทคโนโลยีมาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร

ต้องดูขีดความสามารถในการแข่งขันของแต่ละบริษัทก่อนว่าเราต้องการเพิ่มตรงส่วนไหน ถ้าเป็นเอกา โกลบอล เราสนใจเรื่องคุณภาพสินค้าและอินโนเวชันเป็นหลัก ซึ่งตรงนี้เราก็ตั้งเป้าไว้เป็นอันดับหนึ่ง แต่บริษัทของคุณเองอาจจะเริ่มจากการดูก่อนว่าเราต้องการปรับปรุงและพัฒนาการผลิตหรือคุณภาพสินค้าบริการตรงส่วนไหน แล้วอยากจะใช้เทคโนโลยีอะไรเข้ามาเสริม ให้ลองตั้งงบประมาณไว้แล้วพิจารณาว่าเหมาะสมกับแผนธุรกิจของเราหรือเปล่า ถ้าพอจ่ายได้ก็ทำ หรือว่าลองติดต่อสถาบันการเงินไหนเพื่อขอความช่วยเหลือด้านเงินลงทุนก็ได้ ต้องดูมายด์เซ็ตตัวเองเป็นที่ตั้งก่อนว่าเราอยากจะพัฒนาในจุดใดบ้าง แต่ทั้งนี้ต้องมองแบบระยะยาว เพราะถ้าระยะสั้นอาจไม่เหมาะนัก

 

หลักคิดในการเลือกใช้เทคโนโลยีให้เหมาะกับธุรกิจของตัวเอง

ส่วนใหญ่ต้องมาจากผู้ผลิตหรือคนทำงานจริงๆ เพราะพนักงานทุกคนควรจะมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายการผลิต จัดซื้อ หรือไอที เข้ามาระดมสมอง ช่วยกันหาวิธีดูในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ยกตัวอย่างเช่น เรื่องการผลิต บางทีพนักงานไลน์ผลิตอาจจะไม่ใช่คนคิดวิธีการตรวจสอบสินค้าก็ได้ แต่เป็นฝ่ายจัดซื้อที่เคยไปดูงานที่อื่นมา คือการพัฒนานวัตกรรมในองค์กรมันไม่ได้จำกัดอยู่แค่แผนกใดแผนกหนึ่งเท่านั้น แต่เราเปิดกว้างให้ทุกคนเสนอความคิดร่วมกันได้ เพราะโดยปกติแล้วการทำอินโนเวชันใหม่ๆ จะไม่ใช่ระดับโปรดักชันสเกล ส่วนใหญ่เป็นแค่การทดลองสร้างโมเดลขึ้นมาแล้วมีซัพพลายเออร์มาดูแลให้ ถ้าทดลองแล้วโอเคก็ค่อยวางแผนสเกลอัปให้ใหญ่ขึ้นไปในภายหลังได้

 

แต่ข้อควรระวังก็มีเหมือนกัน สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการควรจะต้องคำนึงในการเลือกใช้เทคโนโลยี นอกเหนือจากเรื่องความสามารถของเครื่องจักรและนวัตกรรมองค์กร เราต้องให้ความสำคัญกับการเทรนนิ่งและเซอร์วิสจากซัพพลายเออร์หรือผู้ผลิตด้วย ต้องดูรายละเอียดให้ชัดเจนว่าบริการหลังการขายเป็นอย่างไร มีการมาช่วยเทรนพนักงานให้ด้วยหรือเปล่า เพราะออโตเมชันเป็นการใช้งานระยะยาว ฉะนั้นในเรื่องของการบำรุงรักษาอุปกรณ์ เราก็ต้องมั่นใจว่าจะได้รับการดูแลที่ดี และอย่างน้อยที่สุดพนักงานของเราก็ต้องมีความสามารถในการดูแลระบบเบื้องต้นได้ด้วย

 

จัดลำดับความสำคัญ ก่อนเริ่มรีโนเวตองค์กรด้วยเทคโนโลยี 

สำหรับผมจะให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพเป็นอันดับหนึ่ง เพราะถ้าคุณภาพไม่สม่ำเสมอ ต่อให้คุณมีกำไรระยะยาว แต่การเติบโตก็อาจเป็นไปได้ยาก ในเรื่องของการทำธุรกิจ เราไม่สามารถที่จะดูอัตราการทำกำไรเพียงอย่างเดียว แต่การจะทำให้องค์กรเติบโตในระยะยาว คุณภาพสินค้าต้องดีก่อน เมื่อไรก็ตามที่การลงทุนทำให้เราสามารถปรับปรุงคุณภาพสินค้าให้ดีขึ้นหรือมีมาตรฐาน ให้เลือกลงทุนที่จุดนั้นก่อน 

 

เรื่องแบรนด์ก็สำคัญเช่นกัน เพราะถ้าเป้าหมายขององค์กรคือการเติบโตในระดับโกลบอล เราก็ควรต้องขึ้นไปอยู่ในระดับเดียวกับเขาให้ได้ อย่างเอกา โกลบอล จะโชคดีหน่อยที่ได้โอกาสในการเทกโอเวอร์แบรนด์ใหญ่ แต่ในบางธุรกิจที่ต้องการคู่ค้าระดับโกลบอล เขาจะเลือกมองแต่บริษัทโกลบอลด้วยกัน ฉะนั้นถ้าธุรกิจของคุณยังเป็นระดับภูมิภาค ถึงแม้จะมีประวัติที่ดี แต่เขาอาจยังไม่มั่นใจเต็มร้อยว่าเราจะสามารถตอบสนองความต้องการในสเกลระดับโลกได้ แบรนดิ้งจึงเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ ถ้าเรามีโอกาสเป็นโกลบอลได้ก็ควรจะทำ ถ้าเห็นโอกาสว่าไปได้ก็ควรจะไป เพราะจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับแบรนด์ระดับโลกได้มากขึ้น

 

การพัฒนานวัตกรรมในองค์กรไม่ได้จำกัดอยู่แค่แผนกใดแผนกหนึ่งเท่านั้น แต่ควรเปิดกว้างให้ทุกคนเสนอความคิดร่วมกันได้

 


 

Credits

 

Host ศิรัถยา อิศรภักดี

Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Sound Recording Engineer ขจีพรรณ วิจิตรรัตน์

Graphic Designer อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Channel Admin นิพพิชฌน์ ชุลีนวน

Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

Webmaster อารยา ปานศรี

Social Media Admins วนัชพร ดวงนิล, สุทธกิตติ์​ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, วิมลณัฐ พรศิริอนันต์

Archive Officer ชริน จำปาวัน 

 

 

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



X
Close Advertising