×

Agile ไม่ได้เหมาะกับทุกบริษัท แต่คนทำงานต้องเข้าใจให้ชัดว่ามันคืออะไร

03.04.2019
  • LOADING...

ในยุคนี้มีศัพท์เฉพาะเกี่ยวกับการทำงานเกิดขึ้นมากมาย Agile เป็นหนึ่งคำค้นหายอดฮิต ที่องค์กรส่วนใหญ่อยากทดลองนำมาใช้มากที่สุด แต่ในขณะเดียวกัน หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าความหมายที่แท้จริงของ Agile คืออะไร เหมาะสำหรับองค์กรแบบไหน และจะทำให้เกิดผลอย่างไรกับทีม

 

รวิศ หาญอุตสาหะ คุยกับ พงศ์ระพี เจนจรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Agile และ CTO แห่ง Wisesight ในรายการ Super Productive

 


 

“สำหรับผม Agile ไม่ได้เป็นแค่วิธีการทำงานหรือรูปแบบการทำงานแบบใดแบบหนึ่ง แต่มันคือ วิธีคิดและวิธีเป็นอยู่ภายใต้ตัวตนของคน ทีม และองค์กร”

 

4 หัวใจสำคัญของ Agile

 

1. ‘คนและปฏิสัมพันธ์ของคน’ สำคัญกว่า ‘กระบวนการและเครื่องมือ’

ที่กล่าวมาเช่นนี้ไม่ได้แปลว่า กระบวนการและเครื่องมือไม่สำคัญ เพียงแต่สองสิ่งนี้ต้องคงอยู่ เพื่อทำให้คนทำงานได้ดีขึ้น ไม่ใช่เข้ามาทำให้ยากขึ้น จนเกิดปัญหาขัดแย้งตามมาในที่สุด

 

2. ‘ผลงานที่นำออกไปใช้ได้จริง’ สำคัญกว่า ‘การทำเอกสารอ้างอิง’

อย่าลืมว่าหน้าที่หลักของทีมคือ การสร้าง Value ให้กับบริษัทตนเองและลูกค้า ส่วนการทำสัญญาข้อตกลงหรือเอกสารต่างๆ เป็นเรื่องสำคัญรองลงมา

 

3. นำผลงานออกไปใช้ให้เร็วที่สุด เพื่อขอฟีดแบ็กมาปรับปรุงแก้ไข

ส่งต่อผลงานไปให้ถึงผู้ใช้จริงอย่างรวดเร็วและบ่อยที่สุด เพื่อขอความคิดเห็นทั้งในแง่ดีและแง่ที่ต้องปรับปรุง มาพัฒนาผลงานให้ดีมากขึ้นอยู่เสมอ

 

4. ‘การวางแผน’ สำคัญกว่า ‘การทำตามแผน’

พนักงานที่ต้องทำงานร่วมกัน มักพูดคุยกันบ่อยที่สุดในช่วงวางแผนงาน แต่ทันที่ที่แผนงานเสร็จ ทุกคนก็ต่างแยกย้ายไปทำตามหน้าที่ โดยไม่ค่อยมีการสื่อสารกันเท่าไรว่าแต่ละคนทำงานไปถึงไหน มีใครต้องการความช่วยเหลือไหม เราควรไปร่วมมือกับใครอีกหรือเปล่า ทั้งที่จริงๆ แล้ว การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมันทำให้ทุกคนเห็นภาพรวมไปพร้อมกัน ฉะนั้น ทันทีที่วางแผนเสร็จ ทิ้งมันซะ และเริ่มต้นวางแผนใหม่ที่เหมาะสมไปเรื่อยๆ

 

องค์กรแบบไหนเหมาะสำหรับ Agile

ลองสำรวจก่อนว่า ตอนนี้ทีมงานของคุณมีปัญหาอะไรหรือไม่ ถ้าไม่มี แนะนำว่ายังไม่ต้องใช้ Agile เพราะนั่นแปลว่า ระบบงานของทีมดีอยู่แล้ว แต่หากมีปัญหาติดขัดหรือพบเจออุปสรรคที่คิดว่า Agile แก้ไขได้ ก็สามารถลองทำดูได้ โดยต้องไม่ลืมว่า Agile เองก็อาจพาปัญหารูปแบบใหม่มาให้ เช่น หัวหน้าอาจรู้สึกเสียการควบคุม เพราะอำนาจตัดสินใจย้ายไปอยู่ที่ทีมงาน ดังนั้นก่อนตัดสินใจ ลองชั่งน้ำหนักถึงความคุ้มค่า พร้อมถามพนักงานของตัวเองด้วยว่า ทุกคนพร้อมแล้วจริงๆ ใช่หรือไม่

 

ตัวอย่างปัญหาที่ Agile ช่วยแก้ไขได้

  • ทำโปรเจกต์เสร็จแล้วไม่มีคนใช้
  • แต่ละแผนกทำงานไม่เชื่อมโยงกัน

 

ปัญหาที่มักพบบ่อยเวลาเริ่มทำ Agile

หลายครั้งการตัดสินใจทำ Agile มาจากผู้บริหารที่ไปค้นพบเรื่องนี้ และคิดว่าน่าจะทำให้ทีมตัวเองทำงานได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงนำมาทดลองใช้ทันที โดยไม่ถามความสมัครใจทีมงานก่อน บางคนอาจถึงขั้นบังคับและตั้งเป็น KPI ประจำปีว่า หากทำไม่สำเร็จภายในเวลาที่กำหนด พนักงานจะอดได้โบนัส

 

ผลที่ตามมาคือ พนักงานต้องไปศึกษาทำความเข้าใจด้วยตัวเอง และลงมือทำเท่าที่รู้ เพื่อนำมายืนยันกับเจ้านายว่า “ฉันทำ Agile แล้ว ให้โบนัสฉันเถอะ” ซึ่งผิดไปจากจุดประสงค์ที่แท้จริงของการทำ Agile

 

ดังนั้น หากอยากให้พนักงานทำ Agile ลองให้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งพวกเขาไปเทรนนิ่ง และถ้าพวกเขาสนใจด้วยตัวเองจริงๆ เดี๋ยวพวกเขาจะหาวิธีไปต่อเอง หรืออีกทาง หัวหน้าต้องเข้าไปพูดคุยตรงๆ ว่าอยากให้มาทดลองวิธีนี้ด้วยกัน จึงจะได้ผลตอบรับที่ดีกว่า

 

คนส่วนใหญ่มักคิดว่า Aglie จะทำให้ทีมทำงานได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งไม่จริงเสมอไป เพราะถ้าทีมทำแค่ Agile แต่ไม่เปลี่ยนเรื่องอื่น ก็อาจวนกลับมาอยู่ที่ปัญหาเดิมอยู่ดี

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ SUPER PRODUCTIVE
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 

 

Credits

 

The Host รวิศ หาญอุตสาหะ

The Guest พงศ์ระพี เจนจรัตน์

Show Creator รวิศ หาญอุตสาหะ

Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์

Proofreader ภาวิกา ขันติศรีสกุล

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X