×

รวมคำตอบเรื่อง Career Path ที่คนทำงานทุกอาชีพควรรู้ และนำไปปรับใช้ได้ทันที

06.02.2019
  • LOADING...

Career Path คืออะไร จะช่วยให้ชีวิตและการทำงาน Productive ขึ้นได้อย่างไร

 

รวิศ หาญอุตสาหะ คุยกับ บี-อภิชาติ ขันธวิธิ เจ้าของเพจ HR – The Next Gen เกี่ยวกับเรื่อง Career Path ที่มนุษย์ทำงานทุกอาชีพควรรู้ และสามารถนำไปปรับใช้ได้ทันที ในพอดแคสต์ SUPER PRODUCTIVE

 




อย่ายึดติดกับความฝันอันสูงสุด

สำหรับคนที่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร คำนึงไว้เสมอว่าสิ่งที่เราชอบที่สุด อาจไม่ใช่สิ่งที่สามารถอยู่ในชีวิตประจำวัน หรือทำให้มีรายได้ ลองนึกถึงความชอบอันดับถัดมา ค่อยๆ คิดไล่ไปทีละข้อ แล้วมองหาความเป็นไปได้ในการนำมาปรับเปลี่ยนให้เป็นหน้าที่การงานของตัวเอง

 

มองหาพรสวรรค์ที่ซ่อนอยู่

สำหรับคนที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร ลองมองย้อนกลับไปถึงสิ่งที่เคยทำในอดีต หาคำตอบให้ตัวเองว่า เราถนัดในเรื่องอะไรมากที่สุด ถ้าไม่รู้ลองถามคนใกล้ตัวดูก็ได้ อาจพบเจอพรสวรรค์ที่ซ่อนอยู่โดยไม่รู้ตัว และเปลี่ยนเป็นอาชีพได้ในที่สุด

 

หาจุดขายของตัวเองให้เจอ

เวลาทำงาน ลองมองตัวเองเป็นหน่วยธุรกิจที่อยู่ในองค์กร บริษัทกำลังซื้อบริการจากเรา บริการในที่นี้คือความรู้ ความสามารถและเวลา หาจุดแข็งของตัวเองออกมาให้ได้มากที่สุด แล้วเทียบดูว่าจุดแข็งที่มีเหมาะกับองค์กรของเราไหม ใช่สิ่งที่เขาต้องการหรือเปล่า

 

ยิ่งมีช่องว่างระหว่างจุดแข็งของเรากับความต้องการของบริษัทน้อยเท่าไร เรายิ่งมีโอกาสเติบโตใน Career Path ได้มากเท่านั้น

 

ปรับมุมมองความคิดในองค์กรที่โครงสร้างเติบโตยาก

พนักงานมักมอง Career Path เป็นแนวตั้ง คิดว่าต้องเลื่อนลำดับตำแหน่งกับผลตอบแทนให้สูงขึ้นเรื่อยๆ ถึงเรียกว่าประสบความสำเร็จ แต่ในสายตาของ HR มักมองถึงการพัฒนาในแนวนอน นั่นคือการขยายทักษะความรู้ความสามารถของพนักงานให้กว้างขึ้น โดยเฉพาะองค์กรที่มีโครงสร้างแบน มีขั้นลำดับตำแหน่งให้เติบโตน้อย ต้องยอมรับความจริงก่อนว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่จะเติบโตในแนวตั้งขนาดนั้น

 

ดังนั้น ถ้าบริษัทไม่ได้มีแผนขยายธุรกิจ หรือหัวหน้ายังไม่ไปไหน อย่างไรเราก็ไม่โตแน่นอน แต่ถ้ามีจุดประสงค์ชัดเจนว่าอยากจะเติบโตจริงๆ อาจต้องหาโอกาสเติบโตในที่ใหม่ แต่ต้องไม่ลืมขยาย Career Path ในแนวนอน เพื่อเตรียมพร้อมขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้นด้วย

 

Career Path ของคนที่เป็น Freelance

สำหรับคนที่ไม่ได้เป็นพนักงานประจำ อาจเป็นกราฟิก ช่างภาพ นักเขียน ดีไซเนอร์ หรืออื่นๆ ลองตั้งเป้าหมายในสายอาชีพของตัวเอง เช่น ถ้าเพิ่งจบใหม่ ยังเป็นจูเนียร์ในวงการ อาจบอกกับตัวเองว่า ในอีก 3 ปีข้างหน้า เราต้องมีคนรู้จัก ต้องเป็นที่นึกถึงอันดับแรก แล้วศึกษาว่าจะพัฒนาอย่างไรให้สามารถไปถึงจุดนั้น และคิดต่อไปอีกว่า หลังจากนั้นไปจะตั้ง Career Path ต่อไปอย่างไร

 

จริงไหมที่ยิ่งอายุมาก ยิ่งหางานยาก

ยุคนี้บางบริษัทจำกัดอายุคนเข้าทำงานใหม่ไม่เกิน 35 ปี เพราะมองว่าคนที่อายุมากกว่านี้ ไม่น่าเข้ามาทันการทำงานของคนรุ่นใหม่ หรืออีกแง่หนึ่งก็ต้องถามกลับไปว่า ถ้าเพิ่งเข้าทำงาน สามารถรับได้ไหมถ้ามีฐานเงินเดือนเท่าคนอายุ 25 เพราะงานใช้ทักษะไม่ต่างกัน

 

แต่ในอีก 5 ปีข้างหน้า เรื่องอายุจะถูกตัดไป บริษัทจะหันมาสนใจที่ทักษะความรู้ของคนที่สามารถทำงานได้จริงเป็นหลัก สังคมการทำงานจะถูกขยับด้วยช่วงอายุที่สูงขึ้น เพราะมีหลายธุรกิจเชื่อว่า กลุ่มคนอายุ 35-45 ปี มีความพร้อมต่อการขับเคลื่อนธุรกิจได้

 

ลาออกดีไหม? ถ้าไม่เห็น Career Path ของตัวเองในบริษัทเดิม

ถ้าคุณอยากเปลี่ยนงาน เพราะต้องการแค่ชื่อตำแหน่งใหญ่ อยากขอให้คิดให้ถี่ถ้วน

 

ลองถามตัวเองว่า วันแรกที่เดินเข้ามาในบริษัทนี้ เราต้องการอะไร แล้ววันนี้เหตุผลอะไรที่ทำให้การลาออกมีน้ำหนักมากขึ้น หากคำตอบที่ได้คือ Career Path ไม่เติบโต ต้องถามกลับไปอีกว่า Career Path ที่ไม่โตนั้นมีความสำคัญกับเรามากแค่ไหน ต้องการเพียงแค่ชื่อตำแหน่งใหญ่ หรือความท้าทายใหม่ในงานตำแหน่งนั้น ถ้าเป็นแบบหลังที่ต้องการความท้าทายในงาน ก็สามารถมองหาในบริษัทอื่น โดยไม่ลืมเรื่องการปรับตัวและพัฒนาความสามารถที่ตอบโจทย์กับที่ใหม่ รวมถึงความเสี่ยงอื่นๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นด้วย

 

สรุปขั้นตอนการตั้ง Self-Career Path

  1. ลิสต์จุดแข็งของตัวเองที่เชื่อมโยงกับหน้าที่การงานหรือตำแหน่งที่ทำอยู่
  2. สืบดูว่าตำแหน่งที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่ามีหน้าที่ความรับผิดชอบอะไรบ้าง โดยการสังเกตจากเจ้านาย หรือเข้าไปสอบถามพูดคุยกับ HR
  3. วิเคราะห์ดูว่าช่องว่างระหว่างความสามารถที่เรามีกับหน้าที่ที่อยากเป็น ต้องพัฒนาตัวเองอีกแค่ไหน และวางแผนว่าเรามีเวลาเท่าไรในการพาตัวเองไปถึงจุดนั้น

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ SUPER PRODUCTIVE
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 


 

Credits

 

The Host รวิศ หาญอุตสาหะ

The Guest อภิชาติ ขันธวิธิ

Show Creator รวิศ หาญอุตสาหะ

Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์

Proofreader ภาวิกา ขันติศรีสกุล

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Podcast Intern วริษฐ์ โกศลศุภกิจ

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising