×

ผิดไหมถ้ารู้สึกไม่โอเคกับพ่อแม่ และจะจัดการอย่างไรถ้าไม่อยากอกตัญญู

26.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

02:58 คนเรามีสิทธิที่จะโกรธ เกลียด เอือม กับบางคน แม้จะเป็นพ่อแม่ตัวเอง

05:27 สาเหตุที่คนเราจะไม่โอเคกับพ่อแม่

09:45 เคสตัวอย่างการบำบัดของคนที่รู้สึกไม่โอเคกับพ่อแม่

16:06 แนวคิดเรื่องความกตัญญูกับสังคมไทย

23:29 จัดการความรู้สึกนี้อย่างไรถ้าต้องกลับไปเผชิญหน้ากันทุกวัน

ภาพของคนทั่วไป ครอบครัวคือสถาบันที่อบอุ่นและเป็นที่พึ่งพิง แต่ในขณะเดียวกันภาพความอบอุ่นนี้ก็แยกคนจำนวนหนึ่งออกไปเพราะครอบครัวของเขาไม่ได้เป็นแบบนั้น เด็กบางคนอาจรู้สึกไม่ชอบในสิ่งที่พ่อแม่ปฏิบัติ จนเกิดเป็นความรู้สึกที่ต่อสู้กันอยู่ในจิตใจทั้งความกตัญญูกับความเจ็บปวด

 

R U OK เอพิโสดสุดท้ายของซีซันแรก ปอนด์ ยาคอปเซ่น และ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ จะชวนกันคุยเรื่องละเอียดอ่อนอย่างความรู้สึกไม่โอเคกับพ่อแม่ตัวเอง ที่บางคนกำลังรู้สึกผิดบาปอยู่ในใจที่เกิดความรู้สึกนี้ขึ้น จนสงสัยว่าตัวเองอาจผิดปกติ และถ้าต้องเผชิญหน้ากับความรู้สึกนี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันจะจัดการอย่างไร

 


สาเหตุที่ทำให้ลูกไม่ชอบพ่อแม่ตัวเอง

อย่างที่เรารู้กันว่าเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน โดยเฉพาะ ความรู้สึกไม่โอเคกับพ่อแม่ตัวเอง หลายคนอาจนึกไม่ออกว่าเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะไม่มีประสบการณ์ร่วม หรือมีแนวคิดที่ว่าต่อให้พ่อแม่ทำตัวแย่กับเราแค่ไหน ลูกก็ควรตอบแทนพ่อแม่ในฐานะคนดีที่ควรกตัญญู แต่สำหรับทางจิตวิทยาแล้ว ความรู้สึกและพฤติกรรมทุกอย่างมักมีที่มาที่ไปอยู่เสมอ ซึ่งหลายครั้งอาจซับซ้อนเกินกว่าที่เราจะเข้าใจ เนื่องจากมีทั้งสาเหตุที่ตรงไปตรงมาและทางอ้อม

 

1. ทางตรง

ลูกอาจโดนพ่อแม่หรือคนที่เลี้ยงดูกระทำความรุนแรงทางกาย ทั้งทุบตีหรือลงไม้ลงมือโดยไม่ถามหาเหตุผล เพราะคิดว่าลูกคือสมบัติของตัวเอง เมื่อรู้สึกว่าลูกทำอะไรไม่ได้ดังใจจึงลงโทษเพื่อเป็นการสั่งสอน บางคนใช้เป็นเครื่องระบายอารมณ์ หรือบางคนกักขังหน่วงเหนี่ยว ไม่ให้อิสระ เพราะคิดว่าการเห็นลูกอยู่ภายใต้การควบคุมจะทำให้ลูกปลอดภัย อย่างร้ายแรงที่สุดคือการล่วงละเมิดทางเพศที่เราพบเห็นในข่าว ก็เป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความรู้สึกด้านลบขึ้น เพราะส่วนใหญ่ลูกจะคิดว่าตัวเองและพ่อแม่มีความสัมพันธ์ที่พิเศษระหว่างกันจึงยอมให้พ่อแม่ล่วงล้ำเข้ามามีอิทธิพลเหนือตัวเองอยู่เสมอ

 

นอกจากการกระทำทางด้านร่างกายแล้ว สิ่งที่ลูกหลายคนถูกกระทำคือเรื่อง คำพูด ที่แม้จะดูไม่เป็นรูปธรรมและไม่ได้รุนแรงในความรู้สึกของใครหลายคน แต่ในมุมของจิตวิทยาแล้วคำพูดที่ทั้งด่าทอ ส่อเสียด หยาบคาย หรือบางครั้งการพูดถึงข้อด้อยของลูกซ้ำๆ อย่างการด่าว่าโง่ เลว อกตัญญู สิ่งเหล่านี้จะเข้าไปกระทบจนความรู้สึกของลูกบอบช้ำ สร้างเป็นความรู้สึกด้านลบที่มีต่อพ่อแม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงวิธีการเลี้ยงดู ที่บางครั้งพ่อแม่แสดงตนว่าเป็นผู้ที่อยู่เหนือกว่า เป็นผู้ออกคำสั่งและตัดสินใจแทนลูก วิธีนี้มักสร้างระยะห่างและทำให้ลูกรู้สึกอยู่ภายใต้การบังคับบัญชา เวลาไปเจออะไรมาก็เลือกที่จะไม่ปรึกษา ระยะห่างนี้จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งกว่าจะรู้ตัวอีกทีต่างคนต่างกลายเป็นคนอื่น พ่อแม่บางคนเพิกเฉยต่อสิ่งที่ลูกสนใจเพราะคิดว่าเป็นเรื่องไม่สำคัญ แต่สำหรับลูกคือการทอดทิ้งทางสภาวะอารมณ์ที่เมื่อทำอย่างนี้บ่อยเข้า แม้ว่าครอบครัวจะอยู่กันพร้อมหน้า ลูกก็อาจรู้สึกโดดเดี่ยวขึ้นมาอย่างหาสาเหตุไม่ได้ ซึ่งการเพิกเฉยหรือการใช้คำพูดก็รุนแรงไม่ต่างอะไรกับการทุบตีทางกายเลยแม้แต่น้อย

ทั้งหมดนี้อาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่อย่าลืมว่าลูกเป็นผู้รับความรู้สึกทุกอย่าง โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ไม่มีความสัมพันธ์อื่น จะรู้สึกว่าพ่อแม่คือโลกทั้งใบ และการถูกกระทำความรุนแรงทั้งร่างกายและจิตใจจึงเป็นเหมือนการที่โลกทั้งใบลงโทษเขาด้วยเช่นกัน

2. ทางอ้อม

เพราะจิตใจเป็นเรื่องซับซ้อนเกินกว่าหลายคนจะนึกถึง การกระทำบางอย่างที่ดูเหมือนไม่มีผลอะไรกลับสร้างบาดแผลในใจได้มากมาย ดุจดาว วัฒนปกรณ์ ยกตัวอย่างกรณีศึกษาของผู้ที่เคยมาบำบัดว่า มีผู้ป่วยคนหนึ่งที่รู้สึกไม่ชอบพ่อแม่ตัวเองอย่างไม่ทราบสาเหตุ เมื่อมองย้อนกลับไป พ่อแม่ก็เลี้ยงดูมาอย่างดี ทั้งส่งให้เรียน ให้ความอบอุ่น จนไม่น่าจะมีปัญหาใดๆ แต่ความรู้สึกเมื่ออยู่กับพ่อแม่จะมีแต่ความขุ่นมัว รู้สึกว่าพ่อแม่ทำอะไรก็ผิด ทำอะไรก็ไม่ได้ดังใจ จนเข้ามาพบจิตแพทย์และนักจิตบำบัด เมื่อค่อยๆ ย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ในอดีตก็พบว่า ตอนเด็กๆ ผู้หญิงคนนี้ถูกคนในครอบครัวที่ไม่ใช่พ่อแม่ล่วงละเมิดทางเพศ ขณะนั้นเธอยังเด็กเกินกว่าจะต่อสู้ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นคือนอกจากจะเกลียดผู้ที่กระทำแล้ว ยังรู้สึกโกรธพ่อแม่ เพราะเธอถูกกระทำในบ้านที่เป็นพื้นที่ปลอดภัย และรู้สึกว่าพ่อแม่จะต้องมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองเธอได้ ความรู้สึกโกรธนั้นไม่ได้แสดงออกมาแต่แรก แต่ถูกกักเก็บไว้ในใจ จนค่อยๆ แสดงออกมาเป็นความรู้สึกไม่ชอบในที่สุด

 

จะเห็นได้ว่าสาเหตุทั้งทางตรงและทางอ้อม บางครั้งเกิดจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่น่าเกี่ยว แต่ในความจริงมันเชื่อมโยงกันอย่างที่เราคิดไม่ถึง ถ้าหากลองนั่งสำรวจตัวเองอาจใช้เวลานานและไม่พบสาเหตุที่แท้จริง เพราะฉะนั้นการเดินเข้าไปหาผู้เชี่ยวชาญจึงเป็นทางออกที่ควรทำ

 

จะทำอย่างไรหากเกิดความรู้สึกไม่โอเคกับพ่อแม่ตัวเอง

ไม่ว่าสาเหตุจะเกิดจากอะไร คนที่มีความรู้สึกแบบนี้จะเป็นทุกข์อย่างมาก เพราะจะสับสน ด้านหนึ่งก็ทุกข์กับสิ่งที่พ่อแม่กระทำต่อเรา แต่อีกด้านก็ไม่อยากเป็นคนอกตัญญู เพราะมีความเชื่อว่าผู้ให้กำเนิดคือผู้มีพระคุณสูงสุดที่ต้องตอบแทน ลองค่อยๆ คิดตามนี้อย่างใจเย็นและเป็นขั้นตอน อาจช่วยให้ความสับสนค่อยๆ คลี่คลายลงได้

 

1. อย่าเพิ่งลงโทษตัวเอง

นี่เป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะหลายคนที่รู้สึกไม่ชอบพ่อแม่จะลงโทษตัวเองอย่างทันทีทันใด และรีบเป็นศาลตัดสินโดยอัตโนมัติว่าตัวเองเป็นคนเลว อกตัญญู บางคนพยายามเก็บกดความรู้สึกไม่ชอบพ่อแม่ไว้ด้วยการฝืนตอบแทนความดีด้วยวิธีการต่างๆ แต่ในเมื่อต้นตอของปัญหายังไม่ถูกแก้ไขให้ตรงจุด ก็จะเกิดความขัดแย้งในใจเรื่อยไปอย่างไม่รู้จบ จนบางครั้งความไม่พอใจที่กักไว้อาจปะทุขึ้นมาในวันใดวันหนึ่งจนนำไปสู่ความรุนแรงเลยก็มี

 

2. ผ่อนคลายตัวเองจากแนวคิดเรื่องกตัญญู

ความกตัญญูเป็นความเชื่อที่สังคมไทยยึดถือว่าเป็นเครื่องหมายของคนดี และถ้าเราจะเลือกเชื่อเช่นนั้นก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ถ้าแนวคิดนี้กลายเป็นกับดักให้แก้ปัญหาบางอย่างไม่ได้ ลองอนุญาตให้ตัวเองถอดแนวคิดนี้ลงชั่วคราว แล้วมองสิ่งที่พ่อกับแม่กระทำต่อเราอย่างที่เช่นที่มนุษย์ต่อมนุษย์พึงปฏิบัติต่อกัน อาจทำให้เราเห็นสถานการณ์ต่างๆ ชัดเจนขึ้น

 

3. แยกตัวเองออกมาจากสถานการณ์นั้น

เมื่อถอยไปสังเกตการณ์อย่างคนนอก เราอาจเห็นว่าเป็นความสมเหตุสมผลอย่างมากที่มนุษย์คนหนึ่งจะรู้สึกโกรธ เกลียด หรือเอือมต่อสิ่งที่ถูกปฏิบัติ เป็นสิทธิที่มนุษย์คนหนึ่งพึงจะรู้สึกได้อย่างไม่ผิดบาป

 

4. ถามตัวเองว่าเรารู้สึกอะไรกันแน่

เมื่อเริ่มเข้าใจแล้วว่าเป็นสิ่งไม่ผิดที่เราจะรู้สึกไม่โอเคกับพ่อแม่ ลองลงรายละเอียดความรู้สึกว่าไม่โอเคนั้นเป็นประเภทไหนกันแน่ อาจเป็นความโกรธ เกลียด หมั่นไส้ หรืออิจฉา แล้วค่อยๆ ใช้เวลาย้อนกลับไปนึกถึงเรื่องที่ผ่านมาว่าความรู้สึกนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ตอนไหน สถานการณ์อะไรที่ทำให้เราเริ่มรู้สึกแบบนี้ ขั้นตอนสำรวจความรู้สึกตัวเองอาจใช้เวลานานและหลายคนไม่ประสบความสำเร็จ จึงอาจต้องพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญในการพูดคุยหรือบำบัด แล้วเราจะเข้าใจต้นเหตุของความรู้สึกได้ชัดเจนมากขึ้น

การเข้าใจต้นตอของความรู้สึกทั้งหมดเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเมื่อเราเข้าใจเรื่องราวทั้งหมด เราจะสามารถให้อภัยพ่อแม่ ให้อภัยตัวเอง และที่สำคัญเราจะดีลกับความรู้สึกนั้นได้ในที่สุด

5. พบผู้เชี่ยวชาญ

เมื่อสิ่งที่เรากำลังรู้สึกอยู่นั้นยากเกินกว่าจะรับมือด้วยตัวเองคนเดียว การพบจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัดจึงเป็นทางออกที่ควรนึกถึง เพราะนอกจากจะทำให้เราเข้าใจตัวเองแล้ว ยังอาจทำให้เราเห็นวิธีคิดอื่นๆ ที่ไม่เคยคิดมาก่อนและทำให้เราจัดการกับปัญหานี้ได้ จะเป็นการดีที่สุดถ้าหากพ่อแม่รับรู้และตระหนักถึงปัญหานี้และพากันไปพบผู้เชี่ยวชาญกันทั้งครอบครัว เพราะในปัจจุบันมีจิตแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านปัญหาครอบครัว ที่จะช่วยบำบัดรักษาไปพร้อมๆ กัน ปัญหาจะคลี่คลายได้เร็วขึ้น

 

หากกำลังเผชิญหน้าความรู้สึกนี้อยู่คนเดียวก็อย่าลังเลที่จะไปพบจิตแพทย์ เพราะหลายคนกังวลว่าต่อให้รักษาแล้วกลับบ้านมาเจอพ่อแม่อีก ก็จะเกิดความรู้สึกเดิมอีก ไม่มีวันรักษาหายอยู่ดี ที่จริงไม่เป็นจริงอย่างนั้นเสมอไป เพราะทุกครั้งที่ได้พบจิตแพทย์จะทำให้เรามีแนวคิดใหม่ๆ สร้างวิธีการรับมือใหม่ๆ ที่ลึกซึ้งและกว้างขึ้น ต่อให้กลับมาเจอปัญหาเดิมที่บ้าน เราก็จะจัดการกับปัญหานั้นได้ดีขึ้น

 

ปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นเรื่องซับซ้อนก็จริง แต่อย่าเพิ่งหมดหวัง หลายคนมักปล่อยเพราะยากเกินกว่าจะจัดการ หลายคนรีบตัดสินตัวเองว่าเป็นคนเลวทรามที่เกิดความคิดแบบนี้ แต่อยากให้ลองคิดอีกด้านว่า ถ้าเราปล่อยให้ความรู้สึกนี้คาราคาซังต่อไป มันจะสร้างแบบแผนความสัมพันธ์ที่บิดเบี้ยว สร้างพฤติกรรมรุนแรงจนมัดเป็นปมแน่นและกระทบความสัมพันธ์อื่นๆ ในชีวิต ซึ่งถึงเวลานั้นอาจจะยากเกินไปที่จะสะสางจริงๆ ก็เป็นได้

 


 

Credits


The Hosts
ปอนด์ ยาคอปเซ่น, ดุจดาว วัฒนปกรณ์

 

Show Creator อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Episode Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic.com

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising