×

น้าหัง-อัฐชพงษ์ สีมา นักพากย์ฟุตบอลที่อินเนอร์มาเต็ม!

10.07.2018
  • LOADING...

อัฐชพงษ์ สีมา หรือ น้าหัง นักพากย์ฟุตบอลที่คอบอลบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า พากย์ได้อิน มัน เร้าใจที่สุด การันตีด้วยรางวัลผู้บรรยายกีฬาดีเด่น รางวัลโทรทัศน์ทองคำ ปี 2559

 

กว่า 20 ปีในวงการ จุดเริ่มต้นเป็นมาอย่างไร การพากย์ในสมัยก่อนยากแค่ไหน เขาฝึกฝนและมีเทคนิคอะไรถึงทำให้พากย์ได้สนุกอยู่เสมอ   

 

กดปุ่ม Play ด้านบนเพื่อฟังพอดแคสต์ Random Wisdom ซีรีส์พิเศษ Soccer Wisdom แต่ถ้าถนัดอ่านก็ไล่สายตาเพื่อเสพบทความด้านล่างได้เลย

 


 


จุดเริ่มต้นของการเป็นนักพากย์

เริ่มจากการแข่งขันฟุตบอลภายใน สมัยเรียนสาขาวิทยาศาสตร์การกีฬาที่จุฬาฯ เริ่มพากย์จากความสนุกตามประสาเด็กทั่วไปที่ชอบพากย์ แล้วตอนนั้นได้รู้จักกับอาจารย์สุวัฒน์ (น้าติง) ซึ่งเป็นนักพากย์อยู่แล้ว เลยบอกอาจารย์ว่าถ้ามีงานพากย์ชวนผมไปด้วยนะครับ แกยังบอกกลับมาเลยว่า อย่างเราจะได้เรื่องเหรอ (หัวเราะ)

 

สมัยนั้นเคเบิลทีวียังเป็น UTV และ IBC เราได้ไปพากย์ของ UTV ก่อนที่จะย้ายมาพากย์ที่ IBC แล้วก็พากย์มาตลอด ตั้งแต่ปี 1996 เป็นต้นมา ช่วงที่ IBC มารวมกับ UTV กลายเป็น UBC เป็นช่วงเวลา 4-5 ปีที่โดนคัดออกเพราะเราก็ยังโนเนม ภายหลังก็มีโอกาสไปพากย์ใหม่ แล้วก็พากย์มาเรื่อยๆ

 

น้าหัง จำแมตช์แรกที่พากย์ได้ไหม

สมัยนั้นคือการพากย์เทป ไม่ใช่บอลสด เราต้องดูเทปก่อนแล้วค่อยลงเสียงใส่ จำได้ว่าแมตช์นั้นคือบอลลีกโปรตุเกส คู่ FC Porto กับ S.L. Benfica หรือไม่ก็ Sporting CP ต้องกรอเทปเพื่อดูหลังเสื้อแล้วจดว่ามีใครบ้าง จนครบ 11 คน ถึงจะพากย์ได้เพราะไม่มีข้อมูลเลย ถ้าพากย์สองคนก็ช่วยกันจด แบ่งจากล่างขึ้นบน และบนลงล่าง ไม่เหมือนสมัยนี้ที่หาข้อมูลได้ตลอดเวลา แต่เราก็รู้สึกสนุกกับมัน

 

 

ศิลปะในการพากย์ ความยาก และการฝึกฝน

ความยากอยู่ที่ต้องออกเสียงให้ถูกต้อง ตัวผมเองมีปัญหาด้านการออกเสียงภาษาอังกฤษอยู่บ้าง หรือการออกเสียงควบกล้ำก็พยามยามทำให้ถูกต้อง นอกจากนี้ ความยากคือ เราจะบอกเหตุการณ์ตรงนั้นให้มันใช่ได้อย่างไร หากผู้รักษาประตูเอามือรับ จะพูดว่าเข้าซอง ปัดออก หรือทุบออก มันไม่เหมือนกัน ถ้าเราทำให้มันถูกต้องได้ มันจะเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง ก็ค่อยๆ เรียนรู้ไป ถ้ามีเวลาว่าง ผมจะนั่งดูเทปเก่าที่เราพากย์แล้วดูว่าจุดไหนที่เราพลาดบ้าง เราจะพยายามปรับปรุง

 

สมัยก่อนทีวียังไม่ชัด เราเห็นนักฟุตบอลบอลจากไกลๆ ต้องหาเทคนิคในการจำ ผมจะจดเช่น คนนั้นใส่รองเท้าสีอะไร ถนัดซ้ายหรือขวา เราต้องจำให้หมด ทุกวันนี้มองชัดแล้วมันง่ายขึ้น แต่เราติดเป็นนิสัยในการจดไปแล้ว

 

เสน่ห์ของการพากย์บอล

การพูดถึงเกมในจอในแบบที่คนดูอยากให้พูด เป็นจุดที่เราต้องทำให้ได้ ในทางกลับกัน ถ้าเราบอกอีกแบบหนึ่งอาจเป็นที่ขัดใจ เราต้องทำให้มีเสน่ห์ตรงนี้ ต้องถอดตัวเองออกมาเป็นผู้ชม จังหวะแบบนี้ควรจะบอกว่าอะไร นี่คือเสน่ห์ที่ทำให้คนดูชอบ

 

 

แบ่งงานกับคู่พากย์อย่างไร

ผมจะแบ่งงานกับน้องปากสองว่า ถ้าบอลกำลังเล่นอยู่ ผมจะพากย์ตามจังหวะเกมไป แต่ถ้าบอลตาย บอลออกข้าง กรรมการเป่า เกิดการฟาวล์ น้องปากสองจะเข้ามาให้ข้อมูลนักเตะ ช่วงที่บอลตายสามารถพูดอะไรก็ได้ แต่หากบอลเป็น ผมต้องกลับมาพากย์เกมตามที่เกิดขึ้นจริง นี่คือสไตล์ของผม ซึ่งมันก็แล้วแต่สไตล์ของแต่ละคน ส่วนจะรู้ได้อย่างไรว่าจังหวะนี้ต้องเร่งเสียงแค่ไหน มันเป็นความรู้สึกที่เราอินกับมัน เราสามารถเข้าใจได้เพราะเป็นนักฟุตบอลมาก่อนด้วย จังหวะแบบนี้ต้องยิง หรือจังหวะแบบนี้ยิงไม่ได้ ซึ่งก็ไม่ได้ถูกเสมอไป บางครั้งก็แป้ก เช่น เมสซีไม่ยิง จะมีจังหวะการยั้ง การล็อกต่างๆ เราก็ต้องเปลี่ยนทางใหม่ การพากย์บาร์เซโลนา ทำให้เรามีสเตปในการมองมากยิ่งขึ้น ตัวผมอยู่กับบอลสเปนมาตลอด เราเข้าใจว่าบอลมันต้องเป็นแบบนี้ถึงจะน่าดู พอเจอบอลแนวอื่นเราก็เข้าใจ จะพรีเมียร์ลีกหรือบอลไทย แม้จะเป็นฟุตบอลเหมือนกัน แต่การพากย์ก็แตกต่างกัน

ถ้าเราพากย์แล้วไม่มัน เราเองยังเบื่อ คนดูก็คงเบื่อแน่ๆ นี่คือหลักของผมตั้งแต่สมัยพากย์ช่วงดึก ถ้าเราง่วง แล้วคนดูจะมานั่งดูเราง่วงทำไม เราจะปลุกตัวเองด้วยการที่เราสนุกไปกับเกม มันจึงติดเป็นนิสัย สำหรับผมเลยไม่มีบอลคู่ไหนที่ไม่สนุก

ผมชอบดูการวางแผนของโค้ช ทีมที่เป็นรองท้ายตาราง แต่ต้องเจอกับทีมใหญ่ เขาจะมาสู้อย่างไร สู้ได้หรือไม่ บางครั้งไม่จำเป็นต้องยิงก็มันได้ เพียงเรารู้จังหวะ และวิธีการพูด ที่สำคัญเราต้องสนุกกับมันและไม่เฟก

 

ฟุตบอลเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ในชีวิต

สมัยเด็ก กีฬาอย่างเดียวที่เล่นคือฟุตบอล ผมเล่นเป็นนักฟุตบอลในทีมโรงเรียน มหาวิทยาลัย แต่ก็ไม่เคยคิดจะเป็นนักพากย์ ทุกวันนี้ก็ไม่ค่อยได้เล่นด้วยสภาพร่างกายและอายุ จึงหันมาเล่นกอล์ฟแทน แต่ในด้านการงาน ฟุตบอลก็คือร้อยเปอร์เซ็นต์ พอผมมีเวลาว่างก็จะหาข้อมูล โชคดีที่เป็นฟรีแลนซ์จึงมีเวลาว่างสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติม เช่น ช่วงเวลาที่อยู่กับลูก

 

กิจวัตรประจำวัน

สำหรับวันหยุด ถ้าไม่มีงาน ตื่นเช้ามา ผมจะพาลูกไปออกกำลังกาย ไปส่งภรรยา เสร็จแล้วก็ไปเล่นกีฬา หากวันไหนมีงานพากย์ดึก ผมจะนอนช่วงเช้า ตื่นช่วงเที่ยง ส่วนช่วงบ่ายอาจจะไปออกกำลังกาย ตีกอล์ฟ จ๊อกกิ้งในสวนสาธารณะ ปั่นจักรยาน แล้วแต่วันว่าวันนั้นเหมาะกับการออกกำลังกายเเบบไหน อาชีพของผมเป็นอาชีพที่ต้องทำงานดึก ฉะนั้นต้องออกกำลังกายสู้ ต้องเตรียมร่างกายให้พร้อม และรักษาร่างกายสำหรับอนาคต

 

 


 

Credits

 

Intro Voice-over นทธัญ แสงไชย

 

Show Creator ภูมิชาย บุญสินสุข

Episode Producers อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค, เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์

Photographer อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค

Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic.com

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X
Close Advertising