×

ไปเรียน MBA ท่ามกลางเพื่อนจากประเทศกว่าค่อนโลกที่ INSEAD ฝรั่งเศส

17.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

01.30 เต่า ไชยณัฐ แนะนำตัวเป็นภาษาอังกฤษ

02.48 ก่อนจะเป็นนักเรียนนอก

04.40 คาแรกเตอร์ของโรงเรียน MBA ต่างๆ

06.56 ยากแค่ไหนกับการเข้าโรงเรียนระดับท็อปเท็นของโลก

09.50 นักเรียนแบบที่ INSEAD ต้องการ

12.55 พูดถึง INSEAD, ฟงแตนโบล และฝรั่งเศส

23.17 บรรยากาศใน INSEAD

25.53 เรื่องในคลาสเรียน

35.13 วิชาที่ชอบมาก

39.47 ได้เพื่อนสนิทกลับมาด้วยหรือเปล่า

42.27 ได้อะไรจากการจบการศึกษาจากที่นี่

43.54 ข้อแนะนำสำหรับคนที่อยากไปเรียนที่ INSEAD

     เต่า ไชยณัฐ เป็นพนักงานออฟฟิศ และนักเขียนที่รู้จักในนามปากกาว่า บองเต่า หลังจากเขียนแชร์ประสบการณ์การเรียน ป.โท MBA ที่ INSEAD สถาบันระดับโลกที่เมืองฟงแตนโบล ประเทศฝรั่งเศส ไว้ในหนังสือ บอง ออง ฟรองซ์ คราวนี้นักเรียนนอกพอดแคสต์ ขอถามเจาะลึกไปถึงวิธีการเข้าเรียน บรรยากาศในคลาส และความเฮฮาปาจิงโกะทั้งในและนอกห้องเรียน ในแบบที่หนังสือยังไม่ได้เล่า

     “สวัสดีครับ ผมชื่อไชยณัฐ หรือจะเรียกผมว่าเต่าก็ได้ ผมเรียนจบ MBA จาก INSEAD ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองฟงแตนโบล ประเทศฝรั่งเศส เมื่อคุณนึกถึง MBA คุณน่าจะนึกถึง business school ในสหรัฐอเมริกา แต่จริงๆ แล้วเรามีโรงเรียนดีๆ อีกเยอะในยุโรป ไม่ว่าจะเป็น LBS (London Business School) ในอังกฤษ หรือ INSEAD ในฝรั่งเศส ซึ่งเป็น business school อันดับหนึ่งของโลกอยู่ตอนนี้

     “เมื่อพูดถึงฝรั่งเศส คุณน่าจะนึกออกว่าจะเพลิดเพลินไปกับอะไรในฝรั่งเศสได้บ้าง เช่น อาหาร ไวน์ หรือชีส และแน่นอนว่าที่โรงเรียนเราด้วย เพราะ INSEAD คือโรงเรียนบิสิเนสที่มีความหลากหลายมากที่สุดในโลก ที่นี่เราสามารถเป็นเพื่อนกับผู้คนจาก 70-80 ประเทศทั่วโลก

     “และชื่อของ ฟงแตนโบล น่าจะเป็นอะไรที่ไม่คุ้นเคยกับคนไทย แต่จริงๆ ที่นี่เป็นเมืองที่น่าสนใจมาก ด้วยความที่มีปราสาทฟงแตนโบลหลังใหญ่ และตัวเมืองเองก็มีระยะเดินทางจากปารีสแค่ 40 นาทีเท่านั้น นั่นแปลว่าคุณสามารถเดินทางมาที่โรงเรียนเราได้ในเวลาไม่เกินหนึ่งชั่วโมงจากปารีส หรือคุณก็สามารถเดินทางจากโรงเรียนไปชิลล์ที่ปารีสในยามค่ำคืนได้ง่ายๆ ทุกวัน”

 

ทำไมเลือกไปเรียนที่ฝรั่งเศส

     ย้อนไปตั้งแต่วันที่เริ่มทำงานที่ SCG วันแรกๆ ช่วงนั้นที่บริษัทจะมี HR มาปฐมนิเทศ ก็จะมีแนะนำทุนไปเรียน MBA ซึ่งมีเกณฑ์ง่ายมากคือเลือกไปเรียนได้แค่เฉพาะโรงเรียน MBA ท็อปเท็นของโลกเท่านั้น โดยมีการอัพเดตตาม ranking ทุกปี ตอนนั้น 8 จาก 10 อันดับเป็นโรงเรียนที่อเมริกา อีกสองแห่งอยู่ที่ยุโรปคือ LBS (London Business School) ที่อังกฤษ​ และอีกแห่งอยู่ที่ฝรั่งเศส ซึ่งเต่าสนใจอยากไป เพราะฝรั่งเศสดูแรดดี แต่ก็ยังไม่ได้เกิดแรงบันดาลใจอยากจะไปเสียตั้งแต่วันนั้น

     พอทำงานไปสัก 3-4 ปี ก็มาคิดว่าคงต้องเรียนโทแล้วล่ะ แต่ตอนนั้นมีกติกากับตัวเองเอาไว้ว่าไม่อยากเรียนไปทำงานไป เพราะเห็นเพื่อนใช้ชีวิตแบบนี้แล้ว suffer มาก ทำงานเสร็จทุ่มนึง แล้วก็ไปเรียน กว่าจะได้กลับบ้านนอนตีหนึ่งตีสอง ก็ไม่อยากเอาแบบนั้น เลยหันมาหาทุน ก็เห็นว่า INSEAD ที่ฝรั่งเศสก็ยังอยู่ในลิสต์ท็อปเท็นอยู่ ก็เริ่มมาศึกษาว่าที่ไหนเหมาะกับเรา

 

คาแรกเตอร์ของโรงเรียน MBA ต่างๆ

     โรงเรียนแต่ละแห่งก็จะมีคาแรกเตอร์ต่างๆ กัน บางแห่งเครียดหน่อย บางแห่งเด่นเรื่องไฟแนนซ์ บางแห่งดังเรื่องมาร์เก็ตติ้ง

     อย่างที่อเมริกา โรงเรียน MBA ที่สนุกที่สุดคือ Kellogg ซึ่งเก่งเรื่องการตลาด แต่ว่าจะเป็น fun school มากๆ ส่วนฝั่งยุโรป INSEAD ก็จะอารมณ์เป็น party school มากๆ ซึ่งเค้าว่ามันสนุกจริงๆ จุดเด่นของ INSEAD ก็คือมันหลากหลายมาก โดยเฉพาะด้านเชื้อชาติ เพราะว่าอย่างโรงเรียนในอเมริกาก็จะมีนักเรียนประมาณ 60-70% เป็นคนอเมริกา แล้วก็จะมีชนชาติอื่นๆ มาเติมจนเต็ม

     แต่ของ INSEAD มีกฎอย่างหนึ่งคือจะไม่มีชนชาติไหนเกินกว่า 10% ของชั้นเลย นักเรียนแต่ละชั้นประมาณ 70-80 คน จนมีคนบอกว่าถ้าไม่ใช่ที่ INSEAD ก็ต้อง UN แล้วล่ะ ถึงจะมีคนหลากหลายเชื้อชาติได้ขนาดนี้

 

เหตุผลที่เลือกเรียนด้าน MBA

     ส่วนหนึ่งทำให้อยากเรียน MBA คือตอนที่เรียน ป.ตรี เรียนไฟแนนซ์ ทั้งๆ ที่ในใจอยากเรียนมาร์เก็ตติ้งมาก ชอบมาร์เก็ตติ้ง แต่ว่ายอมเลือกตามเพื่อน เพราะเพื่อนทั้งกลุ่มไม่มีใครเลือกเรียนมาร์เก็ตติ้งเลย เลยมาคิดว่าไฟแนนซ์ก็ไม่ได้แย่มั้ง ก็เลยเลือกเรียนไฟแนนซ์

     พอจะเลือกเรียน ป.โท ก็รู้สึกว่าการเรียน MBA น่าจะเติมเต็มความรู้สึกอยากเรียนในตอนนั้นได้

     ส่วนการเลือกเรียนที่ INSEAD ก็เพราะรู้สึกว่าที่นี่น่าสนใจ และสิ่งที่จะไม่ทำแน่ๆ คือเรียน ป.เอก เป็นด็อกเตอร์ เพราะฉะนั้นนี่คือการเรียนรอบสุดท้ายของชีวิตแล้ว ก็เลือกเรียนโรงเรียนที่อยากไปจริงๆ ดีกว่า

 

ยากแค่ไหนกับการเข้าโรงเรียนระดับท็อปเท็นของโลก

     ขออวดก่อนว่าตอนที่เรียนอยู่ INSEAD อยู่ประมาณอันดับ 4-5 ของโลก แต่พอเรียนจบขึ้นอันดับหนึ่งเลย ตอนนี้ก็เป็น business school อันดับหนึ่งของโลกมา 2 ปีแล้ว

     เอาจริงๆ การเข้า MBA ระดับท็อปเท็นของโลกเนี่ย มันยากหมดแหละ ไม่ว่าที่ไหน เพราะอัตราการแข่งขันมันสูง ถ้านั่งดูไทม์ไลน์ดีๆ คือต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปีนับตั้งแต่วันที่เตรียมตัวจนถึงวันที่ INSEAD โทรมาบอกว่ายูได้ไปเรียนแล้ว เริ่มตั้งแต่การสอบ ซึ่งจะมีตั้งแต่สอบ TOEFL สอบ GMAT เพื่อเอาคะแนนไปยื่น ซึ่งแม้จะคิดว่าตัวเองก็เรียนใช้ได้อยู่ แต่ก็สอบ GMAT ไป 3 รอบ ค่าสอบครั้งละ 7,000 บาท ก็โดนไป

     สอบ GMAT ไป 3 รอบ TOEFL อีก 1 รอบ ก็ได้คะแนนมา แล้วก็เริ่มเขียนแอปพลิเคชัน เหมือนเขียนเรียงความ ซึ่งแต่ละโรงเรียนก็เขียนเรียงความไม่เหมือนกัน แพตเทิร์นไม่เหมือนกัน ที่ INSEAD ถือว่าเรียงความไม่โหดร้ายซับซ้อนมากเท่าไร แต่เราก็ต้องขายตัวเองให้เป็นว่า ทำไมโรงเรียนต้องเลือกเรา ทางโรงเรียนก็จะมีคำถามให้กรอกอยู่ประมาณหนึ่ง ซึ่งถ้าเทียบกับโรงเรียนอย่าง Harvard นั่นยากมาก เพราะมีแค่คำถามเดียวทุกปี ไม่จำกัดจำนวนคำด้วย แต่อย่าง INSEAD จะมีจำกัดจำนวนคำ ข้อนี้ห้ามเกิน 200 คำ ข้อนี้ห้ามเกิน 500 คำ

     ช่วงนี้ก็กลับไปดูคำถามแอปพลิเคชันของมหาวิทยาลัยต่างๆ ดูว่ามันอัพเดตไหมยังไง ก็พบว่าที่ฮาร์วาร์ดมีคำถามเดียวคือ “วันแรกที่คุณเข้าไปที่ฮาร์วาร์ด จงแนะนำตัว” จบ คือไม่มีไกด์ไลน์อะไรเลย แต่ที่ INSEAD เราก็พอรู้แล้วว่าเขาต้องการคนประมาณไหน เราก็ต้องขายตัวเองให้เป็น ซึ่งขั้นตอนนี้นานประมาณครึ่งปี จะมี consult ที่ปรึกษามาช่วย เป็นคนที่เรียน MBA มาก่อน ซึ่งก็จะรู้ว่าโรงเรียนต้องการคนแบบไหน การ consult เป็นธุรกิจใหญ่มาก อย่างในจีนหรืออินเดียที่บ้า MBA มากๆ ยิ่งต้องการ

 

แล้ว INSEAD ต้องการคนแบบไหน

     อย่างแรกเลยคือต้องการคนที่มี International Exposure คือถ้าเกิดคุณเคยอยู่แค่ประเทศไทยอย่างเดียว ไม่เคยไปเปิดหูเปิดตาประเทศอื่น ชนชาติอื่นเลย แบบนี้ก็ยากแล้ว เพราะทุกอย่างที่เรียนที่นี่จะมองในมุมของความหลากหลายทั่วโลกหมดเลย สมมติอาจารย์ยก case study มาเคสหนึ่ง ก็จะถามเลยว่าคนไทยคิดยังไง คนยุโรปคิดยังไง คนอเมริกาคิดยังไง มันก็จะได้คนละมุมกัน

     ถ้าพูดด้วยหลักการก็คือหนึ่ง คุณต้องเรียนดีประมาณหนึ่ง ดูจากพวกคะแนนที่ไปสอบมาเนี่ยแหละ สองคือคุณต้องมีประสบการณ์ด้วย ต้องทำงานมาประมาณหนึ่งแล้ว เพราะสุดท้ายคุณต้องเข้าไปพูดในคลาส มี contribute ให้คลาส สามคือเขาต้องมองในอนาคตว่าคุณเป็นผู้นำได้หรือเปล่า และสุดท้ายคือคุณมีความหลากหลายในชีวิตคุณหรือเปล่า เพราะว่าในโรงเรียนมันไม่ได้หลากหลายแค่ชนชาติอย่างเดียว แต่ว่าเบื้องหลังโปรไฟล์ชีวิตของเราเนี่ยสำคัญมาก

     นักเรียนบางคนโปรไฟล์มหัศจรรย์มาก ขนาดเราคิดว่าเราเคยไปทำงานที่กัมพูชามาแล้ว ก็เจ๋งแล้วนะ ไม่น่าจะมีใครเคยไปทำงานที่เขมรหรอก ปรากฏว่าพอเข้าไปที่โรงเรียนก็จะเจอนักเรียนฝรั่งคนเยอรมันซึ่งปั่นจักรยานจากเยอรมนีไปแอฟริกาใต้เพื่อระดมทุน หรือมีเคสหนึ่งที่สนุกมาก แต่สะท้อนคาแรกเตอร์ของ INSEAD ได้ดีมาก คือตอนนั้นนั่งเรียนกันอยู่ แล้วอาจารย์ยก case study ขึ้นมาอันหนึ่งเกี่ยวกับการปีนยอดเขาเอเวอเรสต์ เป็นวิชาที่เกี่ยวกับการตัดสินใจ แล้วเคสนั้นที่ยกมาคือคนกลุ่มหนึ่งปีนยอดเขาเอเวอเรสต์ไปถึงจุดหนึ่ง เกือบจะถึงแล้ว แต่ปรากฏว่าอากาศไม่ดี คำถามคือ คุณจะขึ้นไปต่อมั้ย เพราะถ้าขึ้นไปต่อ โอกาสที่คุณจะตายมีเยอะมาก ซึ่งเคสที่ยกมาเนี่ยคนที่ขึ้นไปก็ตายด้วย

     ปรากฏว่ามีเพื่อนคนหนึ่งในคลาสยกมือ แล้วบอกว่าผมเคยขึ้นไปยอดเขาเอเวอเรสต์มาแล้ว อาจารย์ก็เลยจัดเป็นอีกเซกชันหนึ่งแยกไปเลย เป็นคลาสพิเศษให้เพื่อนมารีวิวการขึ้นไปยอดเขาเอเวอเรสต์ การทำงานที่เขมรของเราเบๆ ไปเลย มันมีคนที่พิสดารกว่าเราเยอะมาก

     ตอนที่จะเข้าเรียนมันจะมีหมวดหนึ่งเรียกว่า Maturity เพราะคุณต้องไปเป็นผู้นำ มีวุฒิภาวะ แต่ปรากฏว่าพอเข้ามาเรียนทุกคนกลายเป็นเด็กบ้าไปหมดเลย วุฒิภาวะหายไป บ้ามาก

 

พูดถึงเมืองฟงแตนโบลและฝรั่งเศส

     ก่อนหน้าไปเรียนก็ได้ไปอยู่ที่ปารีสก่อน 3 เดือน แต่เป็นช่วงหน้าหนาวที่โคตรหนาวเลย ส่วนฟงแตนโบลเนี่ยเป็นเมืองที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของปารีส นั่งรถไฟไปแค่ 40 นาที ความพิเศษของที่นี่คือถ้าเราพูดถึงพระราชวังเราก็จะนึกถึงแวร์ซายส์ที่ปารีส อันนั้นเป็นวังใหญ่สุดของฝรั่งเศส แต่ที่ฟงแตนโบลมีวังที่ใหญ่เป็นอันดับสองอยู่ เป็นวังฤดูร้อน เพราะฟงแตนโบลเป็นป่า พอเข้าหน้าร้อนกษัตริย์ก็จะไปล่าสัตว์ที่นั่น บ้านที่ไปอยู่คือเปิดบ้านมาเจอปราสาทเลย

     ที่นี่เป็นเมืองเล็กๆ เรียกว่าแทบจะเป็นหมู่บ้านเลยก็ว่าได้ ไม่ได้ห่างจากปารีสมาก แต่ค่อนข้างเงียบ

 

บรรยากาศในโรงเรียน INSEAD

     การเรียนที่โรงเรียนแบ่งเป็น 5 เทอม เทอมละ 2 เดือน เรียกว่า P มาจาก Period ช่วง P1 จะเป็นอะไรที่นรกแตกมาก เพราะว่าทุกอย่างใหม่หมด ทุกคนตื่นเต้นกับทุกสิ่ง เพื่อนเยอะมาก มีสิ่งที่ต้องทำเยอะมาก เรียนก็เรียนเยอะมาก ดังนั้น P1 จะเป็น P ที่ไม่มีเวลาว่างเลย เรียนก็ต้องเรียน เลิกเรียนก็มีปาร์ตี้ ช่วงวีกเอนด์เพื่อนจัดทริปตลอดเวลา ทำให้เราได้นอนน้อยมาก การนอนตกไปอยู่เป็นความสำคัญอันดับท้ายๆ เลย แค่นี้ก็แทบไม่มีเวลาเรียนแล้ว

     ช่วง P1 กับ P2 จะยังไม่ได้เรียนวิชาเลือก จะต้องเรียนวิชาบังคับก่อน ซึ่งโรงเรียนจะมีการจับกลุ่มให้นักเรียนเป็นกลุ่มละ 5 คน โดยเราไม่รู้เลยว่าต้องอยู่กับใคร แล้วก็ไม่รู้ด้วยว่าทฤษฎีในการจับกลุ่มคืออะไร ก็เคยมีคนถามอาจารย์เหมือนกันว่าเกณฑ์ในการจัดกลุ่มคืออะไร อาจารย์ก็ตอบกลับมาว่า “To maximize your pain.” คือทำยังไงก็ได้ให้มึงดราม่าที่สุด ซึ่งมันก็เป็นความจริงในบางกรณี ก็มีบางกลุ่มที่เข้ากันได้ดีมาก แต่บางกลุ่มก็ด่ากันทะเลาะกันเกลียดกัน เวลานั่งก็ต้องนั่งด้วยกัน หรือบางทีต้องทำข้อสอบด้วยกัน

     ช่วง P1-2 ก็เป็นช่วงที่เราทำความรู้จักกับกลุ่มของเรา แล้วก็ขยายเน็ตเวิร์กไปรู้จักคนอื่นๆ ก็จะใช้เวลาไปกับการรู้จักเพื่อนใหม่เยอะ ยิ่งถ้าใครเป็นคนที่จำชื่อ จำหน้าคนไม่เก่งก็จะทรมานมาก เพราะว่านี่ต้องจำประเทศเพื่อนอีก รุ่นหนึ่งมีนักเรียน 500 คน มี 2 แคมปัสคือที่นี่แหละที่สิงคโปร์ ฉะนั้นครึ่งหนึ่งที่สิงคโปร์เราจะไม่รู้จักกันเลย

     อีกอย่างที่คนจะใช้เวลาไปมากคือการตั้งตัวกับการใช้ชีวิตในฝรั่งเศส เพราะฝรั่งเศสเป็นประเทศที่บัดซบมากในแง่ของงานราชการ อย่างเช่นถ้าเราจะเปิดโทรศัพท์มือถือเบอร์หนึ่ง ก็จะไม่เหมือนที่เมืองไทยที่เดินไปที่ร้านของเครือข่ายมือถือ ยื่นตังค์เปิดซิม ซื้อโทรศัพท์หนึ่งเครื่อง ทุกอย่างจบใน 15 นาที แต่ที่ฝรั่งเศสคือถ้าเราจะใช้มือถือที่เป็นรายเดือน จะต้องมีหลักฐานที่อยู่อาศัยเช่นทะเบียนบ้าน ซึ่งพอเอาไปยื่นก็ไม่จบ เค้าก็จะมีคำถามอีก บ้านคุณจริงหรือเปล่า? ต้องมีถึงขนาดบิลค่าน้ำค่าไฟมายืนยันด้วย ระบบมันยังเก่ามากใช้เวลานานมากจนกว่าทุกอย่างจะเรียบร้อยก็จบ P1 พอดี แต่เราโชคดีตรงที่อยู่ปารีสมาก่อน ก็ไปทำมาก่อนแล้ว

     หรือพวกบัญชีธนาคารก็ต้องเปิดกันล่วงหน้า 2 เดือน ให้มั่นใจว่าพอไปถึงปั๊บเราจะมีใช้งานได้เลย

 

ที่พักที่ฟงแตนโบล

     ที่ INSEAD ไม่มีหอพัก ก็ต้องหากันเอง ที่พักที่ฝรั่งเศสก็จะมีประมาณ 3-4 แบบ อย่างแรกก็บ้านที่อยู่ในฟงแตนโบลนั่นแหละ ก็จะมีเอเจนต์ช่วยจัดการให้ จะมีตั้งแต่ห้องสตูดิโอ อพาร์ตเมนต์ อยู่คนเดียวไปจนถึงไปเช่าวังอยู่

     แต่ของเราคือเลือกจากโลเคชันใกล้ๆ โรงเรียน เพราะว่าขี้เกียจขับรถ ก็ได้ที่พักที่เดินไปโรงเรียนได้ใช้เวลา 10 นาทีถึง ตอนแรกเกือบจะได้บ้านหลังหนึ่งที่เป็นบ้านของ patissier คนทำขนมที่ดังที่สุดของเมืองนั้น แต่สุดท้ายก็ได้บ้านอีกหลังหนึ่ง อยู่ไป 3 เดือน เจ้าของบ้านก็ชี้ให้ดูคานบ้านบอกว่าบ้านนี้เป็นส่วนหนึ่งของวังมาก่อน เป็นบ้านของนางสนม ทำนองนั้น

     บ้านที่เลือกอยู่นี้มี 2 ห้องนอน ราคาเดือนหนึ่ง 2,250 ยูโร ก็ประมาณหนึ่งแสนบาท แต่ชอบมาก เพราะมีที่จอดจักรยาน มีห้องครัวใหญ่มาก มีตู้เย็นใหญ่มาก ห้องอาบน้ำ ทุกอย่างดีหมดเลย แต่ต้องหาคนมาแชร์ด้วยให้ได้ เพราะแพงมาก หารกันแล้วก็ยังแพง แต่สุดท้ายก็ได้เพื่อนผู้หญิงคนจีนมาหารบ้านกัน ข้อดีของที่นี่คือเปิดประตูออกมาแล้วเจอวังเลย

     แต่ก็จะมีบ้านอีกแบบหนึ่งที่อยู่ด้วยกันเยอะๆ เป็นปราสาทเก่า ก็คือชาโต (Chateau) ก็แบ่งเป็นห้องย่อยๆ 10 ห้องอะไรอย่างนี้

     ทีนี้ เผอิญว่าเราทำสัญญาเช่าบ้านไว้แค่ถึง P3 พอเข้า P4 ก็ไม่มีบ้าน เลยมีเพื่อนคนหนึ่งที่ปล่อยเช่าเพราะไปเรียน P4 ที่สิงคโปร์ ก็เลยไปเช่าต่อจากเขา บ้านนี้ชื่อ Maison Royale แปลประมาณว่าบ้านราชวงศ์ แต่ละห้องก็ตั้งตามชื่อราชวงศ์ฝรั่งเศส อันนี้ก็ได้อีกอารมณ์หนึ่ง เป็นเหมือนหอพักเล็กๆ อยู่กัน 10 คน มีพื้นที่ตรงกลางนิดนึง เช่น โต๊ะกินข้าว

     หรือบางคนถ้าไม่อยากอยู่ในเมือง อยากขับรถก็ไปอยู่ไกลๆ ได้ ก็จะเป็นชาโตที่ใหญ่ขึ้นไปอีก อาจจะอยู่ได้ 15 คน แต่ก็ไม่ได้ตกแต่งดูเป็นวังมาก แต่ด้วยความใหญ่ ด้วยลักษณะแล้ว เราก็พอนึกได้ว่าที่นี่มันเคยเป็นปราสาทมาก่อน

     มันจะมีปราสาทหนึ่งชื่อชาโต ดู วิวิเย่ ที่นั่นจะมีธรรมเนียมว่าลูกบ้านจะจัดดินเนอร์ทุกวันจันทร์ ลูกบ้านทั้ง 15 คนก็ต้องเชิญเพื่อนอีก 2 คนมาดินเนอร์ที่ชาโต ก็จะมีแขก 30 คน บวกเจ้าบ้านอีก 15 คน ที่นั่นก็จะมีโถงรับประทานอาหารเหมือนอยู่ในแฮร์รี พอตเตอร์ แต่ก็ไม่ได้ใหญ่เบอร์นั้น เป็นประสบการณ์ที่เราโดนเชิญไปแล้วรู้สึกว่าไม่เคยเจออะไรแบบนี้

 

บรรยากาศใน INSEAD

     ด้วยความหลากหลายในคลาสมันทำให้เปิดมุมมองในการเรียนมากขึ้น อย่างเช่นมี case study ที่พูดเรื่องคอร์รัปชัน ซึ่งตอนนั้นในเคสพูดถึงบริษัท Chiang Mai ซึ่งอยู่ในอินโดนีเซีย ก็อ่านไปก่อนแล้วมาถกกันในคลาส ปรากฏว่าคนเอเชียจะรู้สึกว่าการคอร์รัปชันเป็นเรื่องปกติมาก การจ่ายใต้โต๊ะเป็นเรื่องปกติ เลี่ยงไม่ได้ แต่คนฝั่งยุโรปจะยอมรับไม่ได้ ทุกคนก็จะทะเลาะกันอย่างสนุกสนาน คลาสส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนี้

     แต่คนจะไปสนิทกัน รู้จักกันมากขึ้นก็ในปาร์ตี้ ซึ่งจัดทุกอาทิตย์ มีตั้งแต่สเกลเล็กยันสเกลใหญ่ มีทั้งชาโตเป็นโฮสต์ โรงเรียนเป็นโฮสต์ นักเรียนทั้งโรงเรียนไป แต่ส่วนใหญ่ก็จะไปจัดที่ปราสาทกัน ต้องขับรถผ่านป่าไป

     ปาร์ตี้ก็จะทำให้เรารู้จักเพื่อนมากขึ้น แต่ก็ระดับหนึ่ง แต่สำหรับเราจะใช้อาหารไทยมาทำให้รู้จักกับเพื่อนมากขึ้นอีก เอาของกินมาล่อ เพราะที่พักมีครัวค่อนข้างพร้อม เราก็จะชวนเพื่อนมา 5 คน แล้วก็ให้เพื่อนชวนคนรู้จักมาอีก 1 คน แล้วก็ทำอย่างนี้ทุก 2 เดือนก็ทำให้ได้รู้จักคนใหม่ๆ บ้าง

 

เรื่องในคลาสเรียน

     อาจจะดูเหมือนไปเฮฮาปาจิงโกะกัน แต่ที่นี่ก็เรียนกันหนักอยู่ การเรียนทั้งหมดกินระยะเวลา 10 เดือน คลาสเรียนแต่ละคลาสจะไม่ใหญ่มาก คลาสหนึ่งประมาณ 70 คน เรียนด้วย case study ก่อนคลาสเรียนเขาก็จะให้เคสมาเป็นปึกเลย แล้วจะบอกเลยว่าวันนี้เรียนเคสไหน ฉะนั้นเราต้องเตรียมตัวก่อนเสมอ จะไม่มีการเข้าคลาสไปแล้ว อ้าว วันนี้มาเรียนเรื่องนี้กัน ไม่มี ทุกคนต้องรู้ว่าวันนี้ที่เรียนกันเป็นเคสอะไร เกี่ยวกับอะไร และเราคิดยังไงเกี่ยวกับเคสนั้น

     แต่ถ้าเป็นบางวิชา เช่น ไฟแนนซ์ ซึ่งไม่ค่อยมีเคสเท่าไร เน้นทฤษฎีเยอะ ก็ไม่ต้องอ่านไปก่อน

     การเรียนแบบ case study คือเราต้อง discuss กันว่าแต่ละเคสเราคิดยังไง ซึ่งโรงเรียนก็จะตลกมากตรงที่เรามีป้ายชื่อเสียบอยู่ ก็จะโดนเรียกตลอดเวลา เอ้ายู ไทยแลนด์ ก็เหมือนเราแบกชื่อเสียงประเทศอยู่ บางทีถ้าเพื่อนคนไหน discuss ได้ห่วยได้โง่มาก ก็จะมีการประณาม ก็ไม่ได้ขว้างหินอะไรนะ แต่จะหยิบป้ายชื่อมาสะบัดให้เป็นเสียงปึบปับๆๆ เป็นความโหดร้ายของการเรียนนิดนึง

     บางทีก็มีกรณีเถียงอาจารย์ แล้วเถียงไม่รู้จักจบ ก็จะมีคนหยิบป้ายขึ้นมาสะบัด ปับๆๆๆ ให้มึงหยุด

     บางวิชาก็สนุกมาก ตอนนั้นเรียนวิชา stat ซึ่งตอนเรียน ป.ตรี เนี่ยง่วงมาก เป็นอาจารย์ป้าๆ คนหนึ่งมาเขียนสไลด์ แล้วสิ่งที่เราต้องทำคือจำสูตร แล้วเราไม่เข้าใจ stat เลย เราเข้าใจว่าใครจำสูตรเก่ง apply สูตรได้คือได้ A แต่ว่าวิชา Stat ที่ INSEAD เขาเปลี่ยนชื่อใหม่เลย เป็นชื่อ UDJ ย่อมาจาก Uncertainty Decision and Judgment เพราะเค้าบอกว่า stat คือเรื่องของการตัดสินใจบนความไม่แน่นอน ซึ่งอาจารย์เก่งมาก วิธีที่ทำให้เห็นภาพคือ ทำให้ทุกอย่างเป็นการพนัน ทุกคลาสจะมีการพนันระหว่างอาจารย์และนักเรียน คืออาจารย์ก็จะรู้อยู่แล้วว่ากูชนะแน่ๆ การพนันครั้งแรกเนี่ย นักเรียนเสียเยอะมาก เพราะมันเหมือนจะได้แน่ๆ

     โจทย์คือมีนักเรียนอยู่ 70 คน คุณคิดว่าในห้องนี้มีนักเรียนที่เกิดวันเดียวกันเดือนเดียวกันอย่างน้อย 1 คู่หรือเปล่า เราก็คิดว่าวันมี 365 วัน นักเรียนมี 70 คน มันไม่น่าเจอกันอยู่แล้ว นักเรียนก็รู้สึกว่ากูชนะแน่ๆ ทุกคนก็ลงกันไปเลย 5 ยูโร 10 ยูโร รวมกันหลายร้อยยูโร

     อาจารย์ก็ถามไล่ไปเลย ใครเกิด 1 มกราคมยกมือ ไล่ไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็มีคนที่เกิดซ้ำกันจริงๆ อาจารย์ก็ชนะ ได้ตังค์ไป แล้วก็เฉลยวิธีคิดว่านักเรียนมีโอกาสชนะแค่ 3% ซึ่งนี่แหละ นี่คือ Stat ทำให้เราเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับ stat ไปเลย สุดท้ายเงินก็เอาไปซื้อแชมเปญมาเปิดกินกัน

     อีกคลาสที่ชอบคือเศรษฐศาสตร์ ที่นี่เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Price and Market เหมือนทุกอย่างจะปรับให้เข้าใจง่ายขึ้น เพราะด้วยความหลากหลายมันทำให้ไม่ใช่ทุกคนจะมีพื้นฐานเรื่องพวกนี้มาก่อน บางคนไม่เคยเรียนวิชาด้านธุรกิจ ด้านมาร์เก็ตติ้งมาก่อนเลย ก็จะมีคำที่ใช้เรียกคนพวกนี้ว่า Poets มีคนหนึ่งเป็นเพื่อนสนิทผม เป็นผู้กำกับหนังอยู่ที่ฮอลลีวูด หรือเพื่อนบางคนก็เคยเป็นนักกีฬามาก่อน เป็นนักบาส NBA อะไรอย่างนี้ ดังนั้นโรงเรียนก็จะมีวิธีการสอบและการให้คะแนนสอบที่แฟร์ และมั่นใจว่าแม้คุณจะได้คะแนนน้อยแต่จะไม่ตก

     การทำอย่างนี้ทำให้ทุกคนที่เข้ามาไม่ต้องเครียดกับการเรียนว่ากูจะรอดหรือเปล่า เพราะโอกาสสอบตกมันน้อยมากๆ

     จำได้ว่ามีอยู่คลาสหนึ่งที่เป็นไฟแนนซ์ตัวที่สอง ประมาณ Advance Finance อาจารย์บอกว่าข้อสอบที่คุณจะได้เจอในอาทิตย์หน้าเนี่ย เป็นข้อสอบที่ยากที่สุดในชีวิตคุณ จำได้เลยว่าข้อสอบมีอยู่ 4 ข้อ ทำไม่ได้สักข้อ มันยากจนถึงจุดที่ว่ามีทั้งคนทำได้เต็มและทำได้ศูนย์ ซึ่งวิธีการคำนวณคะแนนจะทำให้ค่าเฉลี่ยลดลง และไม่มีคนตกเลย

 

วิชาที่ชอบมากๆ

     มีวิชาหนึ่งที่ชอบมาก แต่จำชื่อวิชาไม่ได้นะ มันเกี่ยวกับการพัฒนาโปรดักต์ การออกแบบสินค้าใหม่ๆ เป็นวิชาที่เพื่อนสนิทไม่มีใครเรียนเลย ในคลาสไม่คุ้นหน้าเลย ช่วงแรกๆ อาจมีเรียนเกาะกลุ่มกัน มีวิชาบังคับ แต่ช่วงหลังเราอยากเรียนอะไรก็เรียนเลย ใครอยากเรียนมาร์เก็ตติ้งก็ลงวิชามาร์เก็ตติ้งเยอะๆ อยากเก่งไฟแนนซ์ก็ลงไฟแนนซ์เยอะๆ

     วิชาที่ไปเรียนเกี่ยวกับ product development ในกลุ่มเป็นเพื่อนที่ไม่สนิทกันสักคนเลย ข้อสอบก็คือโจทย์ให้พัฒนา ‘กระเป๋าช้อปปิ้งสำหรับแม่บ้านฝรั่งเศส’ ซึ่งเราต้องไปศึกษาจริงๆ

     ที่ฟงแตนโบลเนี่ย ทุกวันอาทิตย์จะมีตลาดเช้าอยู่กลางเมือง ก็ต้องไปยืนดูว่าคนฝรั่งเศสซื้ออะไรกัน ซื้อบาแก็ตจริงมั้ย ซื้อชีสแล้วห่อยังไง ซื้ออะไรก่อนหลัง โดยวิธีการคิดต้นทุนของการผลิตจริงเนี่ยเค้าติ๊งต่างว่าขึ้นอยู่กับน้ำหนัก ถ้าสินค้าคุณหนัก ต้นทุนก็ยิ่งแพง คุณต้องขายแพงด้วย จะขายได้มั้ย เค้าก็มีวัสดุมาให้เลือกเยอะเลย แล้วเราก็สรุปจากการสังเกตว่าคนซื้อบาแก็ตเยอะจริงๆ มันต้องมีช่องสำหรับใส่บาแก็ต ก็ไปเอาถุงน่องมาใส่ แล้วสุดท้ายก็มาพิตช์ขายของกัน ซึ่งตลกมาก เพราะด้วยความที่ไม่สนิทกัน แล้วก็ไม่อายกันเลย กลายเป็นว่าทีมผมพิตช์แล้วได้เบอร์ 1 ไปเลย

     มันเป็นวิชาที่เราได้เรียนเรื่องคนด้วย เพราะเรามักรู้สึกว่าเราต้องทำงานกับเพื่อนสนิท แต่กลายเป็นว่าถ้าทำกับเพื่อนสนิทบางทีก็มีปัญหา บางทีขี้เกียจ แต่พออันนี้ทุกคนทุ่มกันเต็มที่มาก ก็ถือว่าเป็นคลาสที่เจ๋งมากๆ

     แล้วก็มีอีกคลาสหนึ่งที่เป็นตัวชูโรง คือ Your First Hundred Days คือถ้าคุณจะเป็นเจ้าของบริษัท ธุรกิจ หรือแบรนด์ นี่คือสิ่งที่คุณต้องเจอใน 100 วันแรก เค้าจะจำลองว่า 100 วันแรกของการก่อตั้งอะไรสักอย่างขึ้นมาคุณต้องเจออะไรบ้าง ซึ่งไม่ใช่การเรียนในคลาสอย่างเดียว แต่เป็นตลอด 24 ชม. เลย

     อย่างเช่น อยู่ดีๆ วันหนึ่งอาจารย์อาจจะส่งอีเมลมาตอนตีสอง บอกว่าโรงงานคุณไฟไหม้ พรุ่งนี้เจอกัน 6 โมงเช้าที่คลาส จงคิดมาด้วยว่าวิธีการแก้ไขต่อไปของคุณคืออะไร คลาสนี้เป็นคลาสที่ต้องแย่งกันเรียน bidding ที่นั่ง เป็นวิชาที่คะแนนที่ใช้ประมูลแพงที่สุด แต่ตอนนั้นจะเหมาะกับคนที่อยากเปิดธุรกิจตัวเอง แต่ตอนนี้ได้ยินมาว่าวิชานี้กลายเป็นวิชาหลักที่ทุกคนจะได้เรียน น่าอิจฉามาก

 

ได้เพื่อนสนิทกลับมาจากโรงเรียนด้วยหรือเปล่า

     ทั้งคลาส 500 คนเนี่ย เราก็จะเจออยู่จริงๆ แค่ 200-300 คน แต่สุดท้ายเพื่อนที่ทุกวันนี้ยังไปมาหาสู่กันอยู่ก็ถือว่าหลากหลายมากและยังเยอะมากอยู่ อย่างเช่น เพื่อนสนิทที่เป็นคนอเมริกันลูกครึ่งพม่า ก็แต่งงานกับเพื่อนที่ INSEAD ด้วยกัน ซึ่งเจ้าบ่าวเป็นคนอินเดีย ซึ่งฟังดูไม่น่าไปด้วยกันได้เลย แล้วก็ไปแต่งกันที่แอลเอ เราก็บินไปร่วมงานแต่ง

     กลายเป็นว่าถึงเพื่อนจะอยู่คนละประเทศกัน แต่มันกลับทำให้โลกแคบขึ้น เราก็ยังติดต่อกันอยู่เรื่อยๆ มีเพื่อนเป็นคนมาเลย์ทำสตาร์ทอัพ อยากจะขยายธุรกิจเข้ามาในไทย เราก็ช่วยคอนเน็กต์ให้ มีเพื่อนสนิทแต่งงานที่ลิทัวเนีย เพื่อนจากญี่ปุ่นก็บินไป กลายเป็นว่าโรงเรียนนี้ทำให้รู้สึกว่าโลกมันไม่ได้ใหญ่อย่างที่เราคิด มันเชื่อมกันทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานเรื่องส่วนตัว แล้ววิธีการคิดของเรามันเปิดกว้างขึ้นเยอะ เมื่อก่อนเราจะคิดว่า เอ้อ ก็คนไทยมันเป็นอย่างนี้ แต่ตอนนี้เปลี่ยนไปเยอะ

     กลายเป็นว่าการไปเรียนไม่ได้ทำให้เราได้ทฤษฎีอะไรเท่าไร แต่สิ่งที่ได้เรียนคือทัศนคติ การมองคน มันเปิดกว้างขึ้นอีกเยอะ

     สโลแกนของ INSEAD คือ Business School for the World คือทุกอย่างมองในมุมของทั้งโลกจริงๆ

 

ได้อะไรมาบ้างจากการจบการศึกษาที่นี่

     สำคัญสุดคือเรื่องคน มันคือการเรียนว่าทุกคนแตกต่าง ตอนเด็กๆ เราจะมองว่าคนที่ต่างคือคนที่แปลก แต่การไปเรียนที่ INSEAD ความต่างคือเรื่องปกติ ทุกคนต่างหมด ดังนั้น ถ้าคุณสามารถยอมรับความแตกต่างแล้วเข้าใจเขาได้เ มันมีประโยชน์กับทุกอย่างเลย ตั้งแต่การบริหารคนในงาน ในทีม ในชีวิตประจำวัน การเที่ยว ทุกอย่าง นี่แหละคือส่วนที่ความหลากหลายของ INSEAD ช่วยเราจริงๆ

 

ฝากผลงาน

     มีหนังสือจากสำนักพิมพ์อะบุ๊ก หลักๆ เป็นเรื่องท่องเที่ยวตั้งแต่ บอง ออง ฟรองซ์ เป็นเรื่องชีวิตใน INSEAD นี่แหละ มี บอง ออง แขมร์ อันนี้ที่ไปทำงานที่กัมพูชา และ บอง ออง โวยาจ แรดรอบโลก เป็นเรื่องราวการท่องเที่ยวที่เคยไปมา ช่องทางติดต่อที่ง่ายที่สุดก็เป็นทวิตเตอร์ @bongtao

 

ทิ้งท้ายแนะนำคนที่อยากไปเรียนที่ INSEAD

     อย่างแรกคือ ถ้าจะให้ง่ายตั้งแต่สอบเข้าก็ต้องเริ่มตั้งแต่ปริญญาตรี มันไม่มีกำหนดว่าคุณเรียนอะไรมา แต่เค้าจะดูผลการเรียน ป.ตรี

     เรื่องการงาน พยายามทำให้หลากหลายที่สุด คุณจะเป็น Specialist ก็ได้เก่งด้านใดด้านหนึ่งไปเลย แต่ประสบการณ์การทำงานต้องชัดเจน แสดงให้เห็นว่าเราไม่ธรรมดา เพื่อให้เราเป็นส่วนหนึ่งของคลาสได้

     อีกเรื่องคือเดี๋ยวนี้โลกไปไกลมากแล้ว พยายามให้ตัวเองเปิดกว้าง ไปเที่ยวก็ได้ ไม่ใช่ทุกคนจะได้ไปทำงานที่ต่างประเทศ แค่ไปเที่ยว ได้ไปเห็นอะไรมากๆ มันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราขายตัวเองได้ในช่วง application

     ถ้าเราค่อยๆ ปั้นตั้งแต่ ป.ตรี มันก็จะง่ายขึ้นเยอะ แต่สุดท้ายก็จะเป็นขั้นที่เหนื่อยหน่อย 1-2 ปี แต่ไม่ว่าจะเหนื่อยแค่ไหน หรือค่าเทอมแพงขึ้นแค่ไหน มันก็ยังคุ้มอยู่

 

“จริงๆ INSEAD มันคือสปริงบอร์ด เค้าบอกว่าประมาณ 80% ของคนที่จบ INSEAD มีการเปลี่ยนอย่างน้อย 1 เรื่อง เช่นคุณเคยทำธนาคารแล้วอยู่ดีๆ คุณอาจไปทำ Entrepreneur เลยก็ได้ หรือจากเดิมเคยอยู่ลอนดอน ตอนนี้คุณมาอยู่เอเชีย ดังนั้นถ้าคิดว่าอยากขยับขยาย เปลี่ยนจากที่ใดไปที่หนึ่ง อยากลองสิ่งใหม่ๆ INSEAD ถือว่าเป็นที่ที่ช่วยเรื่องนี้ได้เยอะมาก”


 

Credits

The Host ธัชนนท์ จารุพัชนี

The Guest ไชยณัฐ สัจจะปรเมษฐ์

Show Creator ภูมิชาย บุญสินสุข

Episode Producers ภูมิชาย บุญสินสุข

นทธัญ แสงไชย

อธิษฐาน กาญจนพงศ์

ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor นทธัญ แสงไชย

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director กริณ ลีราภิรมย์

Graphic Designer เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

Music Westonemusic.com

FYI

ดูโปรแกรมการเรียนต่อที่ INSEAD 

หรือใครอยากเรียนที่อังกฤษก็ไปดูที่ LBS

หรือถ้าใครชอบสหรัฐอเมริกาก็ไปที่ Kellogg ที่เต่าบอกว่าเป็น fun school

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X
Close Advertising