×

PHTAA สตูดิโอออกแบบที่สนุกกับการดีไซน์งานให้สากล ด้วยเงื่อนไข ปัจจัย และวัสดุจากโลคัล

22.03.2022
  • LOADING...
PHTAA Living Design

หากพูดถึงงานแต่งงานหรือการถ่ายภาพพรีเวดดิ้งในยุคนี้ เราเชื่อว่าคุณต้องเคยเห็นภาพหรือรู้จักชื่อของสถานที่จัดงานสีขาวสะอาดอย่าง AUBE อย่างแน่นอน พร้อมกับอีกหนึ่งสถานที่ใหม่อย่าง FOUND ที่ทั้งสองสถานที่ออกแบบโดยสตูดิโอดีไซน์ที่เดียวกันที่มีชื่อว่า PHTAA Living Design 

 

PHTAA Living Design คือสตูดิโอออกแบบของ วิทย์-พลวิทย์ รัตนธเนศวิไล, พลอย-หฤษฎี ลีละยุวพันธ์ และ โต๋-ธนวรรธน์ ปัจฉิมะศิริ นักออกแบบผู้ฝากผลงานออกแบบตึกและอาคาร ตั้งแต่สามย่านมิตรทาวน์, โชว์รูม Jim Thompson, h_____dining, AUBE สถานที่จัดงานแต่งงานที่ต้องจองคิวนานข้ามปี ไปจนถึงร้านตัดผมของแรปเปอร์ดังอย่าง NEVERSAYCUTZ

 

จุดเด่นของงานออกแบบจากพวกเขาคือความเรียบง่ายที่ซ่อนดีไซน์ไว้อย่างน่าสนใจ หยิบโลคัลแมตทีเรียลที่อาจหาได้โดยทั่วไปมาพลิกโฉมใหม่ให้มีดีไซน์เป็นสากล

 

เรานัดพวกเขามาที่ FOUND สถานที่จัดงานแต่งงานอีกแห่งที่พวกเขาภูมิใจ เพื่อชวนทั้ง 3 คนคุยลึกถึงการทำงานออกแบบที่ถนัด เบื้องหลังการทำงานกว่าจะเป็นอาคารสักหลัง เป็นห้องที่ตกแต่งดีไซน์ไว้อย่างลงตัวสักแห่ง และความคิดความเชื่อที่พวกเขามีต่องานออกแบบเป็นอย่างไร PHTAA Living Design พร้อมเล่าให้ฟัง

 

PHTAA Living Design

ภาพ: PHTAA Living Design

 

อะไรคือสิ่งที่ทำให้การรวมตัวกันของพวกคุณ ทำให้ PHTAA Living Design แข็งแรง

 

โต๋: เพราะพี่วิทย์เป็นสถาปนิก ส่วนผมกับพลอยเป็นอินทีเรียร์ มันเลยทำให้การรับงานของบริษัทเรามันคอมพลีตมากขึ้น เช่น ปกติสถาปนิกจะรับหน้าที่ออกแบบอาคาร สเปซ ส่วนอินทีเรียร์ก็จะเข้ามาดูเรื่องฟังก์ชัน การใช้งานให้สอดคล้องกับคน บริษัทอื่นๆ อาจจะแบ่งพาร์ตการทำงานตรงนี้ว่าให้สถาปนิกออกแบบอาคารให้เสร็จก่อน แล้วอินทีเรียร์ค่อยมารับงานต่อ แต่เราทำงานสองส่วนนี้ไปพร้อมๆ กัน ทำให้สามารถออกแบบอาคารให้ตอบโจทย์คนใช้งานได้จริงๆ ส่งเสริมกันในแง่ของงานดีไซน์ 

 

เราสามารถเอาวิธีคิด การทำงานของทั้งสองศาสตร์เข้ามาประยุกต์ใช้ในงานออกแบบได้ เช่น แทนที่จะสร้างอาคารมาแล้วออกแบบว่ามุมนั้นมุมนี้ต้องเป็นประตู เป็นกำแพง ถ้าเราพิจารณาก่อนว่าเราอยากให้มันมีฟังก์ชันไว้เพื่อแบ่งสเปซ ให้คนยังมองเห็นกันได้ มันก็อาจจะไม่ต้องทำเป็นผนัง เป็นกำแพง แต่ใส่การตกแต่งอื่นๆ เข้ามาได้

 

PHTAA Living Design

ภาพ: PHTAA Living Design

 

วิทย์: ส่วนใหญ่งานของเราจะเริ่มคิดจากสเปซ เราเอาสเปซมาต่อกันจนเกิดเป็นฟังก์ชัน ซึ่งปกติการเรียนการสอนแบบสถาปัตยกรรมศาสตร์จะสอนว่าให้คิดจากฟังก์ชันก่อน อย่างที่ FOUND ถ้าเดินเข้ามาจะรู้สึกว่ามันไม่ใช่ตึก อาคาร แต่จะรู้สึกเหมือนมันเป็นสเปซมาต่อกันให้เกิดความสมูทในการใช้งาน ทำฟังก์ชันให้ซัพพอร์ต หรือการใช้แมตทีเรียลต่างๆ จริงๆ มันก็เป็นพาร์ตงานของอินทีเรียร์ แต่เราก็นำมาคิดในกระบวนการออกแบบอาคาร มีการใช้บัวมาสร้างจุดเด่น มันคือการครอสโอเวอร์กันระหว่างสถาปัตยกรรมและอินทีเรียร์ดีไซน์ ซึ่งพอวิธีการคิดงานของเราเป็นแบบนี้ ภาพที่ได้ในตอนสุดท้ายมันก็เลยค่อนข้างต่างจากที่อื่นไปโดยปริยาย

 

PHTAA Living Design

 

กว่าจะเกิดเป็น FOUND พวกคุณทำงานอย่างไรบ้าง

 

วิทย์: เรากลับไปย้อนดูว่าในงานแต่งงานหนึ่งงานมันมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ก็ได้เจอปัญหาเรื่องทราฟฟิก คนเยอะ มาออกันแล้วไม่รู้ว่าจะไปทางไหนต่อใน 3 สเตชัน คือโซนรูปพรีเวดดิ้ง โซนใส่ซอง และโซนถ่ายรูปกับบ่าว-สาวก่อนเข้าพิธี ซึ่งโรงแรมไม่ได้ออกแบบสถานที่เพื่อมาซัพพอร์ตในจุดนี้ เราก็เลยพยายามใช้การออกแบบมาแก้โจทย์เหล่านั้น

 

พลอย: ออกแบบโดยมองที่ Scenario แต่ไม่ได้บังคับว่าทางเดินตรงนี้ต้องใช้แห่ขันหมากอย่างเดียว จุดนี้ต้องใส่ซอง ต้องถ่ายรูปเท่านั้น มันสลับกันได้ จะแห่ขันหมากในโพลีดอนก็ได้ สถาปัตยกรรมมันไม่ได้บังคับว่าคนที่ใช้งานต้องทำอะไร FOUND จึงสามารถเข้ากันได้กับผู้มาใช้งานหลายๆ แบบ

 

PHTAA Living Design

ภาพ: PHTAA Living Design

 

วิทย์: เหมือนเราออกแบบให้ตอบโจทย์กับประเพณีความเป็นไทยก็จริง แต่ภาพลักษณ์มันไม่ได้ออกมาไทยขนาดนั้น ความเป็นไทยมันไม่จำเป็นต้องแสดงออกด้วยลายไทย เรานำเสนอโดยใช้จากโลคัลแมตทีเรียลในละแวก หาของตกแต่งจากร้านปูนปั้น ร้านบัวในย่านมาต่อยอดเป็นดีไซน์ ทำให้ดีไซน์มันเป็นสากลได้ เราว่าสิ่งนี้คือจุดแข็งของพวกเราที่สร้างความแตกต่างให้สถาปัตยกรรมได้

 

แรงบันดาลใจในการออกแบบงานของพวกเราส่วนใหญ่มันมาจากเงื่อนไข และความสนุกของการทำงานก็คือจะทำอย่างไรให้เงื่อนไขเหล่านั้นคลี่คลายได้อย่างมี Aesthetic 

 

PHTAA Living Design

 

สถานที่จัดงานแต่งต่างไปจากเวลาทำงานออกแบบอื่นๆ อย่างไร

 

วิทย์: ต่างกันมาก อย่างที่นี่เองพอสเปซมันมีโจทย์ว่าต้องเป็นสถานที่จัดงานแต่งงาน ต้องรองรับคนเยอะ มันเลยเป็นการออกแบบภายใต้เงื่อนไขว่าทำอย่างไรก็ได้ให้ตอบโจทย์เหล่านั้น พื้นที่แต่ละส่วนสามารถปรับไปตามผู้ใช้งาน ห้องเลี้ยงพระสำหรับงานแต่งแบบไทยอาจเปลี่ยนเป็นห้องยกน้ำชาในงานแต่งแบบจีนก็ได้

 

พลอย: ส่วนจุดที่เหมือนก็คงเป็นเรื่องการให้ความสำคัญกับคนที่มาใช้งาน มันเป็น Fundamental ของการเป็นสถาปนิกเลย งานดีไซน์ประเภทนี้มันเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของคน มันเลยต้องผสมกันฟังก์ชันการใช้งานและความสวยงามเข้าด้วยกัน

 

PHTAA Living Design

 

อะไรคือสิ่งจำเป็นต้องมีในการทำงานออกแบบ

 

วิทย์: ความกล้า ถ้าเราไม่กล้าทำมันก็ไม่เกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา 

 

พลอย: วิทย์จะบอกตลอดว่าถ้าตะขิดตะขวงใจ ไม่มั่นใจว่าไอเดียนี้จะสวยไหม ดีไหม ให้ทำไปเลย ทำไปก่อน เพราะถ้าเรามั่นใจแปลว่าเราเห็นภาพสุดท้ายแล้ว และการที่เราเห็นภาพสุดท้ายมันอาจแปลว่ามันเคยมีงานออกแบบแบบนี้ขึ้นในโลกนี้แล้ว เราอาจจะเคยเห็นแล้วจำมา และถ้าเป็นแบบนั้นงานมันก็จะเหมือนเดิม ไม่มีอะไรใหม่

 

โต๋: การสื่อสารก็สำคัญ เพราะเราต้องทำร่วมงานกับคนอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่แค่คนในออฟฟิศ แต่มีทั้งวิศวกร คนดูระบบโครงสร้าง ระบบไฟ ไปจนถึงลูกค้า 

 

PHTAA Living Design

 

ส่งต่อแนวคิดหรือวิธีทำงานไปให้น้องๆ อย่างไรบ้าง ให้ภาพรวมมันยังเป็นงานในนามของ PHTAA Living Design 

 

วิทย์: แทนที่จะบอกว่าเราให้น้อง จริงๆ เราเองก็เป็นฝ่ายเรียนรู้จากพวกเขาเหมือนกัน และงานส่วนใหญ่นี่มีน้องๆ เป็นไอเดียแรกเสมอเลยนะ เราจะบอกโจทย์ให้เขาลองใช้ความคิดแล้วมาเสนอคอนเซปต์ แสดงไอเดีย สิ่งที่เราให้น้องๆ ได้มันเป็นเรื่องของวิธีคิดมากกว่า ไม่ใช่เรื่องสไตล์ มันจะพอจับแนวคิดพวกนี้ได้ในขั้นตอนคิดงาน การก่อสร้าง

 

PHTAA Living Design

 

โต๋: การเปิดใจฟังคนรุ่นใหม่เป็นเรื่องสำคัญมาก เขาเกิดพร้อมยุคอินเทอร์เน็ต เขาไวกว่าอยู่แล้ว ไอเดียของเด็กที่เข้ามาใหม่ๆ ก็จะสดขึ้นๆ แต่สิ่งที่คนทำงานมาก่อน มีประสบการณ์มากกว่า มันจะช่วยให้งานดีไซน์ของคนคนนั้นมันแข็งขึ้น มีเหตุผลมากขึ้น 

 

วิทย์: บางทีแค่สดใหม่มันไม่พอ แต่งานนั้นต้องเหมาะสมกับการใช้งานด้วย มองแค่ภาพสวยไม่ได้ แต่คนใช้ต้องเกิดความสะดวกสบาย 

 

PHTAA Living Design

 

มองว่าตอนนี้วงการออกแบบไทยเป็นอย่างไรบ้าง

 

วิทย์: ผมว่าคนไทยเก่งกันเยอะ มีเด็กรุ่นใหม่เก่งๆ เพียบเลย แต่นอกจากฝีมือของคนทำงานแล้ว วิสัยทัศน์ของ Owner ก็เป็นหนึ่งปัจจัยที่มากำหนดว่างานออกแบบจะไปได้ไกลขนาดไหน เพราะเขาคือคนที่ถือเงิน เราเอาเงินเขามาใช้ ถ้าวิสัยทัศน์เขาดี รู้ความต้องการของตัวเองเราก็จะทำงานง่าย และถ้าพูดถึงภาพที่ใหญ่ขึ้น รัฐบาลก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนา สถาปนิกฝรั่งที่เขาได้รางวัลระดับโลก เขาได้จากการทำ Public Space ทั้งนั้นเลย เพราะมันคืองานที่สามารถประกาศได้ว่าเป็นงานที่ยกระดับสถาปนิกไปอีกเลเวลหนึ่ง แต่ Public Space ในประเทศไทยอย่างคลองโอ่งอ่าง มันคือสิ่งที่ไม่ได้ถูกออกแบบด้วยสถาปนิกที่ดี มันถูกตัดตอน มีเงินทอน ทำให้งานเหล่านี้เป็นงานที่ไม่น่าโชว์ พอระบบเป็นแบบนี้มันก็เลยทำให้สถาปนิกไทยไม่สามารถดันตัวเองสู่เวทีระดับโลกได้ 

 

PHTAA Living Design

ภาพ: PHTAA Living Design

 

วิทย์: สถาปนิกไทยที่เราเห็นเขาทำงานเพื่อสังคม จริงๆ งบประมาณมันก็มาจากเอกชนหมดเลย ไม่ได้เป็นเงินที่ซัพพอร์ตจากรัฐบาลเลย พอถือเป็นงานส่วนตัว ตอบโจทย์เอกชนเป็นรายๆ ไป ต่างชาติก็ถือว่านี่ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ที่ทำให้เมืองหรือการอยู่อาศัยของคนดีขึ้น แค่นี้ก็รู้แล้วว่าถ้าเรามีรัฐบาลดี เราก็จะมีช่องทางมากขึ้นในการทำให้วงการมันไประดับโลกได้ และถ้าเราผลักดันสถาปนิกไปต่างประเทศได้ ถ้าสถาปนิกจะสามารถไปสร้างงานที่ต่างประเทศได้มากขึ้น วงการมันจะขยาย แล้วก็จะได้บริบทการออกแบบใหม่ๆ ที่ช่วยต่อยอดความคิดคนทำงานให้กว้างขึ้น

 

PHTAA Living Design

 

พลอย: เปรียบเทียบเหมือนวงเกาหลี ถ้ารัฐบาลสนับสนุนมันก็ไปได้ถึงขนาดนั้น 

 

วิทย์: ถ้าเทียบกับต่างประเทศในด้านการออกแบบเราไม่แพ้แน่นอน เป็นปัจจัยเรื่องทรัพยากร โอกาสในการทำงาน และการสนับสนุนจากรัฐบาลที่ไม่มากพอมากกว่าที่ทำให้เรายังอยู่ตรงนี้

 

ติดตามผลงานของ PHTAA Living Design ได้ที่ https://www.facebook.com/PHTAAlivingdesign และ http://WWW.PHTAA.COM/ 

 

ภาพ: นวลตา วงศ์เจริญ และ PHTAA Living Design

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising