×

จากพลทหารสู่พลเรือน ไอติม พริษฐ์ เตรียมก้าวนอกกรอบ เดินเส้นทางการเมืองเต็มตัว

12.11.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

9 MINS READ
  • ไอติมบอกว่า เขาเป็นคนรุ่นใหม่แต่ไม่ไร้ประสบการณ์งานนโยบาย วันนี้คนรุ่นใหม่ในพรรคประชาธิปัตย์พร้อมผลักดันประเด็นที่แต่ละคนเข้าใจ หากพรรคไม่มีคนรุ่นใหม่เหล่านี้ ก็จะเสนอนโยบายได้ไม่ครอบคลุม
  • หนึ่งในประเด็นที่เขาอยากผลักดันคือ ปฏิรูปการเกณฑ์ทหาร
  • เมื่อทำวิจัยก็ต้องตั้งคำถาม ไอติมเล่าถึงคำถามและคำตอบจาก 6 เดือนในค่ายทหาร ก่อนออกมาเป็นข้อเสนอที่มีข้อมูลรองรับ ไม่ว่าจะเรื่องผู้ตรวจการกองทัพโมเดลเยอรมนี และการวิเคราะห์เหตุผลที่ทำให้คนสมัครใจเข้ารับราชการทหาร
  • เตรียมเปิดตัวคนรุ่นใหม่ประชาธิปัตย์ 13 พฤศจิกายนนี้ ไอติมเผย ต่อไปเว็บไซต์พรรคจะเพิ่มการมีส่วนร่วมของสมาชิกมากขึ้น

ด้วยเป็นข้อตกลงของบริษัท ทำให้ ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ นักการเมืองรุ่นใหม่แห่งประชาธิปัตย์ ไม่สามารถบอกถึงประเทศที่ไปทำงานวิเคราะห์นโยบายได้

 

แต่ประสบการณ์ทำงาน 3 ปีหลังเรียนจบในบริษัทวิเคราะห์นโยบาย ซึ่งมีบางประเทศที่เปิดเผยได้ เช่น ศรีลังกา โดยไอติมเคยร่วมทำนโยบายเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ทำโครงการการจ่ายเบี้ยยังชีพผ่านระบบมือถือให้หญิงตั้งครรภ์ โดยไม่ต้องเดินทางเข้ามาที่สำนักงานเขต

 

หรือในบางประเทศที่เปิดเผยไม่ได้ ไอติมเคยทำนโยบายให้เมืองหลวงในเอเชียเมืองหนึ่ง เพื่อทำให้คนหันมาใช้รถเมล์เพิ่มขึ้น รวมถึงงานเกี่ยวกับการศึกษาว่า ทำอย่างไรให้ภาคเอกชนมาลงทุนในระบบการศึกษามากขึ้น

 

เมื่อบวกกับความตั้งใจของไอติมที่ได้แสดงออกผ่านการไปถามปัญหาจากประชาชนจริงๆ โดยเฉพาะกรณีระบบเกณฑ์ทหารที่ไอติมกล่าวว่าเป็นการ ‘วิจัย 6 เดือน’ ทำให้ความคิดทางทฤษฎีต่อเรื่องนี้ที่เขามีได้ถูกเติมเต็มด้วยข้อมูลจากคนจริงๆ ในค่าย

 

หลังจาก 6 เดือนก่อน ไอติมพร้อมสำหรับการเสนอตัวเข้ารับสมัครเป็นพลทหาร วันนี้เขาก็ยืนยันว่า ‘พร้อม’ สำหรับการเสนอตัวเข้ารับการคัดเลือกเป็น ส.ส. ในการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้

 

พร้อมเพื่อเป็นหนึ่งในคนรุ่นใหม่ ที่ไม่ได้เข้ามาหวังทำการเมืองเพราะเห็นกระแสคนรุ่นใหม่ แต่เข้ามาเพื่อนำเสนอประเด็นคนรุ่นใหม่ที่ตัวเองเข้าใจ แล้วเข้ามาผลักดัน และถ้าพรรคไม่มีคนรุ่นใหม่อย่างเขา พรรคก็อาจไม่มีนโยบายที่ครอบคลุมเพียงพอ รวมทั้งวันนี้เขายังพร้อมแล้วที่จะร่วมกับคนรุ่นใหม่ในพรรคก้าวออกจากกรอบเดิมๆ

 

 

อย่าให้ทหารเป็นอาชีพของคนไร้ทางเลือก

เราเริ่มต้นการสนทนากับไอติมด้วยการพูดถึงชีวิตในค่ายทหารว่าไอติมได้ทำอะไรบ้าง

 

เขาบอกว่า 3 เดือนแรกก็ฝึกทั่วไป ช่วงหลังก็ได้ทำงานเอกสารในเวลาราชการ ส่วนนอกเวลาราชการก็ให้ไปสอนหนังสือ

 

โดยไอติมได้รับเลือกเป็นหัวหน้าของกองร้อย ซึ่งมี 74 คน ทำหน้าที่มี 2 เรื่อง หนึ่งคือการเป็นปากเสียงให้กับเพื่อนๆ

 

“บางคนสงสัยว่าเงินเดือนโดนตัดเป็นเพราะอะไร บางทีเขาไม่กล้าพูด ผมก็ไปพูดกับผู้กอง สองก็การตัดสินใจที่ต้องทำร่วมกันทั้งรุ่น เช่น เรื่องเสื้อรุ่น แหวนรุ่น จะเอาแบบไหน ตรงนี้การได้โหวตก็ทำให้เห็นว่าทุกคนยอมรับการตัดสินใจ ซึ่งถ้าไม่มีการโหวต คนที่เสียงไม่ดังก็จะไม่มีโอกาสบอกว่าไม่เห็นด้วย”

 

สำหรับอีกมุมของชีวิตที่คนมักนึกถึงเมื่อพูดถึงทหารเกณฑ์คือ การถูกลงโทษ ไอติมบอกว่าส่วนมากคือท่าออกกำลังกาย หรือเป็นการลงโทษหมู่

 

ไอติมโดนลงโทษแบบที่โดนคนเดียวจริงๆ ก็ตอนที่มีครูฝึกมาพูดเล่นๆ ว่า “คุณรู้ไหม คุณโชคดีแค่ไหน สมัยก่อนระบบฝึกทหารมันแย่กว่านี้เยอะนะ เอาแบบเก่าไหมไอติม”  

 

ไอติมตอบกลับครูฝึกไปว่า “ถ้าแบบเก่ามันดี คงไม่เปลี่ยนมั้งครับ”

 

ผลของคำตอบนั้นทำให้เขาโดนวิดพื้น 60 ครั้งตรงนั้นเลย

 

ไอติมเปิดเผยว่า เขาเข้าไปเพื่อศึกษาข้อดีและข้อเสียของระบบการเกณฑ์ทหาร และตั้งคำถามว่าทำอย่างไรให้เป็นจริงให้ได้ สำหรับการปรังปรุงระบบเกณฑ์ทหารให้ดีขึ้น

 

โดยเริ่มมองกันที่ตัวเลขความต้องการทหาร 1 แสนคน กับจำนวนผู้สมัคร 45,000 คน ทำอย่างไรจะให้ 2 ตัวเลขนี้ใกล้เคียงกัน ซึ่งต้องมาจากทั้งการประเมินและลดยอดพลทหารที่ไม่จำเป็นต่อความมั่นคง เช่น พลทหารรับใช้ การลด ‘ไขมัน’ ในองค์กร ควบคู่ไปกับการเพิ่มคุณภาพชีวิตของพลทหาร ให้คนอยากเลือกทำอาชีพทหารมากขึ้น

 

 

อีกเรื่องคือ เขาเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ควรเป็นประเด็นโจมตีกองทัพเพื่อความสะใจ แต่ต้องทำการปฏิรูปควบคู่ไปกับกองทัพ

 

“ผมคิดว่าแนวคิดของผม หากตอบโจทย์เรื่องตัวเลขได้มันจะดีต่อทั้งประชาชนและกองทัพ ประเทศก็ไม่เสียหาย”

 

แต่เรื่องทหารก็มีความเห็นจากคนประชาธิปัตย์อย่าง นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ที่เคยบอกว่า การเกณฑ์ทหารเป็นหน้าที่ของชายไทย การเข้ารับคัดเลือกเป็นทหารหมายถึงความเท่าเทียมกันของชายไทยทุกคน  

 

สำหรับไอติมกลับมองว่า สิ่งที่นิพิฏฐ์พูดถึงมีจุดที่วันนี้สังคมไทยเปลี่ยนไป การที่มี รด. (รักษาดินแดน) เข้ามา บวกกับสิ่งที่เขาพบเห็นในการรับราชการทหาร และการได้เข้าไปสัมผัส ทำให้มองเห็นกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ดังนั้นตอนนี้จึงไม่ได้เท่าเทียมกันในความเป็นจริง

 

เมื่อมองถึงอนาคต ไอติมบอกว่า อาชีพทหารต้องเป็นอาชีพที่น่าดึงดูดสำหรับคนทุกฐานะ ไม่ใช่เพียงเพิ่มเงินเดือนเข้าไปเพื่อให้คนที่ไม่มีทางเลือกอื่น หรือดึงดูดมาด้วยเงิน อย่างต่างประเทศที่มีทหารอาชีพ เขาไม่ได้เข้ามาเพียงแค่เงิน แต่อาชีพนี้เป็นอาชีพที่น่ายกย่อง ได้ทำประโยชน์ให้ชาติ ได้ผจญภัยอย่างที่เขาชอบ

 

“เราต้องเปลี่ยนมาเป็นระบบสมัครใจ แต่ไม่ใช่การจ้างคนที่ไม่มีทางเลือกอื่นเข้ามาเป็นทหาร”

 

 

ไม่ได้ต้องการปฏิรูปกองทัพเพื่อโจมตีกองทัพ หรือเพื่อโจมตีทางการเมือง

ไอติมย้ำว่า ที่คิดปฏิรูปกองทัพเพราะเห็นว่ามีทางออกที่ดี ทั้งต่อประชาชนคนที่ไม่อยากเป็นทหารและอยากดำเนินอาชีพอื่นโดยไม่ต้องมี 2 ปีที่หายไป ดีต่อทั้งประชาชนที่อยากเป็นทหารแต่อยากได้ความชัดเจนว่าไม่มีความรุนแรง มีสวัสดิการ ค่าตอบแทนที่เหมาะสม แล้วก็ดีสำหรับกองทัพด้วย เพราะไอติมเคยถามผู้กอง แล้วผู้กองตอบว่า

 

“ไม่อยากได้ 10 คนที่ไม่มีใจให้ สั่งให้ทำอะไรนิดๆ หน่อยๆ ก็บ่นๆ แต่อยากได้ 6 คนที่ทำหน้าที่อย่างเต็มที่”

 

 

เปิดสูตรการลดจำนวนความต้องการกำลังพล

ไอติมให้ข้อมูลสัดส่วนทหารต่อพลเรือน โดยพิจารณาถึงความจำเป็น ความเสี่ยงเรื่องภัยคุกคาม แล้วเทียบเคียงประเทศไทยกับประเทศที่มีความเสี่ยงภัยคุกคามใกล้เคียงกับไทย เช่น เวียดนาม มาเลเซีย ประเทศในยุโรป

 

โดยเขาเห็นว่าเรามีสัดส่วนทหารต่อประชากรสูงกว่าประเทศอื่นๆ 30-40% เมื่อประเทศอื่นทำได้ แล้วทำไมเราจะทำไม่ได้ และในอนาคต กองทัพจะสามารถ ‘จิ๋วแต่แจ๋ว’ ขึ้นได้ เพราะด้วยบริบทเทคโนโลยีเปลี่ยนไป

 

ดังนั้นไอติมจึงเห็นความเป็นไปได้ที่จะลดความต้องการจาก 1 แสน ลดมาเหลือ 6-7 หมื่นนาย

 

 

ค่าตอบแทน สวัสดิการ ความรุนแรง คือปัจจัยสำคัญ ทำยอดผู้สมัครทหารเพิ่มหรือลดลง

จากจำนวนผู้สมัครทหารที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ หากดูจากสถิติประกอบ มีแค่ 3 ปีที่ลดลง โจทย์สำคัญคือ แล้วจะทำให้ยอดผู้สมัครขึ้นได้อย่างไร ไอติมเสนอว่า

 

หนึ่งคือ ค่าตอบแทน เขาเห็นว่าปีที่ยอดผู้สมัครเพิ่มสูงสุดคือปีที่เพิ่มค่าตอบแทนจาก 9,000 บาท เป็น 10,000 บาท ซึ่งการเพิ่มค่าตอบแทน 10% กลับเพิ่มยอดผู้สมัครได้ถึง 30%

 

อีกเรื่องคือ การให้สัญญาว่าจะได้ค่าตอบแทนครบจริงๆ การหักเงินเป็นค่าเสื้อหรือค่าอื่นๆ ต้องให้พลทหารตัดสินใจจริงๆ ว่าจะให้หักไหม เช่น ชุดฝึกจำเป็นต้องมีชุดที่ 3 ไหม หรือมีแค่ 2 ชุดก็พอ หรืออาจเปิดประมูลบริษัททำชุดฝึก จากที่เก็บ 1,200 บาท มีร้านที่สามารถทำได้ถูกกว่านั้นได้ไหม

 

อีกเรื่องคือการปฏิรูปสวัสดิการ เพราะอีกปีที่ยอดสมัครสูงคือ ปีที่ กศน. เข้ามาให้การศึกษาในค่ายทหาร

 

“เราต้องมาถามว่าพลทหารอยากเห็นอะไรดีขึ้น เรื่องวันลา หรือเรื่องสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล ซึ่งทุกวันนี้ครอบคลุมตัวพลทหาร แต่ไม่คลุมถึงครอบครัว ไปจนถึงค่าเล่าเรียนบุตรด้วย

 

“เรื่องที่สามคือเรื่องความรุนแรง เพราะปีที่ยอดการสมัครลดลงเยอะมากๆ ในรอบปีนั้นมีข่าวความรุนแรงอย่างเช่น เรื่องน้องเมย เพราะฉะนั้นมันไม่น่าแปลกใจ ถ้าเรากำจัดความรุนแรงไปไม่ได้ คนก็ไม่สมัคร ดังนั้นความรุนแรงจึงเป็นเรื่องใหญ่กว่าเรื่องเกณฑ์หรือสมัคร”

 

 

แก้ความรุนแรงด้วย ‘ผู้ตรวจการกองทัพ-การเพิ่มช่องทางสื่อสาร’ คือคำตอบ

ไอติมมองว่า “ต้องเปิดให้มีการตรวจสอบ อย่างเยอรมนีที่มีผู้ตรวจการกองทัพ (Military Ombudsman) ซึ่งสามารถรับเรื่องร้องเรียนจากพลทหารได้ โดยไม่ต้องผ่านลำดับผู้บังคับบัญชา สามารถเข้าไปตรวจสอบกรณีที่มีการใช้ความรุนแรงเกินเหตุ

 

“อีกเรื่องคือเพิ่มช่องทางการสื่อสาร อย่างผม ตอนฝึกทหารใหม่หายไปเลย 10 สัปดาห์ เพราะใช้โทรศัพท์มือถือไม่ได้เลย เมื่อดูที่สิงคโปร์ เขาให้ใช้ช่วงเย็น เป็นล็อตๆ ผมก็มองว่าคนที่หวังร้ายกับทหารจะมีความหวั่นกลัวมากขึ้นถ้าหากมีการสื่อสารออกไป”

 

 

แก้ปัญหากองทัพต้องจริงใจ ไม่มุ่งให้เป็นประเด็นทางการเมือง

ไอติมเห็นว่าการปฏิรูปกองทัพ หรือจับเรื่องการแก้ระบบการเกณฑ์ทหาร เรื่องนี้ต้องไม่กลายเป็นประเด็นทางการเมือง หรือถูกมองว่าเป็นการต่อสู้กับกองทัพ

 

เพราะเขาเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสิ่งใดก็ตามจะประสบความสำเร็จได้ดีที่สุด ถ้าได้รับความร่วมมือจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง หน้าที่ของฝ่ายการเมืองจึงจำเป็นต้องทำให้กองทัพ ในฐานะองค์กรที่มีส่วนได้เสีย ให้การยอมรับข้อเสนอนั้น เพื่อจะปรับตัวไปพร้อมกัน

 

“เราต้องดูที่ผ่านมาว่าเป็นการนำเสนอแบบไหน เป็นการนำเสนอที่อยากจะทำจริงๆ หรือเปล่า ร่วมมือกับกองทัพเพื่อที่จะทำจริงๆ หรือเสนอเพื่อจะโจมตีกองทัพ ผมว่าตรงนี้สำคัญ แล้วถ้าดูคำพูดของท่าน ผบ.ทบ. เอง ถ้าเราตัดประโยคแรกออกไป ที่ท่านตอบสวนนักข่าวว่าเป็นไปไม่ได้

 

“ความจริงถ้าเราดูดีๆ ท่านพูดอยู่ 3 อย่าง อย่างแรก เป็นไปไม่ได้ที่ประเทศจะไม่มีทหาร อันนี้เห็นด้วย อย่างที่สอง ท่านยอมรับคำถามที่นักข่าวถามว่า ถ้าคนสมัครเยอะขึ้น การเกณฑ์ก็น้อยลงใช่ไหม สาม ท่านก็พูดว่าอยากให้คุณภาพชีวิตพลทหารดีขึ้น โดยการฝึกวิชาชีพ เพิ่มสวัสดิการการศึกษา

 

“ผมก็อยากบอกว่ามาร่วมกันทำ ผมก็อยากเห็นชีวิตพลทหารดีขึ้น อยากเห็นคุณภาพชีวิตเพื่อนๆ ในค่ายดีขึ้นเหมือนกัน ทำไมผมจะไม่อยาก ที่อื่นอาชีพทหารเป็นอาชีพที่คนยกย่อง

 

“แต่ประเทศไทย อาจเพราะปัจจัยทางการเมือง มีรุ่นพี่ผมที่โดนใบแดงเข้ามา เขาบอกว่าเคยถูกมอบหมายให้ไปรักษาความสงบเรียบร้อยของการประท้วง มีคนมาชี้หน้าด่าเขาว่า คุณทำให้เกิดรัฐประหาร เขาบอกผมไปทำอะไรให้ แค่โดนใบแดงมา ก็ไปทำหน้าที่ตามกฎหมาย”

 

 

หยั่งเสียงหัวหน้าประชาธิปัตย์เป็นรูปธรรมมากกว่าปฏิรูปการเมืองของ คสช.

นอกจากวิจัย 6 เดือนในค่าย เมื่อไอติมออกจากค่ายมา ภายในพรรคก็เข้าโหมดหยั่งเสียงหัวหน้าพรรค และได้หัวหน้าพรรคคนเดิมคือนายอภิสิทธิ์ กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง  

 

ส่วนสถานการณ์นอกพรรคก็เข้าสู่โหมดคลายล็อกให้เริ่มทำกิจกรรมการเมืองบางอย่างได้ และ 13 พฤศจิกายนนี้ก็จะมีงานเปิดตัวคนรุ่นใหม่ประชาธิปัตย์

 

ต่อการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศ ไอติมบอกว่าเขารู้สึกภูมิใจและอยากเห็นทุกพรรคการเมืองทำการเลือกหัวหน้าพรรคจากสมาชิกพรรคทั่วประเทศ เป็นเรื่องที่เขาอยากช่วยผลักดัน เพราะเป็นสิ่งที่ดีต่อการปฏิรูปการเมือง เป็นรูปธรรมกว่า 4 ปีที่ คสช. ทำมา

 

 

คนรุ่นใหม่กับประชาธิปัตย์ยุคใหม่  

ภาพการเดินหน้าสู่การเลือกตั้งเริ่มชัดเจนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการคลายล็อกบางส่วน การอนุมัติจดแจ้งพรรคการเมืองใหม่ๆ การหาสมาชิกให้ทันการเลือกตั้ง การประชุมเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรค คณะกรรมการในพรรคต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด

 

ซึ่งเป็นเรื่องน่าสังเกตว่า กระแสคนรุ่นใหม่ที่โหมกันมาตลอดหลายเดือนจากหลายพรรค มาวันนี้ภาพเริ่มชัดจนหลายคนอาจเริ่มเห็นและตั้งข้อสังเกตว่า คนรุ่นใหม่จะมีพื้นที่หรือมีตำแหน่งแห่งที่ในพรรคมากน้อยแค่ไหน หรือในระดับใด จะมีกี่พรรคที่ทำให้คนรุ่นใหม่ในพรรคเชื่อมั่นได้จริงว่าสามารถร่วมมือกับกรรมการบริหารพรรคได้ หรือจะได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครลงเป็น ส.ส.

 

สำหรับประชาธิปัตย์ ไอติมมองว่าเป็นพรรคที่ให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่มานาน เขายกถึงอายุของนายอภิสิทธิ์ขณะเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคด้วยวัย 41 ปีมาสนับสนุน ตลอดจนการตั้งยุวประชาธิปัตย์ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2533 ซึ่งเริ่มมาก่อนที่บางพรรคการเมืองจะเกิดขึ้นอีก รวมถึง ส.ส. ที่มีอายุ 25 ปีเข้ามาเยอะพอสมควร เขาจึงมองว่าเรื่องนี้เป็นจุดแข็งของพรรคประชาธิปัตย์

 

 

ด้านบทบาทคนรุ่นใหม่ นอกจากจะมีงานเปิดตัววันที่ 13 พฤศจิกายนนี้แล้ว ไอติมยังเล่าถึงสิ่งที่พวกเขาเริ่มทำอย่างการทำให้เว็บไซต์พรรคเพิ่มระบบการมีส่วนร่วมกับสมาชิกมากขึ้น

 

“จะไม่ใช่การสื่อสารให้ข้อมูลด้านเดียว แต่สมาชิกจะเข้ามาเสนอนโยบายได้ สามารถบริจาคโดยเลือกโครงการได้ ไม่ใช่ไม่รู้ว่าบริจาคแล้วเงินไปไหน และจากการทำงานกับสถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย ซึ่งเป็นเหมือนองค์กรวิชาการที่เชื่อมโยงกับพรรคประชาธิปัตย์เพื่อให้นโยบายแต่ละอย่างทำให้คนที่ไม่ได้สนใจการเมืองได้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น นโยบายก็จะอิงกับการค้นหาข้อเท็จจริง การวิจัยมากขึ้นกว่าเดิม”

 

คงต้องติดตามกันว่า หลังจาก 13 พฤศจิกายน หลังการเปิดตัวคนรุ่นใหม่ประชาธิปัตย์ ไอติมกับมุมมองในวันนี้ จะสามารถขยับตัวเองขึ้นมาแสดงศักยภาพสร้างการนำใน ‘ประชาธิปัตย์ยุคใหม่’ ได้มากน้อยเพียงใด

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising