×

การก้าวข้ามกำแพงภาษากับหนังสือ ‘สุวรรณภูมิแผ่นดินทอง’

27.03.2024
  • LOADING...

มีนักโบราณคดีต่างชาติบางคนบอกว่าประเทศไทยเหมือนหลุมดำทางโบราณคดี เพราะชาวต่างชาติหรือกระทั่งเพื่อนบ้านไม่ค่อยรู้ข้อมูลทางโบราณคดีเกี่ยวกับไทยมากนัก เหตุผลหลักๆ ก็คือข้อมูลส่วนใหญ่เป็นภาษาไทย

 

เรื่องนี้ไม่ใช่ความผิดอะไร เพราะสถานการณ์นี้ก็เกิดขึ้นกับในประเทศเพื่อนบ้านที่มีภาษาของตนเองเช่นกัน มรดกทางภาษาจากยุคอาณานิคมนั้นทุกวันนี้ก็เริ่มไม่เข้มแข็งอีกต่อไป มีเพียงบางประเทศเท่านั้นคือสิงคโปร์และมาเลเซียที่ยังใช้ภาษาของเจ้าอาณานิคมอย่างคล่องแคล่ว จึงทำให้เรื่องโบราณคดีของทั้งสองประเทศรับรู้ในระดับนานาชาติมากกว่าที่อื่น

 

ความรู้ทางโบราณคดีในระดับสากลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทุกวันนี้โดยมากมาจากกลุ่มของชาวยุโรปที่เข้ามาทำงานตั้งแต่สมัยอาณานิคม (เช่น ยอร์ช เซเดส์) เรื่อยมาถึงยุคสงครามเย็น (เช่น ชาร์ลส์ ไฮแอม และ ดี.จี.อี. ฮอลล์) กระทั่งในปัจจุบัน

 

แน่นอนว่านักวิชาการเหล่านี้เขียนงานเป็นภาษาอังกฤษ โลกของภาษาอังกฤษจึงเป็นตัวกำหนดความรู้สากล ความรู้สากลพวกนี้ครั้งหนึ่งเคยทันสมัย แต่ ณ ปัจจุบัน หลังจากยุคอาณานิคมและหลังยุคสงครามเย็น กลับกลายเป็นความรู้ที่ Out of Date หรือไม่ทันสมัยไปแล้ว เพราะความรู้ทางด้านโบราณคดี รวมถึงประวัติศาสตร์ในทุกวันนี้ในหลายประเทศ รวมถึงไทย ผลิตเป็นภาษาท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาของคนท้องถิ่น แต่เป็นปัญหาของโลกภาษาอังกฤษ หรืออาณานิคมทางภาษาในยุคหลังอาณานิคมแบบหนึ่ง

 

ความรู้สุวรรณภูมิเชื่อมโลก

 

เมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา สถาบันโลกคดีศึกษา และสถาบันสุวรรณภูมิศึกษา ภายใต้วิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ (ธัชชา) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้จัดงานเปิดตัวหนังสือ สุวรรณภูมิแผ่นดินทอง หนังสือเล่มนี้มีความสำคัญมากในวงวิชาการประวัติศาสตร์และโบราณคดี ไม่ใช่แค่ตัวข้อมูลเพียงอย่างเดียว หากแต่สำคัญตรงที่มีการแปลออกมาเป็นภาษาต่างๆ มากถึง 7 ภาษา ประกอบด้วยอังกฤษ ฝรั่งเศส เวียดนาม เขมร มาเลย์ พม่า และจีน ส่วนภาษาไทยนับเป็นภาษาที่ 8

 

การแปลหนังสือ สุวรรณภูมิแผ่นดินทอง นี้เริ่มต้นจาก นพ.บัญชา พงษ์พานิช อดีตผู้อำนวยการสถาบันสุวรรณภูมิศึกษา ผู้มีความหลงใหลในงานโบราณคดียุคต้นประวัติศาสตร์ และยังเป็นการสานต่องานของท่านพุทธทาสที่เคยเขียนเรื่องเกี่ยวกับโบราณคดีศรีวิชัยอีกด้วย เนื้อหาและภาพประกอบของหนังสือเล่มนี้เป็นการปรับปรุงมาจากหนังสือ สุวรรณภูมิ ภูมิอารยธรรมเชื่อมโยงโลก ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ซึ่งเต็มไปด้วยหลักฐานยุคต้นประวัติศาสตร์ที่แสดงการติดต่อกับอินเดียไกลไปถึงสมัยพระเจ้าอโศกและจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น ซึ่งสะท้อนว่าสุวรรณภูมิเป็นดินแดนส่วนหนึ่งบนเส้นทางสายไหมทางทะเลที่สำคัญ และเป็นเหตุที่ทำให้สุวรรณภูมิรับศาสนาจากอินเดียและมีผู้คนหลากหลายเข้ามาตั้งถิ่นฐานจนนำไปสู่ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ดังเช่นทุกวันนี้ สุวรรณภูมิจึงเป็นต้นทางของประวัติศาสตร์ไทย ไม่ใช่เรื่องกึ่งตำนานดังเช่นองค์ความรู้ชุดเก่า

 

จากซ้ายไปขวา ผศ.ชวลิต ขาวเขียว, นพ.บัญชา พงษ์พานิช, สมปอง สงวนบรรพ์ และ ผศ.ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ บนเวทีเปิดตัวหนังสือ สุวรรณภูมิแผ่นดินทอง จัดที่กระทรวงการอุดมศึกษาฯ

 

สมปอง สงวนบรรพ์ ผู้อำนวยการสถาบันโลกคดีศึกษา และอดีตเอกอัครราชทูต ในฐานะผู้สนับสนุนการตีพิมพ์หนังสือชุดนี้ได้กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้ “เป็นการพิสูจน์ว่าสุวรรณภูมิที่กล่าวกันในอดีต ทั้งในตำนานและในนิยายต่างๆ มันมีจริง และเกิดขึ้นจริง” และยังเป็นหนังสือที่เมื่อพิจารณากันในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแล้ว หนังสือเล่มนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึง “คนในภูมิภาคนี้ใช้ชีวิต มีประสบการณ์ วัฒนธรรม ที่สืบทอดกันมาจากดินแดนสุวรรณภูมิตรงนี้ เพื่อที่จะให้ชนชาติทุกชาติในแถบนี้ได้มีความภาคภูมิใจ ได้รู้ว่าเราเคยอยู่ร่วมกันมา ถึงแม้ว่าจะมีความแตกต่างทางด้านธรรมเนียมประเพณี ศาสนา ความเชื่อบางอย่าง แต่ก็ถือว่าได้อยู่ร่วมกันมาอย่างสันติสุขตลอดมา 2,500 กว่าปี”

 

นพ.บัญชา พงษ์พานิช ในฐานะผู้จัดทำหนังสือเล่มนี้ได้กล่าวว่า “ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา องค์ปฐมที่ศึกษาสุวรรณภูมิคือล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 และมีการศึกษาต่อเนื่องกันมามากมาย ทั้งความเห็นว่าสุวรรณภูมิมีจริงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระหว่างจีนและอินเดีย แยกเป็น 2 ศูนย์ คือ การค้าและพระพุทธศาสนา แต่หลายหลักฐานที่นิยมใช้นั้นยังไม่เก่าแก่พอ อาจจะต้องหาหลักฐานให้มากขึ้น และรอหลักฐาน โดยอาจารย์ผาสุข อินทราวุธ ซึ่งเป็นครูใหญ่ของคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร บอกว่า ตราบใดที่หาหลักฐานที่เก่าถึงพุทธศตวรรษที่ 2 เก่าถึง 2,500 ปี ในแผ่นดินนี้ และถ้าหลักฐานนั้นเกี่ยวเนื่องกับอินเดีย และถ้าหากว่าเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาด้วย ท่านบอกว่าจะคอนเฟิร์มว่าสุวรรณภูมิมีจริง

 

แต่ในปัจจุบันได้มีการค้นพบหลักฐานจำนวนมากที่ช่วยยืนยันได้ว่าดินแดนสุวรรณภูมิมีอยู่จริงทั้งจากอินเดีย กรีกและโรมัน จีนเก่าไปถึงราชวงศ์ฮั่น รวมถึงวัตถุที่ผลิตขึ้นในท้องถิ่นและค้าขายไปทั่วทะเลจีนใต้ นพ.บัญชา พงษ์พานิช กล่าว

 

นพ.บัญชา พงษ์พานิช ขณะกำลังกล่าวถึงหนังสือ สุวรรณภูมิแผ่นดินทอง

 

ผศ.ชวลิต ขาวเขียว ผู้อำนวยการสถาบันสุวรรณภูมิศึกษา และรองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้กล่าวถึงความสำคัญของการศึกษาสุวรรณภูมิว่า สุวรรณภูมิคืออารยธรรมที่ยิ่งใหญ่มากใน 2,000 ปีที่แล้ว ซึ่งการศึกษาอดีตเกี่ยวกับสุวรรณภูมินี้จะทำให้ “เรารู้จักตัวเองและเรียนรู้ปัจจุบัน แล้วนำเอาสิ่งที่ผ่านมาไปสู่อนาคต”

 

เพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้กล่าวในงานด้วยว่า “กระทรวงการอุดมศึกษาฯ มีความสนใจให้ความสำคัญกับการค้นคว้าเรื่องราวของดินแดนสุวรรณภูมิอย่างจริงจัง และดินแดนสุวรรณภูมิมีความเป็นอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่มาช้านาน พื้นที่สุวรรณภูมิเคยเป็นสะพานเชื่อมโลก ทั้งเรื่องการค้า การบริการ การแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ ศิลปะ วัฒนธรรมต่างๆ เป็นยุคที่เกิดนวัตกรรมต่างๆ ขึ้นมาตลอดเวลา มีหลายหลักฐานที่พิสูจน์ให้เห็นว่าคนในดินแดนแถบนี้มีความเชี่ยวชาญในสายเลือด ทั้งทางด้านสถาปัตยกรรม หัตถกรรม และสุนทรียศาสตร์มาเป็นเวลานาน ไม่เพียงแต่จะมีความเด่นเฉพาะด้านเกษตรกรรมเพียงอย่างเดียวดังที่เคยเข้าใจกันมา”

 

เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้งานวิจัยของสถาบันสุวรรณภูมิ รวมถึงสถาบันโลกคดีศึกษาได้รับความสนใจจากกระทรวงการอุดมศึกษาฯ เป็นเพราะปัญหาในระดับประเทศที่ให้น้ำหนักกับงานทางด้านวิทยาศาสตร์มากจนเกินไป จนเกิดช่วงถ่างระหว่างกันของทั้งวิทยาศาสตร์กับงานด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

 

ความรู้ทางประวัติศาสตร์คือความสัมพันธ์ทางการทูต

 

ความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ในปัจจุบันไม่ได้เป็นไปเพื่อชาตินิยมหรือภูมิภาคนิยมอีกต่อไป แต่เป็นความรู้ที่ช่วยให้เราจัดความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านและโลกใบนี้ได้

 

สมปอง สงวนบรรพ์ ได้ให้ความเห็นถึงความรู้เกี่ยวกับสุวรรณภูมิว่า “ในทางการทูต เราถือว่าประวัติศาสตร์จะเป็นหลักฐานทางด้านวัตถุ ทางด้านพิธีกรรม ทางด้านนโยบายหรือการดำเนินการ การติดต่อปฏิสัมพันธ์ เป็นเรื่องของความต่อเนื่อง ไม่มีการหยุดชะงัก แน่นอนการเปลี่ยนนโยบายจากสันติภาพมาเป็นการรบ มาเป็นความผูกพัน เป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมนั้นมีรากฐานที่ต่อเนื่องกันมา เพราะฉะนั้นในแง่นี้ก็สามารถตอบได้ว่าการที่เราค้นพบสุวรรณภูมินี้ก็ถือว่ามีจุดเชื่อมที่สำคัญ มันอาจจะมีก่อนหน้านั้น แต่อย่างน้อยก็เป็นจุดเชื่อมที่สำคัญของ Positioning ของไทย พิกัดของไทย”

 

สมปอง สงวนบรรพ์ ผู้อำนวยการสถาบันโลกคดีศึกษา

 

นอกจากนี้แล้วสมปองยังได้กล่าวอีกว่า “จุดที่เราค้นพบสุวรรณภูมิก็เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่าตรงนี้นอกจากจะเป็นพื้นที่ในเหตุผลทางด้านภูมิศาสตร์แล้ว ก็คงเป็นเหตุผลทางด้านของมนุษยศาสตร์ด้วย ที่เราสามารถที่จะเชื่อมต่อ ต้อนรับ ไม่ขัดขวาง เพราะฉะนั้นนี่จึงเป็นจุดสะท้อนถึงความเป็นไทย ความเป็นไทยที่สืบทอดกันมาจนเราเป็นประเทศที่คบกับใครก็ได้ ก็หวังว่าอนาคตก็จะเป็นอย่างนี้ต่อไป เพราะมันได้พิสูจน์มาตลอดแล้วว่าไม่ว่าใครไปใครมาก็อยากจะมาอยู่ที่นี่ ถึงได้ชื่อว่าเป็นแผ่นดินทองมาตั้งแต่โบราณ”

 

ด้วยเหตุนี้เองสมปองจึงสรุปด้วยว่า “เรา (ประเทศไทย]) สามารถที่จะเป็นจุดเชื่อมสัมพันธ์สร้างสันติภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือกว้างไกลออกไปในเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ หรือในโลก” ดังนั้นการศึกษาวิจัยประวัติศาสตร์โบราณคดีในบางเรื่องบางประเด็นทุกวันนี้จึงเป็นการศึกษาเพื่อเชื่อมโยงตัวเรากับโลกใบนี้ เรียกว่าเป็น ‘Global History’ นั่นเอง

 

มนุษยศาสตร์ไม่ใช่ติ่งของวิทยาศาสตร์

 

ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา นายกสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้แสดงทัศนะต่อปัญหาข้างต้นว่า “ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นต่อเนื่อง จนกระทั่งราว 1960 เกิดการระเบิดขององค์ความรู้ เกิดเป็น S-Curve ที่ 1 ของความรู้วิทยาศาสตร์ S-Curve นี้ทำให้เกิด Technological Revolution หรือการปฏิวัติที่อาศัยเทคโนโลยี ถัดมาอีกเมื่อราว 1995-2000 ก็เกิด S-Curve อีกอันหนึ่งตามมาคือ Digital Revolution ทั้งหมดนี้ทำให้วิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้าแล้วขยายตัวอย่างรุนแรง ทำให้สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ถูกลดความสำคัญในสายตาของมนุษย์ไป สังคมศาสตร์ลดลงไปพอสมควร แต่ส่วนที่เหมือนจะหายไปคือมนุษยศาสตร์”

 

ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา นายกสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัส ยังได้เพิ่มเติมด้วยว่า “มนุษยศาสตร์เป็นสิ่งที่จำเป็น ไม่ใช่เป็นเพียงติ่งของวิทยาศาสตร์ คำตอบของปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นยังไม่สมบูรณ์ จะปัญหาสังคม ปัญหาเศรษฐกิจ ไม่สมบูรณ์เพราะว่าขาดความเป็นมนุษย์ ขาดมนุษยศาสตร์ ขาดคติความเชื่อของเรา”

 

ดังนั้นงานวิจัยของสถาบันสุวรรณภูมิศึกษา ซึ่งเป็นทั้งการทำงานในมิติทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี โลหะวิทยา วัสดุศาสตร์ พันธุกรรมศาสตร์ ภาษาศาสตร์ ศิลปะ และอื่นๆ อีกมาก จึงเป็นจุดบรรจบของการเชื่อมโยงความถ่างกันระหว่างงานทางด้านวิทยาศาสตร์กับมนุษยศาสตร์ เพราะการจะเข้าใจเรื่องราวในอดีตห่างไกลระดับ 2,000 ปีได้นั้นจะต้องใช้ความรู้หลากหลายสาขาอย่างมาก นี่เองจึงน่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัส ให้ความสำคัญกับเรื่องราวของสุวรรณภูมิเป็นอย่างมาก จนถึงขั้นสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ศึกษาวัฒนธรรมภาคพื้นสมุทร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในเร็ววันนี้ เพราะสุวรรณภูมิไม่ใช่แค่เชื่อมโลก แต่ยังเชื่อมโยงองค์ความรู้ต่างๆ ไปพร้อมกัน

 

ท้ายสุด ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล อดีตปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ได้ชี้ให้เห็นความสำคัญของการศึกษาสุวรรณภูมิที่เป็นอดีตอันยาวไกลนี้ว่า การศึกษาเรื่องสุวรรณภูมินี้ “จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ หลายท่านพูดง่ายๆ ว่า ขนาดประวัติศาสตร์เรามีของ 800 ยังเล่าได้ขนาดนี้ อย่างน้อยสุดถ้าเรามี 2,500 ปี เราก็จะมีพื้นที่เล่นอีกประมาณ 3 เท่า หรือมีพื้นที่อีกพันกว่าปี มูลค่าเพิ่มก็จะเพิ่มได้มากขึ้นอีก เหนือไปกว่านั้น การลากเส้นประวัติศาสตร์ได้ยาวก็จะยิ่งเพิ่มความภูมิใจ ความเข้าใจ ความตระหนักต่อความสำคัญในแถบนี้ ซึ่งจะสร้างมูลค่าได้อีกมาก นอกเหนือจากมูลค่าด้านเศรษฐกิจ”

 

อีกทั้งยังมีความเห็นสอดคล้องกับศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัส ว่า “ในเชิงการวิจัย การวิจัยที่สำคัญที่สุดคือการวิจัยที่จุดรอยต่อระหว่างศาสตร์ที่ดีที่สุด นักวิจัยระดับโลกจะไม่ค่อยวิจัยเพื่อขยายสิ่งที่มีอยู่ แต่หาจุดรอยปะทะระหว่างศาสตร์ รอยปะทะระหว่างวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ที่เราละเลยมานาน”

 

อาจกล่าวได้ว่าทัศนะของทั้งศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์จรัส และ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ได้เผยให้เห็นปัญหาของการทำงานวิจัยในบ้านเราที่แยกขาดระหว่างสายวิทยาศาสตร์กับมนุษยศาสตร์+สังคมศาสตร์มาช้านาน สุวรรณภูมิจึงอาจเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นที่ทำให้ศาสตร์ทั้งสองทั้งสามนี้มาบรรจบกันอีกครั้งหนึ่ง

 

ผศ.ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

หนังสือ สุวรรณภูมิแผ่นดินทอง ทุกภาษานี้ปัจจุบันตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่ม แต่ในอนาคตจะมีการเผยแพร่ในรูปแบบหนังสือดิจิทัล ผศ.ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ให้ข้อมูลว่า “เราจะทำเป็นหนังสือดิจิทัล ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ อยู่ในแพลตฟอร์ม WISE ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นคนออกแบบแพลตฟอร์มที่รวบรวมองค์ความรู้จากทั่วโลกในเรื่องของสุวรรณภูมิศึกษา ตัวหนังสือจะเป็นเอกสารสำคัญ เป็นชุดความรู้ที่อยู่ในแพลตฟอร์มเหล่านั้น ปัจจุบันแพลตฟอร์มนี้และหนังสือนี้ได้ถูกเข้าถึงโดยนักวิชาการจากต่างประเทศกว่า 20 ประเทศแล้ว”

 

ดังนั้นแน่นอนว่าการแปลหนังสือนี้ต้องใช้ทั้งกำลังกายและทุนทรัพย์จำนวนมาก วิสัยทัศน์ของภาครัฐจึงเป็นสิ่งสำคัญ ต้นแบบมีมากมายหลายประเทศที่ให้ความสำคัญกับการแปลความรู้ แต่หากต้องการทลายหลุมดำทางโบราณคดี การเขียนหนังสือแล้วแปลให้ได้หลายภาษา ย่อมช่วยทำให้ความรู้แพร่กระจาย ยกระดับงานวิจัยไทย ส่งเสริมความสำคัญของประเทศต่อสายตาชาวโลก และยังทำให้คนในภูมิภาคนี้มีความเข้าใจกันมากขึ้นข้ามพ้นขีดจำกัดทางด้านภาษา

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising