เป็นที่รู้กันทั้งในพวกเราชาวไทยและในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติว่า เมืองท่องเที่ยวยอดนิยมของประเทศอย่างเชียงใหม่ มีปัญหาหมอกควันเกิดขึ้นทุกปีในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในช่วงนั้นแล้ว มลพิษที่เกิดขึ้นก็ยังเป็นปัญหาต่อสุขภาพ โดยมีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกินมาตรฐานทั้ง PM10 และ PM2.5 ซึ่งช่วงหลังเป็นที่จับตามองกันมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่เราสัมผัสและได้รับผลกระทบโดยตรงจากภายนอก แหล่งกำเนิดปัญหาหมอกควันใหญ่แหล่งหนึ่งมาจากการเผาป่า และปัญหาการเผาป่าในพื้นที่เขาสูงในภาคเหนือเป็นปัญหาที่ซับซ้อนเรื้อรังมานาน ในเมื่อแก้ปัญหาหยุดการเผาไม่ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ชาวบ้านในป่าต้องเข้ามาช่วยกันดับไฟ
จนบรรดาเชฟแถวหน้าของประเทศไทยอย่างกลุ่ม ‘ฅนฅรัวพวกนั้น’ ที่นำโดย เชฟหนุ่ม-วีระวัฒน์ ตริยเสนวรรธน์ (ร้านซาหมวยแอนด์ซันส์ จังหวัดอุดรธานี) ร่วมด้วย เชฟแบล็ค-ภานุภน บุลสุวรรณ และ เชฟเบียร์-อโณทัย พิชัยยุทธ (ร้าน Blackitch จังหวัดเชียงใหม่) เชฟแวน-เฉลิมพล โรหิตรัตนะ (ร้าน Dag กรุงเทพฯ) เชฟโจ-ณพล จันทรเกตุ (80/20 กรุงเทพฯ) เชฟชาลี กาเดอร์ (100 มหาเศรษฐ์ กรุงเทพฯ) เชฟตาม-ชุดารี เทพาคำ และเพื่อนเชฟอีกหลายท่าน รวมถึง ลี-อายุ จือปา ผู้ก่อตั้งกาแฟอาข่า อ่ามา ออกมาร่วมกันจัดกิจกรรมระดมทุนสำหรับซื้ออุปกรณ์ดับไฟป่าในภาคเหนือ ในชื่อ ‘ป่าเขา ลมหายใจเรา’ ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2562
เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา เราได้ไปที่ร้านโบ.ลาน ซึ่งเจ้าบ้านอย่าง เชฟโบ-ดวงพร ทรงวิศวะ ชวนผู้จัดงาน ปราชญ์ชาวบ้าน และตัวแทนพี่น้องชาวปกาเกอะญอ มาคุยกันว่า ทำไมจึงลุกขึ้นมาจัดงานในครั้งนี้
ไฟที่เกิดทางโน้น ควันถึงคนทางนี้
เชฟโบเริ่มด้วยการถามเชฟหนุ่มว่า “อยู่อุดรฯ ทำไมมาห่วงป่าภาคเหนือ” ในจำนวน 9 ชุมชน ที่การระดมทุนครั้งนี้มีเป้าหมายสนับสนุน หนึ่งในนั้นคือ บ้านหินลาดใน ซึ่งเชฟหนุ่มและเพื่อนๆ เชฟได้เข้าไปเรียนรู้วัตถุดิบ ธรรมชาติ ภูมิปัญญาไร่หมุนเวียน และวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอ ทำให้เข้าใจเรื่องป่ามากขึ้น จนอยากรักษาและตอบแทนผืนป่านี้
โดยพื้นที่ 9 ชุมชน ที่เงินทุนจากงานครั้งนี้จะไปช่วย ได้แก่ บ้านหินลาดใน บ้านหินลาดนอก บ้านผาเยือง บ้านป่าเกี๊ยะ ในจังหวัดเชียงราย และบ้านปางมะกล้วย บ้านดอนเจียง บ้านห้วยอีค่าง บ้านหนองเต่า บ้านมอวาคี ในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นเพียงชุมชนนำร่องสำหรับโมเดลการช่วยดับไฟป่าเท่านั้น ในอนาคตหวังจะขยายไปสู่พื้นที่อื่นทั่วประเทศไทย
ดับไฟป่าที่ปลายเหตุ
สาเหตุสำคัญของสถานการณ์ไฟป่าในภาคเหนือมาจากการเผาป่าเพื่อล่าสัตว์ หาของป่า และการเผาไร่เพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างข้าวโพด แม้ว่าการดับไฟป่าอย่างที่ชาวบ้านในพื้นที่กำลังทำอยู่ ดูเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่สำหรับพวกเขา นั่นคือสิ่งที่ทำได้ในตอนนี้ ทศ-ชัยธวัช จอมติ ปราชญ์ชาวบ้าน ตัวแทนชุมชนจากบ้านหินลาดใน เล่าให้เราฟังถึงความซับซ้อนของปัญหาไฟป่า ซึ่งบางครั้งการแก้ที่ต้นตออย่างการห้ามไม่ให้เกิดการเผา อาจหมายถึงการเผชิญหน้า และการเสี่ยงชีวิตของพี่น้องในชุมชน ซึ่งตัวเขาเองในฐานะส่วนหนึ่งของชุมชนก็หวังให้งานนี้เป็นโอกาสที่สร้างการตระหนักรู้ไปยังสังคมถึงปัญหาที่เกิดขึ้น
“เราเลือกกินอาหารที่เราชอบได้ แต่สำหรับอากาศ ไม่มีใครสามารถเลือกหายใจต่างกันได้ เพราะฉะนั้นทุกชีวิตได้รับผลกระทบกันหมด”
ไร่เลื่อนลอยไม่เท่ากับไร่หมุนเวียน
น้ำ-กัลยา เชอมือ อีกหนึ่งตัวแทนคนรุ่นใหม่ในชุมชน ผู้ร่วมจัดงานนี้หวังว่า การให้ความรู้ที่ถูกต้องกับสาธารณชนในงานนี้ จะช่วยคลี่คลายความเชื่อผิดๆ ที่มองชนเผ่าพื้นเมืองเป็นผู้ทำลายป่า สิ่งที่เธอรู้สึกว่าชุมชนของเธอ ‘ถูกโยนให้เป็นผู้ร้าย’ ทั้งที่ความจริงแล้ว ป่าคือบ้านของพวกเขา และการทำไร่หมุนเวียนของคนในชุมชนก็แตกต่างจากการทำไร่เลื่อนลอย เพราะการทำไร่หมุนเวียนหมายถึงการปล่อยให้ป่าได้มีเวลาพักฟื้น ก่อนจะกลับมาทำเกษตรกรรมในพื้นที่เดิม ในขณะที่ไร่เลื่อนลอยคือการปล่อยปละละเลย
และการเผาป่าเพื่อเตรียมทำเกษตรกรรมก็เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ผ่านการเรียนรู้ สืบทอดกันมา โดยมีหลักการคือ การเผาในช่วงเวลาใกล้ฝนตก เพื่อให้น้ำช่วยพาควันลงมาที่พื้น และมีการเผาเป็นบริเวณ จากด้านนอกให้ไฟมาบรรจบกันตรงกลาง และดับลงตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ “เราเผาจากข้างบนและข้างล่างให้มาเจอกันตรงกลาง สำหรับพื้นที่ 4 ไร่ ใช้เวลา 15 นาทีเท่านั้น” ทศเสริม
ฟังเสียงจากชุมชน
เมื่อดูรายชื่ออุปกรณ์การดับไฟป่าที่โครงการนี้มีเป้าหมายจะช่วยจัดหา อันได้แก่ เครื่องเป่าลม คราด จอบ ไฟฉายติดหัว เครื่องพ่นน้ำ และอาหาร เราก็ประหลาดใจกับความเรียบง่ายของแต่ละอย่างที่ชาวบ้านต้องการ “ไม่มีใครเคยมาถามจริงๆ ว่าเราต้องการอะไร” ทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในอาสาสมัครผู้ดับไฟป่าของชุมชนบอกกับเรา นอกจากเรื่องอุปกรณ์ที่เคยได้รับมาไม่ตรงกับการใช้สอยจริงของชาวบ้านมากนัก ความเข้าใจเรื่องการเผาป่าที่มีผลต่อการกำหนดนโยบายก็ยังไม่ตรงกัน “วงจรของป่าผลัดใบกับป่าไม่ผลัดใบไม่เหมือนกัน” ทศเล่าต่อ และเสริมว่า ช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการเผาป่าในแต่ละปีแตกต่างกัน ขึ้นกับฤดูกาลของปีนั้นๆ ซึ่งคนในหมู่บ้านมีวิธีฟังเสียงจากธรรมชาติผ่านแมลงอย่างจั๊กจั่น ในช่วงเวลาก่อนฝนแรกของปี ฉะนั้นการกำหนดว่าตอนไหนห้ามเผา ตอนไหนเผาได้แบบเหมารวมทั้งประเทศ จึงอาจไม่ใช่สิ่งที่มีประสิทธิภาพที่สุด
สัมผัสป่า เรียนรู้ภูมิปัญญาจากท้องถิ่น
นอกจากกิจกรรม ไฮไลต์ของงานนี้คือ อาหารค่ำที่ได้เชฟกว่าสิบท่านมาร่วมกันปรุงแล้ว ในช่วงก่อนหน้าและระหว่างวันก็ยังมีกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้คนเข้าไปเรียนรู้และศึกษา ตลอดจนสัมผัสกับป่าในชุมชนเป้าหมายแบบเดียวกับที่เหล่าเชฟได้มีโอกาสรู้จัก และทำให้รู้สึกรักและหวงแหนผืนป่าขึ้นมาไม่ต่างจากเจ้าถิ่นอย่างบรรดาชาวบ้านในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมการเดินป่ากับเชฟ เวทีเสวนาในประเด็นสิ่งแวดล้อม และการได้พบปะพูดคุยกับตัวแทนหมู่บ้านต่างๆ
ย้อนกลับไปที่คำถามแรกที่เชฟโบถามเชฟหนุ่ม เหตุผลที่ทุกคนควรตื่นตัวกับปัญหาการเผาป่า นอกจากเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติในป่าที่ควรค่าแก่การรักษาไว้ เชฟโบเสริมเกี่ยวกับปัญหามลพิษและฝุ่นควันจากการเผาป่าว่า “เราเลือกกินอาหารที่เราชอบได้ แต่สำหรับอากาศ ไม่มีใครสามารถเลือกหายใจต่างกันได้ เพราะฉะนั้นทุกชีวิตได้รับผลกระทบกันหมด
“เพราะป่าของเขา คือลมหายใจของเรา”
งาน ‘ป่าเขา ลมหายใจเรา’ แบ่งเป็นหลายกิจกรรม โดยจัดขึ้นทั้งหมดในเดือนพฤศจิกายน 2562 นี้ โดยสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงาน ‘ป่าเขา ลมหายใจเรา’ และสำรองที่นั่งในกิจกรรมต่างๆ ได้ที่ www.facebook.com/ourmountainourbreath
อ่านเรื่อง {Re} Food Forum งานเสวนาอาหารรักษ์โลกจากคนในวงการอาหารเอเชียและทั่วโลก ได้ที่นี่
ภาพ: Shutterstock, ณัฐชา สงวนเกียรติชัย
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล