×

16 มิถุนายน 2451 – วันเกิด จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 11

โดย THE STANDARD TEAM
16.06.2021
  • LOADING...
สฤษดิ์ ธนะรัชต์

จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เกิดเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2451 ที่บ้านท่าโรงยา ตลาดพาหุรัด กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของ พันตรีหลวง เรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนะรัชต์) กับ จันทิพย์ ธนะรัชต์ เนื่องจากมารดาเป็นชาวอำเภอมุกดาหาร (ปัจจุบันเป็นจังหวัด) จังหวัดนครพนม และเคยพาบุตรชายไปอาศัยอยู่ที่จังหวัดนครพนม จึงถือได้ว่าจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีสายเลือดของชาวอีสาน

 

จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ขณะดำรงยศพันเอก) สมรสกับ คุณหญิงนวลจันทร์ ธนะรัชต์ และต่อมาได้สมรสใหม่กับ คุณหญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ (ชลทรัพย์) ธิดาของ นาวาโท พระศรการวิจิตร ร.น. และ ประเทียบ ชลทรัพย์ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2491 โดยมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นเจ้าภาพ

 

สำหรับบทบาททางการเมือง จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2500 อันเป็นรัฐบาลชุดสุดท้ายของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่อยู่ในตำแหน่งนั้นได้เพียง 10 วัน ก็ลาออก

 

สาเหตุของการลาออกจากตำแหน่งของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นั้น เกี่ยวโยงย้อนหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 ซึ่งมีการกล่าวขานว่าเป็นการเลือกตั้งที่ทุจริต มีการโกงทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการใช้อันธพาลที่เรียกโดยสุภาพในขณะนั้นว่า ‘ผู้กว้างขวาง’ ซึ่งผลก็คือ พรรคเสรีมนังคศิลา ของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้รับเสียงข้างมาก จึงสามารถดำเนินการจัดตั้งรัฐบาล ท่ามกลางความวุ่นวายอย่างหนัก จากการเดินประท้วงของนักเรียนนักศึกษาและประชาชนนับหมื่นนับแสนคน ซึ่งเรียกร้องให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจคู่บารมีผู้สถาปนารัฐตำรวจทรงอำนาจ ลาออกจากตำแหน่ง

 

ในช่วงเวลาดังกล่าว เมื่อสถานการณ์ลุกลามเกิดความวุ่นวายอย่างหนัก จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้แต่งตั้งให้ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพ เพื่อคอยควบคุมสถานการณ์ และช่วงนี้เองเป็นช่วงที่สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ เนื่องจาก จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ สั่งการไม่ให้ทหารทำอันตรายประชาชนที่เดินขบวนชุมนุมประท้วง และยังเป็นผู้นำประชาชนเข้าพบ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ทำเนียบอีก ทำให้กลายเป็นขวัญใจของประชาชนทันที จนได้รับฉายาในตอนนั้นว่า ‘วีรบุรุษมัฆวานฯ’

 

ในวันที่ 13 กันยายน 2500 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และคณะทหาร ยื่นคำขาดต่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ว่ายินดีจะให้รัฐมนตรีลาออก แต่ตนจะขอเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลเอง ยิ่งสร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนอย่างใหญ่หลวง ซึ่ง จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้พูดผ่านวิทยุยานเกราะถึงผู้ชุมนุมในเหตุการณ์นี้ โดยมีประโยคสำคัญที่ยังติดปากมาจนทุกวันนี้ว่า “พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ” วันที่ 15 กันยายน 2500 ผู้คนนับแสนพากันลุกฮือเดินขบวนบุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล เมื่อไม่พบ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงพากันไปบ้าน จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในขณะที่รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็กำลังจะเตรียมจับกุม จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในข้อหากบฏที่สนับสนุนให้ผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาล แต่ยังไม่ทันได้ดำเนินการใดๆ ในคืนวันที่ 16 กันยายน 2500 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็นำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจโค่นล้ม จอมพล ป. พิบูลสงคราม หลังจากการยึดอำนาจจากรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม แล้ว จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เห็นว่าไม่เหมาะสมที่ตนเองจะขึ้นครองอำนาจ จึงตั้ง พจน์ สารสิน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลพจน์ สารสิน ได้จัดการเลือกตั้ง และได้ พลโท ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาได้เกิดความวุ่นวายจากความขัดแย้งระหว่างสมาชิกพรรคที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับรัฐมนตรีขึ้น พลโท ถนอม กิตติขจร ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงร่วมมือกับ พลโท ถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจ รัฐบาลพลโท ถนอม เอง และ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 11 เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2502 หลังการทำรัฐประหารรัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising