×

OECD บรรลุข้อตกลงจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำจากบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่ 15% คาดเริ่มบังคับใช้ปี 2023

09.10.2021
  • LOADING...
ภาษีเงินได้นิติบุคคล

องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD ได้ประกาศบรรลุข้อตกลงเรื่องอัตราการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ หรือ Global Minimum Tax Rate จากบริษัทข้ามชาติทั่วโลกเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (8 ตุลาคม) โดยอัตราภาษีดังกล่าวจะถูกกำหนดเอาไว้ที่ 15%

 

ที่ผ่านมาการกำหนดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงการให้สิทธิพิเศษทางภาษีอื่นๆ นับเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่หลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและประเทศขนาดเล็กใช้ดึงดูดบริษัทข้ามชาติให้เข้ามาจดทะเบียนจัดตั้งในประเทศของตน เพื่อสร้างงานและรายได้จากค่าธรรมเนียมและนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ

 

ส่งผลให้บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่จำนวนมากนิยมจดทะเบียนในประเทศที่ปลอดภาษีหรือมีอัตราภาษีเงินได้ต่ำ และให้สิทธิพิเศษทางภาษีสูง หรือที่รู้จักกันในชื่อ Tax Havens เพื่อหลบเลี่ยงการเสียภาษีเงินได้ในอัตราสูงจากประเทศถิ่นที่อยู่ แน่นอนว่าประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ซึ่งเป็นประเทศถิ่นที่อยู่ของบริษัทเหล่านี้ย่อมไม่พึงพอใจกติกาดังกล่าวนัก และมองว่ากติกาภาษีที่ใช้อยู่ไม่เป็นธรรม เพราะทำให้พวกเขาสูญเสียรายได้ที่ควรจะได้ ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา หลายประเทศจึงเริ่มรวมตัวกันเพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ที่จะปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีจากบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ เพื่อสร้างความเป็นธรรมมากขึ้น

 

ตัวตั้งตัวตีของเรื่องนี้คือกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่าง OECD ซึ่งจัดตั้งกรอบการเจรจาเพื่อวางมาตรการป้องกันการถูกกัดกร่อนฐานภาษีและการโอนกำไรไปต่างประเทศ หรือ Base Erosion and Profit Shifting (BEPS) โดยมี 139 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่เข้าร่วมภายใต้กรอบเจรจานี้ด้วย

 

หนึ่งในประเด็นที่มีการหารือกันมาอย่างยาวนานภายใต้กรอบเจรจาดังกล่าว คือการจัดเก็บอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ หรือ Global Minimum Tax Rate ซึ่งในกรณีที่บริษัทข้ามชาติที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลต่ำกว่าอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำที่ OECD กำหนด รัฐบาลประเทศที่บริษัทแม่จดทะเบียนนิติบุคคลจะมีสิทธิ์จัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มได้จนถึงอัตราภาษีขั้นต่ำ ซึ่งล่าสุดถูกกำหนดเอาไว้ที่ 15% เพื่อป้องกันไม่ให้แต่ละประเทศแข่งกันลดภาษีให้ต่ำกว่าประเทศอื่น 

 

“ข้อตกลงนี้ได้รับความเห็นชอบจาก 136 ประเทศทั่วโลก ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันคิดเป็น 90% ของ GDP โลก และข้อตกลงนี้จะช่วยกระจายผลกำไรมูลค่ากว่า 1.25 แสนล้านดอลลาร์ของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ของโลกราว 100 แห่ง ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ผ่านการเสียภาษีที่เป็นธรรมมากขึ้น” OECD ระบุ

 

แถลงการณ์ของ OECD ยังระบุด้วยว่า อัตราภาษีดังกล่าวจะไม่ถูกปรับเพิ่มจาก 15% ในภายหลัง และธุรกิจขนาดเล็กจะไม่ได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีใหม่นี้ หลายประเทศที่เคยคัดค้านแนวคิดนี้ เช่น ฮังการีและไอร์แลนด์ เปลี่ยนใจหันมายกมือสนับสนุนหลัง OECD ยืนยันว่าจะมีช่วงเวลาสำหรับการปรับตัวก่อนบังคับใช้จริง โดยคาดว่าการบังคับใช้จะเริ่มขึ้นในปี 2023

 

“นี่เป็นข้อตกลงสำคัญทางเศรษฐกิจของโลกที่จะเกิดขึ้นหนึ่งครั้งในช่วงชีวิตเท่านั้น” เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ชื่นชมการยุติการแข่งขันกันปรับลดภาษีเพื่อดึงดูดนักลงทุนของ 136 ประเทศทั่วโลก พร้อมระบุว่า เธอหวังให้สภาคองเกรสอนุมัติการจัดเก็บภาษีตามข้อตกลงนี้โดยเร็ว

 

“การทำข้อตกลงนโยบายทางภาษีในระดับนานาชาติเป็นเรื่องที่มีความยากและซับซ้อน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็ได้ลบล้างความเชื่อดังกล่าว เมื่อข้อตกลงนี้มีผลบังคับใช้ ชาวอเมริกันจะมีความสะดวกในการหางานและทำธุรกิจในประเทศต่างๆ ทั่วโลกมากขึ้น” เยลเลนกล่าว

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising