×

วันที่พ้นมลทินขายชาติ วันที่ ‘นพดล ปัทมะ’ หวนสู่การเมือง

26.01.2024
  • LOADING...
นพดล ปัทมะ

สายของต้นสัปดาห์แรก เดือนมกราคม 2567 เปิดศักราชด้วยการสนทนากับ ‘นพดล ปัทมะ’ ที่ปัจจุบันเป็น สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และได้รับมอบหมายงานสำคัญในสภา ให้นั่งเก้าอี้ประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ ด้วยมีประสบการณ์เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาแล้วในรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช

 

และการรับตำแหน่งหนนั้นเอง ที่กลายเป็นปฐมบททางการเมืองในข้อหา ‘ขายชาติ’ ที่การเมืองขั้วตรงข้ามพยายามสร้างภาพนี้ขึ้น จนต้องลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงความรับผิดชอบ ภายหลังจากที่ได้ลงนามคำแถลงการณ์ร่วมกับประเทศกัมพูชา กรณีเขาพระวิหาร

 

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 4 กันยายน 2558 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดอ่านคำพิพากษา มีมติ 6 ต่อ 3 ยกฟ้องนพดล ไม่มีความผิด ระบุว่าการลงนามแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวมีความสมเหตุสมผลถูกต้องตามสถานการณ์ ไม่กระทบต่อสิทธิทางเขตแดนและการทวงคืนเขาพระวิหารในอนาคต

 

วันนั้นเขา ‘เสียน้ำตา’ หลังต้องทนต่อข้อหาขายชาติที่ฝ่ายตรงข้ามหยิบยื่น วันนี้เขากลับสู่สนามการเมืองในวัยเกษียณ แต่ยังคงมีความปรารถนาอันแรงกล้าต่อบ้านเมือง เขาบอกว่า ‘อโหสิกรรม’ และมีฝันที่จะทำงานให้ประเทศนี้ต่อไป 

 

ต่อไปนี้คือฉากชีวิตของชายที่ชื่อ ‘นพดล ปัทมะ’ ในวันที่พ้นมลทินร้อยเปอร์เซ็นต์ และในวันที่หวนคืนสู่สนามการเมือง

 

นพดล ปัทมะ

 

ตัวตนของ ‘นพดล ปัทมะ’ เป็นอย่างไร

 

เป็นเด็กต่างจังหวัดแล้วก็มาที่กรุงเทพฯ เรียนจบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล เรียนจบกฎหมายในอังกฤษ และเรียนจบปริญญาโทด้านกฎหมาย 

 

แนวคิดโดยพื้นฐานผมเป็นนักกฎหมาย ผมเชื่อว่าการศึกษาทำให้ชีวิตคนดีขึ้น เราเชื่อมั่นในความยุติธรรมและมนุษยธรรม นั่นเป็นตัวตนของผม และคิดว่าเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เราเลือกทางในชีวิตของเราได้ ท้ายที่สุดก็คือ อัตตาหิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน อันนี้เป็นแนวคิดทั่วไป 

 

ส่วนอาชีพผมเป็นนักกฎหมายมาก่อน มาเป็นนักการเมือง แล้วก็มาเป็น สส. แล้วก็มาช่วย ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นที่ปรึกษากฎหมายหลังถูกยึดอำนาจเมื่อปี 2549 แล้วก็มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แล้วถูกตัดสิทธิเพราะยุบพรรคพลังประชาชน ผมเป็นรองเลขาธิการพรรค ถูกตัดสิทธิไป 5 ปี ก็เลยช่วยพรรคเพื่อไทยมาระยะหนึ่ง แล้วก็มาลงสมัคร สส. ปี 2566

 

ทำไมต้องนักกฎหมาย แล้วนักกฎหมายคือใคร

 

นักกฎหมายเป็นถ้อยคำที่กว้าง แต่ผมเป็นที่ปรึกษากฎหมายที่สำนักงานกฎหมายระหว่างประเทศ ที่เขาไปจองตัวตั้งแต่สมัยที่เรียนอยู่ธรรมศาสตร์ เลยได้ไปทำงานที่นั่น

 

ส่วนตัวผมคิดว่าถ้าไปทำงานเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย ก็จะส่งผลกระทบเฉพาะเรื่องหนึ่งเรื่องใด แต่ถ้าเรามาเป็นผู้ออกกฎหมาย หรือมาเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ได้ใช้ความรู้ทางกฎหมายเหมือนกัน แต่การออกกฎหมายฉบับหนึ่ง ถ้าเป็นกฎหมายที่ดีหรือไม่ดี ก็กระทบคนทั้งประเทศ 

 

นพดล ปัทมะ

 

อยากเป็นนักการเมืองตอนไหน

 

ส่วนความคิดอยากเป็นนักการเมืองเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยเด็กแล้ว แล้วตอนเด็กก็ร่างนโยบายการเมืองเล่น ผมจบโรงเรียนโยธินบูรณะ ที่เป็นที่ตั้งสภาแห่งนี้ ผมก็จะคุ้นเคยกับการรัฐประหารมากเลย เพราะว่า ม.พัน 4 อยู่แถวนี้

 

จะถูกใช้เพื่อการยึดอำนาจอยู่บ่อย เป็นเหตุการณ์ในอดีต ก็จะบอกว่าค่อนข้างคุ้นเคย 

 

เราคิดว่าการเป็นนักการเมืองสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ค่อนข้างเยอะ ประกอบกับคุณพ่อผมเป็นครูประชาบาลต่างจังหวัด เราก็จะคุ้นเคยกับการเป็นหัวคะแนนให้ สส. สมัยเด็กๆ ก็จะไปแจกแผ่นพับ โบรชัวร์ แลกค่าขนม คุ้นเคยกับนโยบายหลายๆ ส่วน ซึ่งจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ประเทศได้

 

อย่างสมัยก่อนมีนโยบายผันน้ำมาลงแม่น้ำโขง ก็จะคุ้นเคยกับนโยบายสาธารณะ ซึ่งจะสร้างความเปลี่ยนแปลงก็ต้องมาเป็นนักการเมือง

 

นพดล ปัทมะ

 

เข้ามาการเมืองและบอบช้ำมากกับข้อหาขายชาติ จนวันนี้พ้นมลทินแล้วรู้สึกอย่างไร 

 

รู้สึกโล่ง แล้วก็อโหสิกรรมให้ทุกคน ไม่อยากไปดำเนินคดีทางกฎหมายกับคนที่ใส่ร้ายป้ายสีมาโดยตลอด เราพ้นผิดแล้วสังคมเข้าใจว่าสิ่งที่เราทำเป็นประโยชน์ ในคำพิพากษาที่ตัดสินเขียนว่าหลายเรื่องที่เราทำเป็นประโยชน์ต่อประเทศ เพราะฉะนั้นผมมีความรู้สึกว่าเรื่องนี้สอนให้เรารู้ว่า ถ้าเรามั่นใจว่าสิ่งที่เราทำถูกต้อง ไม่ว่าจะโดนโจมตีเพียงไหน เราก็ยืนหยัดต่อสู้

 

ตอนนั้นหนักนะ ตอนนั้นผมเป็นรัฐมนตรี เดือนกุมภาพันธ์ 2551 แล้วกัมพูชาจะเอาเขาพระวิหารไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก ก็เหมือนเอาศาลพระภูมิไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก แต่บังเอิญเขาเอาพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งเปรียบเสมือนสนามหญ้าหน้าศาลพระภูมิเอาขึ้นไปด้วย

 

ตอนนั้นผมตั้งใจจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่ดีที่สุดคนหนึ่ง ก็ต้องตัดสินใจว่าจะเลื่อนออกไป แล้วเสี่ยงว่ากัมพูชาจะขึ้นทะเบียนมรดกโลกได้ทั้งตัวปราสาทเขาพระวิหารและพื้นที่ทับซ้อน หรือจะเจรจาให้เขาได้เฉพาะสิ่งที่เขาได้ตามคำตัดสินเมื่อปี 2505 แล้วก็ตัดพื้นที่ทับซ้อนออกมา

 

ผมเลือกอย่างหลังแล้วก็ไปเจรจาที่กรุงปารีส แล้วประสบความสำเร็จ ถามว่าเรื่องนี้นพดลทำเก่งคนเดียวหรือไม่ ก็ไม่ใช่ เป็นการสนับสนุนแนวทางจากทั้งกรมแผนที่ทหาร กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ สนับสนุนแนวทางนี้ แต่ก็โดนทั้งม็อบพันธมิตร โดนนักวิชาการ โดน 40 สว. โดนสื่อเลือกข้าง แต่ท้ายที่สุดก็เป็นความภาคภูมิใจที่เราเกิดเป็นคนไทย เราได้ตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ได้ปกป้องดินแดน ซึ่งผมภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง 

 

นพดล ปัทมะ

 

ผ่านชีวิตช่วงนั้นมาได้อย่างไร เพราะตอนนั้นเอ่ยชื่อนพดลออกมา ก็จะมีการเอ่ยในทางเสียหาย 

 

อย่างนพดลขายชาติ ตอนนั้นโชคดีผมไม่ค่อยอ่านสื่อสังคมออนไลน์ แต่มีเพื่อนๆ ไปอ่าน ซึ่งก็เสียกำลังใจค่อนข้างเยอะ เป็นเรื่องที่ต้องชี้แจง ยืนหยัด มีอดีตนักการเมืองโจมตีผมอย่างต่อเนื่อง แต่เราเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เราทำถูกต้อง 

 

ถ้าต้องสู้กับคนทั้งโลก เราก็ต้องชี้แจงยืนหยัดถ้าเป็นความจริง อย่างเรื่องนี้ก็ถูกโจมตีหนักมาก ท้ายสุดเราถูกพิสูจน์ว่าเราทำประโยชน์ ไม่ได้หวั่นไหว ก็ผ่านพ้นมาได้ แต่มองย้อนหลังไปก็อย่าเกิดขึ้นบ่อยนะแบบนี้

 

คนที่เคยโจมตีเคยมากล่าวขอโทษอะไรไหม

 

ไม่เคยมี แต่ผมก็ปล่อยไป เพราะว่ามนุษย์เป็นไปตามยถากรรมของแต่ละคน เราไม่ต้องไปจองล้างจองผลาญ ผมไม่อยากพูด แต่ว่าบางคนไปติดคุก บางคนหมดอนาคตทางการเมือง ผมเชื่อว่าเป็นไปตามกฎแห่งกรรม 

 

ส่วนที่ถามว่าทำอย่างไรถึงประคับประคองตัวเองผ่านตอนนั้นมาได้ ผมมองอย่างนี้ว่า มันมีคำสอนว่า น้ำถ้าอยู่นอกเรือ เรือไม่จม แต่ถ้าน้ำเข้าไปในเรือ เรือจม ก็เหมือนกับชีวิตคนเรา ถ้าเราเอาความเครียด การถูกใส่ร้ายต่างๆ เข้ามาในจิตใจเราก็จะซึมเศร้า แต่ถ้าเราสู้ต่อไป เราไม่ปล่อยให้สิ่งเหล่านั้นเข้ามาเพราะสิ่งที่เราทำถูกต้อง ถ้าเรามั่นใจว่าเราไม่ได้ทำผิดเราก็ต้องพยายามประคับประคอง

 

นพดล ปัทมะ

 

หลังจากผ่านช่วงชีวิตที่หนักมามาก การได้กลับเข้ามาทำงานการเมืองอีกครั้ง วันนี้มีบทบาทอย่างไร

 

ช่วง 8 ปีผมช่วยพรรคทำสื่อสารด้านการเมือง และร่วมรับผิดชอบทำนโยบายยุทธศาสตร์ร่วมกับหลายๆ ท่าน แล้วปี 2566 เราก็กลับมาลง สส. โดยพรรคก็กรุณาให้อยู่ในลำดับบัญชีรายชื่อ ผมค่อนข้างมีวินัยและเห็นพรรคมากกว่าประโยชน์ของตัวเอง และเห็นประเทศมากกว่าผลประโยชน์ของพรรค พรรคให้ลงบัญชีรายชื่อก็ไม่มีปัญหาอะไร แล้วพอตั้งรัฐบาลก็ได้เป็นประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เพราะเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และสนใจเรื่องนี้ ผมก็ยินดี ก็มีเท่านี้

 

นพดล ปัทมะ

 

ในบทบาทของ สส. ตอนนี้วางแนวทางการทำงานอย่างไรบ้าง

 

ผมมีงานจะเสนอกฎหมายที่สำคัญ ที่อยากจะปรับโครงสร้างการบริหารงานกรุงเทพฯ โดยใช้มาตรฐานเมืองหลวงทั่วโลก เช่น ปารีส โตเกียว ลอนดอน แบ่งงานเป็น 2 ชั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดชั้นหนึ่ง แล้วก็เทศบาลนครชั้นหนึ่ง เพื่อให้กรุงเทพฯ มีการกระจายอำนาจ เพราะปัญหาของเขตแต่ละเขตต่างกัน เขาควรเลือกนายกเทศบาลมาดูแลเขตของเขาได้ แล้วก็มีผู้ว่าฯ ดูภาพรวมทุกเขต อย่างการกำจัดขยะใช้งบประมาณค่อนข้างสูง ก็เป็นงานของผู้ว่าฯ แต่งานเก็บขยะก็เป็นงานของแต่ละเขตได้ 

 

ผมเคยต่อสู้เรื่องนี้หลายปีแล้ว กฎหมายนี้ก็เคยเสนอด้วยแต่ตกไป แล้วตอนนี้ก็จะเข้ามาทำเรื่องนี้

 

อยากเสนอกฎหมายหลายเรื่องเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม เพราะว่าความเป็นธรรม ความยุติธรรม มันอยู่ในใจผม ผมอยากจะต่อสู้ในเรื่องนี้ต่อไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ 

 

ส่วนเรื่องงานกรรมาธิการการต่างประเทศก็เป็นเรื่องชั่วคราว เพราะทางพรรคอยากจะให้ทำงานในระยะเวลาหนึ่งแล้วก็อาจเปลี่ยนคน แต่เวลาผมทำอะไรก็อยากจะทำให้ดี มีทีมงานหลายๆ คนมาช่วยกัน โดยการทำประเด็นในคณะกรรมาธิการจะเป็นประเด็นใหญ่ๆ เพราะว่าเวลามีจำกัด เช่น เรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา จะเอาอย่างไร เอาพลังงานมาช่วยลดค่าครองชีพ เพิ่มขีดความสามารถประเทศจะทำอย่างไร เรื่องเมียนมา เรื่องของ FTA ที่จะไปเปิดตลาด แล้วก็เรื่องสืบเนื่องจากสมัยยิ่งลักษณ์ อดีตนายกฯ ไปเริ่มเจรจา FTA กับ EU ไว้เพื่อไปเปิดตลาด ซึ่งมีหลายประเทศ 

 

ถ้าเปิดตลาด EU เท่ากับเปิดตลาดใหญ่มหาศาลเลย เราไม่ได้ไปเจรจาในช่วงรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ไปหลายปี พอรัฐบาลเศรษฐาก็ควรไปเร่งเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี เช่น ไทย – EU แล้วก็ลองมาดูว่าทิศทางการต่างประเทศไทยเป็นอย่างไร เพื่อมาดูว่าเราอยู่ตรงไหนของโลกตอนนี้ แล้วเราจะเล่นกระดานโต้คลื่นในกระแสพลวัตของโลกอย่างไร เพื่อตักตวงประโยชน์ของกระแสโลกให้มาอยู่ในมือคนไทยมากที่สุด 

 

นพดล ปัทมะ

 

นพดลมองทิศทางประเทศไทยในเวทีการเมืองโลกอย่างไร 

 

ประเด็นแรก งานเฉพาะหน้า ต้องกอบกู้เกียรติภูมิคืนมาให้ไทยอยู่ในจอเรดาร์โลก อำนาจการต่อรองระหว่างประเทศจะเกิดได้เมื่อประเทศไทยแข็งแรง เรื่องทุนมนุษย์ เรื่องโลจิสติกส์ ไทยก็ต้องปรับตัวให้แข็งแรง 

 

ประเด็นที่สอง คิดว่าท่านเศรษฐา นายกฯ ทำได้ดีในการไปฟื้นฟูกอบกู้เกียรติภูมิ โดยมีการไปพบปะ จับมือ การทูตเริ่มจากการไปพบปะ ไปเจรจา อย่างที่ผมเคยอภิปรายว่า ท่านไปพบปะมหาอำนาจ ทั้งจีน รัสเซีย และอเมริกา และผู้นำในภูมิภาคอาเซียน

 

ประเด็นที่สาม คิดว่าไทยต้องปรับท่าทีในแง่การทูต ที่ผมขอย้ำว่ายึดมั่นหลักการ ยึดมั่นหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ยึดมั่นหลักกฎบัตรระหว่างประเทศ ยึดมั่นกติการะหว่างประเทศ เพื่อให้สิ่งเหล่านั้นเป็นหลังพิงฝาให้เรา 

 

เช่น ตอนที่เราลงมติเรื่องยูเครน เราจะลงมติอย่างไรดี จะไม่เห็นด้วยกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน การบุกยูเครนของรัสเซีย บางคนอาจบอกว่าจะกระทบความสัมพันธ์ไทยกับรัสเซียไหม แต่บางคนบอกว่าคุณยึดมั่นกฎกติกากฎหมายระหว่างประเทศสิ ซึ่งเขากำหนดแล้วว่าห้ามบุกรุกดินแดนคนอื่น หรือห้ามใช้ความรุนแรง รัสเซียก็เข้าใจคุณ 

 

อันนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าการทูตแบบที่บางคนเขาหยัน เขาเรียกว่าการทูตแบบไผ่ลู่ลม แต่ผมก็จะเสนอว่าเป็นการทูตแบบไม้สัก เป็นไม้ที่เกิดในประเทศไทยเยอะ คือมั่นคง ยืนหยัด ไม่ว่าเป็นฤดูไหน แล้วไม้สักเป็นไม้ที่ไม่แข็งเกินไป สามารถมาแกะสลักได้ เพราะฉะนั้นผมก็อยากให้การทูตของเรามีกระดูกสันหลัง การทูตที่มีหลักการ การทูตที่พึ่งพิงได้ แล้วกำหนดจุดยืนประเทศไทยว่าเป็นประเทศที่มุ่งแสวงหาสันติภาพและความมั่งคั่ง ความมั่นคงในภูมิภาค ในอาเซียน และในโลก อันนี้ผมคิดว่าเป็นแนวทางที่ประเทศไทยควรไป

 

นพดล ปัทมะ

 

กลับมามองบทบาทตัวเรา และคนรุ่นใหม่ของประเทศเรา เป็นอย่างไรในสายตาคนทั้งโลก

 

เรายังต้องแก้ไข เราพูดกันถึงขีดความสามารถในการแข่งขัน เวลาเราแข่งกับต่างชาติ เราแข่งเรื่องทุนมนุษย์ เรื่องการศึกษา เรื่องทุนขนส่ง มีเรื่องพลังงานด้วย และเรื่องระบบภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ ความโปร่งใส และเรื่องสุดท้าย เรื่องซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ 

 

ทีนี้เรื่องการทดสอบระดับความรู้ PISA การวัดความรู้ด้านภาษาอังกฤษ การหาความรู้ อันนี้ก็ต้องรีบทำ รัฐบาลที่เก่งก็ต้องตั้งเป้า KPI ว่าปีหน้าระดับความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของประเทศจะเป็นอย่างไร 

 

ผมบอกว่าเพิ่มทุนมนุษย์ก็จะเพิ่ม GDP เพราะทักษะคนเพิ่ม ก็ต้องตั้งเป้า มีตัวชี้วัด อย่างเรื่องการศึกษา เรามีรัฐมนตรี มีประธานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ เรามีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผมอยากให้เรามีเจ้าภาพชัดเจน ถ้าการศึกษามีปัญหาให้โทษรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้มีผู้รับผิดชอบ แต่ตอนนี้เรามีหลายคณะกรรมการ มีสิทธิที่จะตัดสินในหลายเรื่อง ท้ายที่สุดถ้า KPI ในด้านการศึกษาไม่กระเตื้องขึ้นแล้วจะไปโทษใคร เขาเรียก Accountability ผู้รับผิดชอบทางการเมืองต้องมี 

 

ก็ต้องถามว่าคนเก่งๆ เขาต้องการอะไรในชีวิต เขาต้องการงานที่ดี ค่าตอบแทนที่ดี สังคมที่ดี สิ่งแวดล้อมที่ดีใช่ไหม ไม่ใช่มีปัญหา PM2.5 ต้องการชีวิตที่ไปไหนสะดวก ราคาที่อยู่อาศัยไม่แพง ต้องการโรงพยาบาลดีใช่หรือไม่ 

 

ถ้าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องการก็ต้องมาปรับปรุงสิ่งเหล่านี้ ผมว่าเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องการ คุณภาพชีวิตที่ดี งานที่ดี เราก็ต้องสร้างงาน ก็ต้องพัฒนาขีดความสามารถของประเทศ ทำให้เขามองถึงอนาคต อย่างรัฐบาลอยากให้เพิ่มประชากร แต่รัฐบาลก็ต้องไปดูด้วย คุณต้องสร้างระบบนิเวศที่ทำให้คนรู้สึกอยากจะมีลูก แล้วในระหว่างนี้เราจะหาคนที่มีทักษะดีๆ มาอย่างไร มันต้องเปลี่ยนแปลงเรื่องของวีซ่า การเข้ามาทำงาน เราจะดึงคนที่มีฝีมือเป็น Digital Nomad อย่างไร 

 

ตอนนี้ผมคิดว่าเราต้องปรับนโยบายการต่อวีซ่า อย่างคนที่เข้ามาจากบางประเทศยังต้องไปต่อวีซ่าทุกระยะเวลา ควรให้วีซ่าเขายาวขึ้นไหม การมาซื้อทรัพย์สินในประเทศไทยควรทบทวนไหม ตอนนี้ยังซื้อได้จำกัดก็ต้องมาคุยกัน อย่างบางคนจะเสนอให้ซื้อเป็นที่ดินได้ วาทกรรมขายชาติก็มาโดยไม่ได้ถกเถียงดีเบตกัน หลายประเทศเขาก็ไม่ให้ซื้อทรัพย์สินนะ อันนี้ผมไม่ได้ต้องการให้มาซื้อที่นาที่ไร่ของชาวบ้านเรานะ แต่ก็ต้องดูที่ที่มันเหมาะสมเป็นต้น 

 

หรืออย่างเรื่องการศึกษา หลายประเทศอย่างประเทศจีน นักศึกษาก็มาเรียนประเทศเราเยอะ อันนี้ต้องดูจุดขายของเรา เราชอบฝันเยอะแต่เราไม่สามารถทำให้เกิดตามฝันได้ ผมว่าขีดความสามารถเราต้องพัฒนาอีกเยอะ 

 

นพดล ปัทมะ

 

ในระดับโลกทุกวันนี้ อีกคุณค่าหนึ่งที่สากลให้ความสำคัญ คือเรื่องคุณค่าด้านหลักนิติธรรม มีมุมมองเกี่ยวกับตัวชี้วัดคุณค่าด้านหลักนิติธรรมอย่างไรบ้าง ต่อการสร้างความเชื่อมั่นของประเทศไทยในเวทีโลก

 

ปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ขีดความสามารถประเทศไทยเพิ่มขึ้นคือ Rule of Law หลักนิติธรรม การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กระบวนการออกกฎหมายต้องดีและถูกต้อง การบังคับใช้กฎหมายต้องเสมอหน้ากัน มีความคาดหวังได้ในการตีความและบังคับใช้กฎหมาย อย่างกฎหมายที่เป็นข้อยกเว้นจะต้องตีความอย่างเคร่งครัด  ส่วนกฎหมายที่ขยายสิทธิก็จะต้องตีความอย่างกว้าง 

 

ประเด็นเรื่อง Rule of Law มีความสำคัญอย่างมากต่อการสร้างความเชื่อมั่นของต่างประเทศที่จะมาลงทุนในประเทศไทย เวลาเราเป็นนักกฎหมายระหว่างประเทศ เวลาร่างสัญญา การกำหนดกฎหมายที่จะใช้บังคับเป็นเรื่องสำคัญ เช่น เวลาทำสัญญากำหนดให้ใช้กฎหมายนิวยอร์ก กฎหมายอังกฤษ จะมีความมั่นคงแน่นอน ในขณะที่กฎหมายของเรามีประเด็นเรื่องการตีความได้เยอะ ซึ่งควรต้องตีความตามหลัก Rule of Law ที่ควรมีทั้งความชัดเจนแน่นอนและความคาดหวังได้ รู้เลยว่าถ้าผิดสัญญาจะต้องบังคับใช้อย่างไร ไม่มีการบิดพลิ้ว 

 

ดังนั้น Rule of Law คือความชัดเจน ไม่ใช่ Rule by Law ถ้าผมเป็นนายกรัฐมนตรี ผมจะตั้งตัวชี้วัดเรื่อง Rule of Law ไว้เลยว่าไทยจะต้องมีสูงขึ้นเพราะเป็นเรื่องสำคัญ ถ้ากฎหมายไหนไม่เป็นธรรมควรให้มีคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายไปศึกษาเลย มีกฎหมายกี่ฉบับที่ไม่เป็นธรรม เราจะแก้ไขอย่างไร และมีกฎหมายกี่เรื่องที่จะทำให้ Rule of Law เราสูงขึ้น หรือไปคุยกับหอการค้าต่างประเทศว่ากฎหมายไหนไม่เป็นธรรม อันนี้ก็จะเป็นในมิติของด้านพาณิชย์เศรษฐกิจ

 

นพดล ปัทมะ

 

ในทางหลักการของหลักนิติธรรม โลกสากลก็จะมีเสียงสะท้อนเกี่ยวกับหลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ ในประเทศไทยมีมุมมองอย่างไรกับประเด็นนี้

 

ก็จะมีบางเรื่องที่เป็นกฎหมายคุ้มครองชื่อเสียง เกียรติภูมิของคน เช่น กฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา อย่างที่ผมถูกกล่าวหาว่าขายชาติ คิดว่าผมเสียหายเยอะไหม ผมเสียหายเยอะมากเพราะเป็นนักการเมือง แม้ว่าผมจะไม่ได้ฟ้องใครเลย ผมอโหสิกรรมเพราะท้ายที่สุดเขาก็เข้าใจ 

 

แต่จะบอกว่าแต่ละเรื่องมีคุณธรรมทางกฎหมายที่ต้องการปกป้องไว้อยู่ เช่น กฎหมายห้ามลักทรัพย์ คุณธรรมทางกฎหมายคือกรรมสิทธิ์ของทรัพย์ กฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา คุณธรรมทางกฎหมายคือการปกป้องชื่อเสียง เกียรติคุณของผมต้องได้รับการปกป้อง คุณไม่สามารถกล่าวหาว่านพดลมีชู้กับเมียชาวบ้าน นพดลลักทรัพย์ นพดลโกงชาวบ้านมา 

 

ดังนั้นแม้จะมีการถกเถียงว่ากฎหมายเรื่องนั้นเรื่องนี้ควรจะมีการแก้ไข แต่โดยส่วนตัวผมมีความเห็นว่า กฎหมายเรื่องการปกป้องชื่อเสียงเกียรติคุณของบุคคล และกฎหมายที่สำคัญที่มีเรื่องละเอียดอ่อนบางเรื่อง ผมไม่เห็นด้วยในการเสนอแก้ไข ผมขอย้ำ

 

นพดล ปัทมะ

 

การทำงานของคณะกรรมาธิการการต่างประเทศเป็นอย่างไร และบรรยากาศการทำงานในกรรมาธิการเป็นอย่างไร

 

กรรมาธิการเราเลียนแบบของระบบอังกฤษมา กรรมาธิการจะมาจากทุกพรรค ทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล มีหน้าที่ศึกษาและหาข้อเท็จจริง โดยคณะกรรมการนั้นควรเป็นฝ่ายตรวจสอบ ฝ่ายนิติบัญญัติตรวจสอบฝ่ายบริหาร โดยสภาจะตรวจสอบฝ่ายรัฐบาลผ่านวิธีการ หนึ่ง การตั้งกระทู้ถาม สอง การไม่อนุมัติกฎหมาย สาม การยื่นญัตติ สี่ ผ่านกรรมาธิการเพื่อศึกษาหาข้อเท็จจริง ติติงรัฐบาลได้ เสนอแนะสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อกรรมาธิการได้ เช่น เสนอว่า FTA ทำกันช้า ควรไปเร่งดำเนินการ  เป็นต้น

 

ในส่วนของงานกรรมาธิการ ผมเห็นว่าประธานกรรมาธิการควรเป็นคนละพรรคกันกับพรรคที่เป็นรัฐมนตรี เช่น พรรค ก. เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ควรมาจากพรรคอื่น ไม่ใช่พรรค ก. อันนี้ประเทศไทยก็ยังไม่ไปถึงจุดนั้น ผมเห็นว่าควรเป็นแบบนั้น ผมก็เสียดายเหมือนกัน

 

เรื่องที่สอง กรรมาธิการก็มาจากทุกพรรค ประธานจะเอาแต่ใจตัวเองไม่ได้ เราต้องให้เกียรติรับฟังพรรคอื่น ไม่ใช่ว่าประธานกรรมาธิการเป็นเพื่อไทยก็ตะพึดตะพือ ผมคิดว่าการทำงานควรรับฟังซึ่งกันและกัน การทำงานกรรมาธิการเน้นผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นกับประชาชน ให้มองพ้นเส้นแบ่งเขตพรรคระหว่างพรรคฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล 

 

นพดล ปัทมะ

 

กลับมามองเส้นทางชีวิตของคนชื่อนพดล ที่เคยอยู่กับทักษิณ อดีตนายกฯ จากวันก่อนถึงวันนี้ เห็นอะไรบ้าง

 

ประเด็นแรก ทุกอย่างเป็นไปได้ แต่ก่อนถูกโจมตีถูกใส่ร้ายต่างๆ เมื่อก่อนผมเดินกับท่าน (ทักษิณ) ที่กรุงปักกิ่ง 2-3 คนหลังรัฐประหาร ก็ปรับทุกข์กันว่าจะไปอย่างไรดี 

 

ประเด็นที่สอง ผมเห็นความอดทนของท่าน ซึ่งเวลาผมเหนื่อย ผมก็นึกถึงความเหนื่อยของท่าน เจอแต่ละเรื่อง 17 ปี แต่ก่อนคนอยากเป็นรัฐมนตรีก็บินไปหาท่าน อยากให้พรรคเสนอชื่อ อะไรอย่างนี้ จะมีคำกล่าวว่าพวกคุณยังไม่ได้ว่ายน้ำกลางทะเล แต่ผมว่ายน้ำกลางทะเล ในขณะที่พวกคุณจิบแชมเปญกันเสียงดัง

 

แต่ผมคิดว่าท่านทักษิณเป็นคนที่รักประชาชนนะ กลับมาคราวนี้ผมคิดว่าท่านอายุเยอะแล้ว อายุ 74 ปี ผมคิดว่าบนพื้นฐานของความรักประชาชนกับวัยที่ไปค่อนข้างเยอะ 

 

ผมคิดว่าท่านจะใช้ชีวิตเป็นประโยชน์กับประเทศชาติ จากที่สัมผัสท่าน ท่านเป็นคนที่อ่านหนังสือเยอะ อย่างผมถามท่านว่าท่านเอาเวลาไหนไปหาความรู้ ไปอ่านหนังสือ ท่านตอบผมว่าวิธีหาความรู้ที่เร็วที่สุดคือคุยกับคนที่มีประสบการณ์ ท่านมีองค์ความรู้แล้วยังมีความกระตือรือร้น ก็หวังว่าท่านยังจะใช้ชีวิตเพื่อประชาชน ให้ประชาชนมีความสุข ให้ประเทศเดินหน้า 

 

ตอนนี้เราพยายามมาถามเรื่องของชั้น 14 บ้างละ เรื่องกฎระเบียบของกรมราชทัณฑ์บ้างละ แต่เราก็เชื่อว่ากรมราชทัณฑ์ แพทย์ของโรงพยาบาลตำรวจ คงบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม

 

นพดล ปัทมะ

 

โดนการเมืองทำร้าย แล้วยังกลับมาทำการเมืองต่อในวันนี้ คนจำนวนหนึ่งเวลาเห็นว่าประเทศไทยมีปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ก็จะมีการพูดกันว่าจะย้ายประเทศ คุณคิดว่าเราจะรับมือกับจุดนี้อย่างไร

 

ผมอยากจะฝากว่าทุกอย่างมันสามารถทำให้ดีขึ้นได้ ถ้าสมมติเราอยู่ในบ้านเรา บ้านเราไม่สะอาด ไม่แข็งแรง เราก็ทำความสะอาดบ้านเรา เราต้องสู้ ปัญหามีไว้ให้แก้ 

 

ผมว่ามันต้องเป็นความศักดิ์สิทธิ์สักอย่างที่เรามาเกิดเป็นคนไทย ไม่ได้ไปเกิดในแอฟริกา อเมริกาใต้ มันเป็นสิ่งที่แปลก มันเป็นโชคชะตา ผมอาจจะหัวโบราณ ผมยังเชื่อมั่นในคุณธรรม การรู้คุณ การสำนึกบุญคุณของประเทศ การต่อสู้ไม่หนีปัญหา ไม่ใช่ว่าบ้านเราเป็นอย่างนี้เราจะย้ายประเทศ ประเทศไทยมีศักยภาพเยอะ มีสิ่งดีๆ เยอะ มีวัฒนธรรม ทำไมมีคนมาเที่ยวประเทศไทย เขาคงไม่ได้มาดูรถติด แต่เขาชอบอาหาร ชอบนิสัยใจคอของคนไทย 

 

ผมเชื่อว่ายังมีความดีงามอยู่มากมาย พวกเราอายุเยอะแล้ว อีกไม่นานก็ต้องลงจากเวที ทุกคนแก่ขึ้นทั้งนั้น เด็กวัยรุ่นวันนี้อีกไม่นานก็แก่ เรามาสู้ด้วยกัน ทำให้ประเทศไทยแข็งแกร่งไปด้วยกัน ฟังคนแก่บ้างครับ ฟังคนวัยกลางคนบ้างครับ ป่าไม้มีต้นไม้นานาพรรณถึงเป็นป่าที่สวยงาม 

 

ผมคิดว่าอย่าแบ่งเขาแบ่งเรา มาสู้ด้วยกัน สู้ตามหลักประชาธิปไตย สู้ด้วยสันติวิธี เคารพหลัก Rule of Law มีมนุษยธรรม มีเมตตาต่อกัน ผมว่าเราเดินหน้าได้ครับ 

 

นพดล ปัทมะ

 

เราจะทำอย่างไรให้คนอยากเข้ามาเป็นนักการเมือง 

 

ถ้าคนอยากจะร่ำรวยก็ไม่น่ามาเป็นนักการเมือง แล้วถ้าไม่อยากถูกวิพากษ์วิจารณ์ที่ทุกวันนี้แสบมากขึ้นก็ไม่ควรมาเป็นนักการเมือง ถ้าไม่อยากถูกยุ่งเรื่องส่วนตัวก็ไม่ควรมาเป็นนักการเมือง 

 

แต่ถ้าเห็นว่านักการเมืองไม่มีคุณภาพพอจึงอยากเข้ามาทำการเมือง เพื่อทำงานการเมืองให้ดีขึ้น เชิญเข้ามาเลยครับ การเมืองต้องการคนเก่งๆ เข้ามาร่วมกัน แต่ก็ต้องรู้ต้นทุนที่ต้องจ่าย การถูกวิจารณ์ในทางเสียหายอย่างที่ผมเจอมา ท้ายที่สุดก็ต้องกลืนเลือด แล้วก็ทำความดีต่อไป อยากให้เดินเข้ามา อย่างที่เขาบอก ตำแหน่งอยู่ไม่นาน แต่ตำนานอยู่ตลอดไป

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising