×

จับตาดีล Nippon Steel เทกโอเวอร์ U.S. Steel กับอำนาจ ‘โจ ไบเดน’ เมื่อการปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กสหรัฐฯ อาจสะเทือนความสัมพันธ์ญี่ปุ่น

18.03.2024
  • LOADING...
Nippon Steel and U.S. Steel และ โจ ไบเดน

จับตาท่าทีของประธานาธิบดี ‘โจ ไบเดน’ กับการปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กสหรัฐฯ ท่ามกลางความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่น!

 

ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้วเมื่อ Nippon Steel Corporation (NSC) บริษัทผลิตเหล็กรายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น และเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก ประกาศเข้าซื้อกิจการเหล็ก (Take Over)  U.S. Steel หรือ United States Steel Corp บริษัทผู้ผลิตเหล็กคู่แข่งรายใหญ่อันดับ 27 ของโลกในสหรัฐฯ

 

การเทกโอเวอร์ U.S. Steel ถือเป็นประเด็นสะเทือนอุตสาหกรรมสหรัฐฯ ไม่น้อย เนื่องจากบริษัทนี้ถือเป็นบริษัทเก่าแก่ถึง 122 ปี ทั้งยังเป็นบริษัทผู้บุกเบิกแวดวงอุตสาหกรรมเหล็กสหรัฐฯ ที่สำคัญครั้งหนึ่งยังเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่งของสหรัฐฯ ในช่วงสงครามโลกอีกด้วย 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


 

ด้วยเหตุผลนี้ สัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จึงได้ออกมาประกาศคัดค้านข้อเสนอซื้อ U.S. Steel ที่ Nippon Steel เสนอไว้ในมูลค่า 14.9 พันล้านดอลลาร์ โดยไบเดนระบุใจความสำคัญว่า

 

“บริษัทเหล็กกล้าแห่งนี้อยู่คู่กับสหรัฐฯ​ มานานกว่า 100 ปี เราจะต้องรักษาบริษัทของอเมริกันที่ดำเนินงานและเป็นเจ้าของโดยชาวอเมริกันต่อไป”

 

Financial Time รายงานว่า น่าสนใจว่าท่าทีของประธานาธิบดีสหรัฐฯ กำลังสะท้อนถึงอำนาจที่ไบเดนกำลังตกอยู่ภายใต้แรงกดดันในช่วงเดินสายหาเสียง ก่อนจะถึงศึกเลือกตั้งปลายปี ดังนั้นเขาจำเป็นต้องรักษาคะแนนเสียงของกลุ่ม ‘Blue State’ (รัฐสีน้ำเงิน หมายความว่า รัฐในสหรัฐอเมริกาที่ผู้ออกเสียงลงคะแนนส่วนใหญ่มักให้การสนับสนุนผู้เข้าแข่งขันและนโยบายของพรรคเดโมแครต) เพื่อท้าชิง โดนัลด์ ทรัมป์ คู่แข่งจากพรรครีพับลิกัน

 

U.S. Steel ก่อตั้งในปี 1901 โดย J.P. Morgan และ Andrew Carnegie เป็นบริษัทเก่าแก่ที่ผู้บุกเบิกแวดวงอุตสาหกรรมเหล็กสหรัฐฯ ครั้งหนึ่งเคยเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่งของสหรัฐฯ ยุคสงครามโลก กระทั่งระยะหลังยุค 70 เจอวิกฤตก็มีแต่ทรงกับทรุด จนปี 1991 ถูกถอดออกจาก 30 บริษัทอุตสาหกรรมใหญ่สุดของดัชนี Dow Jones

 

ทว่าคำประกาศดังกล่าวอาจทำลาย ‘ความสัมพันธ์’ กับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในชาติพันธมิตร  

 

โดยที่ผ่านมาไบเดนบอกกับชาวอเมริกันเสมอว่า เขาจะเป็นประธานาธิบดีที่สนับสนุนสหภาพแรงงานมากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ และให้การสนับสนุนกลุ่มแรงงาน  

 

อย่างไรก็ดี ยังไม่ชัดเจนว่า ไบเดนจะใช้อำนาจตามกฎหมายระงับข้อตกลงขายกิจการครั้งนี้หรือไม่ ท่ามกลางคณะกรรมการเพื่อการลงทุนต่างประเทศของสหรัฐฯ (CFIUS) ซึ่งมีบทบาทหน้าที่พิจารณาทบทวนการลงทุนของต่างชาติในบริษัทของอเมริกา สามารถเสนอให้ระงับข้อตกลงนี้ได้ด้วยเหตุผลภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ 

 

โดยเมื่อเดือนธันวาคม ทำเนียบขาวแถลงการณ์ว่า ข้อเสนอขายกิจการนี้ต้องผ่าน ‘การไตร่ตรองอย่างรอบคอบ’ เนื่องจากบริษัทแห่งนี้เป็นเหมือนหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมประเทศ เป็นความมั่นคงของชาติ   

 

Nippon Steel ย้ำดีลวิน-วินทั้งสองฝ่าย เสริมแกร่งสหรัฐฯ-จีน

 

ขณะที่ Nippon Steel ชี้แจงล่าสุดว่า การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้จะเอื้อประโยชน์ทั้งสองฝ่าย รวมถึงสหภาพแรงงาน และความมั่นคงของสหรัฐฯ เองด้วย นอกจากจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรม ยังเสริมความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ สร้างแต้มต่อกับจีน ดังนั้น บริษัทเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตามกฎหมาย และหวังว่าข้อตกลงนี้จะผ่านการพิจารณาและดำเนินการเสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์ 

 

Nippon Steel ย้ำว่าจะไม่มีการปลดพนักงานหรือปิดโรงงานจากผลของการซื้อกิจการครั้งนี้อย่างแน่นอน จนถึงอย่างน้อยในห้วง 3 ปี 

 

การเมืองภายในเสี่ยงสะเทือนความสัมพันธ์ญี่ปุ่น

 

หลายสำนักข่าวต่างประเทศรายงานสอดคล้องกันว่า แม้ว่าไบเดนจะไม่ได้คัดค้านตรงๆ เสียทีเดียว แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า นับเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักที่ระดับผู้นำประเทศจะเข้ามาแทรกแซงข้อตกลงทางธุรกิจ เว้นแต่จะเป็นช่วงปีที่มีการเลือกตั้ง 

 

แม้ว่า Nippon Steel จะยืนยันหนักแน่นในการซื้อกิจการ U.S. Steel แต่ความเสี่ยงที่จะเผชิญการต่อต้านจากทำเนียบขาวอาจส่งผลให้ข้อตกลงดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จหรือไม่

 

เพราะอาจเสี่ยงสะเทือนความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นให้สั่นคลอน ซึ่งญี่ปุ่นถือเป็นพันธมิตรรายสำคัญของสหรัฐฯ โดยนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ผู้นำญี่ปุ่น มีกำหนดจะจัดการประชุมสุดยอดกับโจไบเดน ณ กรุงวอชิงตัน ในวันที่ 10 เมษายนที่จะถึงนี้ โดยมีวาระหารือประเด็นด้านความร่วมมือด้านความมั่นคง แต่ปัญหาการเทกโอเวอร์ U.S. Steel ขณะนี้ อาจทำให้บรรยากาศในการประชุมไม่สู้ดีนัก เนื่องจากบทบาทของ U.S. Steel ในการผลิตเหล็กที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ และความสัมพันธ์ญี่ปุ่นในฐานะชาติพันธมิตร ภายใต้สนธิสัญญาความมั่นคงตั้งแต่ปี 1951

 

ดังนั้น คงต้องจับตาการเมืองภายในประเทศของสหรัฐฯ ที่กำลังชี้ชะตาว่าบริษัทเอกชน 2 แห่งจะตัดสินใจอย่างไร 

 

ภาพ: China News Service / Contributor / Getty Images 

 

ส่องผู้ผลิตเหล็ก 5 อันดับ ของโลกอยู่ในมือใครบ้าง

 

ข้อมูลจากสมาคมเหล็กโลก (World Steel Association) รายงานยอดรวมการผลิตเหล็กดิบทั่วโลกอยู่ที่ 1,878 ล้านตัน ปัจจุบันผู้ผลิตและซัพพลายเออร์อุตสาหกรรมเหล็กของโลก ส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตจากจีน ซึ่ง Nippon Steel Corporation อยู่อันดับ 4

 

โดย  5 อันดับ มีดังนี้

 

  1. China Baowu Steel Group Corporation กลุ่ม Baowu เป็นของรัฐบาลจีน ปัจจุบันถือเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ที่สุดของโลก ด้วยกำลังผลิต 131.84 ล้านเมตริกตัน

 

  1. ArcelorMittal ที่ตั้งของ ArcelorMittal บริษัทอยู่ในลักเซมเบิร์ก มีกำลังผลิตเหล็ก 68.89 ล้านตัน

 

  1. Ansteel Group กลุ่ม Ansteel ดำเนินการโดยรัฐบาลจีน กำลังผลิต 55.65 ล้านตัน บริษัทนี้เป็นซัพพลายเออร์ป้อนอุตสาหกรรมทางรถไฟและการขนส่งรายใหญ่ที่สุดของประเทศอีกด้วย

 

  1. Nippon Steel Corporation เป็นของญี่ปุ่น มีกำลังผลิต 44.37 ล้านตัน หากบริษัทเทกโอเวอร์ U.S. Steel สำเร็จจะเพิ่มกำลังการผลิตเหล็กดิบ 20 ล้านเมตริกตันเป็น 66 ล้านตัน และจะทำให้เป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐฯ ในทันที

 

  1. Shagang Group กลุ่ม Shagang เป็นของบริษัทเอกชนจีน และเป็นผู้ผลิตเหล็กเอกชนรายใหญ่ที่สุดของประเทศ มีกำลังผลิตเหล็กดิบได้ 41.45 ล้านตัน 

 

อุตสาหกรรมเหล็กไทยเสี่ยงรอวันล่มสลาย

 

สำหรับสถานการณ์เหล็กไทยปัจจุบัน ไทยเป็นผู้นำเข้าสินค้าเหล็กมากสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา แม้ความต้องการใช้เหล็กของประเทศไทยมีทิศทางปรับตัวดีจากอุตสาหกรรมก่อสร้าง แต่การผลิตสินค้าเหล็กภายในประเทศกลับสวนทาง

 

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมไทยกำลังเผชิญกระแสสินค้าจากจีนเข้ามาแย่งตลาด  

 

“อุตสาหกรรมเหล็กเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากสุดจากการทุ่มตลาด (AD) และการทะลักของชิ้นส่วนโครงสร้างเหล็กจากจีน จนกำลังการผลิตเหล็กตกต่ำเหลือไม่ถึง 20% ขณะนี้มีแนวโน้มทรุดลง หากภาครัฐยังดำเนินการต่างๆ ไม่ทันการณ์ โรงงานเหล็กไทยจะต้องปิดกิจการและเลิกจ้างแรงงานอีกจำนวนมาก”

 

เกรียงไกรระบุอีกว่า “ขณะนี้ทราบว่ามีโรงงานเหล็กจีนรายใหญ่ 2 แห่งเข้ามาตั้งโรงงานในไทย” 

 

ด้าน วิกรม วัชระคุปต์ ประธานคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปี 2567 อุตสาหกรรมนี้มีแนวโน้มขยายตัวประมาณ 2% ต่อปี มูลค่า 1.4 ล้านล้านบาท จากการก่อสร้างของภาครัฐ มูลค่า 8.1 แสนล้านบาท

 

ส่วนใหญ่เป็นโครงการต่อเนื่อง เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการรถไฟทางคู่ โครงการรถไฟฟ้า โครงการมอเตอร์เวย์ และการก่อสร้างในภาคเอกชนมูลค่าประมาณ 5.98 แสนล้านบาท ขยายตัว 3% ต่อปี คาดการณ์ว่าจนถึงปี 2568 จะเติบโตขึ้น 3.5-4% ต่อปี ”

 

“แต่ไทยจะต้องเร่งปรับตัวภายใต้กฎ Green Construction และอนาคตอันใกล้ ESG จะเป็นความท้าทาย เป็นแรงกดดันอย่างมาก ผู้ประกอบในซัพพลายนี้ต้องปรับตัวให้เท่าทันประเด็นสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนอีกด้วย” วิกรมกล่าว 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising