×

คนทั่วไปโพสต์รูปเหล้า-เบียร์ได้ ไม่ผิดกฎหมาย แต่เน็ตไอดอลต้องระวัง!

21.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • โพสต์รูปคู่กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผิดกฎหมาย มีโทษปรับสูงสุดถึง 2 แสนบาท เน้นควบคุมเน็ตไอดอลที่มีเหตุโฆษณาชวนเชื่อหรือส่งเสริมการตลาด ขณะที่คนทั่วไปโพสต์ได้ ไม่ผิดกฎหมาย

     โพสต์รูปเหล้า-เบียร์ จะโดนปรับ?

     หลายคนเกิดคำถาม หลังมีข่าวตำรวจจ่อเรียกดารา 5 คนที่โพสต์รูปเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะโฆษณา เข้ารับทราบข้อกล่าวหา

หากมีความผิด จะมีโทษปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท

     ทั้งนี้ สื่อบางสำนักระบุว่า กฎหมายนี้ครอบคลุมทั้งคนมีชื่อเสียง เช่น ดารา เน็ตไอดอล ฯลฯ และคนทั่วไป

     คำว่า ‘คนทั่วไป’ ทำให้ข่าวนี้กลายเป็นกระแส

     คนมีชื่อเสียงและคนในวงการบันเทิง เช่น ‘ป๋าเต็ด’ – ยุทธนา บุญอ้อม ได้ทวิตข้อความในเชิงตลกร้าย

 

 

     หลายคนในโลกโซเชียลมีเดียแสดงท่าที ‘ไม่เห็นด้วย’ กับมาตรการดังกล่าว

     ความจริงแล้ว มาตรการนี้เป็นข้อบังคับใน พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑

     และกรณีดาราโพสต์รูปเหล้า-เบียร์ ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อ พ.ศ. 2558 หลังศิลปิน-ดาราโพสต์รูปเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยี่ห้อหนึ่งลงอินสตาแกรมส่วนตัวพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย

 

Photo: pantip.com

 

Photo: pantip.com

 

     เริ่มจากค่าย ‘ช’ แล้วตามมาด้วยค่าย ‘ส’ ในเวลาไล่เลี่ยกัน (ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับการทำแคมเปญการตลาดของเครื่องดื่มฯ แบรนด์นั้นพอดี)

     จากเหตุการณ์นั้น ทำให้มาตรการดังกล่าวที่มีการบังคับใช้ ตกเป็นข่าวและกลายเป็นกระแสสังคม

     ส่วนคำถามที่ว่า ‘คนทั่วไป’ เกี่ยวด้วยหรือไม่?

     ‘ไม่เกี่ยว’

 

     นพ. นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นคนดูแลและขับเคลื่อนประเด็นนี้โดยตรงยืนยันผ่านสายโทรศัพท์กับ THE STANDARD

 

นพ. นิพนธ์ ชินานนท์เวช

ผอ. สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

 

     เนื่องจากคนทั่วไปโพสต์รูป ‘เหล้า-เบียร์’ ไม่มีเหตุผลที่จะโฆษณาชวนเชื่อหรือส่งเสริมการตลาด

     “เอาง่ายๆ ถ้าคุณอายุเกิน แล้วดื่มเหล้า ดื่มได้ไหม? ได้ แล้วถ่ายรูปไปโพสต์ เป็นวงเล็กๆ กินกับเพื่อน คงไม่มีใครตามไปดูใช่ไหมครับ”

     ส่วนเน็ตไอดอล หรือคนมีชื่อเสียง นพ. นิพนธ์ บอกต้องดูกันที่เจตนา

     “ไม่ใช่อยู่ดีๆ เราจะไปปรักปรำให้ใครติดคุก เราก็ต้องหาข้อมูล หลักฐานประกอบที่เกี่ยวข้อง เราถึงจะพิจารณาได้

     “ถ้าเป็นเน็ตไอดอล โพสต์เพื่อสื่อว่าพฤติกรรมนี้น่าสนใจ เท่ อันนี้เข้าข่าย

     “ต้องดูเจตนา ซึ่งผมว่าแต่ละคนที่โพสต์รู้เจตนาของตัวเอง”

 

     จบข้อสงสัยแรก มาข้อสงสัยที่สอง ซึ่งเป็นคำถามในใจของประชาชน

     ภาครัฐกำลังมองว่าคนไทยไม่มีวุฒิภาวะพอหรือเปล่า?

     “คุณคิดว่าการดื่มแอลกอฮอล์ต่างประเทศกับในไทยเหมือนกันไหม วัฒนธรรมเหมือนกันไหม สถานที่ขายเหมือนกันไหม และพฤติกรรมคนเหมือนกันไหมครับ?”

     นพ. นิพนธ์ ตอบคำถามด้วยคำถาม ก่อนจะชี้ให้เห็นว่า สื่อออนไลน์ซึ่งเป็นสื่อหลักในวันนี้มีผลต่อการดื่มแอลกอฮอล์ที่เพิ่มมากขึ้น

     ทั้ง ‘ปลุกกระแส’ และ ‘รับรู้’

     ผลสำรวจไม่นานมานี้ ซึ่งอ้างจากคำสัมภาษณ์ นพ. นิพนธ์ พบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 20-30% ของจำนวนเด็กที่ทำการสำรวจ บ้างเคยดื่มหนึ่งครั้ง สองครั้ง หรือสัปดาห์ละครั้ง

     ผลสำรวจของที่ไหน?

     “หลายๆ พื้นที่ หลายๆ ส่วนที่เราทำกันอยู่ครับ”

     ภาครัฐมองว่าเหล้าเบียร์เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาสังคม?

     ผอ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปฏิเสธว่าไม่ใช่ แต่เป็น ‘ปัจจัยหลัก’

     “องค์การอนามัยโลกยังบอกเลยครับว่า ดีที่สุดคือไม่ดื่ม

     “เราชอบพูดว่าสุราทำให้เป็นโรคเรื้อรัง มะเร็งตับ… แต่จริงๆ สิ่งที่เกิดจากการดื่มสุรา คือ ‘ขาดสติ’ ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาต่างๆ ที่จะตามมา เช่น ขับรถไปชนคนเสียชีวิต ท้องก่อนแต่ง อาชญากรรม ฯลฯ”

     นพ. นิพนธ์ มองว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์คือจุดเริ่มต้นแห่ง ‘ลูกโซ่’ ของปัญหา

     แต่ปัญหาหลายๆ เรื่องที่เคยเป็นข่าว เช่น ‘เมาแล้วขับ’

     สังคมไทยกลับเลือกจดจำเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนจะลืมเลือนเมื่อเวลาผ่านไป

     ถ้าดูจากมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาทิ ควบคุมเวลาขาย โดยเฉพาะควบคุมการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ ซึ่งกำหนด ‘พื้นที่’ ‘เวลา’ และ ‘เงื่อนไข’ อย่างเข้มงวด รวมถึงการบังคับการนำเสนอเนื้อหาสาระว่า

     ‘…ให้กระทำได้เฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสาร และความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม โดยไม่มีการปรากฏภาพของสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์…’ (มาตรา ๓๒, พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑)

     จากเงื่อนไขที่ว่ามา THE STANDARD จึงตั้งข้อสงสัยสุดท้าย

 

     เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ‘อคติ’ กับสุรามากเกินไปหรือเปล่า?

     “คำว่า ‘อคติ’ ในมิติหนึ่งอาจหมายความว่า เราคิดว่าเราเป็นศัตรูกัน แต่ตอนนี้ผมมองในเชิงการตลาด ผมว่าเราคือ ‘คู่แข่ง’ มากกว่าครับ”

     นพ. นิพนธ์ บอกว่า คู่แข่งของเขาคือบริษัทผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

     “ตอนนี้เราถูกบริษัทสุราแย่งลูกค้า คือเยาวชน ผมมองว่าเยาวชนที่ดื่มในวันนี้ อีกยี่สิบสามสิบปีข้างหน้า เขาจะกลายเป็นลูกค้าที่ภักดีต่อองค์กรที่ผลิตสุราตลอดไป

     “ลองคิดว่าค่าใช้จ่ายในการดื่มสุราตลอดช่วงชีวิตเท่าไหร่? แล้วเงินเหล่านี้ ถ้าเอาไปใช้อย่างอื่นจะดีกว่าหรือไม่?”

     ตัวเลขบนหน้าจอสมาร์ตโฟนบอกว่า เราใช้เวลาสนทนาเกินจากที่นัดหมายกันไว้นิดหน่อย

     และ THE STANDARD คิดว่า ควรจบบทสนทนาลงตรงนี้

     สรุป… คนไทยดื่มเหล้าได้ไหม?

     “ถ้าแนะนำคือไม่ควรดื่ม แต่ถ้าเลือกจะดื่ม คุณต้องดื่มตามกฎหมาย และต้องรับผิดชอบ”

 

ภาพประกอบ: Narissara k.

อ้างอิง:

FYI

43% คือสัดส่วนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในช่วงสงกรานต์ ปี 2560 ที่มีสาเหตุจากสุรา

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising