×

ตั้งเป้าง่าย ทำได้จริง รวม New Year’s Resolution ด้านการเงินที่จะทำให้เงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นตลอดทั้งปี

16.12.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 MINS. READ
  • เมื่อปีใหม่มาถึง หลายคนมักตั้งปณิธานปีใหม่เรื่องการเงินว่าจะมีเงินออมเยอะขึ้น ใช้เงินน้อยลง แต่ลงท้ายก็แพ้ใจตัวเอง ทำให้ไปไม่ถึงฝั่งฝัน 
  • เริ่มต้นปี 2020 เราอยากให้คุณลองใช้ 4 เทคนิคง่ายๆ ที่ทำได้จริง โดยใช้หลักวิทยาศาสตร์พฤติกรรม (Behavioural Science) เพื่อให้สุขภาพทางการเงินของคุณแข็งแรงตลอดทั้งปี

เคยตั้งเป้าหมายเรื่องการจัดการการเงินแล้วทำไม่ได้กันบ้างไหม เช่น จะมีเงินออมเพิ่มขึ้น จะใช้เงินให้น้อยลง จะไม่เป็นหนี้เยอะเกินไป

 

หลายครั้งแผนที่ตั้งไว้ก็ไม่ได้เป็นอย่างใจคิดเท่าไร โดยเฉพาะในแต่ละวันที่เราต้องเจอกับความวุ่นวาย ทั้งจากรถติด ควันพิษ งานด่วน งานด่วนมาก งานด่วนที่สุด เหตุการณ์ต่างๆ ที่ทำให้ไม่ใช่แค่กายที่เหนื่อยล้า แต่หมายถึงใจที่เหนื่อยล้าเช่นกัน และเมื่อใจเหนื่อยล้าก็มักจะมีเหตุผลที่คนเราจะเผลอใช้เงินไปกับการกิน การช้อปปิ้งออนไลน์เกินกว่าแผนที่วางไว้ แล้วลงท้ายด้วยการบอกตัวเองว่า “เดี๋ยวเอาไว้ค่อยคิดเรื่องเงินแล้วกัน ขอใช้ชีวิตให้คุ้มค่าก่อน” เรื่องสำคัญอย่างการบริหารจัดการเงินก็อาจถูกละเลย กว่าจะรู้ตัวก็กลายเป็นว่าจัดการค่าใช้จ่ายไม่ไหว ออมเงินไม่พอ เลวร้ายหน่อยก็ผ่อนหนี้ไม่ไหว

 

เพื่อให้ปี 2020 กลายเป็นปีที่ผู้อ่านทุกคนมีสุขภาพทางการเงินที่แข็งแรงขึ้น ผู้เขียนจึงรวบรวม 4 เทคนิคใหญ่ๆ ในการใช้วิทยาศาสตร์พฤติกรรม (Behavioural Science) มาบริหารจัดการเงิน ซึ่งแต่ละวิธีนั้นง่ายและใช้ประโยชน์จากการเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ 

 

ทำให้ ‘ง่าย’ 

คนส่วนใหญ่มักจะพอรู้ว่าตัวเองน้ำหนักเกินหรือเริ่มสุขภาพไม่ดีจากการเห็นตัวเลขบนตาชั่ง ผลตรวจเลือด และผลความดัน 

 

ในทางการเงินส่วนบุคคล ตัวเลขที่บอกว่าสุขภาพการเงินเริ่มแย่แล้วอาจทำได้ยากหน่อย เพราะแต่ละคนมีสถานการณ์การเงินไม่เหมือนกัน บางคนรวยมาก แต่ก็หนี้เยอะมาก บางคนรายได้น้อยก็จริง แต่อยู่ได้สบายๆ แบบตัวคนเดียว

 

อย่างไรก็ดี หลายสำนักจัดการการเงินส่วนบุคคลได้คิดค้นหลักเกณฑ์ง่ายๆ ที่จะใช้ในการทำความเข้าใจกับสถานการณ์ทางการเงินของเรา และทำให้เรื่องเงินไม่ซับซ้อนจนเกินไปนัก ช่วยทำให้เรารู้ตัวว่ามีสุขภาพการเงินเบื้องต้นเป็นอย่างไร ยังโอเคดีอยู่หรือเปล่า เช่น

 

  • ผ่อนหนี้แต่ละเดือนไม่ให้เกิน 1 ใน 3 ของรายได้ เช่น มีรายได้ 18,000 บาท ก็ไม่ควรผ่อนหนี้เกิน 6,000 บาท เพราะถ้าเกินกว่านั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายและเงินออมได้
  • ออมเงินเผื่อเหตุการณ์ฉุกเฉินเอาไว้ให้พออยู่ได้สัก 3-6 เดือน เช่น ปกติใช้เงินเดือนละ 10,000 บาท เงินออมฉุกเฉินก็ควรมีตั้งแต่ 30,000-60,000 บาท ซึ่งเงินสำรองนี้จะช่วยทำให้ไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินในวันที่ตกงาน ประสบอุบัติเหตุ หรือเจ็บไข้ได้ป่วย โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้ซื้อประกัน การมีเงินออมฉุกเฉินจึงเป็นวิธีเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันได้เป็นอย่างดี

 

ทำให้การใช้เงินเป็นเรื่อง ‘ยากขึ้น’ 

การใช้เงินทุกวันนี้ถูกทำให้เป็นเรื่องง่าย ยิ่งใช้บัตรเครดิต โอนเงินออนไลน์ ยิ่งสะดวกมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งข้อดีคือทำให้เรามีหลักฐานว่าใช้เงินไปกับอะไรบ้าง แต่บางทีความสะดวกก็ทำให้เพลิดเพลินกับการใช้จ่ายมากจนเกินไป

 

เทคนิคการทำให้ยากในการนำเงินออกมาใช้คือการใช้อุปกรณ์เก็บเงินที่สร้างพันธนาการให้กับเงินของเรา (Commitment Device)

 

ผู้อ่านลองจินตนาการถึงกระปุกออมสินที่ไม่มีที่เปิดสำหรับนำเงินออกมา ต้องรอหยอดให้เต็มก่อนแล้วค่อยทุบเอาเงินออกมาใช้ หรือกล่องเก็บเงินที่มีกุญแจล็อกเอาไว้ ซึ่งในทางปฏิบัตินั้นมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้เลือกอยู่พอสมควรทั้งการออมและการลงทุน โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้หากเราทำตามเงื่อนไขไม่ครบก็จะไม่ได้ผลตอบแทนตามที่วางแผนไว้ เช่น

 

บัญชีเงินฝากปลอดภาษี เป็นการฝากเงินจำนวนเท่าๆ กันทุกเดือนในช่วงระยะเวลาหนึ่ง (เช่น 24 เดือน และ 36 เดือน) ซึ่งข้อดีก็คืออัตราดอกเบี้ยเงินฝากมักจะสูงกว่าเงินฝากทั่วไป และผู้ฝากไม่ต้องเสียภาษีจากดอกเบี้ยที่ได้รับ แต่หากขาดฝากไปหรือถอนเงินออกมาก่อนก็จะทำให้เสียโอกาสที่จะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ ดังนั้นผลิตภัณฑ์นี้จึงเหมาะสมกับผู้ที่อยากสร้างวินัยการออมเงิน

 

ส่วนผู้ที่ลงทุนในตลาดทุนก็สามารถใช้วิธีนี้ได้เช่นกัน แต่เปลี่ยนจากลงทุนใน กองทุนรวม ที่มีข้อผูกพันให้ต้องลงทุนตามระยะเวลาที่กำหนดจึงจะถอนเงินออกมาได้ หากถอนเงินออกมาก่อนก็จะเสียสิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF ซึ่งเป็นกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนให้เก็บออมระยะยาวเพื่อเอาไว้ใช้จ่ายในยามเกษียณอายุ 

 

สำหรับผู้ที่บริษัทมี กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จัดเตรียมไว้ให้ก็สามารถสมทบรายได้เข้าไปในกองทุนได้เลย ข้อดีก็คือนายจ้างจะช่วยสมทบการออมและการลงทุนนี้ ช่วยเพิ่มเงินเลี้ยงชีพในยามเกษียณอายุได้อีกด้วย

 

ทำให้เงินแต่ละก้อน ‘มีความหมาย’

การตั้งชื่อให้เงินออมแต่ละก้อน เช่น เงินออมเพื่อแต่งงาน เงินออมเพื่อการท่องเที่ยว เงินออมเพื่อศึกษาต่อ นอกจากจะสามารถช่วยแบ่งเงินตามวัตถุประสงค์แล้ว ยังช่วยให้เราไม่ใช้เงินออมผิดเพี้ยนไปจากความตั้งใจแรกเริ่มด้วย ซึ่งในทางทฤษฎีเราเรียกสิ่งนี้ว่า Mental Accounting หรือ ‘บัญชีในใจ’

 

นอกจากนี้เราควรแบ่งให้ได้ว่าสิ่งไหนเป็นของ ‘จำเป็น’ สิ่งไหนเป็นของ ‘ฟุ่มเฟือย’ โดยก่อนใช้ก็ถามตัวเองสักนิดว่ารอได้ไหม หรือวางแผนก่อนค่อยมาซื้อดีไหม แค่เพียงฝึกให้ ‘ฉุกคิด’ บ่อยๆ ก็เป็นการปลุกสติขึ้นมาสู้กับความอยากได้แล้ว แรกๆ อาจจะทำได้ยากหน่อย แต่ถ้าทำบ่อยๆ จะกลายเป็นอัตโนมัติ และยังช่วยทำให้ไม่ใช้เงินเกินกว่ารายได้ที่หามาด้วย

 

ทำให้เงินงอกเงยโดยไม่รู้ตัว

‘ออมก่อนใช้ และออมเมื่อมีเงินเพิ่มเข้ามา’ เป็นเทคนิคที่หลายคนคงเคยได้ยิน และผู้เขียนเคยเขียนถึงรายละเอียดโครงการ Save More TomorrowTM เอาไว้แล้ว 

 

สำหรับใครที่ปีนี้ได้รับเงินเดือนเพิ่มก็ถือเป็นโอกาสอันดีก่อนที่เราจะเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ให้เพิ่มตามเงินที่กำลังจะได้ โดยลองเพิ่มสัดส่วนเงินออมกันดู เช่น เงินเดือนเพิ่ม 3% ก็แบ่งมาออมเพิ่มสัก 1%

 

สำหรับวิธีนี้หากมองเป็นเปอร์เซ็นต์อาจจะดูไม่เยอะ แต่เมื่อมองเป็นจำนวนเงินอาจจะช่วยทำให้วิธีนี้น่าสนใจขึ้นมา สมมติเงินเดือนขึ้น 3,000 บาท ก็แบ่ง 1,000 บาทมาออมเพิ่ม ก็จะทำให้มีเงินออมในปีหน้าเพิ่มขึ้นมา 12,000 บาท และหากทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้แต่ละปีมีเงินเก็บเพิ่มขึ้นด้วย โดยเทคนิคคือเมื่อเงินเดือนออกก็ตัดเข้าบัญชีเงินออมไปเลย ถ้าจะให้ดีก็ตั้งค่าโอนเงินอัตโนมัติทุกๆ เดือนจะได้ไม่ลืมออม

 

ส่วนตัวผู้เขียนเริ่มมีคนมาเล่าให้ฟังแล้วว่า “ไม่น่าเชื่อว่าแค่ตั้งชื่อให้เงินออมก็มีเงินเก็บขึ้นมาเยอะเลย” หรือ “ตัดเงินก่อนใช้ทำให้มีเงินเก็บจริงด้วย ไม่รู้สึกว่าต้องพยายามออมเงินเท่าไร” พอฟังแล้วก็ชื่นใจ จึงรวบรวมเอามาฝากกัน โดยเป็นวิธีง่ายๆ ที่ช่วยสร้างวินัยการเงินในระยะยาว และใช้ประโยชน์จากความเข้าใจเบื้องหลังพฤติกรรมของพวกเรา

 

หวังว่าจะมีเทคนิคที่โดนใจและถูกจริตกับผู้อ่านนะคะ สวัสดีปีใหม่ผู้อ่านทุกท่าน ขอให้มีสุขภาพการเงินที่ดี แล้วมาดูกันว่าปลายปีหน้าพวกเราจะทำได้ตามแผนที่วางกันไว้หรือไม่

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง: 

  • Ashraf, N., Karlan, D. and Yin, W., 2006. Tying Odysseus to the mast: Evidence from a commitment savings product in the Philippines. The Quarterly Journal of Economics, 121(2), pp.635-672.
  • Billingsley, R., Gitman, L.J. and Joehnk, M.D., 2016. Personal financial planning. Cengage Learning.
  • Thaler, R.H., 1999. Mental accounting matters. Journal of Behavioral decision making, 12(3), pp.183-206.
  • Thaler, R.H. and Benartzi, S., 2004. Save more tomorrow™: Using behavioral economics to increase employee saving. Journal of political Economy, 112(S1), pp.S164-S187.
  • www.1213.or.th, คู่มือการวางแผนการเงินโดยศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising