×

สภาพัฒน์ เผยรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 2/62 หนี้ครัวเรือนพุ่งเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย หนี้คงค้างสูงสุดในรอบ 4 ปี

โดย THE STANDARD TEAM
02.09.2019
  • LOADING...
สภาพัฒน์

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผยแพร่รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 2/62 พบความเคลื่อนไหวและสถานการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจในหลายด้าน โดยสรุปได้ดังนี้

 

ไฮไลต์น่าจับตาของรายงานฉบับนี้อยู่ที่หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 6.3% จาก 6% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน หรือเท่ากับ 12.97 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 78.7% ต่อ GDP โดยรายงานระบุว่าหนี้ครัวเรือนของไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปี 2560 โดยหนี้สินครัวเรือนเพื่อการอุปโภคและบริโภคยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งในไตรมาส 2/62 หนี้ชนิดนี้ยังเติบโตในระดับ 9.2% ยอดสินเชื่อคงค้างปรับตัวเพิ่มขึ้น 11.3% สูงสุดในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่ไตรมาส 4/58 ส่วนยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และเพื่อรถยนต์ยังขยายตัว 7.4% และ 10.2% ชะลอตัวจาก 9.1% และ 11.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าตามลำดับ 

 

นอกจากนี้รายงานยังระบุด้วยว่า ยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับยังคงอยู่ในระดับสูง ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตยอดคงค้างชำระเกิน 3 เดือนขึ้นไปเริ่มกลับมาขยายตัว อีกทั้งยอดสินเชื่อผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อบัตรเครดิตกลับมาขยายตัว 4.3% มีมูลค่าอยู่ที่ 7,322 ล้านบาท หลังจากการหดตัวในไตรมาสที่แล้ว 3.6% ซึ่งรายงานยังอ้างอิงการศึกษาของ CEIC โดยเปรียบเทียบไทยกับ 74 ประเทศทั่วโลก พบว่าไทยมีหนี้ครัวเรือนต่อ GDP มากที่สุดเป็นอันดับที่ 11 และหากเปรียบเทียบกับประเทศในเอเชีย 22 ประเทศ ไทยรั้งอันดับ 2 ที่มีหนี้ครัวเรือนต่อ GDP มากที่สุด รองจากเกาหลีใต้

 

ด้านการจ้างงานลดลงเล็กน้อย โดยในไตรมาส 2/62 มีผู้มีงานทำ 37.8 ล้านคน ลดลง 0.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน การจ้างงานภาคเกษตรยังลดลงต่อเนื่องที่ 4% ขณะที่นอกภาคการเกษตรเพิ่มขึ้น 1.5% ด้านอัตราว่างงานเท่ากับ 0.98% ค่าจ้างแรงงานที่แท้จริงภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 4.7% ผลิตภาพแรงงานโดยรวมเพิ่มขึ้น 2.6%

 

ส่วนภาพรวมคดีอาญาโดยรวมเพิ่มขึ้น 16.9% โดยเฉพาะคดียาเสพติดที่เพิ่มขึ้น 21.6% จากการปราบปรามอาชญากรรมทุกรูปแบบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

ด้านอุบัติเหตุจราจรลดลง 10.6% แต่จำนวนผู้เสียชีวิตและมูลค่าความเสียหายเพิ่มขึ้น 3% และ 8.4% ตามลำดับ การเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะลดลง แต่เมื่อเกิดเหตุแต่ละครั้งสร้างความสูญเสียมาก จึงยังต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะการเดินทางในช่วงเทศกาล 

 

ด้านการอ่านพบว่า คนไทยใช้เวลาอ่านหนังสือ 80 นาทีต่อวัน และมีอัตราการอ่าน 78.8% แม้จะมีแนวโน้มดีขึ้นแต่ยังขาดทักษะการอ่าน และขาดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างพฤติกรรมและนิสัยรักการอ่าน

 

ด้านการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ มีการขยายตัว 4.6% ยังคงต้องเฝ้าระวังผลกระทบจากควันบุหรี่มือสองมือสามในบ้าน และการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฮบริด ส่วนการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมีแนวโน้มลดลง แต่ตัวเลขยังสูง และยังต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising