×

กสทช. แจงผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล คืนแล้วคืนเลย นัดคุย 7 พฤษภาคมนี้

02.05.2019
  • LOADING...
กสทช.

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้ข้อมูลประกาศสำนักงาน กสทช. เรื่อง การจ่ายค่าชดเชยผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่คืนใบอนุญาต โดยจะเชิญผู้ประกอบกิจการทั้ง 22 ช่องมาประชุมชี้แจงในวันอังคารที่ 7 พฤษภาคม 2562 เวลา 13.00 น. พร้อมตอบข้อซักถามเพื่อทำความเข้าใจ

 

โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวกำหนดให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่ต้องการคืนใบอนุญาตต้องยื่นเรื่องต่อสำนักงาน กสทช. ภายในวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 โดยไม่สามารถขอยกเลิกความประสงค์ดังกล่าวภายหลังได้ ก่อนหน้านี้สำนักงาน กสทช. ได้เชิญผู้ประกอบการกิจการเข้าร่วมประชุมเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันเมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านี้ได้แจ้งว่า ‘หากเปลี่ยนใจก็สามารถขอยกเลิกในภายหลังได้’ แต่สำหรับประกาศล่าสุดนี้จะกำหนดชัดเจนว่าเมื่อตัดสินใจคืนใบอนุญาตแล้วจะเปลี่ยนใจไม่ได้ ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัลสามารถดูรายละเอียดของประกาศสำนักงาน กสทช. ได้ทางเว็บไซต์ www.nbtc.go.th

 

ประกาศดังกล่าวสืบเนื่องจากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งสั่งให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล โดย กสทช. เห็นควรให้ ‘ยกเว้น’ เงินค่าประมูลงวดที่ 5 และ 6 ออกไป คิดเป็นเงิน 1.36 หมื่นล้านบาท ขณะนี้มีรายที่จ่ายงวดที่ 5 ไปแล้ว 3 ราย คิดเป็นเงินกว่า 986 ล้านบาท ทาง กสทช. จะคืนเงินให้ทั้ง 3 ราย ได้แก่ ช่อง 7HD (372 ล้านบาท), ช่อง Workpoint TV (395 ล้านบาท) และช่อง Spring News (219 ล้านบาท) ส่วนงวดที่ 6 ยังไม่มีผู้ชำระ เนื่องจากยังไม่ถึงกำหนดชำระ ซึ่งงวดนี้ได้รับการยกเว้น ขณะที่อีก 17 ช่องซึ่งยังไม่ได้ชำระเงินก่อนหน้านี้มีกำหนดชำระเงินภายในวันที่ 8 สิงหาคมนี้ คิดเป็นเงินรวม 3.21 พันล้านบาท นอกจากนี้ กสทช. ยังเยียวยาเพิ่มเติมด้วยการยกเว้นค่าใช้จ่ายการเช่าโครงข่ายในระบบทีวีดิจิทัล (MUX) ตลอดอายุใบอนุญาตออกไป คิดเป็นเงิน 1.87 หมื่นล้านบาทด้วย

 

ทุกสายตาจับจ้องวันที่ 10 พฤษภาคมนี้ เพื่อติดตามว่าจะมีทีวีดิจิทัลช่องใดบ้างที่จะหายไปจากจอโทรทัศน์หลังจากที่ผ่านมรสุมสื่อมาตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หลายบริษัทที่เป็นยักษ์ใหญ่ในวงการสื่อต้องประสบภาวะขาดทุน บ้างก็ขายกิจการออกไปให้ผู้ถือหุ้นรายใหม่ ส่วนรายที่ไม่ขาดทุนก็มีผลกำไรที่ไม่ได้สูงนัก การปลดล็อกที่จะเกิดขึ้นนี้จึงเปรียบเหมือนละครคนละฉากกับเมื่อปี 2557 ที่บรรดานายทุนต่างลงแข่งเพื่อช่วงชิงใบอนุญาตด้วยความคาดหวังที่จะโกยเงินเป็นกอบเป็นกำจากสถานะ ‘ฟรีทีวี’ ก่อนที่จะพบกับ Digital Disruption ในเวลาต่อมา

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising