×

ส.ส. ชาติพันธุ์ ก้าวไกล เรียกร้องกองทัพเปิดทางภาคประชาสังคม ช่วยเหลือเมียนมาหนีภัยสงครามเข้าไทย

โดย THE STANDARD TEAM
30.03.2021
  • LOADING...
ส.ส. ชาติพันธุ์ ก้าวไกล เรียกร้องกองทัพเปิดทางภาคประชาสังคม ช่วยเหลือเมียนมาหนีภัยสงครามเข้าไทย

จากการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลประชาธิปไตยในเมียนมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 มีการออกมาประท้วงต่อต้านการทำรัฐประหารโดยประชาชนชาวเมียนมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งมีการปราบปรามอย่างหนักจนทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อยกว่า 500 คน นอกจากนี้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในเมียนมาก็มีท่าทีไม่ยอมรับการรัฐประหาร เนื่องจากกระทบต่อกระบวนการสันติภาพในประเทศ จนนำมาสู่การสู้รบกันอีกครั้ง

 

ต่อมาวันที่ 27 มีนาคม 2564 กองทัพเมียนมาส่งเครื่องบินรบเข้าโจมตีและทิ้งระเบิดกองกำลังกองกำลังสหภาพกะเหรี่ยง บริเวณอำเภอมื่อตรอหรือมูตรอ จังหวัดผาปูน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีประชาชนอาศัยอยู่ และเป็นจังหวัดที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอนของประเทศไทย มีเพียงแม่น้ำสาละวินเป็นแนวกั้นเขตแดนเท่านั้น

 

ต่อมาวันที่ 28 มีนาคม 2564 เริ่มมีรายงานจากสื่อท้องถิ่นในพื้นที่ว่ามีประชาชนอพยพหนีตายจากการทิ้งระเบิด ทั้งเด็กและคนแก่ต้องหลบตามเพิงผาในถ้ำบ้าง ในเรือกสวนไร่นาและในป่าบ้าง ซึ่งจากการประเมินล่าสุดคาดว่ามีถึง 8,000 คน และยังมีบางส่วนที่อพยพข้ามแม่น้ำสาละวินมายังฝั่งไทยแล้ว คาดว่ามีสูงถึง 3,000 คน

 

วันที่ 29 มีนาคม 2564 มีความพยายามจะเข้าไปดูแลและช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับผู้อพยพที่ประสบเหตุการณ์ดังกล่าว เช่น มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน หรือ Friends Without Borders และ The Border Consortium หรือ TBC ซึ่งเป็นองค์กรพาร์ตเนอร์ร่วมกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR และองค์กรภาคประชาสังคมอื่นๆ ต้องการที่จะเข้าไปช่วยในระดับเบื้องต้น แต่กลับถูกปฏิเสธจากเจ้าหน้าที่ความมั่นคงในพื้นที่

 

ล่าสุด มานพ คีรีภูวดล ส.ส. พรรคก้าวไกล ได้แสดงความคิดเห็นถึงข้อกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าว โดยระบุว่า ในสภาวะสงครามเช่นนี้ มีผู้หนีภัยสงครามจำนวนไม่น้อยข้ามแดนมายังประเทศไทย ทางการไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแสดงจุดยืนอย่างชัดเจน โดยคำนึงถึงหลักมนุษยธรรมเป็นอันดับแรก และคำนึงถึงกรอบความร่วมมือในระดับสากลด้วย แต่ข้อเท็จจริงปรากฏตรงกันข้าม การเข้าไปช่วยเหลือขั้นพื้นฐานตามหลักมนุษยธรรมแก่เด็กหรือคนแก่ที่ได้รับบาดเจ็บที่หนีภัยสงครามมากลับไม่สามารถทำได้ และถูกยับยั้งโดยเจ้าหน้าที่ของไทย ข้อเรียกร้องของผมต่อสถานการณ์ดังกล่าวมีดังต่อไปนี้

 

1. เมื่อสถานการณ์การสู้รบสงบลง ขอให้เจ้าหน้าที่ฝั่งไทยประสานงานกับกระทรวงมหาดไทยและองค์กรที่มีประสบการณ์ในการดูแลผู้อพยพลี้ภัย เข้าให้ความช่วยเหลือโดยคำนึงถึงหลักมนุษยธรรม และมีมาตรการรับมือและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรัดกุม

 

2. ในการเข้าไปช่วยเหลือผู้อพยพ ต้องเปิดให้ภาคประชาสังคมของไทยและนานาชาติเข้าตรวจสอบได้ เช่น การลงชื่อเข้าเยี่ยม ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของผู้อพยพ โดยเฉพาะเด็กที่มีความเสี่ยงต่อการถูกล่อลวงสูง โดยการเข้าตรวจสอบในครั้งนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการคัดกรองความเสี่ยงของโควิด-19

 

3. เมื่อสถานการณ์สงบลงและมีแนวโน้มดีขึ้น ผู้อพยพพร้อมกลับไปยังถิ่นฐานเดิม ขอให้ UNHCR และกระทรวงมหาดไทยเป็นพยานความสมัครใจ หากมีผู้ไม่สมัครใจจะกลับไปยังถิ่นฐานเดิม ควรมีการดำเนินการระหว่าง UNHCR ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยคัดกรองผู้อพยพ โดยคำนึงถึงความเสี่ยงต่อการประหัตประหารหากถูกส่งตัวกลับ 

 

“ทั้งหมดนี้เป็นข้อเรียกร้องของผมไปยังทางการไทย ในกรณีผู้อพยพที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบระหว่างรัฐบาลทหารของเมียนมากับกองกำลังสภาพกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ใกล้ชิดกับชายแดนไทย และผู้อพยพบางส่วนก็ได้ข้ามฝั่งมายังไทยและรอการช่วยเหลืออยู่” มานพกล่าว

 

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยจำเป็นต้องมีคำตอบให้กับท่าทีสนับสนุนรัฐบาลทหารของเมียนมาอย่างชัดเจนด้วยเช่นกัน ในฐานะประเทศสมาชิกในประชาคมอาเซียน แม้จะมีหลักการการไม่ยุ่งเกี่ยวกิจการภายในระหว่างกัน แต่การรัฐประหารและการสู้รบที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ในครั้งนี้อยู่นอกเหนือเงื่อนไขใดๆ และเป็นเรื่องของหลักมนุษยธรรมที่ต้องยึดถืออยู่แล้ว ดังนั้นผมขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทย มีท่าทีที่เคารพหลักการสากล เคารพความเป็นมนุษย์และสันติสุขของประชาชนชาวเมียนมาทุกคน

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising