×

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ เชื่อ โลกกำลังเผชิญการเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานครั้งใหม่ ไทยเตรียมตั้งรับ

07.10.2022
  • LOADING...

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง แนะทุกภาคส่วนเตรียมพร้อมรับมือการย้ายห่วงโซ่อุปทานครั้งใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้น พร้อมทั้งชื่นชมหลายภาคส่วนได้เข้าไประดมทุนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) มากขึ้น เพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

 

วันนี้ (7 ตุลาคม) อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (รมว.คลัง) ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ ‘การพัฒนาตลาดทุนไทยเพื่อก้าวต่อไปในทศวรรษหน้า’ ในงานเสวนา ‘ก้าวต่อไปของตลาดทุนไทยในทศวรรษหน้า’ เนื่องในโอกาสสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ครบรอบ 30 ปี โดยระบุว่า ภูมิรัฐศาสตร์ในโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไป มหาอำนาจทางเศรษฐกิจกำลังย้ายมาทางฝั่งเอเชียมากขึ้น ดังนั้นประเทศไทยจึงควรเตรียมตัวให้พร้อมรับการย้ายห่วงโซ่อุปทานที่กำลังเกิดขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


“เชื่อว่าในอนาคต 5-10 ปี จะเกิดการย้ายฐานการผลิตและห่วงโซ่อุปทานใหม่ (Relocation) กันอย่างแน่นอน ดังนั้นประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมรับการถ่ายทอดอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง (Hi-Tech) ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดไว้ในแผนส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) แล้ว” อาคมกล่าว

 

รมว.คลัง กล่าวอีกว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ร่วมการประชุมกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ซึ่งประเด็นหลักหนีไม่พ้นความขัดแย้งในยุโรป การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงทางอาหาร และสุขภาพของประชาชน รวมถึงสังคมผู้สูงอายุ พร้อมทั้งชี้ว่า เพื่อรับมือกับปัญหาเหล่านี้ หลายภาคส่วนได้เข้าไประดมทุนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) มากขึ้น

 

“เห็นได้ว่าทุกเวทีจะพูดถึงปัจจัยต่างๆ ที่กระทบต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ คำถามต่อไปคือการระดมทุนจะไปทิศทางไหน โดยสิ่งที่เราเห็นอย่างหนึ่งในตลาดคือการระดมทุนที่เกี่ยวข้องกับ ESG ซึ่งครอบคลุมหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความยั่งยืน สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยต่อร่างกายมนุษย์ สุขภาพ และการลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล” อาคมกล่าว

 

นอกจากนี้ รมว.คลัง ยังย้ำว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการคลังเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) โดยกระทรวงการคลังเริ่มทำ Domestic Resources Mobilization หรือการระดมทรัพยากรในประเทศ ซึ่งมาจากการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐเพื่อมาชดเชยสิ่งที่เราจ่ายไปในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อเยียวยาประชาชนจากการระบาดของไวรัสโควิด โดยตั้งเป้าให้รายได้เพิ่มขึ้น

 

“โดยที่ผ่านมาจะเห็นว่าการจัดเก็บรายได้ของรัฐต่อ GDP (Revenue Per GDP) ค่อนข้างลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ เนื่องจากประสิทธิภาพและฐานที่ต่ำ ท่ามกลางปัจจัยใหม่ๆ ที่กระทรวงการคลังยังตามไม่ทัน รวมถึงดิจิทัล เช่น ภาษีดิจิทัล” อาคมกล่าว

 

รมว.คลัง กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ขณะนี้แผนพัฒนาตลาดทุนไทยฉบับที่ 4 (ปี 2565-2570) อยู่ในขั้นตอนเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี ซึ่งในแผนนี้ได้นำเรื่องดิจิทัลเข้ามาอยู่ในแผนด้วย

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising