“ราเมนมีชีวิตอยู่ได้แค่ 10 นาที มันต้องนั่งกินแบบร้อนๆ ที่ร้าน เดลิเวอรีก็กลัวจะชืดเสียก่อน”
ป้อมและขวัญ เจ้าของร้าน Mochi Ramen ร้านราเมนเล็กๆ ในบ้านร้านนี้แต่เดิมเคยทำอาชีพเกี่ยวกับการท่องเที่ยวญี่ปุ่นมาก่อน แต่เมื่อวิกฤตโควิดมาถึง ทำให้ทั้งสองต้องหยุดงานที่ทำอย่างไร้ความหวังว่าชีวิตจะกลับมาทำงานได้อย่างปกติตอนไหน เล่าให้ฟังถึงความยากในการขายราเมนแบบเดลิเวอรี
ป้อม-อัญชนา ศิริมงคล เคยเป็นไกด์อินบาวนด์ในที่พาชาวญี่ปุ่นเที่ยวประเทศไทย เธอทำงานในอาชีพนี้มากว่า 30 ปี ส่วน ขวัญ-นำขวัญ เจริญชัย ก็ทำงานอยู่ที่ญี่ปุ่นมากว่า 30 ปีเช่นกัน เมื่อโควิดพรากหน้าที่การงานที่ทำมากว่า 30 ของพวกเขาไป ก็ต้องคิดหาวิธีเอาชีวิตรอด
“พี่นอนว่างงานอยู่ 6 เดือน เงินเก็บก็กำลังจะหมด ไม่มีรายได้อะไรเลย แต่นึกขึ้นได้ว่าอย่างน้อยพี่ก็ยังมีความรู้เรื่องราเมน ส่วนพี่ขวัญก็เคยทำอิซากายะที่ญี่ปุ่น เลยตัดสินใจเปิดร้านราเมนกัน”
ป้อมเล่าถึงจุดที่ตัดสินใจจะเปิดร้านราเมน โดยเธอต้องไปเรียนเพิ่มเติมเกี่ยวกับราเมน แล้วก็ตระเวนหาทำเลที่ตั้งสำหรับร้าน หาแล้วหาเล่าก็ไม่เจอทำเลที่ว่างและราคาดีเลย จนมาเจอกับที่ริมถนนเลี่ยงเมืองนนทบุรี ก็ตัดสินใจเริ่มต้นการต่อสู้เฮือกสุดท้ายที่นั่น
การทำอาหารของป้อม
Mochi Ramen เป็นร้านราเมนเล็กๆ ริมถนนเลี่ยงเมืองนนทบุรี ไม่ได้มีห้องแอร์หรูหรา เป็นเคาน์เตอร์ไม้ และมีชุดโต๊ะเก้าอี้ไม้อยู่เพียง 4 ตัว ดูเผินๆ เหมือนจะไม่มีอะไรโดดเด่น แต่เจ้าของร้านทั้งสองคนเป็นไกด์มากประสบการณ์ที่หยิบเอาราเมนต่างๆ ในความทรงจำกลับมาหาเลี้ยงชีพ ราเมนของร้าน Mochi Ramen นั้นหน้าตาดีมากทีเดียว ทั้งเส้นที่เฟ้นหาบริษัททำเส้นที่ดีที่สุด หมูชาชูหนานุ่มที่ทำเอง และน้ำซุปหลากชนิดที่ทางร้านต้มเอง เกี๊ยวซ่าที่ปั้นเอง แม้แต่ซอสเกี๊ยวซ่าทางร้านก็ผสมเอง ทำให้เมนูของที่นี่ไม่เหมือนใคร ในราคาเริ่มต้นที่ถูกอย่างไม่น่าเชื่อว่าจะได้กินราเมนรสชาติญี่ปุ่นแท้ในราคา 59 บาท
การทำราเมนของร้าน
เส้นราเมน
“พี่เปิดได้ 7 เดือน ลูกค้ากำลังติดเลย เวลามีลูกค้าเข้าพร้อมกัน 4 โต๊ะ พี่ตกใจจนทำอะไรไม่ถูกเลย ก้มหน้าทำราเมนกันอย่างเดียวไม่คุยกันเลย” ขวัญเล่าถึงโมเมนต์แรกที่มีลูกค้าเข้าร้านพร้อมกัน 4 โต๊ะ
“แต่หลังจากนโยบายห้ามนั่งกินในร้านเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ต้องขายเดลิเวอรี ขายแบบกลับบ้าน ลูกค้านั่งไม่ได้ก็หายไปเยอะเลย เพราะราเมนมันต้องกินร้อนๆ ที่ร้าน ค่าเช่าพี่ก็บาน ขนาดเขาลดค่าเช่าให้พี่ยังไม่ไหวเลย ก็เลยจำเป็นต้องปิดร้านที่ริมถนนใหญ่ไป ทั้งที่ลูกค้ากำลังรู้จักร้านเลย” ป้อมเล่าต่อ
โควิดนอกจากจะพรากหน้าที่การงานไปจากพวกเขาแล้ว ยังพรากร้านราเมนที่เป็นเหมือนลมหายใจเฮือกสุดท้ายของพวกเขาจากไปด้วย แต่ทั้งสองคนก็ตัดสินใจสู้อีกครั้งด้วยการเปิดร้านกลับมาอีกครั้งในบริเวณหน้าบ้านของพวกเขาเอง แม้จะเป็นบ้านเล็กในซอยลึกที่เกือบจะอยู่สุดซอย แต่พวกเขาก็จะลองสู้ดูอีกสักตั้ง
ป้อมและขวัญช่วยกันทำเองทั้งหมด
“พอมาอยู่บ้าน พี่ก็ทำโบรชัวร์แจกในหมู่บ้าน ขายราคาถูกเข้าถึงได้ ย้ายมาอยู่ตรงนี้พี่ขายได้แค่ 5 ชามพี่ก็ดีใจแล้ว” ขวัญเล่าถึงชีวิตเรียบง่ายเมื่อกลับมาเปิดที่บ้าน แม้ทำเลจะไม่เหมาะที่จะเปิดร้านอาหารเลยสักนิด แต่พวกเขาก็ยังยิ้มสู้กับทุกอย่างที่ต้องเจอ และทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้
“เดี๋ยวพี่ไปส่งของแป๊บหนึ่งนะ คุยกับพี่อีกคนไปก่อน” ระหว่างที่คุยกันอยู่ ป้อมก็วิ่งเข้าไปในบ้าน หยิบรองเท้าส้นตึกออกมาใส่ ป้อมตอบคำถามที่เราแอบสงสัยอยู่ในใจในระหว่างที่ใส่รองเท้าอยู่ว่าเธอตัวเล็ก เวลาขี่มอเตอร์ไซค์ส่งของนั้นลำบากเพราะขาไม่ถึง เลยต้องเปลี่ยนเป็นรองเท้าส้นตึกเพื่อให้สะดวกกับการขี่มอเตอร์ไซค์ พร้อมกับหัวเราะให้กับเรื่องที่ตัวเองเล่า ทำให้เราเข้าใจได้ในทันทีว่าร้านเล็กๆ ที่มีกันอยู่แค่สองคนแห่งนี้นอกจากจะทำอาหารเอง เสิร์ฟเอง แล้วยังขี่มอเตอร์ไซค์ส่งอาหารเองอีกด้วย
ป้อมและบานาน่า มอเตอร์ไซค์คู่ใจ
“ค่า GP จากเดลิเวอรีทำให้พี่ต้องบวกเพิ่ม 10 บาท 20 บาท เพราะพี่ขายถูกมากอยู่แล้ว โดนหักขนาดนั้นพี่ก็ไม่ได้อะไรเลย แต่ถ้าโทรมาสั่ง พี่ก็คิดราคาหน้าร้าน แล้วก็ไปส่งเอง ขี่มอเตอร์ไซค์บ้าง ขับรถไปบ้าง อย่างน้อยก็ยังมีเงินเข้าบ้าน”
นี่คือเหตุผลที่ร้านเล็กๆ แห่งนี้ต้องขี่มอเตอร์ไซค์ส่งของเอง บางครั้งก็ขับรถยนต์ไปส่งเลยทีเดียว เราถามไถ่ถึงค่าส่ง เจ้าของร้านทั้งสองก็ตอบพร้อมเสียงหัวเราะว่า “ก็เคยคิดนะว่านอกเส้นทางจะคิดค่าส่งสัก 5 บาท 10 บาท แต่เอาเข้าจริงพี่ก็ไม่เคยคิดเขาเลย”
เมื่อป้อมกลับมาก็ลงมือทำราเมนใส่กล่องกลับบ้านให้เราได้ไปลองชิม เมื่อเราสอบถามว่าทางร้านอยากนำเสนอเมนูไหน ป้อมและขวัญก็ตอบพร้อมกันด้วยรอยยิ้มสดใสว่า “ต้องทงคตสึราเมนสิ” พร้อมเล่าเรื่องด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นว่าสมัยอยู่ที่ริมถนนเลี่ยงเมืองเคยมีคนญี่ปุ่นเข้ามาที่ร้านหลังจากไดร์ฟกอล์ฟแถวนั้นเสร็จ เขาสั่งทงคตสึราเมนแล้วชมไม่หยุดปากว่าเหมือนที่ญี่ปุ่นมาก แล้วหลังจากนั้นเขาก็แวะเข้ามากินอีกเป็นเวลา 3 วันติด เราก็ไม่มีเหตุผลที่จะไม่ลองเมนูทงคตสึราเมนแล้ว
ทงคตสึราเมน (69 บาท)
ทงคตสึราเมน (69 บาท) ชามนี้เป็นน้ำซุปกระดูกหมูเคี่ยวนาน 4 ชั่วโมงที่ป้อมตื่นมาเคี่ยวเองตั้งแต่เช้า มาพร้อมกับชาชูทำเอง หน่อไม้หวานที่ทำเอง ขวัญบอกว่าหน่อไม้ก็ไม่ได้มีตลอดทั้งปีด้วย ช่วงนี้เป็นช่วงของหน่อไม้พอดี ทางร้านเลือกใช้วัตถุดิบตามฤดูกาล ปิดท้ายด้วยผักกวางตุ้งและไข่ต้ม ทั้งหมดนี้อัดแน่นอยู่ในชามในปริมาณที่อิ่มพอดี เกินราคา 69 บาทไปมาก
ชาชูราเมน (69 บาท)
เกี๊ยวซ่า (50 บาท)
เกี๊ยวซ่า (50 บาท)
ส่วนอีกหนึ่งเมนู ชาชูราเมน (69 บาท) ราเมนซุปโชยุรสชาติคอมฟอร์ตเอาใจคนรักชาชูของทางร้าน เพราะชามนี้ใส่ชาชูอัดแน่นมาจุใจหลายแผ่น ชาชูของทางร้านเป็นหมูแผ่นหนานุ่มที่เปื่อยจนแทบไม่ต้องเคี้ยว เรียกได้ว่าละลายในปากอย่างแท้จริง ส่วนเมนูของกินเล่นทางถนัดของขวัญที่เคยทำอิซากายะมาก่อนคือ เกี๊ยวซ่า (50 บาท) ที่ลงมือทำเองตั้งแต่ทำไส้ ห่อเกี๊ยว นำไปจี่ในกระทะ จิ้มกินกับซอสสูตรลับที่ทางร้านผสมเอง ทำให้ซอสเกี๊ยวซ่าของที่นี่ไม่เหมือนที่ไหนเลย
ราเมนทั้งหมดนี้ ถ้ากินที่ร้าน ทางร้านก็เสิร์ฟในชามเซรามิกญี่ปุ่นอย่างดีที่ขวัญเป็นคนลงมือเลือกเองจากประสบการณ์ในญี่ปุ่นกว่า 30 ปี ขวัญบอกว่าชามราเมนต้องเป็นชามแบบพิเศษ เพราะมันจะเก็บความร้อนและรักษารสชาติของราเมนไว้ได้ดี
ก่อนกลับ ขวัญอุ้ม ‘เจ้าโมจิ’ แมวในบ้านมาให้ดู แล้วเล่าว่าโมจิเป็นเจ้าของร้านที่แท้จริง และเป็นที่มาของชื่อร้าน พร้อมกับบอกให้โมจิไปรับออร์เดอร์ พร้อมกับหัวเราะอารมณ์ดีเมื่อโมจิไม่ยอมทำอะไรนอกจากล้มตัวลงนอนใต้เก้าอี้
ป้อม ขวัญ และโมจิ
การมาเยือนร้าน Mochi Ramen ครั้งนี้ทำให้เรารู้สึกอิ่มทั้งกายและใจ แม้ในวันที่ลำบาก ป้อมและขวัญก็ยังยิ้มสู้กับมัน ต้อนรับขับสู้ลูกค้า ตั้งใจทำราเมนทุกชาม ขี่มอเตอร์ไซค์ส่งราเมนเอง ทำทุกอย่างเพื่อให้อย่างน้อยก็มีรายรับเข้าบ้านและต่อชีวิตพวกเขาได้ ทุกอย่างคงจะดีกว่านี้ถ้าพวกเขาไม่ต้องเจอกับอุปสรรค ทางเราได้แต่เสียดายว่าทำไมถึงรู้จักที่นี่ช้าเกินไปในช่วงเวลาที่พวกเขาโดนผลกระทบจนต้องเสียร้านที่พวกเขาทำมาด้วยความรักไป
Mochi Ramen
Open: ทุกวัน เวลา 11.00-20.00 น. (หยุดวันพุธ)
Address: 60/118 ทรายทองนิเวศน์ 24 ซอย 9 จังหวัดนนทบุรี
Budget: 60-100 บาท
Contact: 08 9666 9927
Website: https://www.facebook.com/mochiramen.nonthaburi
Map: