×

มองความเท่าเทียมในการสมรสของ LGBTIQ ผ่านเวทีเสวนาระดับเอเชียที่ไต้หวัน

01.11.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • Taiwan Alliance to Promote Civil Partnership Rights #TAPCPR องค์กรที่รณรงค์เพื่อสนับสนุนการสมรสเท่าเทียม ได้จัดงานประชุมนานาชาติ The International Conference on the Connect The Rainbow Dots: Marriage Equality and LGBT Movement in East Asia ว่าด้วยการผลักดันการสมรสเท่าเทียมและขบวนการเคลื่อนไหวสิทธิ #LGBTIQ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา
  • ส่วนหนึ่งของการเสวนาเป็นการพูดคุยว่าด้วยความก้าวหน้า ข้อท้าทายในการผลักดันการสมรสเท่าเทียมในเอเชีย ทั้งในญี่ปุ่น ไต้หวัน และประเทศไทย

สืบเนื่องมาจากปลายเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ไต้หวันได้มีการจัดงาน Taiwan LGBT Pride และครั้งนี้นับเป็นการจัดงานครั้งที่ 16 ภายใต้ธีม ‘Tell Your Story, Vote for Equality, (性平攻略由你說.人人 18 投彩虹)’ โดยตัวเลขผู้เข้าร่วมสูงเป็นประวัติศาสตร์ คือมากกว่า 130,000 คน

 

 

โดยทั่วไป ระหว่างก่อนจัดงาน Taiwan LGBT Pride องค์กรเครือข่ายที่ทำงานเพื่อสิทธิคนที่มีความหลากหลายทางเพศ จะมีการเตรียมงาน รวมถึงจัดเวทีประชุม เสวนา เพื่อสร้างพื้นที่ในการสื่อสารกับสังคม รวมถึงการเตรียมเนื้อหาเพื่อใช้ในการรณรงค์สนับสนุนข้อเรียกร้องต่างๆ

 

เช่นเดียวกับองค์กรที่ชื่อว่า Taiwan Alliance to Promote Civil Partnership Rights #TAPCPR ซึ่งเป็นองค์กรที่รณรงค์เพื่อสนับสนุนการสมรสเท่าเทียม ที่ได้จัดงานประชุมนานาชาติ The International Conference on the Connect The Rainbow Dots: Marriage Equality and LGBT Movement in East Asia ว่าด้วยการผลักดันการสมรสเท่าเทียมและขบวนการเคลื่อนไหวสิทธิ #LGBTIQ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา

 

 

งานประชุมนานาชาตินี้แบ่งเวทีออกเป็นออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่หนึ่งว่าด้วยขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของ LGBTIQ และส่วนที่สอง ที่ผู้เขียนและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิความหลายทางเพศและการแต่งงานเท่าเทียมจากประเทศไทย ฮ่องกง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และเจ้าภาพไต้หวัน ได้รับเชิญให้ร่วมพูดคุยว่าด้วยความก้าวหน้า ข้อท้ายทายในการผลักดันการสมรสเท่าเทียมในเอเชีย

 

โดยพื้นฐานคนที่นำเสนอส่วนใหญ่ ยกเว้นผู้เขียนที่มาจากประเทศไทย ล้วนแล้วแต่มาจากประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยและอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ซึ่งมีบริบททางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน นอกจากนี้ผู้ร่วมเสวนาเกือบทั้งหมดเป็นนักกฎหมาย จึงมีแนวทางการขับเคลื่อนการสมรสเท่าเทียมผ่านการใช้กระบวนการยุติธรรมทั้งระบบศาลทั่วไปที่ตัดสินเป็นรายๆ ให้ได้รับการคุ้มครอง ในบางมิติ เช่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง รวมถึงในญี่ปุ่น

 

ในประเทศญี่ปุ่น ถึงแม้ยังไม่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม แต่จากการทำโพลสำรวจในปี 2015 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุน และขณะนี้อยู่ในระหว่างการเคลื่อนไหวเพื่อให้ LGBTIQ สามารถใช้กฎหมายเดียวกันกับคู่สมรสรักต่างเพศ

 

แต่หากมองในระดับพื้นที่ ญี่ปุ่นในหลายเมืองเปิดโอกาสให้คู่รักเพศเดียวกัน สามารถไปจดทะเบียน ได้รับการคุ้มครองสิทธิ์ในฐานะคู่ชีวิต (Partnership Certificates) ได้ตั้งแต่ปี 2015 การเปลี่ยนคำนำหน้าสำหรับบุคคลข้ามเพศในทางกฎหมาย ทำได้หลังผ่านการผ่าตัดแปลงเพศนับตั้งแต่ปี 2003 และที่ญี่ปุ่นมีการจัดงาน Tokyo Rainbow Pride ที่ทุกปีนับตั้งแต่ปี 2012

 

 

ในไต้หวัน ขบวนการเคลื่อนไหวมีการใช้ระบบศาลสูงสุด โดยได้มีการตัดสินว่าการที่ LGBTIQ ไม่สามารถสมรสได้อย่างเท่าเทียม เป็นการเลือกปฏิบัติ และมีคำสั่งให้ดำเนินการแก้ไขข้อกฎหมายที่ส่งผลให้เกิดการกีดกันการสมรสเท่าเทียม (Marriage Equality) ภายใน 2 ปี ในระหว่างที่คณะกรรมการดำเนินการแก้ไขกฎหมายอยู่ กลุ่มต่อต้านซึ่งเป็นกลุ่มทางศาสนาก็เคลื่อนไหว จนนำไปสู่การผลักดันให้เกิดการโหวตในเดือนพฤศจิกายนนี้ ใน 3 เรื่องที่เชื่อมโยงต่อสิทธิ LGBTIQ โดยตรง ได้แก่

 

หนึ่ง ประชามติอันมีรากฐานมาจากการเกรงกลัวว่าการสมรสเท่าเทียมจะทำลาย ‘Family Values’ หรือระบบคุณค่าต่อครอบครัว

 

สอง ปกป้องการแก้ไขกฎหมายที่ให้สิทธิเท่าเทียมในการสมรส ซึ่งหมายความว่า ให้ LGBTIQ แยกใช้กฎหมายคนละฉบับกับคู่รักต่างเพศ (Civil Unions Between Same-sex Couples) เพื่อตอกย้ำให้กฎหมายสมรสจำกัดไว้เพียงระหว่างหญิงและชายเท่านั้น ซึ่งนับว่าเป็นการแบ่งแยก กีดกัน และเลือกปฏิบัติต่อ LGBTIQ และเป็นการถอยหลังของสังคมโดยภาพรวม หากประเด็นนี้ฝ่ายต่อต้านสิทธิ LGBTIQ เป็นฝ่ายชนะ

 

สาม ยกเลิกหลักสูตรการเรียนการสอนเรื่องเพศศึกษาที่ว่าด้วยคู่รักเพศเดียวกัน LGBTIQ (Remove Same-sex Education And Lgbtiq From The School Curriculum)

 

ทั้งนี้องค์กร TAPCPR ย้ำว่า ขบวนการเคลื่อนไหวในไต้หวันทั้งเครือข่าย LGBTIQ และเครือข่ายพันธมิตรได้ต่อสู้กับประชามติครั้งนี้ เพื่อยืนยันว่าสิทธิ์การสมรมเท่าเทียมเป็นของทุกคน มากไปกว่านั้น ขบวนการเคลื่อนไหว LGBTIQ ทั่วทั้งโลกต่างจับตามองและสนับสนุนให้ไต้หวันได้พัฒนาสิทธิ LGBTIQ เพื่อให้เกิดการสมรสเท่าเทียม โดยใช้กฎหมายเดียวกันเป็นประเทศแรกในเอเชีย

 

ส่วนของไทยเรานั้นมีผู้ร่วมเสวนา 2 คนคือ ผู้เขียนเอง และอีกคนเป็นนักวิชาการชาวต่างชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองและสังคมเอเชีย ทั้งนี้เราทั้งสองได้สะท้อนบริบทการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ผลต่อกระบวนการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิทธิ LGBTIQ

 

 

ในเวที ผู้เขียนได้พูดถึงความพยายามของประเทศไทยที่จะให้เกิดกฎการรับรองคู่ชีวิตเพศเดียวกัน (Civil Partnership) จนมีการร่างกฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่

 

ร่างที่ 1 เกิดโดยเป็นผลสืบเนื่องมาจากการตีความว่า คู่ชายรักชายที่ถูกปฏิเสธการจดทะเบียนสมรสที่เชียงใหม่ เป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ 2550 โดยคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร

 

คณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้ยกร่าง พ.ร.บ. การจดทะเบียนคู่ชีวิตขึ้นภายใน 3 เดือน และมี 15 มาตรา ในระหว่างนั้นก็มีการยกอีกร่าง (ร่างที่ 2) โดยภาคประชาชน นักสิทธิ LGBTIQ และคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย

 

แต่กระบวนการทั้งสองร่างหยุดชะงักลงหลังเกิดรัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ส่วนร่างที่ 3 ซึ่งเป็นประเด็นร้อนระดับโลกหลังการประกาศของภาครัฐ นำโดยกรมคุ้มครองสิทธิ์ว่าไทยจะผ่านกฎหมายการรับรองคู่ชีวิตชาติแรกในเอเชีย

 

หลายคนอาจไม่ทราบว่า ร่างที่ 3 นี้มีการปรับปรุงมาแล้ว 2 ครั้ง อย่างไรก็ดีพบว่า กรมคุ้มครองสิทธิไม่ได้เปิดเผยร่างฯ นี้ต่อสาธารณะ

 

ในฐานะนักเคลื่อนไหวสิทธิ LGBTIQ เราตั้งคำถามต่อปัญหาของร่างกฎหมายคู่ชีวิตนี้ โดยประเด็นสำคัญคือ

  • พื้นฐานวิธีคิดว่า ใช่ Holistic Approach ทั้ง Human Right Approach and SOGIESC (Sexual Orientation, Gender Identity, Expression and Sex Characteristic) หรือไม่
  • ความชอบธรรมของการผ่านกฎหมายในระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
  • การขาดการมีส่วนร่วม
  • เนื้อหาในร่างที่ไม่ครอบคลุมสิทธิบางด้าน ซึ่งนับว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่อ LGBTIQ ในมิติการก่อตั้งครอบครัวเท่าเทียม (Right to Family) และสิทธิลูกของเรา (Best Interest of the Child) เช่น ในการรับบุตรบุญธรรมและการอุ้มบุญ ฯลฯ

 

ทั้งนี้กรมคุ้มครองสิทธิ ซึ่งเป็นแกนนำในการพัฒนาร่างนี้ ได้เดินหน้าจัดเวทีในหลายสถาบันการศึกษา แต่ทราบว่าก็มิได้มีการเปิดเผยร่างฉบับเติมต่อสาธารณะ ให้ได้เห็นรายละเอียดเพื่อให้สามารถวิพากษ์วิจารณ์โต้แย้งในมิติที่เลือกปฏิบัติ ซึ่งจะส่งผลต่อ LGBTIQ โดยตรง

 

ในส่วนนี้เองทำให้ผู้เข้าร่วมเวทีที่ไต้หวันตระหนักถึงสถานการณ์และมีความห่วงใยต่อขบวนการขับเคลื่อนทางกฎหมายของไทย

 

 

ในส่วนของประเด็นที่ผู้เขียนได้พูดที่เวทีและนับว่าเป็นหมุดหมายสำคัญ หนึ่งในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสมรสเท่าเทียมในประเทศไทยคือ รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ เรื่อง สิทธิความเสมอภาคในการสมรสของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย (Mariage Equality Rights for Sexual Diversity People in Thailand) โดย ชวินโรจน์ ธีรพัชรพร นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อปี 2560 ซึ่งได้รับรางวัลงานวิจัยยอดเยี่ยม

 

งานวิจัยดังกล่าวได้เสนอแนวทางเดียวกันกับขบวนการเคลื่อนไหวทั่วโลก และเหมือนขบวนการเคลื่อนไหวในเอเชียตะวันออกคือ มุ่งเน้นให้ LGBTIQ สามารถสมรสเท่าเทียม โดยแก้เงื่อนไขที่เลือกปฏิบัติ ซึ่งในบริบทกฎหมายไทยทำได้โดยแก้ไขเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่อการแต่งงานเท่าเทียมคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 (Civil and Commercial Code (CCC) at 1448) ที่ระบุให้เฉพาะชายและหญิง ที่สามารถแต่งงานกันได้ ให้แก้ไขเป็นบุคคลสองคน

 

ในส่วนของการเคลื่อนไหว LGBTIQ ไทยเราได้เชื่อมโยงขบวนการเคลื่อนไหวทั้งในประเทศ ในอาเซียน เอเชีย และระดับโลก ทั้งผ่านกลไกสิทธิมนุษยชน เช่น UPR, ICCPR, CEDAW และ CRC เพื่อแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนและสิทธิ LGBTIQ รวมทั้งล่าสุดเพื่อให้การสมรสเท่าเทียมเกิดการขับเคลื่อนในประเทศไทย จึงเกิดคณะทำงานและผู้ที่สนใจแก้ไข ป.พ.พ. 1448 เหล่านี้ล้วนเป็นความคืบหน้าในไทย

 

 

ท้ายที่สุดผู้เขียนเองในฐานะครอบครัวสีรุ้ง (Rainbow Famiy) ที่ออกมารณรงค์เคียงบ่าเคียงไหล่กับ LGBTIQ ทั้งในไทยและทั่วโลก ปัจจุบัน ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในระดับนานาชาติเพื่อส่งเสริมสิทธิ LGBTIQ ได้แก่

  • International Family Equality Day ในฐานะกรรมการ ซึ่งการต่อสู้ระดับโลกเรื่องครอบครัวที่เท่าเทียม
  • Asia Pacific Rainbow Family Forum ในฐานะผู้ร่วมจัดตั้งเครือข่ายที่เคลื่อนไหวเรื่องครอบครัว พ่อแม่ LGBTIQ ในระดับนานาชาติ
  • ILGA Asia ในฐานะประธานมูลนิธิอิลก้า ที่ขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนของ LGBTIQ ทั้งในเอเชียและทั่วโลก
  • Salzburg Global LGBT Forum เครือข่ายที่ขับเคลื่อนพัฒนาสิทธิ LGBTIQในระดับโลก
  • Global Interfaith Network เครือข่ายที่ทำงานเพื่อสิทธิ LGBTIQ ในพื้นศาสนาและความเชื่อ
  • Equitas Human Rights เครือข่ายสิทธิมนุษยชนระดับโลก
  • ASEAN SOGIE Caucus เครือข่าย LGBTIQ ในระดับอาเซียน

 

ท้ายที่สุดผู้เขียนขอขอบคุณทุกคนที่อยู่เบื้องหลังที่สนับสนุนการเดินทางไปร่วมเวทีครั้งนี้ โดยเฉพาะคนที่ได้สนับสนุนค่าเดินทางโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ โดยหวังเพียงให้การเคลื่อนไหวสมรสเท่าเทียมในไทยได้เชื่อมโยงกับขบวนการเคลื่อนไหวทั่วเอเชียและโลก เพื่อศักดิ์ศรีและสิทธิเท่าเทียมของ LGBTIQ และลูกๆ ของพวกเรา

 

“เราไม่เชื่อว่าเราสามารถพัฒความเป็นธรรมโดยขาดการพัฒนาสิทธิมนุษยชน ความเป็นธรรมทางเพศ และประชาธิปไตย”

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

FYI
  • Taiwan Alliance to Promote Civil Partnership Rights (TAPCPR) เป็นองค์กรที่มีการเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดการรับรองคู่ชีวิตเพศเดียวกัน (Civil Partnership) ในระยะแรกของการเคลื่อนไหว แต่ได้ปรับยุทธศาสตร์มาเคลื่อนไหวสมรสเท่าเทียมภายหลัง โดยชื่อองค์กรไม่ได้ปรับให้สอดคล้องตามยุทธศาสตร์ที่เคลื่อนไหวในปัจจุบัน
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising