×

หุ้นกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า (EV) – EV Cluster อยู่ในช่วงเริ่มของการเติบโต

21.09.2022
  • LOADING...
รถ EV

เกิดอะไรขึ้น:

การเติบโตของยอดขายรถ EV (Electric Vehicle) ทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปัจจัยสำคัญ คือนโยบายที่ชัดเจนของประเทศต่างๆ ทั่วโลกในเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ซึ่งทำให้เกิดมาตรการสนับสนุนรถ EV 

 

InnovestX Research มองว่าความต้องการซื้อรถ EV ที่เพิ่มขึ้นนั้นจะถูกตอบรับด้วยแผนของค่ายรถยนต์ต่างๆ ทั่วโลกที่ชัดเจนมากขึ้นในการพัฒนารถ EV ด้วยเช่นกัน โดย IEA คาดว่าจำนวนยอดขายรถ EV ทั่วโลกจะเพิ่มจาก 6.6 ล้านคันในปี 2021 มาอยู่ที่ 31.7-48.4 ล้านคันในปี 2030


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ประเทศไทยตั้งเป้าก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการผลิตรถ EV ในภูมิภาคเอเชีย โดยนโยบาย 30@30 สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมรถ EV อย่างมาก ซึ่งประเมินได้ว่ารถพลังงานไฟฟ้า 100% (BEV) สะสมจะเพิ่มจากเพียง 4 พันคันในปี 2021 เป็น 2.2 ล้านคันในปี 2030 หรือคิดเป็น 12% ของจำนวนรถยนต์ส่วนบุคคลสะสมทั้งหมด ซึ่งจะนำไปสู่ความต้องการสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นด้วย

 

ด้านความต้องการใช้แบตเตอรี่ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเกิน 1TWh ในปี 2025 ทำให้มีการเพิ่มกำลังการผลิตและการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของ 10 บริษัทหลัก (67% ของกำลังการผลิตทั้งหมด) เทคโนโลยีหลักในอีก 3-5 ปีข้างหน้าคือ NMC ที่ประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็นผู้นำและครองส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่า 60% ซึ่งมองว่าเทคโนโลยีของชิ้นส่วนหลักอย่างแบตเตอรี่กำลังจะเปลี่ยนเป็น Solid State ที่มีกำลังไฟฟ้าสูงกว่า ปลอดภัยมากกว่า และน้ำหนักเบากว่าปัจจุบัน

 

กระทบอย่างไร: 

ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นที่ InnovestX Research ชอบและมองว่าได้ประโยชน์จาก EV trend โดยราคาหุ้น PTT ปรับเพิ่มขึ้น 9.63% สู่ระดับ 37.00 บาท, ราคาหุ้น EA ปรับเพิ่มขึ้น 6.53% สู่ระดับ 89.75 บาท, ราคาหุ้น KCE ปรับลดลง 18.25% อยู่ที่ระดับ 51.50 บาท และราคาหุ้น OR ปรับเพิ่มขึ้น 1.90% สู่ระดับ 26.75 บาท

 

กลยุทธ์การลงทุน:

ตั้งแต่ต้นปี 2022 ราคาหุ้นที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้าปรับตัวลดลงเป็นส่วนใหญ่ โดยได้รับแรงกดดันจาก 3 เรื่องใหญ่ เช่น 1. ราคาวัตถุดิบและค่าใช้จ่ายมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง, 2. มีปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ 3. ความกังวลเศรษฐกิจถดถอย

 

อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่หลายค่ายเริ่มมีการส่งมอบรถยนต์ทำจุดสูงสุดใหม่ ทำให้ราคาหุ้นของกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าเริ่มฟื้นตัว นอกจากนั้นผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ ประกอบกับนโยบายสนับสนุนรถ EV จากรัฐบาลสหรัฐฯ ทำให้ราคาฟื้นตัวได้ดีกว่าตลาด

 

หากพิจารณาจากความเคลื่อนไหวของราคานั้น พบว่ากลุ่มผู้ผลิตแบตเตอรี่และผู้ผลิตลิเธียมที่เป็นส่วนสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่มีการปรับตัวดีกว่ากลุ่มอื่น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์และห่วงโซ่อุปทานของสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ปรับตัวลดลงค่อนข้างแรงตั้งแต่ต้นปี

 

ทั้งนี้ การลงทุนในหุ้น EV อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มองเป็นการลงทุนที่มีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตที่ดีในระยะยาว โดยหุ้น EV จะมีความชัดเจนมากกว่าในตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับแบตเตอรี่และการประกอบรถยนต์ซึ่งหุ้นที่ InnovestX Research ชอบคือ Tesla, BYD, CATL และ Ganfeng Lithium 

 

ส่วนของตลาดหุ้นไทยนั้นห่วงโซ่อุปทานอยู่ในช่วงเริ่มต้นและคนที่ได้ประโยชน์นั้นยังไม่ชัดเจนมากเท่าไร และราคาที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นลดลงเป็นปัจจัยเฉพาะตัวอื่นมากกว่าภาพของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยมองว่าสิ่งสำคัญคือความชัดเจนของผู้ประกอบการไทยที่จะเดินหน้าไปในอุตสาหกรรมรถ EV ซึ่งหุ้นที่ชอบคือ PTT, EA, KCE และ OR

 

PTT: กลุ่มบริษัทได้ลงทุนในห่วงโซ่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร ซึ่งโอกาสของ PTT คือการรับจ้างผลิตรถ EV ให้กับค่ายรถยนต์ที่ต้องการทำตลาดแต่ไม่มีโรงงานผลิตในประเทศไทย เช่น Neta ซึ่งเป็นค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีนจะนำเข้ารถ BEV มาจำหน่ายในประเทศไทยในปี 2022-23 

 

และจะจ้างให้ Horizon Plus (บริษัทร่วมทุน โดย PTT และ Foxconn) ผลิตรถ BEV ในประเทศชดเชยในปี 2024-25 ตามเงื่อนไขมาตรการสนับสนุนรถ BEV ของรัฐบาล PTT ตั้งงบประมาณสำหรับโรงงานผลิตรถ EV ประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 3.6 หมื่นล้านบาท)

 

EA: ตั้งงบลงทุนราว 3 หมื่นล้านบาทในอีก 3 ปีข้างหน้าเพื่อลงทุนในธุรกิจเกี่ยวกับรถ EV โดยการเติบโตของรถ EV จะทำให้ความต้องการใช้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ซึ่ง EA มีส่วนแบ่งการตลาดกว่า 70% ในประเทศไทย (459 สถานี 1,906 หัวจ่าย) ธุรกิจผลิตแบตเตอรี่มีการเติบโตด้วยกำลังการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นและการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่มุ่งเน้นไปที่รถโดยสารไฟฟ้าซึ่งจะเริ่มทยอยส่งมอบในไตรมาส 2 ปี 2022 และแผนเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 8,000 คันต่อปีภายในปี 2022

 

KCE: ความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ความต้องการของแผนวงจรพิมพ์เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนั้นยังมีการใช้ในสถานีชาร์จเช่นกัน ซึ่ง KCE เป็นบริษัทที่มีเทคโนโลยีในการผลิต PCE ชนิดหลายชั้น (80% ของรายได้) และมียอดขายในสหรัฐฯ และยุโรปที่มีการเติบโตของ EV อย่างรวดเร็วที่ 20% และ 50% ของยอดขาย และมากกว่า 60% ของรายได้มาจากลูกค้าในธุรกิจยานยนต์ ซึ่งมองว่า KCE จะเป็นผู้ได้ประโยชน์จากธีมนี้มากกว่าผู้ผลิตชิ้นส่วนรายอื่นในไทย

 

OR: ได้ประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยในปัจจุบัน OR มี EV Station PluZ จำนวน 110 แห่ง และตั้งเป้าจะเพิ่มเป็น 300 แห่งภายในปี 2022 ซึ่งเริ่มเก็บค่าบริการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ OR น่าจะได้ประโยชน์ทางอ้อมจากแนวโน้มธุรกิจค้าปลีกในสถานีบริการน้ำมันที่จะดีมากขึ้นจากจำนวนเวลารออัดประจุไฟฟ้าที่นานกว่าการเติมน้ำมัน

 

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมรถ EV ยังอยู่ในช่วงแรกของการเติบโต ทำให้มีหลายปัจจัยที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตได้ เช่น นโยบายของรัฐบาลที่ต้องมีประสิทธิภาพในการสนับสนุนผู้ซื้อ ค่ายรถยนต์และโครงสร้างพื้นฐาน ภาวะห่วงโซ่อุปทานชะงักงัน เช่น การล็อกดาวน์ การขาดแคลนชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ วัตถุดิบ และพลังงาน และการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อทำให้ราคาขายลดลงและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่มากขึ้น

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising